โพสต์เมื่อ 26 มิ.ย. 2021
ชื่ออื่น : บ้านเชียง
ที่ตั้ง : ถ.โพธิ์ศรี ม.11 บ้านเชียง ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน
ตำบล : บ้านเชียง
อำเภอ : หนองหาน
จังหวัด : อุดรธานี
พิกัด DD : 17.408177 N, 103.243256 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : สงคราม
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยนาคำ, บึงสระหลวง, สระแก้ว, ห้วยบ้าน, ห้วยกกขาม, ห้วยกาโพธิ์, บ่อกาไผ่, สระโรงเรียน
จากตัวจังหวัดอุดรธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 22 (ถ.โพศรี และ ถ.นิตโย) มุ่งหน้าอำเภอหนองหาน ประมาณ 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่บ้านเชียง ประมาณ 600 เมตร พบสี่แยกเลี้ยวขวา ตรงไปตามถนนอีก 950 เมตร พบสามแยกเลี้ยงซ้าย ไปตามถนน 4.1 กิโลเมตร พบสี่แยกเลี้ยวขวา ประมาณ 160 เมตร พบหลุมจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดีวัดโพธิ์ใน
หลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในมีการจัดสร้างเป็นอาคารจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี โครงกระดูก และนิทรรศการต่างๆ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30-16.00 น. คนไทยเสียค่าเข้าชม 30 บาท ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 150 บาท ยกเว้นนักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ผู้สูงอายุ (ชาวไทย) ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาต่างๆ
สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านเชียง
241 ม.9 ถ.บ้านเชียง-หนองเม็ก ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี 41320
โทรศัพท์ 0-4223-5001
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
ม.13 ถ.สุทธิพงษ์ ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ. อุดรธานี 41320
โทรศัพท์ 042-208-340 โทรสาร 042-208-341
E-mail : bc-worldheritage@hotmail.com
เปิดให้ชมวันอังคาร–วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น.
ปิดวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
มีบริการนำชมเป็นหมู่คณะ (ต้องนัดหมายล่วงหน้า) ให้บริการยืมนิทรรศการหมุนเวียน ภาพถ่าย หนังสือห้องสมุด จัดบรรยายทางวิชาการ จำหน่ายหนังสือ ภาพโปสการ์ด และของที่ระลึก
คนไทยเสียค่าเข้าชม 30 บาท ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 150 บาท ยกเว้นนักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ผู้สูงอายุ (ชาวไทย) ภิกษุ สามเณร และนักบวชในศาสนาต่างๆ
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลบ้านเชียง
-กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกาา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 4ง วันที่ 14 มกราคม 2541 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
-องค์การยูเนสโก (UNESCO) องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรมใน พ.ศ.2535 จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
(iii) – เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
นับว่าเป็นแหล่งมรดกโลกอันดับที่ 4 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 359 ของโลก
หมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินดินสูง สัณฐานยาวรี ทอดตัวตามแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก ใกล้กับจุดบรรจบของทางน้ำธรรมชาติ 2 สาย มีพื้นที่ราบลุ่มผืนใหญ่ล้อมรอบ เนื้อที่โดยรวมราว 0.5 ตารางกิโลเมตร จุดสูงสุดบริเวณกลางเนินสูงจากระดับพื้นที่นาโดยรอบประมาณ 8 เมตร และสูงกว่าเนินดินธรรมชาติเดิมราว 5.5 เมตร
อาณาเขตด้านทิศเหนือติดกับบึงนาคำและอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
ด้านทิศใต้ติดกับทุ่งบ้าน บ้านอ้อมแก้ว และอำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี
ด้านทิศตะวันออกติดกับหนองตาลชุม บ้านยา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
ด้านทิศตะวันตกติดโคกหนองยายพิม ตำบลหนองหาน และตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มน้ำสาขาในแอ่งสกลนคร พื้นที่แอ่งกระทะตอนบนของที่ราบสูงโคราช มีแนวเทือกเขาภูพานขนาบด้านทิศใต้ แนวเทือกเขาพนมดงรักด้านทิศตะวันตก และแนวแม่น้ำโขงกั้นด้านทิศเหนือและตะวันออก มีรูปแบบลักษณะธรณีสัณฐานก่อตัวขึ้นในยุคครีเตเชียส ชุดหินโคราช หมวดหินโคกกรวดและเกลือ ประกอบด้วยหินทราย หินดินดาน และหินทรายแป้ง มีชั้นเกลือหินในระดับ 800 ฟุต และชั้นยิปซัมหนา 50 ฟุต
ทรัพยากรน้ำ บ้านเชียงตั้งอยู่ในเขตในที่ราบลุ่มลำน้ำสาขาตอนบนของแม่น้ำสงคราม มีชั้นเกลือหินอยู่ในระดับน้ำใต้ดิน จึงพบทั้งแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม แหล่งน้ำจืดที่ได้จากแนวลำน้ำสาขาเดิมและบ่อหรือบึงที่เดจากการชลประทานกักเก็บ การขุดเจาะน้ำบาดาลในระดับความลึกประมาณ 5-6 เมตร มาใช้เพื่ออุบโภคบริโภค ทั้งที่ห้วยนาคำ บึงสระหลวง และสระแก้วทางตอนเหนือ ห้วยบ้านด้านทิศใต้ ห้วยกกขาม ห้วยกาโพธิ์ บ่อกาไผ่ สระโรงเรียน และห้วยสงครามด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน (พิสิฐ เจริญวงศ์ 2516 : 55)
ห้วยนาคำ, บึงสระหลวง, สระแก้ว, ห้วยบ้าน, , ห้วยกกขาม, ห้วยกาโพธิ์, บ่อกาไผ่, สระโรงเรียน, แม่น้ำสงคราม
บ้านเชียงตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มน้ำสาขาในแอ่งสกลนคร พื้นที่แอ่งกระทะตอนบนของที่ราบสูงโคราช มีแนวเทือกเขาภูพานขนาบด้านทิศใต้ แนวเทือกเขาพนมดงรักด้านทิศตะวันตก และแนวแม่น้ำโขงกั้นด้านทิศเหนือและตะวันออก มีรูปแบบลักษณะธรณีสัณฐานก่อตัวขึ้นในยุคครีเตเชียส ชุดหินโคราช หมวดหินโคกกรวดและเกลือ ประกอบด้วยหินทราย หินดินดาน และหินทรายแป้ง มีชั้นเกลือหินในระดับ 800 ฟุต และชั้นยิปซัมหนา 50 ฟุต
ลักษณะดินเป็นดินเนื้อละเอียดในชุดร้อยเอ็ด ประเภท low humic grey หรือกลุ่มดินตะกอนที่เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่ถูกน้ำพัดพามาทับถม ชั้นบนเป็นดินปนทราย สีน้ำตาลปนเทา ชั้นล่างเป็นดินร่วนปนดินเหนียว สีน้ำตาลปนเทาอ่อน ระบายน้ำไม่ดี แต่มีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุ เหมาะแก่การเกษตรกรรมตามช่วงฤดูกาล (นงพงา สุขวนิช 2527 : 27)
ชื่อผู้ศึกษา : พจน์ เกื้อกูล, วิพากษ์ ศรทัตต์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2515
วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
นายพจน์ เกื้อกูล ภัณฑารักษ์จากหน่วยศิลปากรที่ 6 พิมาย และนายวิพากษ์ ศรทัตต์ ภัณฑารักษ์จากหน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น ดำเนินการขุดค้นภายในพื้นที่วัดโพธิ์ศรีในและพื้นที่บริเวณบ้านนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ การขุดค้นภายในวัดโพธิ์ศรีใน ได้ขุดค้นจำนวน 2 หลุม ระหว่างวันที่ 18 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม 2515 พบหลักฐานหลุมฝังศพมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ และหลุมขุดค้นนี้ได้มีการพัฒนาปรับปรุงเปิดเป็นหลุมสาธิตสำหรับประชาชนและผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมชื่อผู้ศึกษา : อิชิกาวะ, นาคะกะวะ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2515
วิธีศึกษา : กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.นาระ, กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
จากการขุดค้นในปี 2515 นายพจน์ เกื้อกูล ได้เก็บตัวอย่างเศษภาชนะดินเผาไปหาค่าอายุด้วยวิธี thermoluminescence ที่มหาวิทยาลัยนาระ ประเทศญี่ปุ่น โดย ดร.อิชิกาวะ และนาคะกะวะ ได้ค่าอายุ 6,393 ปีมาแล้วชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535
วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น กองโบราณคดี กรมศิลปากร ดำเนินการขุดแต่งปรับปรุงหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน และสร้างอาคารคลุมหลุมใหม่ เพื่อรองรับปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะฝนและความชื้น ที่ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อหลักฐานทางโบราณคดีในหลุมขุดค้นที่จัดแสดงไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2515 นอกจากนี้ ยังทำการขุดค้นเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมหลุมขุดค้นทั้ง 2 หลุม ซึ่งอยู่ห่างกัน 4.6 เมตร เข้าด้วยกัน พบหลักฐานหลุมฝังศพมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546, พ.ศ.2547, พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จัดทำ “โครงการปรับปรุงแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เชื่อมโยงการท่องเที่ยวภูมิภาคอินโดจีน : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ประจำปี พ.ศ.2546” วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดแสดงและตัวอาคารจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดี โดยกิจกรรมมีทั้งการขุดค้นเพิ่มเติม การวิเคราะห์ข้อมูลทางโบราณคดีต่างๆ การขุดค้นนำโครงกระดูกและโบราณวัตถุต่างๆ ขึ้นมาจากหลุมขุดค้นชื่อผู้ศึกษา : เกสรบัว เอกศักดิ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
เกสรบัว เอกศักดิ์ เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี ในหัวข้อ “การศึกษารูปแบบการฝังศพสมัยต้น จากการขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2546” มีวัตถุประสงค์คือศึกษาหลักฐานประเภทหลุมฝังศพเพื่อวิเคราะห์แปลความสภาพสังคมของชุมชนบ้านเชียงสมัยต้น ความสัมพันธ์ของชุมชนบ้านเชียงกับชุมชนร่วมสมัยอื่นๆ และหาความแตกต่างระหว่างรูปแบบการฝังศพสมัยต้นจากการขุดค้นใน พ.ศ.2546 กับสมัยก่อนหน้าชื่อผู้ศึกษา : สยาม แก้วสุวรรณ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : ศึกษากระดูกคน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
สยาม แก้วสุวรรณ เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี ในหัวข้อ “การศึกษาอายุของโครงกระดูกเด็กจากฟัน : กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2546” ตัวอย่างโครงกระดูกที่นำมาศึกษามีทั้งสิ้น 14 โครง (สมัยต้น 13 โครง สมัยปลาย 1 โครง) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ทฤษฎีและวิธีทางทันตกรรม ทั้งการพิจารณาด้วยตาเปล่า (Gross analysis) และการฉายรังสี (X-ray image) มาประยุกต์ใช้เพื่อหาอายุที่แน่นอนของโครงกระดูกเด็ก โดยพิจารณาจากการขึ้นของฟัน แล้วนำอายุที่ได้มาตีความด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับประชากรของวัฒนธรรมบ้านเชียง ในแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีในชื่อผู้ศึกษา : อัตถสิทธิ์ สุขขำ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547, พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
อัตถสิทธิ์ สุขขำ เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี ในหัวข้อ “การศึกษาและลำดับอายุจากลวดลายบนผิวภาชนะดินเผาในหลุมฝังศพกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยปลาย : กรณีศึกษาจากการขุดค้นหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี” จำนวนตัวอย่างภาชนะดินเผาที่ใช้ในการศึกษา 183 ใบ ที่ได้จาก “โครงการปรับปรุงแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เชื่อมโยงการท่องเที่ยวภูมิภาคอินโดจีน : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ประจำปี พ.ศ.2546” วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาคือเพื่อศึกษารูปแบบ จัดจำแนกรูปแบบ และลำดับอายุสมัยจากการศึกษาลวดลายเขียนสีบนผิวภาชนะดินเผาที่พบที่วัดโพธิ์ศรีใน รวมถึงเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปอธิบายสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์บริเวณวัดโพธิ์ศรีในชื่อผู้ศึกษา : อำพัน กิจงาม
วิธีศึกษา : ศึกษาซากสัตว์
ผลการศึกษา :
อำพัน กิจงาม (กระทรวงวัฒนธรรม มปป.) ศึกษาโครงกระดูกสัตว์ที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีระหว่าง พ.ศ.2546-2548 มีทั้งกระดูกควาย ปลา สุนัข เป็นต้น โดยเฉพาะกระดูกควายที่วิเคราะห์ตีความได้ว่า น่าจะเป็นควายที่ถูกนำมาเลี้ยงเพื่อใช้งาน เนื่องจากกระดูกเท้ามีลักษณะผิดปกติไปจากควายป่า ซึ่งเกิดจากการกดทับจากการใช้แรงงาน รวมทั้งสุนัขที่น่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกันชื่อผู้ศึกษา : กรกฎ บุญลพ, นฤพล หวังธงชัยเจริญ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551, พ.ศ.2552, พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : ศึกษากระดูกคน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
“โครงการวิจัยทางมานุษยวิทยากายภาพและโบรษณคดีเชิงชีววิทยาในประเทศไทย” และ “โครงการพัฒนาฐานข้อมูลมานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย” ศึกษาลำดับชั้นวัฒนธรรมและโครงกระดูกมนุษย์ที่ได้จาก “โครงการปรับปรุงแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เชื่อมโยงการท่องเที่ยวภูมิภาคอินโดจีน : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ประจำปี พ.ศ.2546”ชื่อผู้ศึกษา : นฤพล หวังธงชัยเจริญ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : ศึกษากระดูกคน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
นฤพล หวังธงชัยเจริญ เสนอวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในหัวข้อ “การศึกษาลักษณะที่วัดได้ของกระดูกใต้กะโหลกศีรษะของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี” โดยศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ที่ได้จากการขุดค้นและนำขึ้นจากการทำงานใน “โครงการปรับปรุงแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เชื่อมโยงการท่องเที่ยวภูมิภาคอินโดจีน : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ประจำปี พ.ศ.2546” ระหว่าง พ.ศ.2546-2547 จำนวนตัวอย่าง 109 โครง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดทำฐานข้อมูลลักษณะที่วัดได้ของกระดูกใต้กะโหลกศีรษะของกลุ่มตัวอย่าง ใช้เปรียบเทียบร่วมกับกลุ่มประชากรอื่น และใช้ศึกษาตามวิธีการทางสถิติปริมาณบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน ตั้งอยู่ในเขตบ้านเชียง และเป็นพื้นที่ที่พบร่องรอยวัฒนธรรมบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยได้เริ่มมีการขุดค้นในพื้นที่นี้ตั้งแต่ พ.ศ.2515 หลังจากนั้นจึงมีการจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดีดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ก่อนจะขุดขยายผนังเชื่อมต่อหลุมจัดแสดงเดิมทั้ง 2 หลุมเข้าด้วยกัน พร้อมกับปรับปรุงอาคารหลุมเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2535 ซึ่งพบหลักฐานหลุมฝังศพ 52 หลุม (หลุมฝังศพ/โครงกระดูกหมายเลข 001-052) และได้เก็บหลักฐานขึ้น 5 หลุม (หลุมฝังศพ/โครงกระดูกหมายเลข 005, 007, 030, 035 และ 039) คงเหลือหลักฐานในหลุมขุดค้น 47 หลุมฝังศพ
หลังการดำเนินงานในปี 2535 ดร.อำพัน กิจงาม เสนอแนวคิดพัฒนาการทางยุคสมัยของบ้านเชียง โดยอ้างผลการขุดค้นจากหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ทั้งรูปแบบการฝังศพและรูปแบบโบราณวัตถุ จำแนกเป็น 3 สมัย (กรมศิลปากร 2535) คือ
สมัย |
อายุ (ก่อนปัจจุบัน - B.P.) |
รูปแบบการฝังศพ |
ต้น |
5600-3000 |
1.นอนหงายเหยียดยาว วางภาชนะดินเผาบริเวณปลายเท้าหรือศีรษะ 2.นอนงอเข่าที่อาจจะพบหรือไม่พบร่วมกับวัตถุอุทิศ 3.ฝังศพเด็กทารกในภาชนะ พบหลักฐานใบหอกสำริดฝังร่วมกับศพในระยะที่ 3 ของสมัยต้น กำหนดอายุได้ราว 4000-3500 B.P. |
กลาง |
3000-2300 |
1.นอนหงายเหยียดยาว โดยมีการทุบภาชนะดินผาให้แตก นำมารองตัวหรือโปรยทับบนศพ พบหลักฐานใบหอกที่ทำด้วยโละผสม 2 ชนิด (Bimetallic) คือสำริดและเหล็ก ฝังร่วมกับศพ |
ปลาย |
2300-1800 |
1.นอนหงายเหยียดยาวแล้ววางภาชนะดินเผไว้บนตัวศพ |
พ.ศ.2540 ทางโครงการบ้านเชียง โดย ดร.จอยส์ ไวทส์ ได้กำหนดอายุสมัยวัฒนธรรมบ้านเชียง จำแนกเป็น 3 สมัย และกำหนดค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี AMS – Accelerator Mass Spectrometry คาร์บอน-14/คาร์บอน-12 (จุรีกมล อ่อนสุวรรณ 2543 : 54-73)
สมัยต้น อายุ 4050-2850 B.P.
สมัยกลาง อายุ 2850-2250 B.P.
สมัยปลาย อายุ 2250-1750 B.P.
พ.ศ.2546 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ได้วางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดแสดงและตัวอาคารเป็นการจำลองหลักฐานตาม “โครงการปรับปรุงแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เชื่อมโยงการท่องเที่ยวภูมิภาคอินโดจีน : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ประจำปี พ.ศ.2546” เนื่องจากเกิดปัญหาการเสื่อมสภาพของหลุมขุดค้นทางโบราณคดีและโครงกระดูกมนุษย์ที่วัดโพธิ์ศรีในจากปัจจัยทางธรรมชาติ ทั้งอุณหภูมิ แสงแดด ความร้อน ความชื้นจากฝนและน้ำใต้ดิน แม้ว่าทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงจะดำเนินการสร้างอาคารคลุมหลุม อนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์โดยการฉีดพ่นน้ำยาเคมีที่ผิวผนังหลุมและผิวโบราณวัตถุ ตัดผนังชั้นดินเพื่อสอดแผ่นพลาสติกกันความชื้น ฉาบคอนกรีตผิดผิวแท่นดินรองรับโฐราณวัตถุ รวมทั้งการเสริมโครงสร้างคอนกรีตส่วนผนังหลุมเพื่อช่วยรับน้ำหนัก ฯลฯ แล้ว ก็ไม่สามารถแก้หรือลดปัญหาได้อย่างถาวร
การดำเนินงานในปี 2546 ประกอบด้วยการดำเนินงานทางโบราณคดี 3 แนวทางด้วยกัน
1. การขุดค้นนำหลักฐานหลุมฝังศพ/โครงกระดูกจำนวน 45 โครงเดิมขึ้นจากพื้นที่การจัดแสดง และวิเคราะห์ข้อมูลทางโบราณคดี (หลุมฝังศพ/โครงกระดูกหมายเลข 012 ไม่พบโครงกระดูก และหลุมฝังศพ/โครงกระดูกหมายเลข 052 เปลี่ยนเป็นหมายเลข 075)
2. การขุดค้นทางโบราณคดีตามระดับชั้นดินสมมติจนถึงระดับชั้นดินธรรมชาติ ซึ่งในการดำเนินงานดังกล่าวได้พบหลักฐานเพิ่มเติม เป็นกลุ่มหลุมฝังศพจำนวน 51 หลุม (หลุมฝังศพหมายเลข 055-103)
3. การขุดค้นทางโบราณคดีตามระดับชั้นดินสมมติส่วนขยายขอบเขตแนวผนังชั้นดินทุกด้านออกไปด้านละ 40 เซนติเมตร ซึ่งได้พบหลักฐานเพิ่มเติมเป็นโครงกระดูกจำนวน 13 โครง (หลุมฝังศพหมายเลข 104-116)
รวมจำนวนหลักฐานทั้งสิ้น 109 หลุมฝังศพ/โครงกระดูก (นฤพล หวังธงชัยเจริญ 2552 ; White 1982 ; กรมศิลปากร 2535) ได้ดังนี้
สมัย |
จำนวน/ร้อยละ |
หมายเลขโครงกระดูก |
ต้น |
52/47.706 |
019-020, 036, 058, 061, 064, 067-109, 111-112, 116 |
กลาง |
2/1.834 |
021, 063 |
ปลาย |
51/46.788 |
001-004, 006, 008-011, 013-018, 022-029, 031-034, 037-038, 040-051, 053-057, 059-060, 062, 065, 066 |
จำแนกไม่ได้ |
4/3.672 |
105, 110, 113, 115 |
สรุปผลการขุดค้นภายในวัดโพธิ์ศรีในตั้งแต่ พ.ศ.2515 รวมพื้นที่ราว 126 ตารางเมตร พบหลักฐานทั้งสิ้น 116 หลุมฝังศพ คิดเป็นความหนาแน่นโดยเฉลี่ยราว 0.9 หลุมฝังศพ/1 ตารางเมตร โดยใน 116 หลุมฝังศพ ปัจจุบันพบตัวอย่างโครงกระดูกทั้งสิ้น 109 โครง (ยกเว้นหลุมฝังศพหมายเลข 005, 007, 012, 030, 035, 039 และ 052) จำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มโครงกระดูกที่มีค่าประเมินอายุเมื่อตายน้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 ปี จำนวนโครงกระดูก 47 โครง (43.12%) (2) กลุ่มโครงกระดูกที่มีค่าประเมินอายุเมื่อตายมากกว่า 20 ปี จำนวนโครงกระดูก 62 โครง (56.88%) (นฤพล หวังธงชัยเจริญ 2552)
อายุสมัยและการจัดแบ่งสมัยของวัฒนธรรมบ้านเชียงที่วัดโพธิ์ศรีใน
อายุสมัยของการอยู่อาศัยแรกเริ่มที่บ้านเชียง ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ยังไม่เป็นที่ยุติ (สุรพล นาถะพินธุ 2550ข : 48) ส่วนรูปแบบการฝังศพและภาชนะดินเผา สมัยต้น-ปลาย ที่พบที่วัดโพธิ์ศรีใน สอดคล้องกับลักษณะทางวัฒนธรรมของบ้านเชียงสมัยต่างๆ ตามที่ รศ.สุรพล นาถะพินธุ (2550ข : 48-58) สรุปไว้ ดังนี้
1.สมัยต้น (Early Period) มีอายุระหว่าง 4,300-3,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย
บ้านเชียงได้เริ่มเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม ประชากรมีอาชีพหลักคือการเพาะปลูกข้าวและการเลี้ยงสัตว์ (อย่างน้อยก็วัวและหมู)
ประเพณีการฝังศพมีอย่างน้อย 3 แบบ คือ วางศพในลัษณะนอนงอเข่า วางศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว และการบรรจุศพเด็ก (เท่านั้น) ในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ก่อนที่จะนำไปฝัง
ในการฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์รุ่นแรกที่บ้านเชียงนั้น สส่วนใหญ่มีการบรรจุภาชนะดินเผาลงไปในหลุมฝังศพ และมีการใช้เครื่องประดับตกแต่งร่างกายผู้ตายด้วย
ภาชนะดินเผาที่ฝังอยู่ในหลมฝังศพสมัยนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงประเภทไปตามช่วงเวลาต่างๆ ด้วย ดังนี้
ระยะที่ 1 มีภาชนะดินเผาประเภทเด่นคือ ภาขนะดินเผาสีดำ-เทาเข้ม มีเชิงหรือฐานเตี้ยๆ ลำตัวภาชนะครึ่งบนมักตกแต่งด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้ง แล้วตกแต่งเพิ่มเติมด้วยการกดจุดหรือเป็นเส้นสั้นๆ เติมในพื้นที่ระหว่างลายเส้นคดโค้ง ส่วนครึ่งล่างของตัวภาชนะมักตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ซึ่งหมายถึงลวดลายที่เกิดจากการกดประทับผิวภาชนะดินเผาด้วยเชือกนั่นเอง
ระยะที่ 2 เริ่มปรากฏภาชนะดินเผาแบบใหม่เพิ่มขึ้นมา คือ ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ที่ใช้บรรจุศพเด็กก่อนที่จะนำไปฝัง นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาขนาดสามัญซึ่งมีการตกแต่งพื้นที่ส่วนใหญ่บนผิวภาชนะด้านนอกด้วยเส้นขีดเป็นลายคดโง จึงดูเสมือนเป็นภาชนะที่มีปริมาณลวดลายขีดตกแต่งหนาแน่นกว่าบนภาชนะของสมัยต้นช่วงแรก
ระยะที่ 3 เริ่มปรากฏภาชนะแบบที่มีผนังด้านข้างตรงถึงเกือบตรง ทำให้มีรูปร่างภาชนะเป็นทรงกระบอก (beaker) และยังมีภาชนะประเภอหม้อก้นกลม คอภาชนะสั้นๆ ปากตั้งตรง ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบตลอดทั้งใบ
ระยะที่ 4 ปรากฏภาชนะดินเผาประเภทหม้อก้นกลม มีกลุ่มหนึ่งตกแต่งบริเวณไหล่ภาชนะด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้งผสมกับการระบายด้วยสีแดง ในขณะที่ส่วนบริเวณลำตัวภาชนะช่วงใต้ไหล่ลงมาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาแบบนี้มีการตั้งชื่อว่า “ภาชนะแบบบ้านอ้อมแก้ว” เพราะพบว่าเป็นภาชนะดินเผาประเภทหลักที่พบในชั้นอยู่อาศัยของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงแรกที่บ้านอ้อมแก้ว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเชียง
ผู้คนในช่วงแรกๆ ของบ้านเชียงสมัยต้นยังไม่มีการใช้วัตถุที่ทำด้วยโลหะ เครื่องมือมีคมที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นขวานหินขัด เครื่องประดับร่างกายที่ใช้ก็ทำจากหินและเปลือกหอย
แต่ต่อมาราว 4,000 ปีมาแล้ว เริ่มมีการใช้โลหะสำริด โดยใช้ทำทั้งเครื่องมือและเครื่องประดับ เช่น หัวขวาน ใบหอก แหวน กำไล ฯลฯ
2.สมัยกลาง (Middle Period) อายุระหว่าง 3,000-2,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย
ช่วงเวลานี้ คนยุคก่อนประวัติสาสตร์ที่บ้านเชียงเป็นเกษตรกรที่มีการใช้โลหะทำเครื่องมือใช้สอยและเครื่องประดับแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วงแรกๆ ของสมัยกลางยังไม่มีการใช้เหล็ก มีแต่การใช้สำริด จนกระทั่งราว 2,700-2,500 ปีมาแล้ว จึงเริ่มปรากฏการใช้เหล็กขึ้นที่บ้านเชียง
ประเพณีการฝังศพของคนสมัยนี้เป็นแบบการวางศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว บางศพมีการนำภาชนะมากกว่า 1 ใบมาทุบให้แตก แล้วโรยคลุมทับศพ
ภาชนะดินเผาประเภทเด่นที่พบในหลุมศพสมัยกลาง ได้แก่ ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ผิวนอกสีขาว ทำส่วนไหล่ภาชนะหักมุมหรือโค้งมากจนเกือบเป็นมุมค่อนข้างชัด มีทั้งแบบก้นกลมและก้นแหลม บางใบมีการตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนสีที่บริเวณใกล้ปากภาชนะ ในช่วงปลายสุดของสมัยกลาง เริ่มมีการตกแต่งปากภาชนะดินเผารูปแบบเช่นนี้ด้วยการทาสีแดง
3.สมัยปลาย (Late Period) อายุระหว่าง 2,300-1,800 ปีมาแล้ว
สมัยนี้มีการใช้เหล็กทำเป็นเครื่องเครื่องใช้กันอย่างแพร่หลายในบ้านเชียง ส่วนสำริดยังคงถูกใช้ทำเป็นเครื่องประดับที่มีรูปแบบและลักษณะที่ประณีต วิจิตรบรรจงมากขึ้นกว่าสมัยที่ผ่านมา
ประเพณีการฝังศพของคนในสมัยนี้เป็นแบบวางศพในท่านอนหงายเหยียดยาว มีภาชนะดินเผาทับบนศพ
ลักษณะภาชนะดินเผาที่พบในช่วงสมัยนี้ ได้แก่
ช่วงต้นของสมัยปลาย พบภาชนะดินเผาเขียนสีแดงบนพื้นสีนวล
ช่วงกลางของสมัยปลาย เริ่มมีการใช้ภาชนะดินเผาลายเขียนสีแดงบนพื้นสีแดง
ช่วงท้ายของสมัยปลาย เริ่มมีการใช้ภาชนะดินเผาทาด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน
สภาพสังคม
สภาพสังคมของบ้านเชียงโดยสรุปเป็นชุมชนเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ควบคู่ไปกับการหาของป่าและล่าสัตว์ รู้จักการผลิตและควบคุมผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิกในชุมชน รู้จักการจัดสรรผลิตผลส่วนเกินสำหรับแลกเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบบางประการที่ไม่มีในชุมชนของตนกับต่างชุมชน เป็นสังคมที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านโลหกรรม การผลิตภาชนะดินเผา ภายในชุมชนมีการแบ่งงานกัน มีรูปแบบความเชื่อและวัฒนธรรมร่วมกัน มีพิธีกรรมที่ซับซ้อน มีการแบ่งระดับ สถานะ หรือความสำคัญของบุคคล โดยสามารถสังเกตและตีความได้จากหลักฐานต่างๆ ภายในบ้านเชียง โดยเฉพาะหลักฐานประเภทหลุมฝังศพจากวัดโพธิ์ศรีใน (เกสรบัว เอกศักดิ์ 2546)
การขุดค้นทางโบราณคดี ในปี 2546-2548 ที่วัดโพธิ์ศรีใน ได้พบหลักฐานโครงกระดูกสัตว์ที่สำคัญแบบเต็มโครงสมบูรณ์ ได้แก่ โครงกระดูกควาย โครงกระดูกปลา และโครงกระดูกสุนัข เป็นต้น จากการวิเคราะห์เบื้องต้นโดย ดร.อำพัน กิจงาม นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกสัตว์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงกระดูกควายที่พบว่า น่าจะเป็นควายที่ถูกนำมาเลี้ยงไว้เพื่อใช้งาน เนื่องจากกระดูกเท้ามีลักษณะผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการกดทับจากการใช้แรงงาน นอกจากนี้ ขณะดำเนินการขยายผนังหลุมขุดค้น เพื่อวางโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ได้พบโครงกระดูกสุนัขแบบเต็มโครงสมบูรณ์ ซึ่งน่าจะเป็นสุนัขที่ถูกนำมาเลี้ยงไว้เช่นกัน (กระทรวงวัฒนธรรม มปป.)
ข้อมูลจากกระดูกสัตว์ (กระทรวงวัฒนธรรม มปป. ; Kijngam 1979)
ดร. อำพัน กิจงาม นักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสัตว์ ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างกระดูกสัตว์ชนิดต่างๆ ที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ผลการศึกษาระบุว่า ได้พบกระดูกสัตว์มากกว่า 60 ชนิด (Kijngam 1979) โดยชนิดของสัตว์ที่พบในพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง สามารถนำมาศึกษาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรวมไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งย่อมมีความแตกต่างกันไปตามชนิดและประเภทของสัตว์ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ณ ระยะเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ต้องอาศัยการศึกษาวิเคราะห์ชนิดของพืชประกอบด้วย
สัตว์เลี้ยงของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงตั้งแต่สมัยต้นจนถึงสมัยปลาย ได้แก่ วัว หมู และสุนัข จากการศึกษาพบว่าสัตว์เลี้ยงดังกล่าวมีอายุค่อนข้างน้อยเมื่อตาย ต่อมาในสมัยกลางได้พบกระดูกควาย ซึ่งสามารถระบุได้ว่าเป็นควายเลี้ยงเพื่อใช้งาน เพราะมีการนำกระดูกกีบเท้าของควาย (III phalange) ที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมาศึกษาเปรียบเทียบกับควายปัจจุบัน พบว่ามีร่องรอยการลากไถเหมือนกัน โดยมีความแตกต่างกับวัวซึ่งไม่พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการใช้วัวในการลากไถเลย ผลการศึกษายังระบุอีกว่า เมื่อปรากฏหลักฐานการเลี้ยงควายในสมัยกลาง ก็ปรากฏหลักฐานการใช้เครื่องมือเหล็กที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
สัตว์จำพวก วัวป่า หมูป่า กวาง สมัน ละอง/ละมั่ง เนื้อทราย เก้ง เป็นสัตว์ที่ถูกล่ามาเพื่อใช้เป็นอาหาร มีหลักฐานประการหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับปริมาณความหนาแน่นของสัตว์เหล่านี้ ซึ่งพบว่ามีจำนวนมากขึ้นตั้งแต่สมัยกลางลงมา ส่วนสัตว์ขนาดเล็กที่ถูกจับมาเป็นอาหาร ได้แก่ กระต่าย ชะมด อีเห็น พังพอน หนู นาคใหญ่ เสือปลา แมวป่า สัตว์น้ำ ได้แก่ หอยและปลาชนิดต่างๆ สัตว์เหล่านี้จะพบมากในสมัยต้นและเริ่มลดจำนวนลงในสมัยต่อมา นอกจากนี้ยังพบสัตว์จำพวก จระเข้ หมาหริ่ง ตัวนิ่ม อึ่งอ่าง คางคก ตะกวด และเม่น รวมอยู่ด้วย
ประเภทและชนิดของสัตว์ที่พบ ทำให้สามารถระบุลักษณะสภาพแวดล้อมของพื้นที่ได้ โดยอาศัยรูปแบบการดำรงชีวิตของสัตว์เป็นตัววิเคราะห์สภาพแวดล้อม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ในสมัยต้น พบว่ามีสัตว์ที่ชอบอยู่อาศัยในภูมิประเทศแบบป่าดิบแล้ง (Dry decidous forest) และมีแหล่งน้ำที่มีน้ำตลอดทั้งปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสมัยกลาง ผลการศึกษาระบุว่า ความต้องการในการขยายพื้นที่เพาะปลูกเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีบางประการ อันได้แก่ การใช้เครื่องมือเหล็ก และรู้จักใช้ควายเป็นเครื่องทุ่นแรงในการลากไถ เป็นสาเหตุที่ทำให้สภาพแวดล้อมของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเกิดการเปลี่ยนแปลง ยังผลให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ทำให้หลักฐานกระดูกสัตว์ที่พบเกิดการเปลี่ยนแปลงไป
ลวดลายบนภาชนะดินเผา
อัตถสิทธิ์ สุขขำ (2547) ศึกษาและตีความลวดลายบนภาชนะดินเผาที่พบในแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีในว่า ลวดลายภาชนะแสดงถึงความพิถีพิถัน ผู้ผลิตสร้างขึ้นให้กับผู้ตายตามประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับความตาย พื้นฐานทางความคิดของผู้สร้างสรรค์ลวดลายของชุมชนมีความร่วมกันทางวัฒนธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ปรากฏถึงความหลากหลายในการออกแบบ ซึ่งมีพัฒนาการในระยะแรกเริ่มจากรูปแบบเรียบง่าย เมื่อผลิตจำนวนมากขึ้น มีความรู้ความชำนาญมากขึ้น ก็พัฒนาไปสู่การสร้างลวดลายที่ซับซ้อนมากขึ้นในระยะหลัง
อัตถสิทธิ์ สุขขำ (2547) ได้จัดจำแนกแนวคิดในการออกแบบลวดลายของผู้ผลิตภาชนะดินเผาก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง ได้ดังนี้
1.กลุ่มลวดลายรูปร่างเลขาคณิต (Geometric Shape Designs)
2.กลุ่มลวดลายอิสระแบบดุลยภาพสมมาตร (Free-Hand Formal Balance Designs)
3.กลุ่มลวดลายอิสระแบบดุลยภาพอสมมาตร (Free-Hand Informal Balance Designs)
ส่วนรูปแบบลวดลายที่นิยมในสมัยปลาย คือ การเขียนสีบนเคลือบน้ำดินสีนวล ลวดลายวงกลมหรือวงรี ลวดลายเส้นโค้งแบบก้นหอยวนเข้าหาจุดศูนย์กลาง ลายเส้นโค้งแบบก้นหอยวนเข้าหาจุดศูนย์กลางแล้ววนออก และลวดลายตัว S และ Z
นอกจากนี้ อัตถสิทธิ์ สุขขำ (2547) ยังตีความพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์จากลวดลายบนภาชนะดินเผาที่พบที่แหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีในว่ามีความซับซ้อนขึ้นตามช่วงเวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ประชากรบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณวัดโพธิ์ศรีใน
การศึกษาฟันในโครงกระดูกเด็ก 13 โครง จากทั้งหมด 43 โครงของสมัยต้น (สยาม แก้วสุวรรณ 2546) พบว่าเด็กที่เสียชีวิตมีอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 15 ปี พบโรคฟันผุมาก (พบแทบทุกโครงที่ศึกษา) อาจแสดงถึงความนิยมบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล และทำความสะอาดฟันไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังพบโรคปริทันต์ 2 โครง
นฤพล หวังธงชัยเจริญ (2552) ศึกษาโครงกระดูกมนุษย์จากแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน จำนวน 109 โครง พบว่าเป็นโครงกระดูกมนุษย์วัยทารกถึงวัยรุ้น (อายุต่ำกว่า 20 ปี) 47 โครง และโครงกระดูกผู้ใหญ่ 62 โครง เพศชายมีความสูงระหว่าง 159.3-167.3 เซนติเมตร เพศหญิงมีความสูงระหว่าง 144.5-153.8 เซนติเมตร เพศชายมีขนาดเฉลี่ยของกระดูกไหปลาร้า ต้นแบน ปลายแขนด้านนอก ปลายแขนด้านใน ต้นขา สะบ้า หน้าแข้ง และกระดูกข้อเท้า calcaneus และ talus ใหญ่ กว้าง และหนากว่าค่าเฉลี่ยในกระดูกชิ้นเดียวกันของเพศหญิงอย่างมีนับสำคัญทางสถิติ เพราะฉะนั้นสามารถใช้กระดูกชิ้นเหล่านี้ประเมินเพศได้ นอกจากนี้จากการศึกษายังได้สมการประเมินอายุเมื่อตายของโครงกระดูกวัยทารกถึงวัยรุ่น
กรกฎ บุญลพ และนฤพล หวังธงชัยเจริญ (2553) ศึกษาโครงกระดูกมนุษย์จากแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน ได้ผลดังนี้
เพศและอายุ
จำนวนโครงกระดูกมนุษย์ที่นำมาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ทั้งสิ้น 109 ตัวอย่าง สามารถจำแนกเป็น วัยแรกเกิดถึงวัยรุ่นตอนต้น จำนวน 43 ตัวอย่าง และ วัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ จำนวน 66 ตัวอย่าง และในแต่ละช่วงวัยสามารถแยกย่อยออกเป็นกลุ่มๆ ตามลำดับชั้นวัฒนธรรมและเพศ ได้คือ
กลุ่มวัยแรกเกิดถึงวัยรุ่นตอนต้น จำนวน 43 ตัวอย่าง จำแนกเป็น
- วัยแรกเกิดถึงวัยรุ่นตอนต้นในชั้นวัฒนธรรมสมัยต้น 25 ตัวอย่าง
- วัยแรกเกิดถึงวัยรุ่นตอนต้นในชั้นวัฒนธรรมสมัยกลาง 2 ตัวอย่าง
- วัยแรกเกิดถึงวัยรุ่นตอนต้นในชั้นวัฒนธรรมสมัยปลาย 15 ตัวอย่าง
- วัยแรกเกิดถึงวัยรุ่นตอนต้นจัดชั้นวัฒนธรรมไม่ได้ 1 ตัวอย่าง
กลุ่มวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ จำนวน 66 ตัวอย่าง จำแนกเป็น
- เพศชาย จำนวน 26 ตัวอย่าง แบ่งเป็น
ก.สมัยต้น 10 ตัวอย่าง
ข.สมัยปลาย 16 ตัวอย่าง
- เพศหญิง จำนวน 26 ตัวอย่าง แบ่งเป็น
ก.สมัยต้น 13 ตัวอย่าง
ข.สมัยปลาย 11 ตัวอย่าง
ค.จำแนกชั้นวัฒนธรรมไม่ได้ 2 ตัวอย่าง
- วัยผู้ใหญ่ ไม่สามารถระบุเพศได้ จำนวน 14 ตัวอย่าง แบ่งเป็น
ก.สมัยต้น 3 ตัวอย่าง
ข.สมัยปลาย 8 ตัวอย่าง
ค.จำแนกชั้นวัฒนธรรมไม่ได้ 3 ตัวอย่าง
การศึกษาโครงกระดูกมนุษย์จากหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในของนฤพล หวังธงชัยเจริญ พบว่าเบื้องต้นสามารถ
ลักษณะทางกายภาพของกะโหลกศีรษะ
ลักษณะที่สามารถวัดได้
ผลการวัดกะโหลกศีรษะและดรรชนีรูปพรรณสัณฐานของส่วนต่างๆ ในกะโหลกศีรษะมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัยผู้ใหญ่ ทั้งชายและหญิง จากตัวอย่างหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่พบจากการขุดค้น พ.ศ.2546 ตามรายละเอียดดังปรากฏในตารางข้างต้นนั้น นำไปสู่การอธิบายเกี่ยวกับรูปพรรณสัณฐานของประชากร ซึ่งเป็นแนวทางในการศึกษาตามมาตร ฐานทางมานุษยวิทยากายภาพชีวภาพ (Howells 1973; Martin and Saller 1957) ที่แสดงให้เห็นความสอดคล้องของสัดส่วนรูปพรรณสัณฐานในกะโหลกศีรษะ ระหว่างขนาดที่ได้จากการวัดตามจุดกำหนดต่างๆ กับดรรชนีบ่งชี้รูปทรงสัณฐานของกะโหลกศีรษะในกลุ่มประชากรสมัยก่อนประวัติ ศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษาวิเคราะห์ ดังนี้
รูปทรงของกะโหลกศรีษะโดยรวม (Vault Shape)
รูปทรง Vault shape จากกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ ปรากฏชัดเจนจากค่าดรรชนีจำนวน 3 รายการ ได้แก่ ดรรชนี cranial (หรือ length-breadth), ดรรชนี height-breadth, และ ดรรชนี height-length ทั้งนี้ พบว่าผลการศึกษาครั้งนี้มีความสอดคล้องกับผลการศึกษากะโหลกศีรษะจากแหล่ง โบราณคดีบ้านเชียง ชุดที่พบจากการขุดค้นเมื่อ พ.ศ. 2517-2518 (Pietrusewsky and Douglas 2002) กล่าวคือ พบว่าทั้งในเพศชายและหญิง ส่วนใหญ่มีลักษณะกะ โหลกศีรษะแบบ Mesocranial หรือกะโหลกศีรษะขนาดปานกลาง ซึ่งถือเป็นดรรชนีที่เด่นที่สุดในกลุ่มดรรชนีที่สามารถประเมินได้จากผลการศึก ษาโดยวิธีการวัด โดยในเพศหญิงมีค่าดรรชนีระหว่าง 74.1-83.8 ขณะที่ค่าดรรชนีของเพศชายอยุ่ที่ระหว่าง 69.9-85.2 (โปรดดูรายละเอียดประกอบจากตาราง ที่ 2.1 – 2.4)
สำหรับการศึกษาในมิติด้านความสูงของกะโหลกศีรษะ (cranial height) นั้น ปรากฏว่า ทั้งสองเพศ (ชาย-หญิง) มีรูปทรงกะโหลกศีรษะที่มีความสูงค่อนข้างมาก (hypsicrane or high cranium) กล่าวคือมีค่าดรรชนีระหว่าง 77.8-80.3 ในเพศชาย และในเพศหญิงมีค่าดรรชนีระหว่าง 69.6 – 80.8) กระนั้นก็ดี ค่าดรรชนีที่ได้บ่งชี้ว่ากะโหลกศีรษะของเพศหญิงมีความสูงกว่ากะโหลกศีรษะของเพศชาย เล็กน้อย
ส่วนดรรชนี height-breadth cranial index แสดงให้เห็นว่าทั้งเพศหญิงและชายมีลักษณะกะโหลกศีรษะสูง ที่จัดอยู่ในกลุ่ม acrocrane โดยในเพศชายมีค่าดรรชนีระหว่าง 93.1-107.8 ส่วนเพศหญิงมีค่าดรรชนีระหว่าง 87.5-107.1
โดยสรุปแล้ว จากข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวบ่งชี้ว่าประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จากกลุ่มตัว อย่างที่นำมาศึกษาชุดนี้ ทั้งเพศชายและหญิงล้วนมีรูปพรรณสัณฐานของกะโหลกศิรษะที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นมิติของความสูงหรือความกว้าง-ยาว โดยมีความกว้างและยาวปานกลาง ขณะที่ในมิติด้านความสูงนั้น กะโหลกศีรษะของทั้ง 2 เพศ มีลักษณะค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทั้งหมดกะโหลกศีรษะของเพศหญิงมีขนาดที่เล้กกว่ากะโหลกศีรษะของเพศชายเล็กน้อย อนึ่ง นักวิชาการด้านมานุษยวิทยากายภาพชีวภาพ บางท่าน เช่น Larsen (1997, 2000) ให้ความเห็นว่าขนาดที่ไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างกะโหลกศีรษะของเพศหญิงและชายนั้น อาจเป็นผลมาจากปัจจัยด้านโภชนาการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากรณีความคล้ายคลึงกันในขนาดและสัณฐานของกะโหลกศีรษะของกลุ่มตัวอย่างประชากรก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงชุดที่นำมาศึกษานี้ ก็อาจเป็นไปในทำนองเดียวกัน
รูปพรรณสัณฐานของส่วนใบหน้าโดยรวม (Face Shape)
ข้อมูลจากผลการศึกษากะโหลกศีรษะโดยวิธีการวัดกลุ่มตัวอย่างชุดนี้ บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ของดรรชนีสัดส่วนใบหน้า ไม่ว่าจะโดยการพิจารณาเฉพาะส่วนบน (upper facial) หรือใบหน้าทั้งหมด (total facial ซึ่งรวมถึงส่วนขากรรไกรล่าง) โดยเพศชายมีค่าขนาดสัดส่วนใบหน้าปานกลาง-สูง ในขณะที่เพศหญิงมีค่าขนาดสัดส่วนใบหน้าปานกลางโดยเฉลี่ย นอกจากนั้น รูปพรรณสัณฐานในส่วนใบหน้ายังสามารถพิจารณาได้จากสัดส่วนของเบ้าตา, โพรงจมูก, เพดานปากในกระดูกขากรรไกรบน, กล่าวคือ ทั้งเพศชายและหญิงล้วนมีค่าดรรชนีของสัณฐานเบ้าตาที่กว้าง (hypericonch) ส่วนสัณฐานของโพรงจมูกนั้นก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันทั้ง 2 เพศ เป็นส่วนใหญ่ คือจัดเป็นแบบโพรงจมูกขนาดปานกลาง (mesorrhine) กระนั้นก็ดี ในบางตัวอย่างของเพศชายและหญิงก็แสดงให้เห็นความหลากหลายของรูปทรงสัณฐานส่วนโพรงจมูก ทั้งนี้ นอกจากโพรงจมูกขนาดปานกลางแล้วยังพบว่ามีรูปทรงโพรงจมูกแบบกว้าง (chamaerrhine) และแบบกว้างมาก (hyperchamaerrhine) ส่วนรูปทรงของพื้นที่เพดานปากในกระดูกขากรรไกรบน พบว่าจัดเป็นแบบเพดานปากที่มีความกว้างในทั้ง 2 เพศ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากสัดส่วนความกว้างและความยาวของขอบด้านนอกที่สามารถวัดได้จากกระดูกส่วนดังกล่าว
รูปพรรณสัณฐานของขากรรไกรล่าง โดยรวม (Mandible Shape)
ดรรชนี 2 รายการ ประกอบด้วย ramus index และ jugomandibluar index ที่ศึกษาได้ในกระดูกขากรรไกรล่าง บ่งชี้ขนาดและรูปทรงสัณฐานของกระดูกส่วนดังกล่าวในเพศชายและเพศหญิงได้ว่า ขากรรไกรล่างของผู้หญิงมีขนาดที่แคบกว่าขากรรไกรล่างของผู้ชายเล็กน้อยเมื่อพิจารณาจากดรรชนี jugomandibluar index แต่หากพิจารณาจากดรรชนี ramus index จะพบว่า ขากรรไกรล่างในเพศชายมีขนาดที่กว้างกว่าขากรรไกรล่างในเพศหญิงไม่มากนัก
ลักษณะที่ไม่สามารถวัดได้
ผลจากการศึกษารูปพรรณสัณฐานของกะโหลกศีรษะทั้งเพศชายและหญิง สามารถสรุปลักษณะทางกายภาพที่ไม่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะที่เป็นตัวแทนทั้งกลุ่มเพศชายและหญิง ดังนี้
เพศชาย : กะโหลกศีรษะที่เป็นตัวแทนในการอธิบายภาพของลักษณะทางกายภาพในกะโหลกศีรษะของเพศชาย พบว่าในมิติด้านหน้า (frontal or anterior view) แสดงให้เห็นลักษณะหน้าผากที่ลาดเทสันคิ้วที่ค่อนข้างชัดเจนและเผยให้เห็นโครงสร้างทางกายภาพที่แข็งแกร่งของส่วนโหนกแก้ม (well-marked robust zygomatics) โครงสร้างใบหน้าส่วนบน (upper facial) และพื้นที่โพรงจมูก (nasal aperture) ล้วนมีขนาดไม่ใหญ่นัก
เมื่อพิจารณาในมิติทางด้านหลังหรือด้านท้ายทอยของกะโหลกศีรษะ (occipital view) พบว่าเพศชายมีรูปทรงของแนวโค้งกะโหลกศีรษะเป็นแบบ haus-form หรือรูปทรงคล้าย 5 เหลี่ยม (ent agonal shape)
มิติทางด้านข้าง เช่น ข้างซ้าย (left lateral view) เผยให้เห็นสัณฐานของส่วนสันคิ้ว (supra orbital ridge) ที่ไม่เด่นชัดมากนัก นอกจากนั้น พบว่ามีลักษณะการยื่นของขากรรไกรโดยเฉพาะการยื่นของขากรรไกรบน (prognathic upper face) เล็กน้อยเช่นกัน สัณฐานของกะโหลกส่วนห่อหุ้มสมอง (cranium) ซึ่งมีความสูงปานกลางนั้นสัมพันธ์อย่างได้สัดส่วนกับความกว้างและยาว บริเวณปุ่มกระดูกด้านหลังหู (mastoid process) มีลักษณะเด่นชัด ขนาดใหญ่
มิติด้านบน (superior view) แสดงให้เห็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสมมาตร และมีรูปทรงคล้ายปีกผีเสื้อ (sphenoid shape) คละเคล้ากับรูปทรงแบบยาวรี (elippsoid shape) และแบบกลมรีคล้ายรูปไข่ (ovoid shape)
มิติด้านฐานกะโหลก (basal view) บ่งชี้รูปพรรณสัณฐานของเพดานปาก (palate) ที่มีความกว้างปานกลาง ถึงกว้างมาก ทั้งยังพบว่าฟันแท้ในชุดขากรรไกรบนมีลักษณะสึกกร่อนอย่างชัดเจน รวมทั้งปรากฏลักษณะทางกายภาพบางประการที่บ่งชี้ลักษณะเด่นของกลุ่มประชากรในสายพันธุ์มงโกลอยด์ เช่น ลักษณะฟันรูปพลั่ว (shovel-shaped) ในผิวสัมผัสฟันด้านประชิดลิ้นของฟันตัดซี่กลาง (upper central incisors)
เพศหญิง : กะโหลกศีรษะที่เป็นตัวแทนในการอธิบายภาพของลักษณะทางกายภาพในกะโหลกศีรษะของเพศชาย พบว่าในมิติด้านหน้า (frontal or anterior view) แสดงให้เห็นลักษณะโพรงจมูก (nasal aperture) ที่กว้าง
มิติทางด้านหลังหรือด้านท้ายทอยของกะโหลกศีรษะ (occipital view) พบว่ามีลักษณะสัณฐานของกะโหลกศีรษะแบบ arch shape ที่เด่นชัด
มิติทางด้านข้าง เช่น ข้างซ้าย (left lateral view) บ่งชี้ลักษณะเด่นชัดของเพศหญิง โดยเพาะส่วนหน้าผากที่โค้งมน สัมพันธ์กับบริเวณสันคิ้วที่ค่อนข้างเรียบ ขณะที่แนวโค้งของกะโหลกด้านหลังก็มีลักษณะโค้งมันรับกับส่วนหน้าผากเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น ยังปรากฏลักษณะที่คล้ายคลึงกับกะโหลกศีรษะของเพศชาย ซึ่งได้แก่สัณฐานที่มีการยื่น (prognathic) ของใบหน้าส่วนบน (upper facial) รวมทั้งช่วงของกระดูกโหนกแก้มที่กว้างและแข็งแกร่ง (broad and robust zygomatics) ทั้งนี้ ยังพบว่าส่วนสูงของกะโหลกศีรษะมีความสูงปานกลางสัมพันธ์กับช่วงความกว้างและความยาว โดยมีกระดูกปุ่มหลังหู (mastoid process) ขนาดเล็ก
มิติด้านบน (superior view) มีลักษณะรูปทรงของกะโหลกศีรษะคล้ายรูปปีกผีเสื้อ (sphe noid sahpe) ซึ่งเป็นรูปทรงสัณฐานที่ไม่สมมาตรระหว่างพื้นที่ส่วนหน้ากับส่วนหลังนั่นเอง
มิติด้านฐานกะโหลก (basal view) พบว่าในฟันกรามชุดขากรรไกรบนแสดงให้เห็นการสึกกร่อนของฟันไม่มากนัก ส่วนในฟันตัดซี่กลาง (upper incisors) ก็ปรากฏพบลักษณะเด่นของกลุ่มประชากรสายพันธุ์มองโกลอยด์เช่นเดียวกันกับเพศชาย ซึ่งได้แก่ลักษณะฟันรูปคล้ายพลั่ว (shovel-sahpe) ในผิวสัมผัสด้านประชิดลิ้น ส่วนรูปทรงของกระดูกเพดานปากในขากรรไกรบนมีลักษณะกว้าง
อย่างไรก็ดี มิติด้านบนและด้านฐานของกะโหลกศีรษะเพศหญิงผู้นี้ มีลักษณะค่อนข้างบิดเบี้ยว ซึ่งไม่น่าจะเป็นการบิดเบี้ยวที่มีมาแต่กำเนิดหรือเป็นการบิดเบี้ยวตามธรรมชาติ แต่น่าจะเป็นผลมาจากการบดอัดของดินเป็นเวลานานจนทำให้ไม่สามารถประกอบกลับให้ได้รูปทรงปกติตามลักษณะธรรมชาติ
ลักษณะทางกายภาพของฟัน
การศึกษาลักษณะที่สามารถวัดได้พบว่าขนาดพื้นที่ฟันโดยรวม = 1,066.76 ตร.มม.
ส่วนการศึกษาลักษณะที่ไม่สามารถวัดได้ของฟัน พบว่า “ลักษณะฟันคล้ายรูปพลั่ว” หรือ “Shovel-shaped teeth” เป็นลักษณะที่ไม่สามารถวัดได้ของฟัน ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นที่พบได้เด่นชัดในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ทั้งนี้ ลักษณะทางกายภาพดังกล่าว เป็นศัพท์ที่บ่งชี้ถึงรูปพรรณสัณฐานของฟันแท้ในชุดฟันตัดซี่กลางและซี่ริม ทั้งในชุดขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง ซึ่งส่วนขอบด้านข้างของฟันซี่ดังกล่าวจะยกขึ้นเป็นสันทั้งสองข้าง ทำให้พื้นที่ตรงกลางมีลักษณะเป็นแอ่ง เมื่อมองโดยรวมแล้วทำให้ผิวสัมผัสของฟันด้านประชิดลิ้นมีรูปทรงคล้ายพลั่ว
ฟันรูปทรงคล้ายพลั่วที่ปรากฏในฟันตัดดังกล่าว ถือเป็นลักษณะทางกายภาพแบบเด่นที่พบได้มากในกลุ่มประชากรมนุษย์แถบเอเชียตะวันออก (Hrdlicka 1920) นอกจากนั้น Scott และ Turner (1977) ได้ศึกษาในทางสถิติแล้วยังพบด้วยว่า สามารถใช้คุณลักษณะของฟันตัดรูปทรงคล้ายพลั่วนี้ เป็นบรรทัดฐานในการแบ่งกลุ่มสายพันธุ์มนุษย์แถบเอเชียตะวันออก ออกเป็น 2 กลุ่มย่อยด้วย ได้แก่ กลุ่มย่อยสายพันธุ์มงโกลอยด์ฝ่ายเหนือ (Northern Mongoloid) และสายพันธุ์มงโกลอยด์ฝ่ายใต้ (Southern Mongoloid) ผลการศึกษาทางสถิติของ Scott และ Turner พบว่า กลุ่มสายพันธุ์มงโกลอยด์ฝ่ายเหนือซึ่งจัดเป็นฟันแบบ Sinodont นั้น มีอัตราการพบลักษณะของฟันตัดรูปทรงคล้ายพลั่วสูงถึงประมาณ 60-90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวได้แก่ ประชากรชาวจีน ธิเบต และกลุ่มที่อยู่อาศัยในพื้นที่ทางตอนเหนือและตะวันออกของเอเชียตะวันออกนั่นเอง ส่วนกลุ่มสายพันธุ์มงโกลอยด์ฝ่ายใต้ ซึ่งจัดเป็นฟันแบบ Sundadont นั้น มีอัตรการพบฟันตัดรูปทรงคล้ายพลั่วในอัตราที่ต่ำกว่าประชากรกลุ่มมงโกลอยด์ฝ่ายเหนือ กล่าวคือพบในอัตราประมาณ 20-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้แก่กลุ่มประชากรในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ คือ กลุ่มหมู่เกาะโพลีนีเซีย (Polynesians) และแถบหมู่เกาะไมโครนีเซีย (Micronesia)
นอกจากนั้น การศึกษาลักษณะรูปทรงสัณฐานของขากรรไกร พบว่าในเพศชายมีการถอนฟันตัดซี่ริมในชุดขากรรไกรบน ซึ่งแสดงเห็นว่าเป็นการหลุดร่วงก่อนที่จะเสียชีวิต(Pre mortem tooth lost) โดยกระดูกเบ้าฟันมีการสมานเข้าด้วยกัน ส่วนขากรรไกรล่างพบว่า ขากรรไกรล่างของตัวแทนเพศชายทางด้านหน้าแสดงให้เห็นลักษณะเด่นของความเป็นเพศชายอย่างชัดเจน คือส่วนคางมีลักษณะเป็นเหลี่ยมเป็นสัน เมื่อพิจารณาทางด้านข้างนั้นส่วน gonio-condylar แสดงให้เห็นลักษณะที่แผ่กางออกอย่างเด่นชัด และมี รู mental foramen ทั้งซ้ายและขวาข้างละหนึ่งรู ส่วน ramus มีลักษณะสูง ขณะที่ส่วน coronoid process ยกสูงมากกว่าส่วน mandibular condyle ส่วนอัตราการสึกของฟันนั้นพบว่า โดยรวมแล้วฟันมีการสึกกร่อนปานกลาง ทั้งนี้ ไม่ปรากฏลักษณะ rocker jaw ในกลุ่มตัวอย่างเพศชายที่ศึกษาแต่อย่างใด
ส่วนขากรรไกรบนของเพศหญิงก็พบว่ามีการถอนฟันตัดซี่ริมในชุดขากรรไกรบนเช่นกัน ซึ่งเป็นการหลุดร่วงของฟันก่อนที่จะเสียชีวิต(Pre mortem tooth lost)เพราะกระดูกเบ้าฟันแสดงให้เห็นการสมานเข้าด้วยกัน ขณะที่จากรรไกรล่างนั้น หลายตัวอย่างแสดงให้เห็นการหลุดร่วงของฟันที่เกิดขึ้นหลังจากเสียชีวิตแล้ว (Post mortem tooth lost) บริเวณคางมีลักษณะมน และส่วน gonio-condylar มีลักษณะแผ่กางออกเช่นเดียวกับเพศชาย ขณะที่ส่วน ramus มีลักษณะแคบ ทั้งนี้ ไม่ปรากฏลักษณะ rocker jaw ในกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงที่ศึกษาเช่นกัน
ลักษณะทางกายภาพของกระดูกส่วนต่ำกว่ากะโหลกศีรษะและสัดส่วนความสูง
แม้ว่าการศึกษาลักษณะที่วัดได้และวัดไม่ได้จากกระดูกส่วนต่ำกว่ากะโหลกศีรษะ หรือส่วนใต้กะโหลกศีรษะ ของตัวอย่างโครงกระดูกจากหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ครั้งนี้จะมีข้อจำกัดอย่างน้อย 2 ประการ คือ (1) สภาพความชำรุด แตกหัก หรือความไม่สมบูรณ์ของส่วนกระดูกที่นำมาศึกษา ส่งผลให้ข้อมูลการวัดต่างๆ ทั้งสองระเบียบวิธีไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ นำมาซึ่งข้อจำกัดในประการต่อมา หรือ (2) ข้อจำกัดทางสถิติ การศึกษาวิเคราะห์ต่างๆ มีจำนวนตัวอย่างอ้างอิงไม่มากเพียงพอ เพื่อเสริมให้ข้อมูลเกิดความสมบูรณ์กับมีความน่าจะเป็นในอัตราร้อยละที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ข้อมูลการศึกษาได้สร้างภาพความเข้าใจถึงลักษณะกายภาพของตัวอย่างประชากรดีในระดับหนึ่ง สรุปเบื้องต้นได้ คือ
ความยาวและสัดส่วนความสูง
ในกลุ่มกระดูกทารก เด็ก และวัยรุ่น ลักษณะที่วัดได้แสดงถึงพัฒนาการเจริญเติบโตของขนาดกระดูกตามช่วงวัยต่างๆ การศึกษาด้วยวิธีการวัดขนาดความยาว ความกว้าง และเส้นผ่านศูนย์กลางของก้านกระดูก (diaphyses) ตามจุดกำหนดต่างๆ สามารถใช้คำนวณค่าสมการเพื่อประเมินค่าอายุเมื่อตายของโครงกระดูกในอัตราความแม่นยำตั้งแต่ร้อยละ 65.7-91.2 โดยการวัดด้านกว้างส่วนปลายกระดูกต้นแขนให้ความแม่นยำมากที่สุดราวร้อยละ 93.3 ส่วนการวัดด้านกว้างส่วนปลายก้านกระดูกต้นขาให้ค่าความแม่นยำน้อยที่สุดราวร้อยละ 65.7
สัดส่วนความสูงในโครงกระดูกวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่
