วัดมหาธาตุ


โพสต์เมื่อ 26 ก.ค. 2021

ชื่ออื่น : วัดมหาธาตุ พิจิตร

ที่ตั้ง : อุทยานเมืองเก่า ม.4 บ้านเมืองเก่า

ตำบล : เมืองเก่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : พิจิตร

พิกัด DD : 16.412354 N, 100.295042 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : น่าน, ยม, พิจิตร

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวจังหวัดพิจิตร ให้ใช้เส้นทางสายพิจิตร - วังจิก (ทางหลวงหมายเลข 1068) ซึ่งขนานไปกับแม่น้ำพิจิตร ประมาณ 7 กิโลเมตร จะพบอุทยานเมืองเก่าพิจิตร ทางเข้าสู่ศาลหลักเมืองและวัดมหาธาตุอยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ใน “อุทยานเมืองเก่าพิจิตร” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพิจิตร ภายในอุทยานมีโบราณสถานและปูชนียสถานหลายแห่ง รวมทั้งสภาพโดยทั่วไปยังมีความร่มรื่นและเงียบสงบ เนื่องจากเป็น “สวนรุกขชาติกาญจนกุมาร” เหมาะทั้งการท่องเที่ยวเพิ่มพูนความรู้ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สร้างเสริมประสบการณ์ และพักผ่อนหย่อนใจ มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น ป้ายบอกทางไปยังสถานที่สำคัญภายในอุทยานและป้ายบรรยายให้ข้อมูลโบราณสถานแต่ละแห่ง

ตัวโบราณสถานและสภาพภูมิทัศน์ได้รับการดูแล อนุรักษ์ และบูรณปฏิสังขรณ์เป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีพืชและสิ่งต่างๆรบกวนอยู่บ้าง เช่น วัชพืชหรือพืช ทั้งที่ขึ้นบนตัวโบราณและพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ขึ้นชิดกับโบราณสถาน

นอกจากวัดมหาธาตุแล้ว แหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยานที่น่าสนใจ เช่น

เมืองพิจิตรเก่า โบราณสถานที่สำคัญเช่น กำแพงเมือง คูเมือง วัดมหาธาตุ เกาะศรีมาลา วัดนครชุม วัดกลาง และวัดร้าง

สวนรุกขชาติกาญจนกุมาร ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2520 ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น โดยสั่งการให้สำนักงานป่าไม้จังหวัดพิจิตรปรับปรุงพื้นที่บริเวณอุทยานเมืองเก่า โดยขอใช้พื้นที่จากกรมศิลปากร ที่เป็นเมืองโบราณ มีกำแพงเมือง คูเมือง และโบราณสถานต่างๆอยู่ภายใน พื้นที่ประมาณ 316 ไร่ เพื่อปลูกรวบรวมพรรณไม้และพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของทางจังหวัด สภาพต้นไม้ในสวนรุกขชาติเป็นไม้ของป่าเบญจพรรณ เช่น ไม้สัก ประดู่ป่า แดง มะค่าโมง ยางนา ตะแบก นนทรี (ส่วนพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ 2557)

ศาลหลักเมือง สร้างเมื่อ พ.ศ.2520 อาคารแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ด้านบนเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง ส่วนด้านล่างเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของพระยาโคตรบองซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “พ่อปู่”

ถ้ำชาละวัน มีที่มาจากวรรณคดีเรื่องไกรทอง บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ลักษณะเป็นช่องขุดลึกลงไปในดิน ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นถ้ำชาละวัน มีเรื่องเล่าว่าเมื่อประมาณ 60-70 ปีก่อน พระภิกษุวัดนครชุมรูปหนึ่งได้จุดเทียนไขเดินเข้าไปในถ้ำแห่งนี้จนหมดเทียนเล่มหนึ่งก็ยังไม่ถึงก้นถ้ำ ในปัจจุบันดินพังทลายทับถมจนตื้นเขิน ทางจังหวัดจึงได้สร้างรูปปั้นไกรทองและชาละวันไว้ที่บริเวณปากถ้ำด้วย

เกาะศรีมาลา มีลักษณะเป็นมูลดินมีคูน้ำล้อมรอบคล้ายเกาะเล็กๆ อยู่กลางคูเมืองนอกกำแพงเมืองเก่าด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่าแต่เดิมน่าจะเป็นป้อม หรือหอคอยรักษาการณ์ เพราะตั้งอยู่นอกเมืองและอยู่กลางคูเมือง พบเกาะพบชิ้นส่วนก้อนอิฐกระจายอยู่ทั่วไป แต่ชาวบ้านได้เก็บรวบรวมไว้ที่ใต้ศาลไม้

ส่วนแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงที่สำคัญใกล้เมืองพิจิตรเก่า เช่น วัดท่าหลวง วัดโพธิ์ประทับช้าง พระพุทธเกตุมงคล เหมืองแร่ทองคำเขาพนมพา วัดบางคลาน บึงสีไฟ เป็นต้น

อุทยานเมืองเก่าพิจิตร เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเก่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3692 วันที่ 8 มีนาคม 2478

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดมหาธาตุ จังหวัดพิจิตร ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองพิจิตรเก่า อยู่ด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำพิจิตร ซึ่งเป็นแม่น้ำน่านสายเก่า (ห่างจากแม่น้ำพิจิตรมาทางทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร ห่างจากแม่น้ำน่านมาทางทิศตะวันตกประมาณ 8 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำยมมาทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร) ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบจากการทับถมของตะกอนน้ำพา

ปัจจุบันวัดมหาธาตุเป็นโบราณสถานร้างใน “อุทยานเมืองเก่าพิจิตร” ซึ่งนอกจากจะมีโบราณสถานและปูชนียสถานต่างๆแล้ว ภายในเขตอุทยานยังมีความร่มรื่นเนื่องจากเป็น “สวนรุกขชาติกาญจนกุมาร”

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

45 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำพิจิตร (แม่น้ำน่านสายเก่า), แม่น้ำน่าน, แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

วัดมหาธาตุ จังหวัดพิจิตร ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มน้ำภาคกลางตอนบน มีแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านไปไหลผ่านตามแนวเหนือ-ใต้ กระแสน้ำไหลแรงกว่าที่ราบภาคกลางตอนล่างเนื่องจากพื้นที่ลาดชันกว่า โดยที่ตั้งวัดอยู่ระหว่างแม่น้ำยมทางทิศตะวันตกและแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก จัดเป็นที่ราบลูกฟูก (rolling plains) พื้นที่สูงๆต่ำๆ มีการกัดเซาะพากรวดหินดินทรายทับถมกัน มีเนินเตี้ยๆและหินที่ทับถมกันโผล่ให้เห็นเป็นระยะ การตกตะกอนของแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำพิจิตร (แม่น้ำน่านสายเก่า) ในยุคควอเทอร์นารีทำให้พื้นที่นี้มีลักษณะเป็นที่ราบดินตะกอนลุ่มน้ำ (alluvial soils) (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2538 : 45-46 ; คณะกรรมการฯ 2545 : 6-7)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.1959, พุทธศตวรรษที่ 20-24

อายุทางตำนาน

พ.ศ.1601 (พงศาวดารเหนือ)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2464

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทอดพระเนตรวัดมหาธาตุ คราวเสด็จตรวจเมืองพิจิตรเก่า ทรงวินิจฉัยว่าเจดีย์ประธานที่วัดมหาธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง และสันนิษฐานว่าพระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ โดยพอกพระเจดีย์ให้สูงใหญ่ (พละ วัฒโน 2508 : 227)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวัดมหาธาตุ จ.พิจิตร เป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 3692 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2495

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นขุดแต่งเจดีย์ประธาน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดแต่งและบูรณะด้านหน้าพระเจดีย์ทีเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ซึ่งในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้เสด็จมา ณ วัดนี้ ใน พ.ศ.2464 ว่า “วิหารเก้าห้อง” และกล่าวว่าด้านตะวันออกหรือด้านหลังของเจดีย์เป็นพระอุโบสถ มีเสมา 2 ชั้น

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดแต่งเนินดินโบราณสถานวัดมหาธาตุ จังหวัดพิจิตร บริเวณที่เป็นเนินพระวิหารและพระอุโบสถ การขุดค้นที่ใต้เนินวิหารพบสิ่งก่อสร้าง 2 สมัย คือ สมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา บริเวณโดยรอบพบเจดีย์รายจำนวนมากและแนวกำแพงขนาดใหญ่ที่ด้านหน้าและด้านหลังวัด

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดค้นบริเวณเมืองเก่าพิจิตรจำนวน 2 หลุม พบร่องรอยการอยู่อาศัยสมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 และเมื่อพิจารณาจากลักษณะของกำแพงเมืองก่ออิฐสอดินคล้ายกับเมืองพิษณุโลกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ผู้ขุดค้นจึงจึงสันนิษฐานว่าเมืองพิจิตรเก่าน่าจะก่อตั้งรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเสด็จมาประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกเป็นระยะเวลานาน 25 ปี ในพุทธศตวรรษที่ 21

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดมหาธาตุ เมืองพิจิตร สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยและมีการใช้งานต่อเนื่องจนถึงสมัยอยุธยา ปัจจุบันเป็นโบราณสถานร้าง ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่กึ่งกลางเมืองพิจิตรเก่า ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านเก่า (ชาวบ้านเรียก แม่น้ำเมืองเก่า แม่น้ำพิจิตร) สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างคู่กับเมืองพิจิตร

เมืองพิจิตรเก่านี้สันนิษฐานตามพงศาวดารเหนือ เรื่องพระยาแกรก (หวน พินธุพันธ์ 2520 : 3) ว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ.1601 โดยเจ้ากาญจนกุมาร ราชบุตรของพระยาโคตรบองเจ้าเมืองละโว้ที่ลี้ภัยมาสร้างเมืองชัยบวร (บริเวณ ต.บ้านน้อย ต.บางคลาน อ.โพทะเล ในปัจจุบัน) โดยเมืองพิจิตรที่เจ้ากาญจนกุมารสร้างนั้น (ขึ้นครองเมืองเป็นพระยาโคตรบองเทวราช) ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านเก่า มีกำแพงเมือง 2 ชั้น ก่อด้วยอิฐล้อมรอบ มีป้อม ค่าย คู ประตูหอรบ ด้านเหนือยาว 10 เส้น ด้านใต้ยาว 10 เส้น ด้านตะวันตกยาว 35 เส้น (กรมศิลปากร 2516 : 274)

ภายในวัดมหาธาตุประกอบไปด้วยเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ด้านหน้าทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์เป็นที่ตั้งของวิหารเก้าห้อง (วัดคงหันหน้าตามแม่น้ำน่านเก่าที่อยู่ทางทิศตะวันตก) มีคูน้ำล้อมรอบพระเจดีย์กับพระวิหาร ด้านหลังพระเจดีย์ทางทิศตะวันออกเป็นพระอุโบสถ มีใบเสมา 2 ชั้น ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานพระอุโบสถ

ถัดออกไปทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถมีสระแฝดหรือสระบัว ก่อนจะถึงกำแพงวัดที่ติดกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก

แผนผังวัด สิ่งก่อสร้างหลักของวัดสร้างตามแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก โดยจากรูปแบบแผนผังที่มีวิหารอยู่ทางด้านหน้าเจดีย์ซึ่งเป็นประธานของวัด และมีคูน้ำล้อมรอบตามความหมายของอุทกสีมานั้น เป็นรูปแบบของวัดที่นิยมสร้างในสมัยสุโขทัย

เจดีย์ประธาน รูปแบบเจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังแบบสุโขทัย คือมีชุดบัวถลาสามชั้นบนฐานเตี้ยๆรองรับทรงระฆังที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เหนือองค์ระฆังคือบัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉน ปล้องไฉนและเม็ดน้ำค้าง ซึ่งเคยถูกต้นยางล้มฟาดจนปล้องไฉนหัก เมื่อปี พ.ศ.2479 ส่วนยอดยังเหลือให้เห็นถึงพุทธบัลลังก์สูงพ้นยอดไม้ และมีต้นโพธิ์ขนาดย่อมขึ้นที่ชั้นพุทธบัลลังก์ ต่อมาในปี พ.ศ.2481 ต้นโพธิ์ถูกลมพัดหักโค่นลงมา พระธาตุเจดีย์ส่วนที่เหลือก็พังครืนลงมาเกิดโพรงทำให้เห็นว่ามีซุ้มจระนำ อยู่ภายในพระเจดีย์ มีพวงมาลัยร้อยด้วยลวดเงิน ลูกปัดเป็นหยก แต่ถูกคนร้ายขโมยไป (พละ วัฒโน 2508 : 232) ซึ่งเจดีย์องค์ในอาจเป็นสิ่งก่อสร้างสมัยสร้างเมืองพิจิตรก็เป็นได้ ดังปรากฏหลักฐานแผ่นอิฐมีจารึกอักษรขอม ที่จะกล่าวถึงต่อไป

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกหรือด้านหลังเจดีย์ประธาน อาจสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เนื่องจากในสมัยสุโขทัยยังไม่นิยมสร้างพระอุโบสถ ประกอบกับสมัยอยุธยานิยมสร้างพระอุโบสถในแนวเดียวกับวิหารและเจดีย์ ซึ่งสอดรับกันดีกับผลการขุดแต่งเนินโบราณสถานในปี พ.ศ.2534 ของกรมศิลปากรที่พบว่าวัดมหาธาตุมีสิ่งก่อสร้าง 2 สมัย คือ สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา (สมัย สุทธิธรรม 2542 : 48)

วิหารเก้าห้อง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกหรือด้านหน้าเจดีย์ประธาน (วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันตกสู่แม่น้ำพิจิตรหรือแม่น้ำน่านสายเดิม) มีขนาด 9 ห้อง

