โพสต์เมื่อ 26 ก.ค. 2021
ชื่ออื่น : วัดถ้ำผาบิ้ง, ถ้ำผาบิ้ง, พระพุทธบาทถ้ำผาบิ้ง
ที่ตั้ง : ม.2 บ้านนาแก
ตำบล : ผาบิ้ง
อำเภอ : วังสะพุง
จังหวัด : เลย
พิกัด DD : 17.23355 N, 101.73811 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เลย
จากตัว อ.วังสะพุงใช้ทางหลวงหมายเลข 201 ไปทาง อ.หนองหิน จนถึงหลัก กม.180 พบสามแยก ให้เลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 2250 ประมาณ 7 กิโลเมตร จะพบทางเข้าวัดถ้ำผาบิ้งอยู่ทางขวามือ ภูเขาและถ้ำอยู่ภายในวัดถ้ำผาบิ้ง
รอยพระพุทธบาทถ้ำผาบิ้ง ได้รับการเคารพสักการะจากชาววังสะพุงและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป อีกทั้งวัดผาบิ้งยังเป็นสถานที่ร่มรื่นเงียบสงบ เหมาะกับการปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและสักการะพระพุทธบาทถ้ำผาบิ้งได้ทุกวัน และในวันมาฆบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (หรือเดือน 4 ในปีที่มีอธิกมาส) ของทุกปี ทางวัดถ้ำผาบิ้งและอำเภอวังสะพุงได้จัดให้มีงานฉลองสมโภชรอยพระพุทธบาท
วัดถ้ำผาบิ้ง
ขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาการกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 52 หน้า 3698 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478
ถ้ำผาบิ้ง ตั้งอยู่บนเขาหินปูนขนาดเล็กลูกหนึ่งในแนวเทือกเขาหินปูนในกลุ่มหินสระบุรี (P) ซึ่งสะสมตัวในน้ำตื้นและอบอุ่นของช่วงยุคเพอร์เมียน ในมหายุคพาลีโอโซอิก ตั้งอยู่ฝั่งด้านทิศใต้ของแม่น้ำเลย (แม่น้ำเลยห่างออกไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร) ในเขตวัดถ้ำผาบิ้ง
ถ้ำผาบิ้ง อยู่สูงจากพื้นล่างที่เป็นบริเวณวัดประมาณ 15 เมตร โดยมีบันไดซีเมนต์นำสู่ถ้ำ ลักษณะโดยทั่วไปบริเวณถ้ำเป็นแนวเพิงผายาว มีรูปเคารพเนื่องในพุทธศาสนาและความเชื่อต่างๆของทางวัดประดิษฐานอยู่ตลอดแนวเพิงผา สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นป่าไม้
ถ้ำผาบิ้งตั้งอยู่ในแนวเพิงผาดังกล่าว ปากถ้ำและเพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังถ้ำค่อนข้างเป็นรูปวงกลม เป็นถ้ำที่ไม่ลึกนัก (ลึกประมาณกว่า 10 เมตร) ปากถ้ำกว้าง (กว้างประมาณ 10 เมตร) ทำให้ภายในถ้ำมีแสงสว่างค่อนข้างทั่วถึง ปากถ้ำมีรูปปั้นเสือหมอบ (ซีเมนต์) ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปและพุทธสาวกหลายองค์ พระประธานมี 2 องค์ ประดิษฐานด้านในสุดของถ้ำ องค์ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงวิตรรกะมุทรา องค์ด้านหลังเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย
แม่น้ำเลย
ถ้ำผาบิ้ง ตั้งอยู่บนเขาหินปูนขนาดเล็กลูกหนึ่งในแนวเทือกเขาหินปูนในกลุ่มหินสระบุรี (P) ซึ่งสะสมตัวในน้ำตื้นและอบอุ่นของช่วงยุคเพอร์เมียน ในมหายุคพาลีโอโซอิก
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2477, พ.ศ..2478
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดถ้ำผาบิ้ง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย ตามประวัติวัดกล่าวว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2461 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2525
มีประวัติเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 2461 พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ พระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานชื่อดังของอีสาน ได้เคยมาบำเพ็ญธรรมอยู่ที่วัดแห่งนี้ ขณะนั้นพื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นป่าวิเวก มีเพียงที่พักชั่วคราว ยังไม่มีที่พักถาวรสำหรับพระภิกษุ ต่อมาจึงได้มีการสร้างวัดขึ้น
สิ่งสำคัญของวัดถ้ำผาบิ้งคือ รอยพระพุทธบาทบนเพดานถ้ำ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาการกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 52 หน้า 3698 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478
รอยพระพุทธบาทเป็นรอยพระพุทธบาทธรรมชาติ ลักษณะเป็นรอยหินยุบลึกประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เมตร เป็นรูปคล้ายฝ่าเท้าคนที่เหยียบลงไป ปลายเท้าตัดเสมอกันและค่อยๆสอบลงไปหาส้นเท้า ซึ่งเป็นรูปตัดเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีเจดีย์พิพิธภัณฑ์ (เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร) ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระอาจารย์หลุย จันทสาโร ท่านเป็นศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตติ มหาเถระ บูรพาจารย์ท่าหนึ่งในสายพระกัมมัฎฐานในสมัยปัจจุบัน
พระอาจารย์หลุย จันทสาโร ซึ่งมีภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดเลยโดยกำเนิด ได้มาบูรณะและก่อสร้างวัดถ้ำผาบิ้งแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.2510 จนถึง พ.ศ.2515 เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและยังเป็นมรดกแก่พระภิกษุสามเณรและอุบาสก อุบาสิกา
พระอาจารย์หลุย จันทสาโร มรณภาพเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2532 คณะศิษยานุศิษย์จึงจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สำหรับบรรจุอัฐิธาตุ และเครื่องบริขารของท่านไว้ ณ วัดถ้ำผาบิ้งเพื่อเป็นอนุสรณ์โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2545 และสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2546