วัดท่าแขก


โพสต์เมื่อ 19 พ.ค. 2022

ที่ตั้ง : ม.4 บ้านน้อย ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน

ตำบล : เชียงคาน

อำเภอ : เชียงคาน

จังหวัด : เลย

พิกัด DD : 17.904931 N, 101.683407 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวอำเภอเชียงคาน หรือจากโรงพยาบาลเชียงคาน ใช้ทางหลวงหมายเลข 211 (ถ.ศรีเชียงคาน) มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกหรือมุ่งหน้าแก่งคุดคู้ ประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบถนนเข้าสู่วัดท่าแขกอยู่ทางซ้ายมือ (ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย) ไปตามถนนประมาณ 200 เมตร จะพบวัดท่าแขกอยู่ทางซ้ายมือ  

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดท่าแขก เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของอำเภอเชียงคาน มีความเงียบสงบร่มรื่นและมีทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขงที่สวยงาม เหมาะกับการสงบจิตใจ อีกทั้งยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญคือพระพุทธรูปสามพี่น้องที่ได้รับเคารพสักการะอย่างมากจากชาวเชียงคานและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป สภาพของพระพุทธรูปได้รับการอนุรักษ์รักษาเป็นอย่างดี และทางวัดก็ได้ติดตั้งป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดและพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์

ในขณะที่จารึกวัดท่าแขก ซึ่งเป็นโบราณวัตถุสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ถูกวางแอบอยู่ที่พื้นภายในอุโบสถ จารึกชิ้นนี้สามารถนำมาจัดแสดงหรือเล่าเรื่องราวของวัดได้เป็นอย่างดี

บริเวณใกล้เคียงวัดท่าแขก มีโรงเรียนมูลมังหลวงปู่ชอบฐานสโม และรูปปั้นเหมือนหลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอาจารย์สายกรรมฐานที่มีศิษยานุศิษย์มาก และท่านเป็นประธานองค์อุปถัมภ์การบูรณะและฟื้นฟูวัดท่าแขก อีกทั้งท่านมีดำริอยากสร้างโรงพยาบาล และสร้างโรงเรียนการกุศลเพื่อสงเคราะห์เด็กยากจน คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม จึงได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนมูลมังหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2547 และเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนใน พ.ศ.2548

นอกจากนี้ วัดท่าแขกยังตั้งอยู่ในบริเวณแก่งคุดคู้ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและเป็นแหล่งขายมะพร้าวแก้วที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของเชียงคาน

พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน เวลา 6.00-18.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดท่าแขก

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดท่าแขกเป็นโบราณพุทธศาสนสถานที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในริมแม่น้ำโขงซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

215 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

วัดท่าแขกตั้งอยู่ในริมแม่น้ำโขงซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยล้านช้าง, สมัยทวารวดีตอนปลาย

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 15-16, พ.ศ.2209

อายุทางตำนาน

พ.ศ.2020, พ.ศ.2209

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดท่าแขก ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย เดิมชาวท้องถิ่นเรียกว่า วัดท่าแข้ (แข้ ภาษาท้องถิ่นหมายถึง จระเข้ เพราะท่าลานหินข้างวัดที่ติดกับแม่น้ำโขงมีจระเข้อาศัยอยู่ชุกชุม และมักมานอนผึ่งแดดอยู่ที่ลานนี้) เดิมเป็นวัดร้าง ได้รับการบูรณะจากพระสงฆ์หลายรูปหลายสมัยจนมีสภาพสมบูรณ์ กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศยกวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2526 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2534

ประวัติการสร้างวัดมีหลายเรื่องราวเช่นเดียวกับวัดอื่นๆในเชียงคาน ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างในสมัยที่ขุนคานสร้างเมืองเชียงคาน นักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่าวัดท่าแขกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2020 ตามตำนานศึกญวน พระเจ้าชัยจักรพรรดิแผ่นแผ้วกับข้าราชบริพารกลุ่มหนึ่งหลบหนีศึกสงครามมาตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งลำน้ำโขงบริเวณวัดศพ พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์รัชกาลต่อมาได้สร้างพระยืนขึ้นที่วัดศพ โดยสกัดจากหินผาฮดและได้สร้างวัดท่าแขกที่เมืองเชียงคานพร้อมกันไปด้วย โดยวัดท่าแขกแห่งนี้ให้ทางฝ่ายชายได้ร่วมมือกันสร้างขึ้น

ในขณะที่ประวัติวัดที่ปรากฏในจารึกวัดท่าแขกระบุว่า วัดท่าแขกสร้างขึ้นเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกาบสัน จ.ศ.1028 (พ.ศ.2209) สร้างโดย ท้าวสุวรรณแผ้วพ่าย ซึ่งเป็นโอรสของกษัตริย์ผู้ครองนครล้านช้างหลวงพระบาง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับพระมเหสีและพระราชธิดาของพระองค์ที่ได้สวรรคตพร้อมกันจากเหตุการณ์เรือล่มในแม่น้ำโขงเขตเมืองเชียงคาน ระหว่างการเดินทางไปเมืองศรีสัตนาคนหุต (เมืองเวียงจันทร์)

พ.ศ.2469 หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่สิงห์ ขันตยาขโม หลวงปู่มหาปิ่น ปัญญาพโล หลวงปู่เทศ เทสรังสี หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และภิกษุสามเณรอีกกลุ่มหนึ่ง ได้เดินทางธุดงค์ผ่านเชียงคาน และได้พักภาวนาที่วัดท่าแขกแห่งนี้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ในขณะนั้นยังเป็นวัดร้าง)

พ.ศ.2470 หลวงปู่เสาร์ กัตสีโล หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่คำหล้า ขันติธโร และคณะทั้งหมด 5 รูป ได้เดินทางมาพักภาวนาอยู่ที่วัดร้างท่าแขก คณะสงฆ์ของหลวงปู่เสาร์ได้บูรณะซากปรักหักพังภายในวัดบางส่วน โดยหลวงปู่เสาร์นำเศษอิฐหินมาก่อเป็นแท่นเพื่อใช้เป็นฐานที่ตั้งชั่วคราวของพระพุทธรูปโบราณ 3 องค์ ที่ท่านพบอยู่ภายในโบสถ์

วันรุ่งขึ้นมีชาวเมืองเชียงคานกลุ่มหนึ่งได้มาช่วยกันถากถางพื้นที่ภายในวัดร้างท่าแขก และได้นำเถาวัลย์ที่ปกคลุมเจดีย์และโบสถ์ออก ขณะที่หลวงปู่เสาร์ พระเณร และชาวบ้านเก็บเอาก้อนอิฐเก่าขึ้นมาเรียงซ้อนกันใหม่นั้น ได้พบพระพุทธรูปโบราณและเครื่องใช้ไม้สอยจำพวกถ้วยชามกระเบื้อง ซึ่งตามประวัติกล่าวว่าเป็นของใช้ของลาวหลวงพระบาง ส่วนพระพุทธรูปเก่าที่พบนั้นมีทั้งที่ทำจากทองคำ สำริด ชินเงิน และที่พบมากที่สุดคือพระพุทธรูปที่สลักจากไม้

การบูรณะวัดครั้งนี้กระทำอยู่ประมาณ 14 วัน หลวงปู่เสาร์และคณะก็เดินทางต่อไปบังเมือแก่นท้าว ประเทศลาว

พ.ศ.2519 หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ดำริว่าจะฟื้นฟูวัดท่าแขก ท่านจึงมอบหมายให้พระราชศีลสังวร (ท่านคุณเจ้านาซ่าว) หลวงพ่อบัวคำ มหาวีโร หลวงพ่อก้อนทอง ปิยธัมโม หลวงพ่อบุญเรือง และพระพัง เข้ามาดำเนินการบูรณะวัดท่าแขกอีกครั้ง

พระราชศีลวังวรและหลวงพ่อบัวคำ พาพระและชาวบ้านน้อยเชียงคานรื้อซากปรักหักพังของอุโบสถและซากเจดีย์เก่า เพื่อจัดเรียงขึ้นมาใหม่ สร้างศาลาชั่วคราวมุงด้วยสังกะสีสำหรับครอบพระพุทธรูปโบราณทั้ง 3 องค์ ก่อนจะเข้าพรรษาในปีนั้น หลวงปู้ชอบได้เดินทางมาพักค้างคืนที่วัดท่าแขก 2 คืน ก่อนที่จะเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสัมมนุสรณ์ ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง ส่วนพระลูกศิษย์ของหลวงปู่ชอบ คือ หลวงพ่อบัวคำ มหาวีโร หลวงพ่อทองก้อน ปิยะธัมโม และหลวงพ่อสอน จำพรรษาอยู่ ณ วัดท่าแขกแห่งนี้ เพื่อเผยแผ่พระธรรมให้กับชางเชียงคาน จากนั้นเป็นต้นมาวัดท่าแขกจึงมีพระภิกษุสามเณรที่เป็นลูกศิษย์สายของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม เดินทางแวะเวียนเข้ามาพักและจำพรรษาอยู่เสมอจนปัจจุบัน

พ.ศ.2523 พระอาจารย์แดง จันทวังโส ได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดท่าแขก หลวงปู่ชอบจึงมอบหมายให้พระอาจารย์แดงเป็นเจ้าอาวาส

สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระพุทธรูปสมัยทวารวดี 3 องค์ และจารึกอักษรธรรมอีสาน อยู่ภายในอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่

พระพุทธรูป 3 องค์ ชาวบ้านเรียกว่า พระพุทธรูปสามพี่น้อง มีลักษณะศิลปกรรมแบบสมัยทวารวดีตอนปลาย พระนามที่ชาวบ้านเรียกคือ หลวงพ่อแสนมงคล หลวงพ่อโชค และ หลวงพ่อชัย ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถด้านหลังเหนือพระประธาน (พระประธานมีพระนามว่า หลวงพ่อเชียงทองวัดท่าแขก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2537 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย)

หลวงพ่อแสนมงคล เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ทำจากหินทราย หน้าตักว้างประมาณ 60 เซนติเมตร สูง 1.2 เมตร

หลวงพ่อโชค เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ทำจากหินทราย หน้าตักว้างประมาณ 70 เซนติเมตร สูง 1.2 เมตร

หลวงพ่อชัย เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ทำจากหินทราย หน้าตักว้างประมาณ 65 เซนติเมตร สูง 1.2 เมตร

ตามประวัติการค้นพบพระพุทธรูปสามพี่น้องกล่าวว่า พ.ศ.2470 หลวงปู่เสาร์ กัตสีโล หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่คำหล้า ขันติธโร และคณะทั้งหมด 5 รูป ได้เดินทางมาพักภาวนาอยู่ที่วัดร้างท่าแขก หลวงปู่เสาร์ท่านพาหลวงปู่ชอบและพระเณร ร่วมกับเมืองเชียงคาน ทำการบูรณะซากปรักหักพังของอาคารแล้วพบพระพุทธรูปสามพี่น้องอยู่ภายในอุโบสถ

จารึกวัดท่าแขก วางอยู่บริเวณหน้าประตูด้านหลังอุโบสถ เบื้องขวา (ด้านทิศใต้) ของพระประธาน ลักษณะจารึกเป็นจารึกบนหินชนวน รูปเสาสี่เหลี่ยม กว้าง 18 เซนติเมตร สูง 79 เซนติเมตร มีจารึก 6 บรรทัด ข้อความจารึกบอกฤกษ์ยามในการสร้างโบสถ์

ข้อความจารึกบรรทัดที่ 1 ระบุ ศักราช 28 คือ จ.ศ.1028 ตรงกับ พ.ศ.2209 อันเป็นสมัยที่พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ.2181-2238)

นอกจากนี้ รอบอุโบสถมีกองอิฐและส่วนประกอบสถาปัตยกรรมก่ออิฐถือปูนอยู่เป็นกลุ่มๆ สันนิษฐานว่าเป็นซากโบราณสถานหรืออุโบสถหลังเดิม ที่ถูกอุโบสถหลังปัจจุบันก่อสร้างทับ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี