วัดถ้ำผาปู่


โพสต์เมื่อ 26 ก.ค. 2021

ชื่ออื่น : วัดถ้ำผาปู่เขานิมิต, ถ้ำผาปู่

ที่ตั้ง : ม.9 บ้านนาอ้อ

ตำบล : นาอ้อ

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : เลย

พิกัด DD : 17.57895 N, 101.71019 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เลย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวเมืองเลย ใช้ทางหลวงหมายเลข 201 มุ่งหน้าทิศเหนือหรือมุ่งหน้า อ.เชียงคาน ประมาณ 4 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 2115 (ทางไป อ.ท่าลี่) ประมาณ 1.2 กิโลเมตร จะพบทางเข้าสู่วัดถ้ำผาปู่ แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่บนภูเขาซึ่งอยู่ด้านในสุดของพื้นที่วัด

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดถ้ำผาปู่เป็นวัดที่เงียบสงบ เป็นสำนักวิปัสสนาและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและศาสนาที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะสายปฏิบัติวิปัสสนา นอกจากนี้ภายในวัดยังมีทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ฝูงค่างแว่น ถ้ำต่างๆบนเขานิมิต รวมทั้งบ่อน้ำในถ้ำผาปู่ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

ส่วนภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ผนังเพิงผาปากถ้ำพระ ภายในวัดถ้ำผาปู่ ยังไม่เป็นที่รู้จัก ทำให้ภาพเขียนสีขาดการเอาใจใส่ดูแลและอนุรักษ์ ถูกทำลายทั้งจากธรรมชาติและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์ จนมีสภาพลบเลือนไปมาก หรือบางส่วนแทบจะเลือนหายไป

พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมวัดถ้ำผาปู่ได้ทุกวัน หากต้องการเข้าชมพิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม ส่วนผู้สนใจเยี่ยมชมถ้ำพระ พระพุทธบาทจำลอง และภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องติดต่อกับทางวัดก่อน เนื่องจากไม่เปิดให้ขึ้นโดยพลการ สามารถโทรศัพท์ติดต่อกับทางวัดได้ที่เบอร์ 042-801-188, 042-811-334  

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดถ้ำผาปู่

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา

สภาพทั่วไป

ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ภายในวัดถ้ำผาปู่ พบอยู่ที่เพิงผาของเขานิมิต (อยู่ด้านในสุดของวัด) เขานิมิตเป็นเทือกเขาหินปูนในกลุ่มหินสระบุรี (P) ยุคเพอร์เมียน และตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำเลย (แม่น้ำเลยอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 3.5 กิโลเมตร)

เพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตลอดแนวผามีถ้ำอยู่ 4 ถ้ำ ถ้ำแรกที่พบคือถ้ำล่างสุดหรือถ้ำผาปู่ อยู่ที่เชิงเขาในระดับต่ำกว่าพื้นดิน ถัดจากปากถ้ำไปทางขวา (ทางทิศใต้) มีบันไดปูนนำขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาทจำลองและถ้ำพระ ซึ่งอยู่สูงกว่าพื้นด้านล่างประมาณ 20 เมตร (ก่อนถึงถ้ำพระมีประตูลูกกรงเหล็กและล็อกไว้ หลังประตูเหล็กทางเดินมีสภาพเป็นป่ารก)

บริเวณเพิงผาหน้าปากถ้ำพระ (ก่อนถึงถ้ำพระ) ปรากฏภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ สภาพโดยทั่วไปบริเวณเพิงผาบริเวณนี้เป็นเพิงผาที่ด้านล่างเอียงหรือสอบเข้าเล็กน้อย พื้นเพิงผามีความกว้างประมาณ 3-5 เมตร พื้นส่วนที่ติดกับเพิงผาประมาณ 2 เมตร เทเป็นพื้นซีเมนต์

หน้าเพิงผามีการสร้างกุฏิไม้ (ร้าง) 1 หลัง และเพิงไม้โปร่งหลังคามุงสังกะสี สูงประมาณ 2-3 เมตร โดยสร้างอยู่ชิดติดกับเพิงผา นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ภายในศาลาไม้หน้าเพิงผาในส่วนพื้นเพิงผาที่ยื่นออกไปเป็นแหลม (มีการเทพื้นปูนในส่วนศาลารอยพระพุทธบาทเพิ่มเติม)

ผนังเพิงผาในบริเวณนี้มีร่องรอยการขีดเขียนของคนสมัยปัจจุบันอยู่เป็นจำนวนมาก บางส่วนก็มีการโบกปูนซีเมนต์ สิ่งที่เขียนส่วนใหญ่เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนาและข้อความเตือนใจ บางส่วนเป็นการขีดเขียนของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน

สภาพของภาพเขียนสีผัจจุบัน ค่อนข้างลบเลือนไปจนถึงลบเลือน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

311 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเลย

สภาพธรณีวิทยา

ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ภายในวัดถ้ำผาปู่ พบอยู่ที่เพิงผาของเขานิมิต (อยู่ด้านในสุดของวัด) เขานิมิตเป็นเทือกเขาหินปูนในกลุ่มหินสระบุรี (P) ยุคเพอร์เมียน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำรวจพบภาพเขียนสีจำนวน 6 ภาพ

ชื่อผู้ศึกษา : พเยาว์ เข็มนาค

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พเยาว์ เข็มนาค เรียบเรียงศิลปะถ้ำของจังหวัดเลย เพื่อจัดทำหนังสือ “ศิลปะถ้ำจังหวัดเลย”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งศิลปะถ้ำ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดถ้ำผาปู่เป็นวัดราษฎร์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2475 ได้รับ พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2511

ประวัติวัดถ้ำผาปู่ เดิมเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ สร้างเมื่อ พ.ศ.2475 จนกระทั่ง พ.ศ.2495 หลวงปู่คำดี ปภาโส ได้นำสานุศิษย์จากจังหวัดขอนแก่นมาจำพรรษาและสร้างถาวรวัตถุ เช่น ศาลา หอระฆัง กุฏิ และได้ตั้งเป็นวัดธรรมยุต

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งกรมศิลปากรเคยสำรวจพบตั้งแต่ พ.ศ.2526 จำนวน 6 ภาพ อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 3-5 เมตร ทั้ง 6 ภาพ (พเยาว์ เข็มนาค 2534 : 63-66) ได้แก่

ภาพที่ 1 ภาพเส้นคู่ขนาน 3 เส้น ขนาดสูงประมาณ 1 เมตร

ภาพที่ 2 ภาพรูปสามเหลี่ยมทึบต่อกันขนานด้วยเส้นสองข้าง

ภาพที่ 3 ภาพสี่เหลี่ยมบรรจุรูปสามเหลี่ยมทึบ

ภาพที่ 4 ภาพแถบเส้นทึบตั้งฉากกับเส้นทึบในแนวนอน สูง 49 เซนติเมตร

ภาพที่ 5 ภาพรูปสามเหลี่ยมผืนผ้าทึบ สูง 74 เซนติเมตร

ภาพที่ 6 ภาพวงกลมเส้นหยักและเส้นตรงผสมกัน

จากการสำรวจเมื่อเดือน พ.ย. 2556 พบภาพเขียนสีเพียง 2 ภาพที่ยังคงพอสังเกตเห็นได้ ส่วนภาพอื่นลบเลือนจนสังเกตเห็นได้ยากหรือไม่สามารถสังเกตเห็นได้เลย สิ่งที่ทำลายและรบกวนภาพเขียนสีมีทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและมนุษย์ ได้แก่ แสงแดด น้ำฝน หินปูนที่เคลือบผิวเพิงผาจากการนำพาของน้ำ คราบเขม่าและรอยน้ำที่ผิวเพิงผา และการขีดเขียนบนผนังเพิงผาโดยคนสมัยปัจจุบัน

ภาพเขียนสี 2 ภาพที่พบ คือ ภาพที่ 2 และภาพที่ 3 ที่กรมศิลปากรสำรวจพบ เป็นภาพเขียนสีแดงคล้ำ

ภาพที่ 2 มีลักษณะเป็นภาพรูปสามเหลี่ยมทึบ 2 รูปต่อมุมกัน (รูปทรงคล้ายนาฬิกาทราย) ด้านข้างทั้ง 2 ข้างเป็นลายเส้นตรงขนานกัน ข้างบนมีลายเส้นโค้ง ภาพที่ 2 นี้เริ่มเลือนรางไปมาก

ภาพที่ 3 รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าระบายสีทึบบางส่วนจนเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านข้างทั้ง 2 ข้างเป็นเส้นตรงขนานกัน เส้นล่างเขียนเป็นเส้นหยักฟันปลา ภาพที่ 3 นี้เลือนรางจนเกือบสังเกตไม่เห็น

ส่วนภาพอื่นๆไม่สามารถสังเกตเห็นได้ หรือสังเกตพบแต่ไม่แน่ใจว่าใช่ภาพเขียนสีหรือไม่

นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส โดยมีประวัติการก่อสร้างคือ หลังจากหลวงปู่คำดีมรณภาพใน พ.ศ.2527 พระอาจารย์สีทน สีลธโน เจ้าอาวาสและคณะศิษย์ ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้ร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์หลวงปู่คำดี ปภาโส ขึ้นใน พ.ศ.2529 และสร้างเสร็จใน พ.ศ.2531

ตัวพิพิธภัณฑ์สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ตั้งอยู่บนฐานสูง 2 ชั้น มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศตะวันออก ผังอาคารเป็นรูปแปดเหลี่ยม แต่รูปทรงของอาคารและหลังคาทำเป็นมณฑปทรงจตุรมุข มีประตูทางเข้าสู่ศาลา 4 ด้าน คือด้านทิศตะวันออก ตะวันตก เหนือ และใต้ บานประตูเป็นไม้สลักลวดลายพันธุ์พฤกษา ส่วนอีก 4 ด้านที่ไม่มีประตูทำเป็นหน้าต่างหลอก ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นยอดแหลม เป็นหินอ่อนเช่นเดียวกัน หลังคาเครื่องไม้จตุรมุข มุงกระเบื้องดินเผาแบบเกล็ดเต่า รอบจั่วมีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ส่วนบนสุดเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม 

ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ประดิษฐานรูปปั้นพระครูญาณทัสสี (หลวงปู่คำดี ปภาโส) บนฐานหินอ่อนที่ด้านทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีอัฐิของหลวงปู่อยู่ในพานแก้วครอบกระจกใส ด้านหลังรูปปั้นแขวนภาพถ่ายหลวงปู่คำดีไว้เหนือประตูด้านทิศตะวันตก

ที่ผนังอาคารทั้ง 4 ด้าน (ด้านที่ไม่มีประตู หรือด้านที่เป็นหน้าต่างหลอก) มีการเจาะเข้าไปเป็นช่องสี่เหลี่ยมคล้ายตู้ปิดด้วยกระจกใส ภายในตู้จัดแสดงอัฐบริขาร ผม อัฐิ และประวัติโดยย่อของหลวงปู่คำดี รวมทั้งพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ ที่เชื่อว่าเป็นของพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวก

ภายในวัดยังมีเจดีย์ของหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่บริเวณด้านหน้าทางเข้าวัดถ้ำผาปู่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2536 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่พระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี สร้างเสร็จใน พ.ศ.2537 ตัวเจดีย์สร้างด้วยหินอ่อนเช่นกัน ภายในมีการแสดงอัฐบริขาร และมีรูปเหมือนหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต  หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และหลวงปู่คำดี ปภาโส

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ศิลปะถ้ำในอีสาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.

โครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. รายงานการสำรวจแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จังหวัดเลย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2527.

พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.

พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำจังหวัดเลย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2534.

พัชรี สาริกบุตร. ภาพเขียนสีและภาพสลัก [computer file] : ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : หอสมุดสาขา วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.

พิสิฐ เจริญวงศ์. ศิลปะถ้ำในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2531.

อมรา ศรีสุชาติ. ศิลปะถ้ำสมัยประวัติศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535.

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี