โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : บ้านลำปางหลวง ม.1-2 ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา
ตำบล : ลำปางหลวง
อำเภอ : เกาะคา
จังหวัด : ลำปาง
พิกัด DD : 18.217306 N, 99.388878 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : วัง
เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำแม่ตาล, ลำน้ำแม่แก้
จากตัวจังหวัดลำปาง ใช้ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) มุ่งหน้าอำเภอเกาะคา (มางหน้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้) ประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงอำเภอเกาะคา เมื่อเลยวิทยาลัยการอาชีพเกาะคาจะถึงสามแยก ให้เลี้ยวขวาใช้ทางหลวง 1034 ไปตามทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงสามแยกให้เลี้ยวขวาใช้ทางหลวง 5006 ประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบป้ายทางเข้าสู่วัดพระธาตุลำปางหลวงอยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเกาะคา-ห้างฉัตร ประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบวัดพระธาตุลำปางหลวงทางซ้ายมือ และลานจอดรถอยู่ทางขวามือ
วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นโบราณปูชนียสถานที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของไทย เปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้าสักการะและนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน
วัดพระธาตุลำปางหลวง, กรมศิลปากร
วัดพระธาตุลำปางหลวง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร 3 ครั้ง
(1) การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำคัญของชาติ ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 หน้า 3698 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478
(2) การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 97 ตอนที่ 163 วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2523
(3) ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เล่มที่ 113 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2529
พระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในเวียงพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นเวียงพระธาตุ หรือเวียงแห่งศาสนาตามระบบเมืองในคติจักรวาลแบบล้านนา ที่จะมีเมืองต่างๆรายล้อมเมืองหลักทำหน้าที่แตกต่างกัน แล้วขยายออกไปเรื่อยๆเป็นโครงข่าย เวียงพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเกาะคา ห่างจากอำเภอเมืองลำปางไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 16 ก.ม. อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 18ํ 13 ́ เหนือ และเส้นแวงที่ 99ํ 23 ́ตะวันออก เป็นเวียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความยาวประมาณ 700 เมตร ส่วนกว้างประมาณ 300 เมตร (ยังไม่แน่นอน) ทางด้านใต้และด้านตะวันออกมีร่องรอยของกำแพงดินสามชั้น ส่วนด้านเหนืออยู่ในสภาพลบเลือน ทางด้านตะวันตกมีส่วนของกำแพงยื่นล้ำลงไปสู่ที่ราบลุ่ม บริเวณริมเมืองทางด้านใต้มีเนินดินอันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวง อยู่ในสภาพที่สูงกว่าบริเวณใกล้เคียง จนแลดูเห็นว่าองค์พระสถูปตั้งอยู่บนเนินเขาดิน เวียงพระธาตุลำปางหลวงนี้ในตำนานเรียกว่า “ลัมภกัปปะนคร” เป็นเจ้าเมืองมาแต่สมัยกรุงหริภุญชัยยังเรืองอำนาจมีประตูเมืองหลายประตู แต่เท่าที่มีชื่อเรียกปรากฏมี 3 ชื่อ คือ ประตูหนองงู ทางด้านตะวันตก ประตูลับแลทางมุมเมืองด้านใต้ ตอนที่กำแพงเมืองด้านตะวันตกและด้านใต้มาต่อกัน ประตูดอกไม้ทางด้านใต้ ซึ่งเป็นทางเข้าสู่บริเวณพระธาตุลำปางหลวง กำแพงและคูน้ำถูกเกลื่อนทำลายลงหลายแห่ง ที่เหลือให้เห็นอยู่ในสภาพที่ดีก็เฉพาะด้านตะวันตก ตั้งแต่ประตูหนองงู ประตูลับแล มาจนถึงประตูดอกไม้ทางด้านใต้ โบราณสถานภายในเมืองนอกจากพระธาตุลำปางหลวงแล้ว ก็มีบ่อน้ำกลางเมือง เรียกว่า บ่อน้ำเลี้ยง เป็นบ่อน้ำมาแต่โบราณ น้ำในบ่อมาจากตาน้ำใต้ดิน บริเวณขอบบ่อชาวบ้านสร้างกรอบไม้กรุไว้ และที่กรอบไม้นี้มีรอยสึกที่เกิดจากการใช้เชือกสาวถังน้ำจากบ่ออยู่เต็มไปหมด แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านใช้น้ำจากบ่อนี้มาแล้วเป็นเวลาช้านาน มีซากวัดและเจดีย์ถัดบ่อน้ำเลี้ยงไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 30 เมตร และบริเวณหน้าประตูหนองงูอีกแห่งหนึ่งแต่ว่าปรักหักพังลงเห็นแต่ฐานเตี้ยๆ อยู่ติดพื้นดินเท่านั้น มีหมู่บ้านตั้งอยู่ภายในบริเวณเมืองทางตอนเหนือของวัดพระธาตุลำปางหลวงในลักษณะที่ค่อนข้างหนาแน่น เวียงพระธาตุ เวียงพระธาตุลำปางหลวงนี้เป็นเมืองเป็นเมืองที่มีลักษณะพิเศษเมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาเวียงโบราณต่างๆ ในภาคเหนือด้วยกัน คือนอกจากจะมีกำแพงดินล้อมรอบถึงสามชั้น และคูน้ำสองชั้นแล้ว ยังมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสม่ำเสมอด้วย ตัวเมืองตั้งอยู่บนที่ราบตอนลาดลงสู่แม่น้ำวังทางด้านตะวันออก บริเวณรอบๆเมืองเป็นที่ราบลุ่มมีลำน้ำเหมืองหล่อเลี้ยงหลายสาย โดยเฉพาะลำน้ำแม่ตาลและแม่น้ำแก้ ซึ่งไหลไปออกแม่น้ำวังทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ต่ำจากเวียงพระธาตุนี้ลงไปประมาณ 2 ก.ม. ก็เป็นหมู่บ้านเกาะคา ซึ่งเป็นที่ลำน้ำแม่ยางไหลมาบรรจบกับลำน้ำแม่วัง แล้วไหลผ่านอำเภอเกาะคาลงไปทางใต้ จากประตูดอกไม้มีคันดินโบราณตรงไปทางตะวันตกราว 600 เมตร ตอนปลายคันดินมีแนวลำน้ำเล็กๆ หรือลำเหมืองแล่นตัดไปลงแม่น้ำวัง คันดินดังกล่าวนี้คงมีหน้าที่ในการระบายน้ำ เพื่อการเกษตร เพราะบริเวณที่ตัวเมืองตั้งอยู่นั้น อยู่บนที่ราบตอนที่ลาดจากที่สูงทางด้านตะวันตก เข้าหาลำน้ำแม่วังทางด้านตะวันออก คันดินนี้จึงมีนหาที่ระบายน้ำที่ไหลลงแต่ทางตะวันตกเข้าสู่ตัวเมือง และบริเวณแหล่งทำการเพาะปลูกรอบๆเมือง จากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 2 ก.ม. เป็นที่ตั้งของบ้านหล่อม มีร่องรอยของวัดเก่าแห่งหนึ่งเหลืออยู่เพียงแต่มณฑปเท่านั้น เวียงพระธาตุลำปางหลวงสร้างมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่หลักฐานทางโบราณคดีพบว่าอยู่ในสมัยล้านนา แต่ก็ยังพบเศษภาชนะดินเผาไม่เคลือบแบบหนึ่งที่พบอยู่ตามผิวดินภายในเขตเมือง ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันกับเศษเครื่องปั้นดินเผาในสมัยหริภุญชัยที่พบในเขตลำพูน เชียงใหม่ แต่ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ ต้องมีการขุดค้นและวิจัยต่อไป (เวียงพระธาตุลำปางหลวง, ศรีศักร วัลลิโภดม, หน้า 36-44)
ตัวเมืองที่ประดิษฐานพระธาตุลำปางหลวงนั้นตั้งอยู่บนที่ราบตอนลาดลงสู่แม่น้ำวังทางด้านตะวันออก บริเวณรอบๆเมืองเป็นที่ราบลุ่มมีลำน้ำเหมืองหล่อเลี้ยงหลายสาย โดยเฉพาะลำน้ำแม่ตาลและแม่น้ำแก้ ซึ่งไหลไปออกแม่น้ำวังทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ต่ำจากเวียงพระธาตุนี้ลงไปประมาณ 2 ก.ม. ก็เป็นหมู่บ้านเกาะคา ซึ่งเป็นที่ลำน้ำแม่ยางไหลมาบรรจบกับลำน้ำแม่วัง แล้วไหลผ่านอำเภอเกาะคาลงไปทางใต้ จากประตูดอกไม้มีคันดินโบราณตรงไปทางตะวันตกราว 600 เมตร ตอนปลายคันดินมีแนวลำน้ำเล็กๆ หรือลำเหมืองแล่นตัดไปลงแม่น้ำวัง คันดินดังกล่าวนี้คงมีหน้าที่ในการระบายน้ำ เพื่อการเกษตร เพราะบริเวณที่ตัวเมืองตั้งอยู่นั้น อยู่บนที่ราบตอนที่ลาดจากที่สูงทางด้านตะวันตก เข้าหาลำน้ำแม่วังทางด้านตะวันออก คันดินนี้จึงมีนหาที่ระบายน้ำที่ไหลลงแต่ทางตะวันตกเข้าสู่ตัวเมือง และบริเวณแหล่งทำการเพาะปลูกรอบๆเมือง(เวียงพระธาตุลำปางหลวง, ศรีศักร วัลลิโภดม, หน้า36-44)
เมืองลำปาง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 268.80 เมตร พื้นที่มีลักษณะเป็นรูปยาวรี ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีภูเขาสูงอยู่ทั่วไปทอดตัวจากเหนือไปใต้ และบริเวณตอนกลางบางส่วนมีที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ และตามลักษณะทางกายภาพทางด้านธรณีสัณฐานวิทยา เมืองลำปางมีพื้นที่ที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีลักษณะเป็นแอ่งแผ่นดินที่ยาวและกว้างที่สุดในภาคเหนือ เรียกว่า “อ่างลำปาง” บริเวณตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นแหล่งเกษตรกรรมหลัก
ผังของวัด
ผังของวัดพระธาตุลำปางหลวงแบ่งเขตพุทธวาสกับเขตสังฆาวาสออกจากกันอย่างชัดเจน โดยมีระเบียงคดเป็นขอบเขตการแบ่ง กล่าวคือพื้นที่ภายในระเบียงคดคือเขตพุทธาวาส ส่วนพื้นที่ภายนอกระเบียงคดเป็นเขตสังฆาวาส
เขตสังฆาวาสนั้นอยู่ทางทิศใต้ของเขตพุทธาวาส การกำหนดทิศที่ตั้งเป็นไปตามอย่างคติลังกาวงศ์ มีแผนผังไม่กำหนดแน่นอนตายตัวว่าจะวางสิ่งก่อสร้างใดอยู่บริเวณไหนบ้าง ต่างกับสิ่งก่อสร้างในเขตพุทธาวาสที่มีตำแหน่งแน่นอน โดยยึดตามคติความเชื่อจักรวาลคติ
ทั้งนี้การวางผังแบบจักรวาลคติ หมายถึงรูปแบบการวางอาคารศาสนสถานที่มีการจัดวางเรื่องทิศและตำแหน่ง สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องจักรวาลของแต่ละชุมชน แม้แต่ชุมชนที่นับถือผีบรรพบุรุษหรือธรรมชาติก็มีระบอบจักรวาลของตนเอง สำหรับระบบจักรวาลคติล้านนาถูกพัฒนาขึ้นจนมีความสมบูรณ์สูงสุดในราวพุทธศตวรรษที่ 21 เชื่อว่าเป็นไปเพื่อสถาปนาพระราชอำนาจกษัตริย์ให้เป็นธรรมราชา
สันนิษฐานว่าล้านนาใช้จักรวาลคติผนวกกับความเชื่อท้องถิ่น ได้แก่เรื่องการให้ความสำคัญกับพื้นที่สูง และเรื่องการบูชาพระธาตุตามพุทธศาสนาเถรวาท จักรวาลคติของล้านนาจึงเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นหลัก คล้ายเป็นความพยายามของรัฐที่จะทำให้พุทธศาสนาได้รับการยอมรับในหมู่ชนพื้นเมือง เป็นดั่งกลไกสำคัญที่กษัตริย์ล้านนาใช้ควบคุมสังคมโดยใช้พุทธศาสนาเป็นแกนกลางแห่งความศรัทธา
ปัจจุบันผังวัดพระธาตุลำปางหลวง ประกอบไปด้วย
1. องค์พระธาตุเจดีย์เป็นแกนกลาง
2. วิหารในทิศหลักทั้ง 4 ทิศ ได้แก่ วิหารพระพุทธในทิศใต้ วิหารน้ำแต้มในทิศเหนือ วิหารหลวงในทิศตะวันออกและวิหารละโว้ในทิศตะวันตก ทั้งนี้ทิศใต้มีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นทิศที่ตั้งของชมพูทวีปแผ่นดินที่พระพุทธเจ้าอุบัติ ทิศใต้จึงเป็นทิศของพระพุทธเจ้า ในวัดพระธาตุลำปางหลวงใช้เป็นที่ตั้งของวิหารพระพุทธเช่นเดียวกับวิหารพระพุทธในผังวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
3. สิ่งก่อสร้างตามแนวทิศเสริมทั้ง 4 ได้แก่ มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นพระอุโบสถ เยื้องกันเล็กน้อยเป็นที่ตั้งของมณฑปพระพุทธบาท ทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นต้นขะจาว ต้นไม้ในตำนานพระธาตุลำปางหลวง และหอระฆังทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นวิหารต้นแก้ว และรูปปั้นยักษ์กุมภัณฑ์ ส่วนทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีรูปปั้นกุมภัณฑ์อีกตนหนึ่ง
สิ่งก่อสร้างตามผังจักรวาลคติ ภายในเขตพุทธวาสถูกล้อมรอบไว้ด้วยมหาสมุทรสีทันดรซึ่งใช้ทรายเป็นสัญลักษณ์ทว่าปัจจุบันลานทรายทางทิศเหนือถูกปรับให้เป็นลานอิฐในสมัยพระครูมหาเจติยาภิบาลเป็นเจ้าอาวาส ส่วนลานทรายทางทิศใต้ยังคงปรากฏอยู่เช่นเดิม
จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบวัดพระธาตุลำปางหลวง พบว่าเรื่องการเคารพรูปปั้นภุมภัณฑ์ในแนวทิศเสริมมีความน่าสนใจอยู่มาก เพราะสะท้อนร่องรอยการนับถือรูปเคารพของชาวลัวะพื้นถิ่นในอดีต ซึ่งเป็นประจักษ์พยานว่ารัฐไม่สามารถกลมกลืนความเชื่อพื้นถิ่นด้วยพุทธศาสนาได้ทั้งหมด
กล่าวคือเมื่อใดที่ชาวบ้านจะบนบานศาลกล่าวขอพรให้เป็นไปดังปรารถนา แทนที่จะขอพรกับพระเจ้าทันใจ แต่ไปขอพรกับรูปปั้นกุมภัณฑ์ นอกจากนี้ชาวบ้านยังเชื่ออีกว่า กุมภัณฑ์ทั้ง 2 องค์ในวัด เป็นพี่น้องกับเจ้าพ่อข้อมือเหล็กอันสถิตอยู่บริเวณบ่อน้ำเลี้ยงกลางเมืองกุมภัณฑ์ทั้ง 2 ทำหน้าที่รักษาวัด ส่วนเจ้าพ่อข้อมือเหล็กทำหน้าที่รักษาเมือง เป็นผีวัด ผีเมืองของคนพื้นเมืองตามความเชื่อ เก่าก่อนพุทธศาสนา
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเข้าทรงเจ้าพ่อข้อมือเหล็กกับเจ้าพ่อกุมภัณฑ์ทุกวัน ยกเว้นวันพระกับวันพุธ ม้าทรงปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) ชื่อนางจันทร์แก้ว จันทร์ทิพย์ อายุ 85 ปี มีเชื้อสายลัวะ สถานที่เข้าทรง คือบ้านม้าทรง ไม่มีการเข้าทรงในวัดแต่อย่างไร น่าสังเกตว่าม้าทรงนั้นต้องมีเชื้อสายลัวะเท่านั้น การนับถือรูปปั้นกุมภัณฑ์และการทรงเจ้าเข้าผี จึงสะท้อนความเชื่อดั้งเดิมของชนพื้นถิ่นที่พุทธศาสนาไม่สามารถกลมกลืนไว้ได้ และนั่นก็เป็นประจักษ์พยานสำคัญที่หลงเหลือมาจนกระทั่งทุกวันนี้ว่า พื้นที่บริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวง ในอดีตเคยเป็นพื้นที่สำคัญของชาวลัวะพื้นถิ่นมาก่อน ผังวัดพระธาตุลำปางหลวงตามแบบระบบจักรวาลคติล้านนาที่ปรากฏในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าได้รับการสถานาขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าว ปรากฏมีการซ่อมแซมบูรณะวัดพระธาตุลำปางหลวง อาจเป็นช่วง พ.ศ. 2019 สมัยเจ้าเมืองหาญแต่ท้อง พ.ศ. 2039 สมัยเจ้าสีทัตมหาสุรมนตรีก็ได้ (ศิลปากร, กรม, 2552, หน้า 33-34)
รายละเอียดด้านประวัติศาสตร์วัดพระธาตุลำปางหลวงมีดังนี้
พ.ศ. 1992 จุลศักราช 811 ปีกัดใส้ (ปีมะเส็ง) เจ้าเมืองหาญแต่ท้องมากินเมืองนครแล้ว (เจ้าหาญแต่ท้องเป็นราชบุตรหมื่นด้งนคร) อาศัยซึ่งมหาเถรเจ้าอัตฐทัคศรีเป็นประธานขออาณาเขตแต่พระญาติ พระเจ้าติโลกราชเจ้าเมืองเชียงใหม่ เพื่อจักประดิษฐานพระเจดีย์ไว้เหนือที่สารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้าลัมภกัปปนคร ได้รับราชอาณาเขตแล้วก็ให้ชำระประเทศอันจักประดิษฐานเจติยะ ตัดไม้ขะจาวต้นอันพระยาพลนครปลูกไว้เป็นที่สังเกตนั้นเสียแล้ว ก็ให้ขุดลงไปภายต่ำได้กระดูกคนทั้งสี่ที่ พระยาพลราชฝังไว้นั้น พระองค์ก็ให้ประดิษฐานเจติยะหลังหนึ่งกว้าง 9 วา สูง 15 วา อันสำเร็จด้วยอิฐและสะตาย (ปูน) อันบริสุทธิ์ทุกสิ่งแล้วพระยาก็ให้ก่อปาทลักขณะแล้ว(พระพุทธบาท) ให้เสร็จบริบูรณ์
พ.ศ. 2019 จุลศักราชได้ 838 ตัวปีระวายสัน (ปีวอก) เดือนยี่ (เดือนสี่ใต้) แรม 3 ค่ำ วันพุธ ไทเปิกสง้า ได้ฤกษ์ 7 ตัว ชื่อ “ปุนนัพพะสุ” เจ้าหมื่นคำเป๊กเป็นเชื้อขุน อยู่เมืองใต้มาอยู่ในอำนาจพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้บัญชาการให้เจ้าหมื่นคำเป๊กมาครองเมืองนคร (ลำปาง) แล้วได้ฟื้นฟูศาสนาพระมหาธาตุเจ้าลำปาง ให้สร้างกำแพงวิหารแล้วจนเสร็จ ให้หล่อพระพุทธรูปเจ้าองค์หนึ่ง ประมาณ แสนสิบหมื่นทองแสนสองหมื่น ให้ฉลองก็เสร็จแล้วทุกประการ แล้วให้ไว้ในวิหาร และทรงให้ไว้ข้าทาส 4 ครัวเรือน เพื่อให้เป็นข้าวัดดูแลรักษาวิหาร ให้สร้างศาลาและบ่อน้ำ ตัดถนนมาต่อหน้าพระธาตุลำปางหลวงจนแล้วเสร็จ เจ้าหมื่นคำเป๊กก็ได้ตั้งคำปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งอันจักมาอุบัติยังภายหน้า
พ.ศ. 2039 ปีมะโรง เดือน 6 (เดือน 8) ขึ้น 10 ค่ำ วันอาทิตย์ ฤกษ์ 6 ตัว ชื่ออทราย เจ้าเมืองหาญศรีธัตถมหาสุรมนตรีมากินเมืองลำปางนี้ได้ 6 เดือน จึงชักชวนพระสงฆ์กับขุนนางพร้อมเหล่านักบุญทั้งหลาย มาก่อธรณีพระมหาธาตุลำปางหลวงกว้าง 12 วา ถัดจากนั้น ปีมะเมีย แรม 12 ค่ำ วันพุธ จึงก่อซ้ำจนแล้วเสร็จในปีมะแม เดือน 4 (เดือน 6) แรม 8 ค่ำ มหาธาตุกว้าง 12 วา หมดดินและอิฐ 1,303,874 ก้อน หมดปูน 7,910,000 ค่าปูน 3,806 บาท เฟื้องเสี้ยว เงินค่าอิฐเผา 13,004 บาท เงินซื้อน้ำอ้อยหมดไป 57,432 บาท เมื่อเจ้าเมืองอ้ายอ่ำเป็นลูกอ้ายเจ้าเมืองหาญแต่ท้องมากินเมืองนคร ได้เอาทองไปใส่ในหมาธาตุเจ้า 1,400 บาทซีกคำ คำเกือกเสี้ยว 303 บาท 3 ซีกคำ แลเมื่อเจ้าอ้ายอ่ำจะตายสั่งไว้ให้เอาเสนาหาญผู้ดีแห่งท่านผู้หนึ่งนามว่า หาญศรีทัตให้มากินเมืองแทน วันนั้นพระเมืองแก้วเมืองเชียงใหม่จึงให้นำเอาเจ้าเมืองหาญศรีทัตมากินเมืองนครลำปาง แล้วก็ได้เอาทองขึ้นใส่มหาธาตุเจ้า 7,100 ร้อยบาทซีกเสี้ยว หมดทองเกือก 7,500 บาทเอง รวมทองทั้งหมดได้ 13,206 บาท ซีกเสี้ยวทองเมื่อเจ้าอ้ายอ่ำเอาทองขึ้นใส่มหาธาตุเจ้าหลังก่อนนั้น 1,400 บาทซีกทอง (ยามนั้นเจ้าเมืองหาญศรีทัตยังไม่ได้ครองเมืองนคร) เจ้าหมื่นศรีทัตจึงเอาทองขึ้นใส่ 5,800 ปลายเสี้ยวทอง
ถัดจากนั้น ปีระกา เดือน 3 (เดือน 5) ขึ้น 9 ค่ำ วันศุกร์ หล่อพระเจ้าล้านทอง และทองพอกพระเจ้าล้านทอง 32 ทอง 362 เงินไถ่ข้าไว้กับ 6 ครัว ค่า 267 เงิน ไว้นากับพระเจ้าล้านทอง 20 ข้าวและคำปรารถนาเมืองนครลำปางให้ได้เถิงสุขในเมืองฟ้าเมืองคน และให้ได้เป็นอรหันต์ตนวิเศษในสำนักของพระศรีอาริย์
ถัดจากนั้น เจ้าเมืองหาญศรีทัตให้หล่อพระทองรูปหนึ่งหนัก 3 หมื่นทอง แล้วนำมาไว้ในพระธาตุลำปางหลวงในวิหารด้านเหนือ วิหารด้านตะวันตกไว้พระศิลาอันพระยาละโว้พระราชบิดาพระนางจามเทวีให้มาไว้เป็นที่ไหว้แก่พระอนันตยศผู้เป็นหลานอันอยู่กินเมืองนั้น ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในวิหารด้านใต้มีมาก่อนนั้นแล้ว เจ้าเมืองหาญศรีทัตก่อมหาธาตุกว้าง 12 วา สูง 21 วา ภายหลังพระราชครูนำเอาฉัตรทองมาใส่ยอดมหาธาตุในปีจอนั้น ยึดแกนเหล็กขึ้นอีก หลังจากนั้นแผ่นดินไหวยอดพระธาตุในปีวอก มหาสังฆราชเจ้าอภัยทิฐเมธังคละเจ้า และมหาสังฆราชวิจิตรญาณเมตตาเจ้ายังปาระกาเป็นประธาน จึงจะยื้อแกนเหล็กขึ้นอีก ที่นั้นพระมหาธาตุเจ้าสูง 22 วา กับ 1 ศอก
พ.ศ. 2145 ปีขาล เดือน 3 (เดือน 5) วันพฤหัสบดี พระมหาอุปราช พระยาหลวงนครชัยบุรี มีราชศรัทธาในพระมหาธาตุลำปางหลวงจึงชักชวน พระสงฆ์เสนาอำมาตย์ เจ้าขุนบุญหนัก นำเอาทรัพย์สินมาบูชาพระธาตุเจ้า มพระมหาสมเด็จวรัตนมังคลลัมภกัปปรามาธิปติกับพระมหาสังฆราชาวัดหลวง และมหาสังฆโมคคลีเชียงยืน เป็นประธานให้แล้วเสร็จ ภายหลังมาข้าศึกศัตรูทำลายรั้งพระมหาธาตุ พระมหาราชครูศรีกลางนคร สมเด็จพระรัตนมังคลลำปาง พร้อมกับพระสงฆ์และผู้ใจบุญสร้างรั้วขึ้นใหม่ 412 เล่ม
พ.ศ. 2194 เจ้ามหานามพร้อมภริยา เป็นประธานสร้างพระพุทธรูป 29 องค์ (พระแผง) รวมผู้อื่นบริจาคเพิ่ม 310 เงิน
พ.ศ. 2263 ปีกุล เดือนยี่ (เดือน 12) แรม 7 ค่ำ ภายในมีหาวนวาสีอรัญญศีลา(วัดไหล่หิน) และพระมหาพลปัญโญลำปางกับปาธิปติและพระหลวงเจ้าป่าตัน และพระสงฆ์ทั้งมวล ภายนอกมีแสนหนังสือหลวงนคร พ่อเมืองทั้งมวล และขุนวัดทั้งมวล ผู้เฒ่าผู้แก่ใหญ่น้อยชายหญิงได้พ้อมกันได้ให้ชาวบ้านป่าตันมีหมื่นมโน และนายบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ช่วยกันหล่อลำตองขึ้นใส่ยอดมหาธาตุลำปางหลวง
พ.ศ. 2272-2275 บ้านเมืองในล้านนาแตกแยกออกไป ไม่รวมกันเหมือนสมัยพระเจ้าติโลกราช แผ่นดินอ่อนแอและถูกพม่าและสยามรุกรานเพื่อให้เป็นรัฐกันชนอยู่เสมอ มีอยู่วันหนึ่งท้าวมหายศแห่งเมืองลำพูนก็ยกทัพมารุกรานเมืองลำปาง จนครูบาวัดนายางและพรรคพวกรวมตัวกันต่อต้านอย่างสามารถแต่สุดท้ายเมื่อครูบาวัดนายางถูกยิง ทำให้ทัพอาสาของเมืองลำปางนี้ก็ได้แตกพ่ายลง ทัพลำพูนพักทัพอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง และใช้อุบายหลอกให้ 4 เสนาที่ปกครองเมืองลำปางมาสังหาร แต่จเรน้อย และท้าวลิ้นก่าน(ทรงพระเยาว์) ได้หนีรอดไปได้ คนทั้งหลายในเมืองหนีไป เมืองลองเมืองต้า (อำเภอลอง จังหวัดแพร่ปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับเมืองลำปาง) เมืองแพร่ เมืองเมาะ เมืองจาง ประตูผา ทำให้เมืองลำปางตอนนั้นร้างผู้คน ครูบาวัดพระแก้วชมพูได้ปรึกษาญาติโยมและบรรดาลูกศิษย์ว่า จะลาสิกขาออกกู้เมือง แต่ชาวบ้านของนิมนต์ไว้ก่อน จนในที่สุดในหนานทิพย์ช้าง บ้านคอกวัว มาเป็นหัวหน้ากองอาสาจำนวน 300 คนเพื่อลอบโจมตีทัพลำพูน หนานทิพย์ช้างได้รับตำแหน่ง “เจ้าทิพย์เทพบุญเรือน” แล้วลอบเข้าไปในท่อระบายน้ำของวัดพระธาตุลำปางหลวง และหลอกทหารยามว่ามหาเทวีเมืองลำพูนส่งพระราชสาสน์มาให้ท้าวมหายศ แล้วจึงเข้าไปเอาปืนยิงท้าวมหายศสิ้นพระชนม์ รอยลูกปืนทะลุไปถูกรั้งทองเหลืองของเจดีย์ทุกวันนี้ แล้วทำการกอบกู้เมืองลำปาง และได้ปราบดาภิเษกตนเป็น “เจ้าพระยาสุลวฤาไชยสงคราม” ปฐมวงศ์ของราชวงศ์ “ทิพยจักราช(เจ้าเจ็ดตน)” หรือต้นตระกูล ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง และ ณ ลำพูน ปัจจุบันนี้ (ตำนานพระธาตุลำปางหลวงฯ, 2513. หน้า-33-41)
“ในพ.ศ. 2275 เจ้าทิพช้างเป็นผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์หรือพระเจ้านอน เมื่อพระองค์ปราบศึกสงครามแล้วได้ขึ้นครองนคร แต่ด้วยที่ได้ทำบาปฆ่าคนตายมากที่ในวัดหรือนอกวัดมีท้าวมหายศเป็นต้น จึงได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งลักษณะเท่าพระองค์เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่วัดพระธาตุลำปางหลวง เจ้าทิพช้างได้ตั้งสัจอธิษฐาน ในการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ว่าหากบุญของท่านตลอดถึงราชตระกูลยังจะรุ่งเรืองอยู่ ขอให้พระพุทธรูปองค์นี้มีวรรณะ หากถึงคราวตระกูลจะเสื่อมก็ขอให้พระพุทธรูปองค์นี้มีอันเป็นไป เพื่อให้ลูกหลานในราชตระกูลนี้รู้จะได้แก้ไข” จากคำบอกเล่าจากพระครูสิงหนันทะ อดีตเจ้าคณะแขวงสบยาว ขุนเลิศลำปาง อดีตกำนันตำบลลำปางหลวง ซึ่งทั้งสองท่านได้ถึงแก่มรณภาพไปนานแล้ว ตลอดถึงท่าน พระครูถา ถาวโร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (ขณะนี้ พ.ศ. 2513) และผู้เฒ่าผู้แก่อีกหลายคนว่าพระพุทธไสยาสน์สร้างสมัยพระเจ้าหนานทิพย์ช้าง
พ.ศ. 2285 พระสุรินทปัญโญ พระอุตดม พระมณีวัน พร้อมทั้งลูกศิษย์และคุรุอุปัฏฐากทุกคน ร่มกันสร้างพระแผงไม้
พ.ศ. 2315 ขนานคุณสอนพร้อมภริยา ลูกเต้าพี่น้องทุกคนร่วมกันสร้างพระพิมพ์ และปีเดียวกัน ครูบาเจ้าสังฆราชา พระเทวชา และสัทธาบ้านม่วงน้อยร่วมกัน ก่อสร้างหอพระพรหม 4 หลัง
พ.ศ. 2330 พี่น้อยเทวะและภริยา พร้อมทั้งบุตร ญาติพี่น้องทุกคน ร่มกันสร้างพระแผงจำนวน 1,000 รูป
พ.ศ. 2339 วันเพ็ญ เดือน 2 เชียงใหม่ (เดือนยี่เพ็ง) เจ้ากาวิละทรงเป็นประธาน พร้อมพระราชมารดา และบรมวงศานุวงศ์ร่วมกันสร้างรั้วเหล็กรอบพระธาตุ
พ.ศ. 2345 สมัยเจ้าดวงทิพย์เป็นเจ้าครองนครลำปาง พระนารทและพระมโนได้ให้ลูกศิษย์ประดับลายคำเสาวิหารพระพุทธ หมดทองใต้ 2,000 หมดทองเหนือ 10,000 ในปีเดียวกันเจ้าพระยาไชยเลิศแคว่นแม่พุมเป็นประธาน พร้อมทั้งพ่อแม่พี่น้อง ภริยาลูกเต้าทุกคน สร้างพระพุทธรูปถวาย 5 พระองค์ และในปีเดียวกันมีการสร้างพระบฏไม้ ลงรักปิดทอง
พ.ศ. 2352 ครูบาเจ้าเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และเจ้าแก้วเมืองคุงเป็นประธานฝ่ายฆราวาส สร้างพระพิมพ์
พ.ศ. 2355 เจ้าผู้ครองนครลำปาง เป็นประธานในการหล่อระฆัง
พ.ศ. 2362 เจ้าพระยาราชวงศาเมืองลำปาง เป็นประธานสร้างสุวรรณมุจลินทอาสนะ
พ.ศ. 2364 ปู่ทิพย์พร้อมทั้งภริยาชื่อว่าย่าปาน และลูกเต้าหลานเหลนทุกคน สร้างพระแผงไม้
พ.ศ. 2371 พระยาสิลโสมราช เจ้าเมืองลำปางสร้างพระพุทธรูป
พ.ศ. 2373 พระยาไชยสงครามถวายข้าพระธาตุแก่พระธาตุลำปางหลวง ซึ่งก่อนหน้านี้สมัยที่พม่าปกครอง (ตลุงมิน สุโธธัมมราชา พ.ศ. 2174) กษัตริย์พม่าได้ทรงยกเลิกข้าพระโยมสงฆ์ไว้แล้ว (ศิลปากร, กรม, 2552, หน้า 29)
พ.ศ. 2375 ปีมะโรง เหล่าคณะสงฆ์เป็นประธานพร้อมกับด้วยเจ้าเมืองลำปาง เจ้าพระยาชัยสงคราม พร้อมด้วยประยูรญาติ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงสาจางวาง และพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์อาณาประชาราษฎรทำพิธียกฉัตรใหม่ (อันเก่าโดนลมพัดตกลงมา) โดยฉัตรใหม่ใหญ่รอบ 9 กำ 4 นิ้ว ใหญ่กว่าเก่า 4 นิ้ว ฉัตรเดิมมี 5 ชั้น ทำเพิ่มอีก 2 ใบ สิ้นทอง 800 เงิน 1,100 ทองคำเปลว 18,912 แผ่น (ตำนานพระธาตุลำปางหลวง, 2513, หน้า 17-26)
พ.ศ.2382 เจ้ามหาอุปราชา นราธิปติ หอหน้าเมืองลำปาง เป็นประธานพร้อมด้วยอัครราชเทวี ราชบุตร ราชบุตรี ราชวงศาทุกพระองค์ และพี่น้องร่วมกันสร้างแท่นที่นั่งอาสนะสงฆ์ และสิลาปัฏฏากาตุงสองต้น
พ.ศ. 2396 สร้างพระพุทธรูปมารวิชัย ด้วยทองสำริด
พ.ศ. 2398 เจ้ายารังสี เจ้าผู้ครองนครลำปาง เป็นประธานในการสร้างอาสนะ
พ.ศ. 2405 เจ้ากาวิละถวายอาสนะสำหรับวางเครื่องอัฐบริขาร
พ.ศ. 2410 พระองค์เจ้าหลวงยารังสีฯ เจ้านครลำปาง เป็นประธานในการหล่อระฆัง สิ้นน้ำหนักทอง 7 หมื่นถ้วน
พ.ศ. 2446 พระอุระของพระพุทธรูปแตกร้าว ไม้โพธิ์ลังกาเหี่ยวไม่นานเท่าไร ไม้โพธิ์ลังกากลับสดชื่นคืนมาเช่นเดิม ส่วนพระพุทธรูปหม่นหมอง เจ้านายในราชตระกูลไม่ได้เอาใจใส่เพราะไม่รู้ความเป็นมา ท่านเจ้าอาวาสสมัยนั้นซ่อมแซมพระอุระด้วยผงเกสรดอกไม้ ลงรักปิดทอง ต่อมานานเข้าก็แตกร้าวอีก
พ.ศ. 2466 พระธรรมจินดานายก เจ้าคณะจังหวัดลำปาง ได้บูรณปฏิสังขรณ์วิหารหลวงโดยพยายามรักษาของเดิมไว้ มีการเปลี่ยนแปลงเช่น เสาแปดเหลี่ยมที่รับโครงสร้างหลังคาส่วนบนตอนกลางวิหารมาเป็นเสากลม สร้างเพดานและลายประดับเป็นไม้แกะสลักประดับกระจกสีภาพ 12 ราศี ซึ่งแต่เดิมวิหารหลวงไม่มีเพดาน เป็นอาคารที่เปิดให้เห็นโครงสร้างหลังคาทั้งหมด นอกจากนี้ได้ทำการแกะสลักไม้เป็นลวดลายประดับหน้าบันวิหารทั้งด้านหน้าและหลัง และในการบูรณะครั้งนี้ได้มีองค์ประกอบบางประการของวิหารหลวงสูญหายไป เช่น เรือนแก้วซึ่งเคยประดับอยู่บริเวณตรงกลางของสันหลังคาในลักษณะเดียวกับที่ประดับบนสันหลังคาอุโบสถและวิหารน้ำแต้มในปัจจุบัน ส่วนช่อฟ้าของวิหารหลวงได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเดิมเป็นช่อฟ้าคล้ายกับช่อฟ้าของวิหารน้ำแต้ม
จากการสอบถาม จัน ด้วงคำ ได้ความว่าบนหน้าบันด้านในเบื้องหน้าพระประธานของวิหารหลวงนี้เดิมมีจิตรกรรมทศชาดกเรื่องวิฑูรบัณฑิตแต่เลือนหายไปแล้ว และในการบูรณะวิหารหลวงครั้งนี้ได้ถูกทาสีทับลงไปจนไม่เหลือร่องรอย (ปาริสุทธิ์ สาริกะวณิช, 2540, หน้า51)
พ.ศ.2469 ครูบาศรีวิชัยเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และขนานทาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส สร้างตุงหิน และครูบาขัติยวงสาสร้างตุงไม้ และบุคคลผู้หนึ่งพร้อมภรรยาชื่อนางทุมมาและครอบครัว สร้างตุงหิน
ตั้งแต่พ.ศ. 2489 พระถา ถาวโร ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส มีการบูรณะซ่อมแซมและสร้างเป็นอันมากเช่น จัดหาหินอ่อนปูวิหารหลวง ก่อกำแพงวัดชั้นนอกด้านใต้ และด้านตะวันออกก่อทางเดินตั้งแต่กุฏิถึงประตูศรีลังกา (ต้นโพธิ์ลังกา) สร้างพระประจำวันด้วยทองเหลืองครบ 7 วัน บูรณะวิหารพระเจ้าศิลา (วิหารพระยาละโว้) ซ่อมยอดพระธาตุ พ.ศ. 2500 สร้างหอยอ (หอบูชา) ด้านเหนือ และฉัตรต้นตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์ ทำขันน้ำด้วยเงิน 1 ใบ (สลุง)น้ำหนัก 200 บาท ตุ่มน้ำเงิน พานเงิน กระบวยเงิน ใหญ่และน้ำหนักเท่าของเจ้าเจ็ดตนถวายไว้ ทำกระบวยด้วยทองคำ น้ำหนักทองคำ 12 บาท สลึง 1 ใบ ซื้อโต๊ะหมู่ 9 สำหรับประดิษฐานพระแก้วมรกต 1 ชุด ราคา 3,400 บาท ฉัตร 5 ชั้นทำด้วยเงิน ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีแก้วนิลผักตบอยู่บนยอด ข้างฉัตรประดับด้วยแก้วสีต่างๆ สำหรับพระแก้วมรกต 1 ต้น ซื้อถังน้ำทำด้วยเงินสำหรับสรงน้ำพระบรมธาตุ 1 ใบ
พ.ศ. 2500 ครูบาถา ถาวโร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีใบบอกไปยังกรมศาสนา ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนของบซ่อมแซมพระมหาชินธาตุเจ้า จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี มอบเงินส่วนตัวจำนวน 90,000 บาทให้เป็นค่าใช้จ่าย
พ.ศ. 2503 นายทาเป็นเค้าประกอบด้วยภรรยาลูกหลาน ได้สร้างแท่นแก้วที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแก้วมรกต
พ.ศ. 2505 พฤษภาคม มีการสร้างกำแพงวัดชั้นล่างด้วยศิลาแลง สิ้นเงินค่าใช้จ่าย 8,678 บาท สร้างตลาดสด 1 หลัง ในธรณีสงฆ์ข้างวัดด้านเหนือ เพื่อผลประโยชน์ของวัด เสาไม้แก่น มุงด้วยสังกะสีกว้าง 7 ศอก ยาว 52 ศอก สิ้นเงินค่าใช้จ่าย 4,151 บาท ได้ก่อสร้างกำแพงเล็กกั้นดินทรายวัดชั้นนอก ด้านเหนือ ด้านตะวันตก สิ้นค่าใช้จ่าย 600 บาท และได้ก่อสร้างฐานรอบไม้ศรีลังกา(โพธิ์ลังกา) สิ้นค่าใช้จ่าย 300 บาท
พ.ศ. 2506 ได้สร้างกุฏิ ติดกับกุฏิพระแก้ว ด้านตะวันตก 1 หลัง ขนาดกว้าง 7 ศอก ยาว 54 ศอก เสาหล่อเทด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ฝาผนังก่อด้วยอิฐโบกปูน พื้นเทคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้องพื้นเมือง สิ้นค่าสร้าง 25,000 บาท ซ่อมแซมศาลาบาตร ตะวันตกประตูเหนือ 7 ห้อง สิ้นเงิน 3,500 และได้มีการซ่อมแซมระเบียงคดด้านตะวันตกบางส่วน
พ.ศ. 2507 ต้นเดือนเมษายน ต่อไฟฟ้าเข้าวัดในวิหารกุฏิทุกห้องสิ้นเงิน 4,500 บาท
พ.ศ. 2507 วันที่ 17 กรกฎาคม เจ้านายในราชตระกูลฝ่ายเหนือ มี พ.ท. พิเศษ พระเพชรคีรีศรีสงคราม เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ เจ้าแม่ทิพวรรณ์ ณ เชียงตุง และเจ้านายอีกเป็นจำนวนมาก ไปทำการซ่อมแซม นำผงดอกไม้หอม 108 ชนิด อุดพระอุระที่แตกร้าว สร้างแท่นแก้วใหม่ไว้ที่วิหารต้นแก้ว เหนือวิหารหลวง โดยฝีมือของครูบาถา ถาวโร เจ้าอาวาสอัญเชิญมาแล้วทำพิธีสมโภชพุทธาภิเษกเสียใหม่ โดยเจ้านายผู้นายผู้เข้าพิธีนุ่งขาวห่มขาวทุกคน พระราชวิสุทธิ เจ้าคณะจังหวัดลำปางเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นำพระมากพรรษาสวดพุทธาภิเษกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปร่วมงานพิธีเป็นจำนวนมาก มี พลตรีโสภณ กะราลัย ผู้บัญชาการทหาร พ.ต.อ. สนั่น นรินทร์ ศรศักดิ์ รองผู้บังคับการตำรวจ พ.ต.ท. ชูเดช ขนิษฐานนท์ นายสุบิน เกษทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายเฉลิมถาวรเวช นายอำเภอเมืองลำปาง นอกนั้นมีพ่อค้าประชาชนคหบดี ผู้แทนหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก
28 กันยายน ศรัทธาชาวบ้านลำปางหลวง ได้ลงมือคาดปวนพระธาตุเจ้าลำปาง เพื่อปิดทองคำลงมา ด้วยเจ้าพ่อพระเพชรคีรีศรีราชสงคราม เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง พ่อเลี้ยงน้อย คมสัน เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง เจ้านายในราชตระกูลฝ่ายเหนือ จะร่วมเป็นศรัทธา ตลอดถึงคหบดี พ่อค้า ประชาชนชาวลำปาง
การก่อสร้าง และเหตุการณ์เกี่ยวกับพระธาตุลำปางหลวงสมัย
พระครูถา ถาวโร เป็นเจ้าอาวาส 15 เมษายน ศรัทธาชาวบ้านลำปางหลวงถวายตู้กระจกขนาดกว้าง 16 นิ้ว ยาว 40 นิ้ว สำหรับใส่ของโบราณวัตถุ ไว้ในพิพิธภัณฑ์จำนวน 10 ใบ ราคาใบละ 250 บาท รวมเป็นเงิน 2,500 บาท ม้านั่งสำหรับห้องสมุดอีก 6 ตัว ราคาตัวละ 80 บาท รวมเป็นเงิน 480 บาท ฝาผนัง กุฏิพระแก้วด้านหลัง ด้านตะวันออกไม่แข็งแรงพอ ได้หล่อด้วยปูนซีเมนต์ เสริมเหล็ก ชาวบ้านช่วยกันทำ สิ้นเงิน 3,500 บาท พระถา ถาวโร เจ้าอาวาสเป็นประธาน และกรรมการวัด ชาวบ้านทุกคนมีความเห็นว่า ในกุฏิที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ไม่แข็งแรงพอ จำเป็นจะสร้างรั้วเหล็กขนาด 6 หุน ปิดเปิดได้ เมื่อตกลงกันแล้วจึงขอกับคุณเสน่ห์ วรกูล ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยเกาะคาส่งช่างมาออกแบบแล้วช่วยทำผู้จัดการยินดีจึงส่งนายช่าง วัชรินทร์ ศิลปะพรหม และผู้ช่วยอีกหลายคนมาทำจนเสร็จ โดยไม่คิดค่าแรงงานสิ้นค่าอุปกรณ์ต่างๆ ประมาณ 15,000 บาท
พ.ศ. 2508 สร้างศาลาบุญตาสามัคคี โดยนายบุญตา วรรณโวหาร ได้บริจาคเงิน 10,000 บาท รวมการก่อสร้างสิ้นเงิน 16,454 บาท 75 ส.ต.
พ.ศ. 2509 นายยนต์ ทัพโพธิ์ นายอำเภอเกาะคา เป็นหัวหน้าสร้างแท็งก์น้ำประปา จากบ่อดอนม่วงส่งถึงวัดสิ้นเงิน 50,096 บาท 50 สตางค์ และเจ้าแม่ทิพวรรณ์ ณ เชียงตุง ถวายเครื่องทรงทองคำ ประดับทับทิม ถวายพระแก้วมรกต
พ.ศ. 2509 เจ้าพ่อเพชรศีรี และ เจ้านายฝ่ายเหนือร่วมกับนักศึกษาธรรมศาสตร์ สร้างตึกพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตรลานนาอนุสร สิ้นเงิน 60,082 บาท
พ.ศ. 2509 พ่อเลี้ยงน้อย คมสัน เป็นศรัทธาปิดทองคำ พระเจ้าพระพุทธในวิหารพระพุทธ และพระพุทธรูปในวิหารน้ำแต้ม สิ้นเงิน 30,000 บาทเศษ
พ.ศ. 2509 ทางวัดได้จ้างช่างมาทำรั้วเหล็กเพื่อรักษาพระพุทธรูปศิลาเจ้า สิ้นเงิน 4,500 บาทเศษ
พ.ศ. 2510 แม่บุญนาค บุปผาเจริญ พร้อมด้วยบุตรธิดาได้บูรณะวิหารต้นแก้วสิ้นเงิน 50,000 บาทเศษ และในปีนี้มีการบูรณะวิหารต้นแก้ว (สมพงษ์ คันธสายบัว, 2524, หน้า 111) นอกจากนี้พระและพ่อคำพร้อมด้วยภรรยาร่วมกันสร้างสัตภัณฑ์ และทางวัดได้สร้างวิหารศาลาบาตรด้านตะวันออก ติดกับถนนวัดชั้นลุ่ม (วัดพร้าว)
พ.ศ. 2511 ทางวัดได้จ้างช่างมาทำรั้วเหล็กเพื่อความปลอดภัยองค์พระเจ้าแก้วมรกต สิ้นเงิน 17,602 บาท
พ.ศ. 2512 สร้างวิหารเปลือกพร้าวสิ้นเงิน 120,000.00 บาทเศษ
โรงงานน้ำตาลไทยเกาะคา ได้ยืมพระพุทธรูปหล่อ ศิลปะเชียงแสนหน้าตักกว้าง 22 นิ้ว สูง 27 นิ้ว จากวัดพระธาตุลำปางหลวงไปเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 ได้กลับคืนมาวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2510 (ตำนานพระธาตุลำปางหลวง, 2513)
พ.ศ. 2515 ครูบาถา ถาวโร พร้อมด้วยศรัทธา ได้สร้างเสาฉัตรโบกด้วยปูนเทคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำดอกลวดลายไทยต่อมาให้นายหม่อง จิตมั่น เป็นช่างเอาแผ่นทองเหลืองทาบชั้นนอกบัดกรี ครูบาถา ได้ลงรักปิดทอง และเสาตุงกระด้างอีก 8 ต้น รอบพระธาตุ และเสาตุงหน้าวิหารพระพุทธอีก 2 ต้น ก็ทาบด้วยทองเหลืองลงรักปิดทอง
พ.ศ. 2516 ทางวัดได้ซ่อมระเบียงคดด้านตะวันตกทั้งหมด และบางส่วนทางด้านตะวันออกบนซุ้มโขง ด้วยการสนับสนุนจากกรมการศาสนาและเงินสมทบจากศรัทธา พ่อเลี้ยงน้อย คนสัน พร้อมภรรยาและบุตร ได้ซ่อมแซมคันธกุฎีพระเจ้าล้านทอง นายสมใจ แสงมณี บ้านพระสิงห์ เชียงใหม่เป็นช่างซ่อม ด้วยการควบคุมของกรมศิลปากร พ่อธรรม ธิวงศ์ พร้อมบุตรหลาน ได้สละทรัพย์ส่วนตัว ซ่อมแท่นแก้วพระเจ้าทันใจ ครูบาถา นำเงินพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2514 มาสร้างรั้วล้อมรอบคันธกุฎีพระเจ้าล้านทอง นอกจากนี้ปีนี้ยังมีการสร้างโรงครัว หอฉัน วัดลุ่ม (วัดพร้าว)
พ.ศ. 2517 ซ่อมแซมประตูโขง
พ.ศ. 2518 ซ่อมหลังคาระเบียงคดอีกครั้ง :ซ่อมแซมฐานพระพุทธบาท สร้างเต็นท์สรงน้ำพระแก้วมรกต เต็นท์สรงน้ำพระบรมธาตุ ซ่อมประตูเหล็ก สร้างกำแพงวัดพร้าว เพดานกุฏิ ซ่อมหลังคาระเบียงคด วิหาร สร้างศาลาพักร้อน ซื้อลูกรังถมบ่อหน้าวัด และสร้างตลาดสด
พ.ศ. 2519 สร้างหอสรงน้ำองค์พระแก้วมรกต สร้างหอฉัน สร้างห้องน้ำ 5 ห้อง
พ.ศ. 2520-2522 ปูเสื่อน้ำมันในกุฏิประดิษฐานพระแก้วมรกต ทำถังขยะ ขาตั้งที่เขี่ยบุหรี่ รางเหล็กปักเทียน บูรณะซ่อมแซมศาลา ก่อกระถางไม้ดอก ทำที่นั่งพักผ่อน สร้างห้องสุขา บูรณะกำแพง ทำป้ายชื่อวัด ถมลูกรังหน้าวัด สร้างศาลาไทย ซ่อมแซมบ่อน้ำ ติดตั้งไฟฟ้าบันได และปูพื้นศาลาบุญตา
พ.ศ. 2531 กรมศิลปากรบูรณะซุ้มโขงทางทิศตะวันออก ได้ทำการขูดสีปูนขาวที่ทาทับออกให้เห็นผิวเดิมของซุ้มพร้อมทำความสะอาด เคลือบน้ำยาป้องกันเชื้อรา
พ.ศ. 2550 กรมศิลปากรบูรณะระเบียงคดทั้ง 4 ด้าน ได้ปรับระดับโครงสร้างหลังคาและเสาติดตั้งไม้กลอน ไม้ระแนง ทำการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินขอเดิม และกระเบื้องดินขอใหม่ ทั้งนี้ในส่วนหลังคาระเบียงคดทางด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือมุงด้วยกระเบื้องดินขอใหม่ทั้งหมด ส่วนด้านที่เหลือมุงผสมกัน บริเวณจั่วประตูศรีลังกามุงด้วยกระเบื้องดินขอเดิมที่มีลวดลายทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้แต่งปูนปั้นสันหลังคา บูรณะกำแพงทั้งผนังด้นในและผนังด้านนอก ปูพื้นใหม่ บูรณะบันไดทางขึ้นปูกระเบื้องลายหินประดิษฐ์ ซ่อมแซมพร้อมทั้งทาซิลิโคนที่ปูนปั้นรูปนาคบริเวณบันไดทางขึ้น (ศิลปากร, กรม, 2552, หน้า 35)
พ.ศ. 2552-2553 กรมศิลปากรได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดช่อฟ้าก่อสร้าง บูรณะเสริมความมั่นคง และปิดทองจังโกเจดีย์
24-28 กุมภาพันธ์ 2553 พิธีเฉลิมฉลองสมโภชฉัตรทองคำพระบรมธาตุเจ้าลำปาง (ศิลปากร, กรม, 2552, หน้า 56 )
ที่ดินของวัดพระธาตุลำปางหลวง รวมธรณีสงฆ์ มีเนื้อที่ 37 ไร่ 42 วา สมัยก่อนคงจะกว้างขวางมากกว่านี้ (ตำนานวัดพระธาตุลำปางหลวงฯ, 2513, หน้า 47-48)
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดลำปาง. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2544.
ชาญคณิต อาวรณ์. (2550). เจดีย์วัดพระธาตุลำปางหลวง “ชุดฐานรองรับองค์ระฆังแบบบัวถลาและบัลลังก์ผังกลม” : ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะสุโขทัยกับล้านนา ในเมืองลำปางช่วงพุทธศตวรรษที่ 21. เมืองโบราณ 33, (3), 101-110.
จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา. (2540). ลายคำเสาวิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง. เมืองโบราณ 23 (2), 113-128
ตำนานพระธาตุลำปางหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และตำนานพระแก้วมรกต. (2513). พิมพ์ครั้งที่ 9. ลำปาง : โรงพิมพ์ศิลป์ประดิษฐ์.
ปาริสุทธิ์ สาริกะวณิช. (2540). จิตรกรรมบนแผงคอสองวิหารหลวงวัดพระธาตุลำปางหลวง เมืองโบราณ, 23 (2), 46-57.
ปาริสุทธิ์ สาริกะวณิช. (2544). ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง. อาษา 4, 84-87.
วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์. (2554). วิหารล้านนา. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย.
สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์, ม.ล. และ ฮันส์ เพนธ์. (2550). พุทธศิลปะในนิกายสีหฬภิกขุ พ.ศ.1900-2100 (ราว ค.ศ.1350-1550) : ศึกษาจากพระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปที่มีจารึกในประเทศไทย (เน้นล้านนา). เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,
สุรชัย จงจิตงาม. (2542). ลายคำประดับรอยพระพุทธบาทไม้ภายในวิหารพระเจ้าศิลาวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง. เมืองโบราณ, 25 (1), 92-94.
สมพงษ์ คันธสายบัว. (2524). ภาพเขียนสีในวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง. สารนิพนธ์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2546). ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.
ศิลปากร, กรม. (2552) .วัดพระธาตุลำปางหลวง การบูรณะองค์พระเจดีย์. เชียงใหม่ : กรมศิลปากร.
ศรีศักร วัลลิโภดม. (2522). เวียงพระธาตุลำปางหลวง. เมืองโบราณ 5 (4), 36-48