โบราณวัตถุสำคัญอื่นๆ มีทั้งที่ชาวบ้านค้นพบและที่พบโดยกรมศิลปากร โดยในปี พ.ศ.2495 ทางกรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นเจดีย์ประธาน พบแผ่นอิฐมีจารึกอักษรขอมโบราณ 2 แผ่น ได้ความว่า “สุนทร” ที่อาจเกี่ยวกับคำว่า “พิจิตร” ซึ่งแปลว่างามเหมือนกัน (คณะกรรมการฯ  2445 : 73) จากการพิจารณาตัวอักษรบนแผ่นอิฐโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่เข้าไปตรวจสอบวัดมหาธาตุในปี พ.ศ.2495 นี้ กำหนดอายุตัวอักษรราวพุทธศตวรรษที่ 18 (พละ วัฒโน 2508 : 232)

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง ได้จากภายในองค์เจดีย์ประธาน คือ พระสุพรรณบัฏ จารึกอักษรขอมโบราณ ปรากฏชื่อ “เมืองสระหลวง” ในปี พ.ศ.1959 (สมัย สุทธิธรรม 2542 : 7) ซึ่งตรงกับศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ที่สันนิษฐานว่าคือเมืองพิจิตรเก่า (หวน พินธุพันธ์ 2520 : 6 อ้างสาส์นสมเด็จ)

พระสุพรรณบัฏ หรือลานทอง เป็นแผ่นทองคำกว้าง 4.5 เซนติเมตร ยาว 14.2 เซนติเมตร ข้อความที่ปรากฏเป็นประกาศพระบรมราชโองการ เลื่อนพระสมณศักดิ์ภิกษุรูปหนึ่งของวัดมหาธาตุ (พละ วัฒโน 2508 : 237-241)

โบราณวัตถุอื่นๆที่พบก่อนกรมศิลปากรเข้าพื้นที่เท่าที่พอสืบค้นได้ คือ พระเครื่องชนิดต่างๆ ได้แก่ พระบุเงิน บุทอง ใบตำแย ใบมะยม พระแก้วสีต่างๆ พระแผง พระบูชาขนาดต่างๆ เทวรูปประจำทิศโลหะ เสลี่ยงเล็กๆ ผอบ บาตร พวงมาลัยหยกร้อยด้วยลวดเงินลวดทอง แผ่นอิฐปิดทองขนาดใหญ่ 25x75x15 เซนติเมตร (สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ 2500 : 29)

ดังนั้นอาจสรุปลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดมหาธาตุ จังหวัดพิจิตรตามหลักฐานทางโบราณคดีได้ว่า อาจเป็นโบราณสถานที่มีมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ดังปรากฏว่าสิ่งก่อสร้างที่มีซุ้มจระนำภายในเจดีย์ทรงระฆัง แผ่นอิฐมีจารึกอักษรขอมโบราณ และประวัติการสร้างเมืองพิจิตรเก่าโดยเจ้ากาญจนกุมาร หรือพระยาโคตรบองเทวราช ต่อมาในสมัยสุโขทัย จึงมีการปฏิสังขรณ์โดยพอกเจดีย์ทรงระฆังทับ สร้างพระวิหาร และขุดคูน้ำล้อมรอบ เนื่องจากเมืองพิจิตรเก่านี้มีความสำคัญเป็นหัวเมืองเอกของสุโขทัย ดังปรากฏชื่อเมืองสระหลวงในจารึกสมัยสุโขทัย จนกระทั่งในสมัยอยุธยามีการสร้างพระอุโบสถต่อเติมที่ด้านหลังวัดมหาธาตุในแนวแกนของสิ่งก่อสร้างหลัก โดยปรากฏชื่อเมืองพิจิตร ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระนพรัตน์ (หวน พินธุพันธ์ 2520 : 11)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียบเรียง, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ, 2516.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพิจิตร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2545.

พละ วัฒโน. เมืองพิจิตร. พระนคร : โรงพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ, 2508.

สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรม. จังหวัดพิจิตร. พระนคร : โรงพิมพ์อุดม, 2500.

สมัย สุทธิธรรม. สารคดีชุดถิ่นทองของไทย : พิจิตร. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2542.

ส่วนพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช. สวนรุกขชาติกาญจนกุมาร. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2557. แหล่งที่มา http://www2.dnp.go.th/res_dev/pdfforests/สวนรุกขชาติกาญจนกุมาร.pdf

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม. ธรณีสัณฐานประเทศไทยจากห้วงอวกาศ กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2538.

หวน พินธุพันธ์. พิจิตรของเรา กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2520.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี