โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : แหล่งเตาเวียงบัว, แหล่งเตาบ้านบัว, พิพิธภัณฑ์เตาโบราณบ้านบัว
ที่ตั้ง : ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา
ตำบล : แม่กา
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : พะเยา
พิกัด DD : 19.03619 N, 99.95868 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : อิง
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยแม่ต๋ำ
พิพิธภัณฑ์เตาเผาโบราณบ้านบัว หรือเวียงบัว ตั้งอยู่ที่บ้านบัว หมู่ที่ 7 ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ปัจจุบันอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยพะเยาไปทางทิศตะวันออกประมาณ 3 กิโลเมตร การเดินทางไปเยี่ยมชมเริ่มต้นจากถนนพหลโยธินตรงหนามหาวิทยาลัยพะเยา ขับรถไปทางเหนือผ่านวัดห้วยเคียน ไปจนถึงหน้าโรงเรียนบ้านห้วยเคียนระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวรถย้อนกลับไปทางมหาวิทยาลัยพะเยาประมาณ 600 เมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางแยกซ้ายมือที่มีป้ายบอกทางไปบ้านแม่กาหลวงและวัดแม่กาหลวง และมีป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์เตาโบราณบ้านบัว ผ่านวัดแม่กาหลวงเลยไปประมาณ 100 เมตร เลี้ยวขวาข้ามสะพานตรงไปบ้านบัว ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ถึงบ้านบัวเข้าไปในหมู่บ้านถึงสามแยกหน้าโบสถ์คริสตจักรบ้านบัวเลี้ยวซ้ายตรงไปประมาณ 100 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนคอนกรีตออกไปนอกหมู่บ้านอีกประมาณ 400 เมตร ก็จะถึงที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เตาโบราณบ้านบัว(สายันต์ ไพรชาญจิตร 2555)
สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ในเวลาราชการ โดยไม่เสียค่าเข้าชม
ท้องถิ่นบ้านบัว, กรมศิลปากร
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กำหนดอายุการตั้งเวียงอยู่ในช่วง พุทธศตวรรษที่ 20-21ชื่อผู้ศึกษา : วราวุธ ศรีโสภาค
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533, พ.ศ.2538
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
เวียงบัวมีสองส่วนคือ เวียงบัวสองสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งป้องกันข้าศึกศัตรูยามสงคราม ต่อมามีการสร้างเวียงบัวหนึ่งขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นศูนย์การค้าและศูนย์การปกครองชื่อผู้ศึกษา : เบญจพรรณ รุ่งศุภตานนท์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
จากการสำรวจแหล่งเตาเผาต่างๆที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำ คูเวียง และจุดเชื่อมเวียงบัวหนึ่งกับเวียงบัวสอง มีบางจุดบางบริเวณที่ยังไม่สามารถสรุปได้ถึงการเป็นแหล่งเตาเผาอย่างชัดเจน กล่าวคืออาจเป็นเพียงเนินดินที่มีเศษดินที่ถูกไฟเผา ตามเกณฑ์การเลือกพื้นที่สำรวจทุกพื้นที่มีสิทธิ์เป็นไปได้หมด แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาเวียงบัวในสมัยโบราณนั้น อาจเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งของเมืองพะเยาในแง่ของเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในสมัยโบราณชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มูลนิธิกรุงเทพประกันภัย, บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ผลการศึกษา :
มีการนำถ่านหน้าเตาเก๊ามะเฟืองมาหาค่าอายุด้วยวิธี radiocarbonฯ กำหนดอายุแหล่งเตาอยู่ในช่วงพ.ศ.1823-1843 (AD. 1280-1300) ช่วงค่าอายุที่ยอมรับได้ หรือ Interception of radiocarbon age with calibration curve อยู่ที่ราวพ.ศ.1833 (AD. 1290) ตรงกับรัชสมัยพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยาเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ.2548 ศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นำนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 13 คน เข้ามาฝึกภาคปฏิบัติด้านการสังคมสงเคราะห์ชุมชน ร่วมกับชาวบ้านบัวและคณะทำงานโครงการศึกษาพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ได้ดำเนินการขุดค้นและอนุรักษ์แหล่งเตาต่างๆในเวียงบัว คือ เตาพ่ออุ๊ยแต๋ง และแหล่งเตาเก๊ามะเฟือง
เตาพ่ออุ๊ยแต๋ง มีอาคารโครงสร้างเสาคอนกรีตคลุมหลุมขุดค้นขนาด 3.5x7 เมตร เป็นเตาดินก่อแบบล้านนา ขนาดกว้าง 1.70 เมตร ยาว 5.50 เมตร ไว้ในสภาพเดิมตามที่ขุดค้นพบ มีการก่อกำแพงทึบสูง 80 ซม. ป้องกันการรบกวน เตาพ่ออุ๊ยแต๋งเป็นเตาชนิดเตาห้องเดี่ยวระบบระบายลมร้อนผ่านโครงสร้างดินก่อฝังอยู่ในดินถม สภาพค่อนข้างดี ซึ่งนอกจากเตาพ่ออุ๊ยแต๋งแล้ว ยังมีแหล่งเตาแฝดของเตาเก๊ามะเฟือง รวมกันเป็น 3 เตา ตัวเตาพ่ออุ๊ยแต๋งตั้งอยู่บนที่ลาดเอียง ปล่องเตาอยู่ในระดับสูงกว่าหน้าเตา มีขนาดยาวประมาณ 5.50 เมตร กว้างประมาณ 1.70 เมตร ปล่องเตารูปกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 ซม. ผนังปล่องหนาเฉลี่ย 8-10 ซม. หลังคาเตาส่วนเหนือห้องภาชนะต่อเนื่องกับส่วนที่คลุมเหนือกำแพงกันไฟมีร่องรอยคล้ายการเจาะเปิดอกแล้วเอาก้อนดินโครงสร้างเตาปิดถมไว้ สภาพปล่องเตาโครงสร้างปากปล่องถูกผาลรถไถนาตัดปาดออกไป ส่วนบนของตัวเตาแตกร้าวทั้งหมดเพราะถูกรถไถไถพรวนนาทับหลายครั้ง
เตากลุ่มเก๊ามะเฟือง มีอาคารคอนกรีตหลังคามุงกระเบื้อง 3 หลัง ที่ออกแบบเฉพาะสร้างคลุมหลุมเตาแฝดเก๊ามะเฟือง กลุ่มเตานี้มี 2 เตาเป็นเตาดินก่อแบบล้านนา สร้างอยู่ในเนินดินเดียวกัน ปล่องเตาอยู่ชิดกันที่กลางเนิน ปากเตาเก๊าะมะเฟือง 1 หันออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในขณะที่ปากเตาเก๊ามะเฟือง 2 หันออกไปทางทิศเหนือ ห่างกันประมาณ 2.50 เมตร ทั้งสองเตามีขนาดใกล้เคียงกัน เฉพาะเตาเก๊ามะเฟือง 1 มีความยาว 5.15 เมตร กว้าง 1.90-2.00 เมตร ปล่องสูง 1.65 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางปล่อง 1.65 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางปล่อง 40-45 ซม. พื้นเตาเป็นดินอัดเรียบและยาทับด้วยดินเหนียวมีกำแพงกันไฟสูง 35 ซม. ห้องภาชนะยาว 2.45 เมตร (วัดจากแนวกำแพงกันไฟไปจรดคอเตา) พื้นห้องภาชนะเป็นดินอัดเรียบในแนวระนาบ เตาลูกนี้มีขนาดห้องไฟค่อนข้างยาว กินพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของความยาว สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ช่องใส่ไฟค่อนข้างแคบและเตี้ยจนตัวคนไม่สามารถลอดเข้าไปได้ ดังนั้น การลำเลียงเครื่องถ้วยชามเข้าบรรจุในห้องภาชนะและการนำเอาเครื่องถ้วยชามที่เผาสุกแล้วออกจาตัวเตาอาจต้องใช้วิธีเจาะเปิดหลังคาเตา และใช้ดินโบกยาปิดทับช่องที่เจาะก่อนเผาแต่ละครั้ง ทำเช่นนี้สลับกันไป นอกจากนี้ยังพบว่าเตาเผาที่เวียงบัวเป็นเตาดินก่อที่ต้องมีฉนวนดินถมทับเพื่อช่วยเก็บความร้อนและเป็นฐานเสริมความแข็งแรงของตัวเตา โดยพบว่ามีการนำเอาดินปูนมาร์ลมาถมทับตรงบริเวณหลังคาเตา คอเตา และรอบปล่องเตา และรอบปล่องเตาเป็นชั้นหนาประมาณ 50-70 :สันนิษฐานว่าเป็นชั้นดินฉนวนที่ช่วยเก็บกักความร้อนและช่วยรองรับการขยายตัวของโครงสร้างเตาที่เป็นผนังดินก่อให้มีความยืดหยุ่นได้ดี โครงสร้างเตาเก๊ามะเฟือง 2 ชำรุดมากไม่สามารถวัดขนาดได้
เทคนิคการตั้งเรียงถ้วยชามและอุปกรณ์รองภาชนะเตาเผา
นอกจากการขุดค้นศึกษาโครงสร้างเตาแล้ว ยังทำการขุดค้นหาหลักฐานเพื่อศึกษาประเภทของประดิษฐภัณฑ์เครื่องถ้วยชามที่ผลิตและเผาในเตาเก๊ามะเฟือง 1-2 โดยทำการขุดค้นในพื้นที่ลาดชายเนินทางทิศเหนือของเนื้อดินที่ตั้งเตา ห่างจากตัวเตาออกไปตั้งแต่ระยะประมาณ 2-10 เมตร และได้พบหลักฐานกองขยะจากเตาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นถ้วยชามที่บิดเบี้ยวเสียรูปทรงอันเกิดจากการสัมผัสกับลมร้อนอุณหภูมิสูงเกินว่าเกณฑ์ที่เนื้อดินปั้นจะคงรูปร่างอยู่ได้ ภาชะที่เผาไม่สุกยังมีเนื้อดินสีแดงไม่แกร่ง เคลือบไม่สุก หลอมเป็นแก้วใส ภาชนะที่เผาดิบแล้วชำรุดเสียหาย รวมทั้งภาชนะที่แตกหักเสียหาย และชิ้นส่วนอุปกรณ์รองภาชนะในการตั้งเรียงในเตาเผา
หลักฐานสำคัญจำนวนหนึ่งที่ช่วยให้เรารู้ว่าช่างปั้นเครื่องถ้วยชามสมัยโบราณที่เวียงบัวบรรจุภาชนะประเภทชาม และจาน เข้าตั้งบรรจุในเตาอย่างไร คือการพบชาม หรือการที่หลอมติดกัน 2 ใบบ้าง 3 ใบบ้างในลักษณะตั้งเรียงแบบปากประกบปาก ก้นซ้อนก้น และได้พบแผ่นรองรูปจานกลมแบนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางต่างๆกัน โดยขนาดเล็กที่สุดคือ เส้นผ่านศูนย์กลาง 12 ซม. หนา 0.5-0.9 ซม. ขนาดที่ใหญ่ที่สุดคือ เส้นผ่านศูนย์กลาง 24 ซม. หนา 1 ซม. มีร่องรอยการใช้รองรับฐานหรือก้นภาชนะในการเรียงตั้งในเตาเผาหลายครั้งจนเกินเป็นรอยวงสีต่างกันบนพื้นผิวทั้ง 2 ด้าน แต่ในการขุดค้นยังไม่พบแผ่นรองที่หลอมติดกับภาชนะประเภทจาน หรือ ชาม โดยตรง สันนิษฐานว่าช่างปั้นเครื่องถ้วยชามคงจะใช้แผ่นรองรูปนี้เป็นฐานรองรับภาชนะประเภทจานและชามใบล่างสุดของเถาเพื่อป้องกันมิให้สิ่งสกปรก เม็ดทราย หรือวัตถุอื่นๆ จากพื้นเตาหลอมติดกับก้นชาม หรือจาน ทำให้เสียหาย และใช้วัสดุรองขั้นภาชนะ ที่ขนาดฐานไม่เท่ากัน แต่ต้องตั้งเรียงในเถาเดียวกัน
ดวงตราพิมพ์ลาย
การศึกษาแหล่งเตาเผาเวียงบัวตั้งแต่ปี 2547-2554 สายันต์ ไพรชาญจิตร์ พบว่าช่างปั้นถ้วยชามเป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญในการใช้ตราพิมพ์ลายรูปสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และลายลักษณ์มงคลอื่นๆ ในการสร้างสรรค์ชุดลายลักษณ์มงคลจักรวาลบนผิวภาชนะประเภทชามหรือจาน และบนไหล่ไห ซึ่งเท่าที่รองจำแนกชนิดของลายหลัก หรือลายประธาน และลายย่อย หรือลายประกอบที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยชามอย่างคล่าวๆ พบว่า มีไม่น้อยกว่า 30 แบบ เกิดจากการใช้ดวงตราพิมพ์ลายที่ทำจากวัสดุหลายชนิด ซึ่งบางส่วนที่เป็นไม้ก็อาจจะเสื่อมสภาพไปแล้ว มีดวงตราที่ทำจากดินเผาหลงเหลือเป็นหลักฐานอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่พบดวงตราที่ทำจากหินหรือโลหะ
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เตาโบราณบ้านบัวมีตราพิมพ์ลายดินเผาจัดแสดงอยู่หลายดวง ทั้งตราที่ชาวบ้านพบโดยบังเอิญ และตราที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ดวงตราที่จัดแสดงมีลายหน้าตรารูปปลาตัวเดียว ตรารูปปลาสองตัวว่ายเวียนกัน ตรารูปนกหงส์หรือนกแดงที่ศักดิ์สิทธิ์ และตรารูปสัตว์สี่เท้าคล้ายแพะ
จานและชาม
ภาชนะประเภทจานหรือชาม เป็นหลักฐานที่พบมากที่สุดในการขุดค้นทางโบราณคดีรวมถึงเศษภาชนะที่ได้จากการเก็บรวบรวมเศษภาชนะจานชามที่มีอยู่มาก จากเตาเผานายแผ้วที่ถูกรถแท็กเตอร์ไถทำลายเมื่อปี พ.ศ.2550 มาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เตาโบราณบ้านบัว มีทั้งชามหรือจานที่อยู่ในขั้นเผาดิบ แล้วชำรุดเสียหายบิดเบี้ยวแตกหัก จึงถูกคัดทิ้งไม่นำไปเคลือบ และจานหรือชามที่ผ่านการเคลือบแล้วที่บิดเบี้ยวแตกร้าวเสียรูปทรง หลอมติดกับชิ้นอื่นๆ หรือไม่ก็เป็นชิ้นส่วนแตกหักถูกทิ้งทับถมกันเป็นจำนวนมาก รวมหลายพันชิ้น ภาชนะประเภท ชาม จาน เคลือบสีเขียว และสีเคลือบในกลุ่มสีเขียวอ่อน สีเขียวแกมเหลือง สีเขียวเข้ม เป็นประดิษฐภัณฑ์หลักของกลุ่มเตาเก๊ามะเฟือง เตาพ่ออุ๊ยแต๋ง และ เตานายแผ้ว แต่เตานายแผ้วเป็นจานหรือชามที่ไม่ค่อยมีลายลักษณ์ตกแต่งเหมือนจานชามของ 2 แหล่งก่อนหน้านี้ แหล่งเตาพะเยาที่เวียงบัวผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทชาม จาน ในกลุ่มที่กำหนดเรียกว่า ชามตะไล และ จานตะไล รูปทรงจานและชามปากกว้างก้นกว้าง มีขอบฐานเตี้ยๆที่ขอบปากด้านในมีสัน ขอบปากม้วนงอเข้า ลักษณะเดียวกันกับที่ชาวบ้านเมืองศรีสัชนาลัยเรียกว่า ชามมอญ หรือที่ Dr. Don Hein เรียกว่า Mon bowl ที่พบในแหล่งเตารุ่นแรกหรือเตาสมัยเชลียง ที่ศรีสัชนาลัย เหมือนกับชามหรือจานที่ผลิตในแหล่งเตาสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และชามหรือจานที่พบที่บ้านหนองร่อง จังหวัดลำปาง คล้ายกับชามหรือจานในแหล่งเตาเมืองน่าน บ้านเตาไหแช่เลียง จังหวัดน่าน ที่มีอายุการผลิตอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 8-20
มีหลักฐานโบราณวัตถุที่พบในการขุดค้นที่ยืนยันว่าการผลิตเครื่องถ้วยชามในแหล่งเตาเวียงบัวน่าจะมีการเผาสองครั้ง คือ ครั้งแรกทำการเผาดิบ คือเอาถ้วยชามที่ปั้นตากแห้งแล้วมาทาดินสีขาว ทำลวดลายแล้วเอาเข้าเผาเสียครั้งหนึ่ง เมื่อสุกแล้วจะได้ประดิษฐภัณฑ์เนื้อดินไม่แกร่งมาก เนื้อดินสีแดง คัดเลือกเอาใบที่สภาพดีไม่แตกร้าวหรือบิดเบี้ยวนำไปชุบเคลือบสีทั้งด้านในและด้านนอก ยกเว้นที่ขอบปากมีการเช็ดน้ำยาเคลือบออก และด้านนอกชามหรือจานเคลือบทับลงบนเนื้อดินโดยไม่มีชั้นรองพื้นสีขาวเหมือนด้านในซึ่งเทคนิคการทาดินรองพื้นสีขาวและเคลือบทับเฉพาะด้านในชามหรือจานนี้ พบว่าเหมือนกับการผลิตชามหรือจาน ในแหล่งเตาเชลียงที่เมืองศรีสัชนาลัย แหล่งเตาสันกำแพง และแหล่งเตาเมืองน่าน
เมื่อทำการเคลือบตกแต่งพื้นผิวที่เคลือบ และตากจนแห้งสนิทดีแล้ว จึงเอาชามหรือจานเข้าเรียงในเตา เพื่อเผาเคลือบอีกครั้ง คราวนี้ก็จะได้ประดิษฐภัณฑ์เคลือบเนื้อแกร่งมาก มีข้อสังเกตว่า ตามที่ลาดชายเนินดินที่ตั้งเตาเผามีเศษเครื่องถ้วยชามที่บิดเบี้ยวและแตกหักทับถมเสียหายอยู่หนาแน่น แสดงให้เห็นว่าการเผาแต่ละครั้งมีของเสียจำนวนมาก
คุณลักษณะสำคัญและความหมายของลายลักษณ์บนเครื่องถ้วยชามในแหล่งเตาพะเยาที่เวียงบัว
การขุดค้นศึกษากลุ่มเตาเก๊ามะเฟือง และเตาพ่ออุ้ยแต๋งเมื่อปี พ.ศ.2548 ได้พบเครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวหลายระดับค่าสี และสีเขียวแกมเหลืองประเภทชามหรือจาน ที่ตกแต่งเทคนิคด้วยการกดหรือประทับลายลักษณ์จากดวงตราพิมพ์ลายเป็นรูปสัญลักษณ์สิ่งของมงคล และรูปสัตว์วิเศษ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.1823-1843 ร่วมสมัยกับรัชสมัยพญางำเมือง
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวของเครื่องถ้วยชามในแหล่งเตาเวียงบัวคือ การตกแต่งลวดลายที่เกิดจากการใช้ดวงตราพิมพ์ลาย การเขียนลายหรือจารลายด้วยวิธีขูดเส้น การกดลายจากปลายเครื่องมือ เป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ โดยการตกแต่งตรงกลางชามด้านในเหนือชั้นดินขาวรองพื้นก่อนเคลือบทับ
ลายลักษณ์ที่สำคัญที่พบได้แก่ ปลา สิงห์ ช้าง ม้า ดวงอาทิตย์ ธรรมจักร ก้นหอย ขวัญ อนันตวัฎฎะ ศรีวัตสะ นกหงส์ นกยูง นกสีแดง หรือนกฟีนิกส์ ซึ่งส่วนมากเป็นลายลักษณ์แบบใหม่ที่ไม่เคยพบในแหล่งเตาอื่นๆทั้งในประเทศและต่างประเทศมาก่อน จานและชามในกลุ่มนี้มีลักษณะร่วมกันประการหนึ่ง คือ ที่ผนังข้างชามหรือจานด้านในมีการขูด ขีด หรือเซาะร่องตื้นๆ ตามแนวตั้งขนานกันไปโดยรอบ ในลักษณะรัศมีมณฑลของดวงอาทิตย์ หรือซี่กำของธรรมจักร ที่เมื่อมองจากด้านบนของจานหรือชาม ที่มีลายรูปสัตว์ตรงกลางแล้วดูเสมือนว่า รูปสัตว์ เช่น สิงห์ หรือราชสีห์ นกหงส์ หรือนกสีแดง ปลา ช้าง ม้า อยู่ที่ใจกลางดวงอาทิตย์ หรืออยู่ใจกลางจักรวาลมณฑล ในภูมิจักรวาลที่มีความหมายถึงสิ่งที่มีพลังอันทรงคุณค่า และมีความหมายอันเป็นสิริมงคลทั้งสิ้น เป็นการสร้างสรรค์ กำหนดคุณค่า และความหมายให้จานหรือชาม มีคุณสมบัติเสมือนรูปเคารพ หรือเป็นวัตถุมงคลที่มีความหมายมากกว่าเป็นภาชนะใช้สอยทั่วไป จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ลายลักษณ์ภูมิจักรวาลแบบสุริยจักร และธรรมจักร ลักษณะพื้นฐานนี้มีปรากฏในเครื่องถ้วยชามของกลุ่มชนต่างๆ ในทวีปเอเชีย ในช่วงพุทธศตวรรษ 15-24
ลายลักษณ์ที่ตกแต่งบนชาม หรือจานของแหล่งเตาเวียงบัว มีลักษณะโดดเด่นแตกต่างจากเครื่องถ้วยชามที่ผลิตจากแหล่งเตาอื่นๆของประเทศไทยและต่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด จากการศึกษาพบว่าลายลักษณ์ต่างๆ มีความหมายเกี่ยวเนื่องกับจักรวาลทัศน์ โลกทัศน์ และชีวิตทัศน์ เป็นวิธีคิดสำคัญทางวัฒนธรรมของผู้คน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-20 ที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้อุปโภคถ้วยชาม การวิเคราะห์ถอดรหัสความหมายของลายลักษณ์บนเครื่องถ้วยชามที่ผลิตจากแหล่งเตาเวียงบัวดังต่อไปนี้
ลายดวงอาทิตย์ ลายธรรมจักร
รูปแบบพื้นฐานลายลักษณ์บนจานหรือชาม จากแหล่งเตาเวียงบัวโดยเฉพาะกลุ่มเตาเก๊ามะเฟืองได้แก่ จานหรือชามตะไล ปากกว้าง ก้นกว้าง มีฐานเตี้ยๆ ตัวจานโค้งงุ้มเข้า ด้านในใกล้ขอบปากมีสัน พื้นกลางจานเรียบๆไม่มีลายลักษณ์รูปสัตว์ หรือสิ่งของมงคลอื่นๆ แต่มักมีเส้นวงกลมซ้อนกันหลายวง ล้อมรอบด้วยสุริยมณฑล หรือรัศมีที่ขูดเป็นร่องตื้นๆ ในแนวตั้งเวียนไปรอบผนังข้างจานหรือชาม ซึ่งเมื่อดูจากด้านบนของจานหรือชามก็เห็นเสมือนว่าชามหรือจานใบนั้นมีลักษณะเจิดจ้าประดุจดวงอาทิตย์ และจานหรือชามบางใบ ก็ทำลวดลายรัศมีรูปสามเหลี่ยม (คล้ายหน่อไม้) ล้อมรอบวงกลม ซ้อนกัน 2 หรือ 3 ชั้น ไว้ตรงกลางจานหรือชาม โดยมีสุริยมณฑลล้อมรอบอยู่ที่ข้างชามหรือจาน ซึ่งลายลักษณ์นี้มีความหมายว่าเป็นดวงอาทิตย์ หรือไม่ก็อาจจะหมายถึง พระธรรมจักรที่เป็นรูปลักษณ์อันเป็นมงคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเชน และลัทธิศาสนาอื่นๆ
ลายรูปสัตว์กลางสุริยมณฑล และกลางธรรมจักร
ลายลักษณ์สำคัญอีกชุดหนึ่งที่พบบนจานหรือชามเครื่องเคลือบที่พบในแหล่งเตาเวียงบัว เป็นรูปสัตว์ศักดิ์สิทธิ์หรือสัตว์มงคล ซ้อนทับอยู่ตรงกลางดวงอาทิตย์หรือธรรมจักร ได้แก่ สิงห์ หรือราชสีห์เผ่น เสือ ช้าง ม้า นกหงส์ ปลาแบบต่างๆ ลายลักษณ์รูปสัตว์เหล่านี้พบการใช้แพร่หลายในอินเดีย จีน และกลุ่มชนไทย-ลาว ในทวีปเอเชียมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล แสดงให้เห็นถึงการนำเอาสัญลักษณ์มงคลทั้งในระดับจักรวาล (ดวงอาทิตย์และธรรมจักร) และระดับวัฒนธรรมกลุ่มชน (รูปสัตว์ต่างๆ) มาใส่ไว้ในชามหรือจานให้มีฐานะเสมือนวัตถุมงคลหรือของศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้อุปโภคสามารถนำไปใช้ในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิตในวาระสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะในพิธีฝังศพและพิธีกรรมเกี่ยวกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ
ลายขวัญหรือลายอนันตวัฏฏะ
ในการขุดค้นกลุ่มเตาเก๊ามะเฟืองได้พบชาม หรือจานเคลือบสีเขียว และสีเหลืองแกมเขียวมีลายขวัญ หรือลายอนันตวัฏฏะ (หมายถึงสภาวะเวียนว่ายตายเกิดเคลื่อนไหวไหลเลื่อนเปลี่ยนไปไม่หยุดนิ่งเป็นอนิจจัง) อยู่ตรงกลางชามล้อมรอบด้วยรัศมีหรือมณฑลที่ผนังข้างชาม บางใบก็ไม่มี ลวดลายประดิษฐ์จากการใช้ดวงตรากดประทับ รูปลักษณะชุดลายประกอบด้วยเส้นขดแบบก้นหอย หลายเส้นหมุนวนคล้ายกับพายุหมุน คล้ายกับกระจุกเส้นขนที่ส่วนปลายม้วนขมวดไปในทิศต่างๆ คล้ายกับสายน้ำที่ไหลวนมีรูปปลาเวียนว่ายในกระแสน้ำวนสองตัว สันนิษฐานว่าน่าจะดัดแปลงมาจากรูปศรีวัตสะสัญลักษณ์มงคลรูปปลาคู่ผสมผสานคติธรรมความเชื่อเรื่องขวัญพัฒนาเป็นลายลักษณ์เฉพาะที่มีความหมายถึง จักรวาล โลก และชีวิต ที่เวียนว่ายตายเกิดเคลื่อนไหวเป็นพลวัตไปไม่สิ้นสุด ลวดลายเช่นนี้ไม่พบมาก่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ไห
แหล่งเตาเวียงบัวเป็นแหล่งผลิตภาชนะประเภทไหหลายรูปแบบ หลายขนาด ทั้งชนิดเนื้อแกร่งเคลือบเขียว เคลือบสีน้ำตาล และชนิดไม่เคลือบผิว จากการขุดค้นกลุ่มเตาเก๊ามะเฟือง และเตาพ่ออุ้ยแต๋งพบเพียงชิ้นส่วนของไหเนื้อแกร่งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ ที่แตกหักบิดเบี้ยวชำรุดเสียหายไม่มากนักแต่ก็ยืนยันได้ว่าเป็นประดิษฐภัณฑ์ที่ผลิตและเผาในบริเวณนี้ หลักฐานที่พบส่วนมากเป็นชิ้นขนาดเล็ก ไม่พบเต็มใบ หรือมีโครงสร้างพอที่จะศึกษาถึงรูปทรงสังเคราะห์โดยสมบูรณ์ได้ มีดังต่อไปนี้
1. ชิ้นส่วนไหเคลือบสีเขียว พบชิ้นส่วนไหปากบานคอสั้น เนื้อดินสีนวล เคลือบสีเขียว และก้นไหแบนเรียบ เนื้อแกร่ง เนื้อดินปั้นค่อนข้างหยาบสีแดงคล้ำ ด้านนอกทาน้ำดินสีขาวก่อนเคลือบ ซึ่งเคลือบคลุมไปเกือบถึงขอบก้น ลักษณะสีเคลือบและเนื้อดินปั้นของก้นไหชนิดนี้คล้ายคลึงกับ ไหเคลือบสีเขียวจากแหล่งเตาบ้านเตาไหแช่เลียง
2. ชิ้นส่วนไหล่ไหเคลือบมีลายภูมิจักรวาล ลักษณะเป็นลายขูดขีด และลายแกะสลักเป็นลายแถบลายคลื่น กับแถบชุดเส้นขนานที่แกะลงบนชั้นดินขาวรองพื้นแล้วเคลือบทับ บางชิ้นเป็นส่วนไหล่ไหที่มีลายแกะสลักและขูดเซาะเป็นร่องเล็กๆผ่านชั้นดินขาวรองพื้นเผยให้เห็นเนื้อดินปั้นสีคล้ำซึ่งเป็นส่วนที่ไม่เคลือบผิว
3. ไหไม่เคลือบมีลายตกแต่งมากมาย การขุดค้นพื้นที่ทิ้งขยะเตาของกลุ่มเตาเก๊ามะเฟือง พบชิ้นส่วนไหล่ไหสภาพบิดเบี้ยวเสียทรง เนื้อดินสีเทาคล้ำไม่เคลือบผิวสันนิษฐานว่า เป็นไหปากแตรขนาดกลาง ตกแต่งลายลักษณ์ภูมิจักรวาลบนไหล่และตัวไหโดยการกดประทับจากอุปกรณ์พิมพ์ลายและการปั้นแปะ บริเวณส่วนตัวไหต่อกับไหล่ด้านล่างเป็นแถบลายรูปกากบาทต่อเนื่องกันเป็นรั้วราชวัตร หรือแถบลายสามเหลี่ยมสลับหัวขึ้นลงต่อเนื่องกันอยู่ระหว่างร่องคู่ขนาน ถัดขึ้นไปเป็นส่วนไหล่ไหที่มีพื้นที่กว้างและลาด มีแถบคล้ายนาคหรืองูที่เกิดจากการกดจิ้มแล้วยกสะบัดปลายเครื่องมือแบบซี่หวีต่อเนื่องกันเป็นแถบโค้งลงเป็นปีกกา ถัดขึ้นไปตรงรอยต่อระหว่างไหล่กับคอไหเป็นแถบลายราชวัตร มีปุ่มหรือหูปั้นแปะรูปสะพานหรือภูเขายอดแหลมทับลงบนแถบลาย รอบๆหูมีเม็ดกลมสัญลักษณ์ของไตรรัตนะประดับอยู่ด้วย รูปลักษณะไห การตกแต่งลวดลาย เนื้อดินปั้น คล้ายคลึงกับไหที่ผลิตจากแหล่งเตาที่สุพรรณบุรี บ้านบางปูนมากที่สุด ซึ่งหากเศษไหชนิดนี้ไม่มีสภาพบิดเบี้ยวเสียทรงเพราะเป็นขยะจากการเผาที่กลุ่มเตาเก๊ามะเฟืองก็คงจะเชื่อว่าเป็นไหจากแหล่งเตาสุพรรณบุรีบ้านบางปูน ในที่นี้ยืนยันได้ชัดเจนว่าศิลปินช่างปั้นหม้อที่เตาเวียงบัวเป็นผู้ประดิษฐ์ไหใบนี้ขึ้นมาเองไม่ใช่นำมาจากแหล่งเตาสุพรรณบุรีบ้านบางปูน มาทดลองเผาซ้ำในเตาของตนเองจนเกิดสภาพบิดเบี้ยวแตกหัก เพราะได้พบชิ้นส่วนไหที่บิดเบี้ยวแตกหัก มีลายลักษณ์ตกแต่งแบบเดียวกันนี้อีกหลายชิ้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระยะเวลาการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่แหล่งเตาสุพรรณบุรีและแหล่งเตาเวียงบัวพบว่า กิจกรรมการผลิตของแหล่งเตาทั้งสองร่วมสมัยกัน คือช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ต่อต้นศตวรรษที่ 19 มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าศิลปินช่างปั้นหม้อทั้งสองพื้นที่น่าจะมีคติธรรมความเชื่อในการประดิษฐ์ภาชนะดินเผาและลายลักษณ์ไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งมีผู้อุปโภคที่นิยมใช้เครื่องปั้นดินเผาประเภทไหในลักษณะเดียวกันอีกด้วย ซึ่งจากประสบการณ์พบว่า ไหที่มีลายตกแต่งมากมายลักษณะนี้มักถูกนำไปใช้ในพิธีกรรมการฝังศพ ใส่เถ้าอัฐิฝังไว้ในสุสาน หรือไม่ก็ฝังไว้ตามศาสนสถานในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18-21(สายันต์ ไพรชาญจิตร์, 2555)
การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบและตกแต่งผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเมืองพะเยาบ้านเวียงบัวกับแหล่งเตาอื่นๆ
หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนอื่นที่ชัดเจนที่สุดคือชิ้นส่วนโบราณวัตถุที่มีรูปแบบของผลิตภัณฑ์เวียงกาหลงที่พบในบริเวณการสำรวจ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าเวียงบัวในสมัยก่อนกับชุมชนเวียงกาหลงนั้นน่าจะมีการติดต่อค้าขายหรือทำการแลกเปลี่ยนสินค้ากันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเป็นที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าบริเวณนี้ไม่ใช่ผู้ผลิตเครื่องถ้วยแบบเวียงกาหลง แน่นอนเพราะพบในประมาณที่น้อยและพบพื้นที่เดียว
เศษภาชนะที่พบเหล่านี้มีจำนวนไม่มาก และด้วยรูปแบบเฉพาะตัวของเวียงกาหลงทำให้บอกได้ว่าเมื่อพะเยากับเมืองเชียงรายในอดีตนั้นมีฐานะใกล้เคียงกันมาก เมืองพะเยาก่อนที่จะมาเป็นจังหวัดพะเยาก็เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเชียงรายและด้วย สภาพทางภูมิศาสตร์นั้น 2 จังหวัดนี้มีชัยภูมิที่อยู่ติดกันจึงน่าจะมีการไปมาหาสู่กันได้ง่ายกว่าเมืองหรือจังหวัดอื่น ไหเคลือบสีเขียวชิ้นหนึ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์ของแหล่งเตาพะเยาแต่กลับไปปรากฏอยู่ที่จังหวัดเชียงราย แต่ถ้าพบในจำนวนไม่มากนักเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นสินค้าเพื่อทำการแลกเปลี่ยนมากกว่าที่จะเป็นสินค้าที่ส่งออกไปขายอย่างจริงจัง
ข้อสรุปเกี่ยวกับแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาเตาเวียงบัว
จากการสำรวจสรุปได้ว่าแหล่งเตาเผาที่ปรากฏตามจุดสำรวจต่างๆนจะตั้งอยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้วยแม่ต๋ำ คูเวียงบัวหนึ่ง กับเวียงบัวสอง แต่ก็ยังมีบางจุดบางบริเวณที่ยังไม่สามารถสรุปได้ถึงการเป็นแหล่งเตาเผาอย่างจริงจัง กล่าวคืออาจเป็นเพียงเนินดินที่มีเศษดินที่ถูกเผาไฟ แต่เท่าที่ทำตามเกณฑ์การเลือกพื้นที่สำรวจ ทุกพื้นที่มีสิทธิ์เป็นไปได้หมด แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาเวียงบัวในสมัยโบราณนั้นอาจเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งของเมืองพะเยาในแง่ของการเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในสมัยโบราณ
อีกข้อหนึ่งที่ชัดเจนได้จากตัวอย่างเศษภาชนะดินเผาที่สำรวจพบนั้นก็คือรูปแบบของเตาเผาเครื่องปั้นดินเผา ณ จุดต่างๆ ที่ทำการสำรวจ ถ้าดูจากเนื้อภาชนะดินเผาที่เป็นเนื้อแกร่งแบบ stoneware แล้วนั้น การเผาเนื้อดินให้แกร่งจะต้องมีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,250 องศาเซลเซียส ซึ่งนั้นก็หมายถึงว่าเตาเผาทุกเตาเผาในแหล่งเตาเวียงบัว จะต้องเป็นเตาเผาที่เป็นลักษณะแบบเตาเผาชนิดระบายทางเดินลมร้อนในแนวนอนหรือเฉียงขึ้น ที่มีลักษณะรูปร่างรี ก่อทึบคล้ายประทุนเรือ หรือรูปไหที่วางนอนลงกับพื้นที่มีโครงสร้างเตา 3 ส่วน คือ ตอนหน้า ใช้เป็นห้องไฟอยู่ในระดับต่ำสุดของเตา มีช่องใส่ไฟและเชื้อเพลิงอยู่ทางด้านหน้า ตอนกลาง เป็นห้องบรรจุภาชนะ อยู่ในระดับลาดสูงกว่าห้องไฟเล็กน้อย ตอนหลัง เป็นปล่องระบายความร้อน อยู่ในระดับสูงสุดของเตา จากลักษณะโครงสร้างเตาดังกล่าวจะช่วยในการบังคับทิศทางการไหลของอากาศร้อนภายในเตาให้มีการไหลเวียนอย่างทั่วถึง เมื่ออากาศร้อนที่ขึ้นมาจากห้องไฟลอยขึ้นมาก็จะไปกระทบกับเพดานเตาด้านบน จึงทำให้ไหลย้อนกลับลงสู่ห้องภาชนะและผ่านออกไปทางปล่องเตาด้านหลัง การเผาในเตาเผาแบบนี้สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ถึง 1,100-1,512 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งและเครื่องเคลือบดินเผา ซึ่งหลักฐานต่างๆที่พบนั้นก็ทำให้รู้ถึงในส่วนที่เป็นเตาเผาได้ในระดับหนึ่งว่าควรจะเป็นเตาแบบเตาเผาชนิดระบายทางเดินลมร้อนเฉียงขึ้น ลวดลายของแหล่งเตาเวียงบัวนั้นเป็นลวดลายที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะลายกดประทับ รูปเสือหรือม้าที่ทำการขุดค้นพบที่เตาเวียงบัวหนึ่ง และสอง ก็สวยงามมาก หรือจากการสำรวจในครั้งนี้ลวดลายต่างๆ เช่น รูปปลาที่พบมากแสดงให้เห็นว่าเป็นชุมชนที่มีความผูกพันกับแหล่งน้ำ ทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติของชุมชน อย่างห้วยแม่ต๋ำหรือห้วยน้ำร่อง แหล่งน้ำที่ทำการขุดขึ้นมาเองอย่างคูเวียงบัวหนึ่ง และ สอง หรือแม้กระทั่งหนองบัวแสดงให้เห็นว่ามีน้ำก็ย่อมมีปลาเป็นของคู่กัน กล่าวคือในอดีตตามแหล่งน้ำต่างๆเหล่านั้นคงจะมีปลาอยู่มากและปลาเป็นอาหารที่คนในชุมชนในอดีตนิยมบริโภคกัน ด้วยความอ่อนช้อยและความละเอียดลึกซึ้งในแง่ของลวดลายความพลิ้วไหวของสายน้ำที่ทำเป็นลายคลื่น หรือลายวงกลมที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้ง เป็นไปได้ว่าลายคลื่นและลายวงกลมที่ปรากฏนั้นอาจมีความหมายที่โยงใยไปถึงแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อชุมชนรวมไปถึงลวดลายดอกบัวที่พบเพียงแค่หนึ่งชิ้นจากการสำรวจจึงยังไม่ปรากฏถึงความนิยมหรือความสัมพันธ์กับชุมชนนี้ในอดีตมากนักแต่จากลวดลายก็บ่งบอกถึงความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์เช่นกัน ถึงแม้ผลิตภัณฑ์จากเตาเวียงบัวจะไม่ปรากฏอย่างแพร่หลายเท่ากับผลิตภัณฑ์จากแหล่งอื่นๆ แต่ไม่ว่าใครที่ได้เห็นก็ต้องจดจำได้ถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่นและสวยงามของผลิตภัณฑ์จากเตาเวียงบัวนี้อย่างแน่นอน (เบญจพรรณ รุ่งศุภตานนท์ 2550)
ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง :
สัมภาษณ์พ่ออุ๊ยแต๋ง เครือวัลย์ ปัจจุบัน(พ.ศ.2555)อายุ 86 ปี ที่ได้ยินสืบทอดมาจากพ่อหนานยักษ์ คนเลี้ยงช้างปางแม่กา มารับจ้างเลื่อยไม้เล่าให้ฟังตอนท่านเป็นเด็ก
บริเวณเมืองโบราณเวียงบัวเดิมเป็นเมืองใหญ่ชื่อ เวียงกาหลง มีเจ้าเมืองชื่อนายโม สร้างเวียงกาหลงและวัดขึ้น โดยสร้างวัดอยู่นอกเวียง เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วยังไม่มีพระพุทธรูปจึงไปรบเอาพระพุทธรูปที่เมืองน้ำสะหรอย พระพุทธรูปที่ได้มานี้ชื่อว่าพระแก่นจันทร์ ต่อมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้มารบและนำกลับไป นายโมสร้างสวนไม้ซางคำและสวนไม้มะม่วง โดยปลูกไม้มะม่วงไว้เจ็ดต้น เรียกว่า ดงมะม่วงเจ็ดต้น มีมะม่วงต้นหนึ่งชื่อว่า ต้นถ้วนเจ็ด มีกิ่งใหญ่ 3 กิ่ง ผลมะม่วงแต่ละกิ่งเมื่อกินแล้วจะมีสรรพคุณวิเศษแตกต่างกันไปดังนี้
ผลจากกิ่งแรกจะทำให้กลับเป็นหนุ่มเป็นสาว
ผลจากกิ่งที่สอง จะทำให้เกิดสติปัญญาเฉลียวฉลาด
ผลจากกิ่งที่สาม จะทำให้มีทรัพย์สินเงินทองมากนัก
ครั้งนั้นมีสองสามีภรรยาคู่หนึ่งเกิดมีปากเสียงทะเลาะกัน ฝ่ายสามีเดินออกหนีออกบ้านไปเจอต้นมะม่วง(ต้นถ้วนเจ็ด) และได้เก็บมะม่วงจากกิ่งแรกมากินทำให้ชายชรากลับกลายเป็นหนุ่ม เมื่อภรรยาออกตามสามีมาพบสามีที่กลายชายหนุ่มจึงสอบถามกับชายหนุ่มว่าเห็นสามีชราของนางหรือไม่ ชายชราผู้กลายเป็นชายหนุ่มจึงบอกแก่ภรรยาของเขา ว่าเขาเองคือสามีของนาง นางไม่เชื่อ สามีของนางจึงได้พานางไปกินมะม่วงจากกิ่งแรก ภรรยาชราของเขาจึงกลับกลายเป็นสาวขึ้น เรื่องนี้ร่ำลือไปถึงหูพญางูเห่า พญางูเห่าเกิดความริษยาจึงได้พ่นพิษใส่ต้นมะม่วง ทำให้ต้นมะม่วงไม่ออกลูกอีกเลย
ต่อมาไม่นานมีช้างปู้ก่ำงาเขียวเข้ามาทำร้ายผู้คน นายโมจึงได้เกณฑ์ชาวบ้านชาวเมืองไปขุดคือ(คูน้ำรอบเมือง) สร้างเป็นกำแพงดินรอบเวียง เพื่อป้องกันช้างเข้ามาทำร้ายผู้คน โดยสร้างประตูเข้าเมือง 1 ประตู และมีห้องอยู่ 5 ห้องซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่ มีประตูอีก 10 ประตู ได้แก่ ประตูสักชัย ประตูต้นก่ำ ประตูต้นแงะ ประตูประดู่ ประตูเกลือ ประตูต้นค่า ประตูโก๊ง ประตูต้นมื่น ประตูต้นม่วง ประตูกาหลง ซึ่งประตูเหล่านี้มีต้นไม้ปลูกตามชื่อประตูอยู่ สำหรับห้องทั้ง 5 ห้องได้แก่
1. ห้องกาหลง มีประตูเข้าถึง คือ ประตูกาหลงด้านหน้าของประตูเป็นลำน้ำแม่ต๋ำ ซึ่งอยู่นอกเวียง
2. ห้องดอนม่วง มีประตูเข้าถึง คือ ประตูต้นม่วง ประตูโก๊ง ประตูต้นมื่น และประตูเกลือ
3. ห้องดอนแป้น มีประตูเข้าถึง คือ ประตูกาหลง และประตูสักชัย
4. ห้องคอกควาย มีประตูเข้าถึง คือ ประตูต้นค่า
5. ห้องสามเส้า มีประตูเข้าถึง คือ ประตูต้นแงะ ประตูต้นก่ำ และประตูประดู่ สาเหตุที่เรียกว่า ห้องสามเส้านั้น เพราะห้องนี้มีเรียงอยู่สามก้อนและตรงกลางของหินทั้งสามจะมีน้ำซึมออกมาเป็นบ่อน้ำซับ
ต่อมานายโม ได้ให้นายพรานผู้หนึ่งไปฆ่าช้างปู้ก่ำงาเขียวที่หนองล่ม เลือดที่ไหลออกมาจากช้าง ส่วนหนึ่งกลายเป็นลำธารเรียกว่า “ห้วยร่องช้าง” อีกส่วนได้ซึมแทรกลงไปในชั้นดิน จึงเรียกบริเวณนี้ว่า “บ้านร่องจว้า” ส่วนปอดของช้างนั้นไหลไปตามน้ำ มีอีกาบินมาดู จึงเรียกบริเวณแห่งนั้นว่า “บ้านทุ่งกาใจ”
ตอนเป็นเด็กพ่ออุ๊ยแต๋งเคยไปสำรวจประตูเมืองและพบต้นไม้ต่างๆ ดังกล่าวตามตำนานที่พ่อหนานยักษ์เล่าให้ฟัง เห็นสวนสวนไม้ซางคำ (ผู้เฒ่าผู้แก่เรียกว่า ไม้ไผ่คำ) ไม้ซางคำกอสุดท้ายของเวียงบัว ฟ้าผ่าตายไปเมื่อตอนที่ท่านอายุ 30 ปี (ประมาณ พ.ศ.2499)
ปัจจุบันยังปรากฏร่องรอยคูเมืองและกำแพงเก่าทั่วทั้งหมู่บ้าน ในสมัยก่อนนั้นมีความกว้างและลึกกว่าปัจจุบันมาก ต่อมามีการทับถมของตะกอนดินต่างๆ ทำให้คูเมืองตื้นเขินแต่ยังคงมีร่องรอยปรากฏให้เห็นชัดเจนอยู่ (สายันต์ ไพรชาญจิตร 2555 : 127-131)
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพะเยา . กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2544.
ธรณีสัณฐานจังหวัดพะเยาในจังหวัดพะเยา, 2553. สืบค้นวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2556, จาก www.rubber.co.th/phayao/introduce/phayao_physics.docx
เบญจพรรณ รุ่งศุภตานนท์. “การสำรวจและศึกษาแหล่งเตาเผาโบราณบ้านเวียงบัว ต. แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550.
วราวุธ ศรีโสภาค. “การศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของกลุ่มชุมชนโบราณที่มีคู-คันดินล้อมรอบในบริเวณเมืองพะเยา” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.
สายันต์ ไพรชาญจิตร์. อารยะพะเยา ที่แหล่งเตาเวียงบัว. กรุงเทพฯ : สมาพันธ์จำกัด (มหาชน), 2555.
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจ แหล่งโบราณคดีเวียงพระธาตุ แหล่งโบราณคดีเวียงต๋อมดง แหล่งโบราณคดีเวียงบัว จังหวัดพะเยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529.