สำหรับกลุ่มโครงกระดูกผู้ใหญ่ เพศชายมีสัดส่วนความสูงตามค่าสมการไทยจีนระหว่าง 157.51 – 167.31 เซนติเมตร และมีค่าเฉลี่ยความสูงประมาณ 162.18 เซนติเมตร สูงกว่าเพศหญิงซึ่งมีค่าความสูงโดยเฉลี่ย 153.82 เซนติเมตร และมีค่าความสูงอยู่ระหว่าง 144.15 – 164.33 เซนติเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับค่าความสูงโดยเฉลี่ยของกลุ่มประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์ในไทย อย่างเช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ปีการขุดค้น พ.ศ. 2516-2517 แหล่งโบราณบ้านโคกคอน แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว และตัวอย่างประชากรไทยปัจจุบัน พบว่าตัวอย่างจากวัดโพธิ์ศรีทั้งเพศชายและหญิงสูงใกล้เคียงกับกลุ่มประชากรอื่นที่นำมาเปรียบเทียบ ทั้งหมดจัดได้เป็นความสูงระดับกลาง
รูปพรรณสัณฐานของกระดูกส่วนอื่นๆ
ลักษณะทางกายภาพจากการศึกษาค่าดรรชนี แสดงถึงลักษณะและรูปทรงของกระดูก โดยเฉลี่ยตัวอย่างเพศชายมีสัดส่วนกระดูกสันหลังช่วงเอวชิ้นที่ 1-3 บริเวณ spine นูน แต่ชิ้นที่ 4-5 ส่วน spine เว้าลง มีกระดูกกระเบนเหน็บกว้าง กระดูกไหปลาร้าหนา กระดูกต้นแขนกลม กระดูกต้นขาค่อนข้างหนา มีรูปด้านตัดของกระดูกต้นขาช่วงบนแบน ช่วงกลางก้านกระดูกค่อนข้างกลมและบาง กระดูกสะบ้าหนาและใหญ่ กระดูกหน้าแข้งหนา กับมีรูปทรงหน้าตัดตอนบนของกระดูกแคบแบบรูปสามเหลี่ยม
ส่วนเพศหญิงโดยเฉลี่ย มีค่าดรรชนีลำตัวกระดูกสันหลังช่วงเอวชิ้นที่ 1-4 นูน แต่ชิ้นที่ 5 เว้าเข้า มีลักษณะกระดูกก้นกบกว้าง กระดูกไหปลาร้าหนา กระดูกต้นแขนกลม กระดูกต้นขาหนา รูปทรงด้านตัดกระดูกต้นขาช่วงบนแบน ส่วนด้านตัดกลางก้านกระดูกต้นขากลมและบาง กระดูกหน้าแข้งหนา และมีรูปทรงด้านตัดบริเวณ nutrient foramen แคบแบบสามเหลี่ยมหรือแคบเช่นเดียวกับเพศชาย
เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างทางกายภาพจากค่าดรรชนีกระดูก ทั้งสองเพศมีรูปทรงกระดูกใกล้เคียงกัน แต่มีความแตกต่างใน 3 ประการสำคัญ คือ (1) ขนาดความกว้างและความยาวของกระดูกเชิงกรานของเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เป็นลักษณะเฉพาะทางสรีระของเพศหญิงสำหรับการคลอดบุตร (2) ความหนาของกระดูกไหปลาร้าที่มีมากกว่าเพศชายกับสัดส่วนรูปทรงด้านตัดของกระดูกต้นแขนเพศหญิงที่แคบกว่า แสดงถึงการประกอบกิจกรรมที่ต้องใช้ช่วงแขนหัวไหล่อย่างหนักและสม่ำเสมอของเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
ส่วน (3) ดรรชนีกระดูกสะบ้าของเพศชายมีขนาดกว้าง ยาว และหนากว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เป็นลักษณะพื้นฐานทางกายภาพที่ว่าเพศชายมีขนาดกระดูกใหญ่ กว้าง และหนากว่าเพศหญิงในทุกกลุ่มประชากร สอดคล้องกับผลการเปรียบเทียบข้อมูลการวัดขนาดของกระดูกระหว่างเพศหญิงและชาย ซึ่งพบว่ามีกระดูกอย่างน้อย 9 ส่วนของเพศชาย คือ กระดูกไหปลาร้า กระดูกต้นแขน กระดูกปลายแขนด้านนอก กระดูกปลายแขนด้านใน กระดูกต้นแขน กระดูกสะบ้า กระดูกหน้าแข้ง กระดูกข้อเท้า calaneus และ talus มีค่าขนาดการวัดมากกว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างทางกายภาพภายในกลุ่มเพศเดียวกันกับช่วงการเปลี่ยนผ่านทางสังคมจากสมัยต้นสู่สมัยปลาย ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏความแตกต่างอย่างใด ยกเว้นจุดกำหนดการวัดส่วนระยะห่างน้อยที่สุดบริเวณกลางก้านกระดูกต้นแขนด้านซ้ายของเพศหญิง ซึ่งเพศหญิงสมัยปลายมีค่าการวัดดังกล่าวมากกว่าเพศหญิงสมัยต้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน
ส่วนลักษณะที่วัดไม่ได้ทั้ง 23 ลักษณะ ทั้งสองเพศพบลักษณะค่อนข้างคล้ายคลึงกัน มีความแตกต่างของการปรากฏลักษณะต่างๆ ไม่ต่างกันมากนัก เพศชายและหญิงมีรูปทรง acromion ของกระดูกสะบักรูปสามเหลี่ยม มี Fovea capilis หัวกระดูกต้นขารูปสามเหลี่ยม มีกระดูกต้นขาโค้งเล็กน้อย กระดูกหน้าแข้งตรง ปรากฏลักษณะแอ่งบริเวณตอนบนของลำตัวกระดูกสะบักราวร้อยละ 89 พบลักษณะรูบนแอ่ง coranoid ของกระดูกต้นแขนราวร้อยละ 10-20 พบรอยกดหรือแอ่งกระดูกบนกระดูกสะบ้าทั้งหมด แต่พบลักษณะรอยบากหรือในส่วนผิวหน้ากระดูกสะบ้าราวร้อยละ 10-20 ทั้งเพศชายและหญิงพบลักษณะรูหลอดเลือดตรงส่วนกลางก้านกระดูกไหปลาร้าด้านหลัง ในอัตราค่อนข้างสูง กับพบลักษณะ distal tibial squatting facet ของกระดูกหน้าแข้งจากทุกตัวอย่างที่สามารถสังเกตศึกษาได้
การเปรียบเทียบพบความแตกต่างระหว่างเพศในอย่างน้อย 5 ลักษณะ คือ (1) รูปทรงกระดูกสะบักด้านใกล้กลางของเพศชายเป็นรูปตรงแต่ของเพศหญิงเป็นรูปเว้า (2) รูปทรง facet ของกระดูกข้อเท้า calcaneus ในเพศชายส่วนใหญ่เป็นรูปทรงเดี่ยวแต่เพศหญิงส่วนใหญ่มีรูปทรงแบบคู่ (3) ลักษณะ peroneal tubercle ของกระดูกหน้าแข้งซึ่งพบเฉพาะในเพศชายแต่ไม่พบในเพศหญิง (4) การปรากฏของรอยสันกระดูกต้นขา third trochanter ซึ่งพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และ (5) ลักษณะ preauricular surface กับ parturition pit ของกระดูกเชิงกรานพบเฉพาะในเพศหญิงเท่านั้น
ความแตกต่างจากการเปรียบเทียบลักษณะที่วัดไม่ได้ทั้งหมด สอดคล้องกับผลการศึกษาลักษณะที่วัดได้ทั้งหมดที่นำเสนอมา ตรงกับความรู้พื้นฐานกับข้อสมมติฐานเบื้องต้นในการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยากายภาพ 2 ประการ คือ (1) โดยปกติเพศชายมีขนาดกระดูกใหญ่ หนา และกว้างกว่าเพศหญิง ลักษณะที่วัดไม่ได้อย่าง peroneal tubercle และ third trochanter ซึ่งเป็นลักษณะที่สัมพันธ์กับสภาวะการเจริญเติบโตของกระดูกมากเกินปกติจึงมีแนวโน้มที่จะปรากฏในเพศชายมากกว่าในเพศหญิงเช่นเดียวกัน และ (2) นอกจากกะโหลกศีรษะแล้ว ส่วนกระดูกที่สามารถใช้ในการจำแนกเพศได้อย่างแม่นยำ คือ กระดูกเชิงกราน เพราะส่วนกระดูกเชิงกรานของเพศหญิงถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมาให้มีขนาดกว้างและใหญ่กว่าเพศชายเพื่อทำหน้าที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตร ค่าดรรชนีกระดูกเชิงกรานเพศหญิงจึงมีค่ามากกว่าเพศชาย นอกจากนี้ลักษณะที่วัดไมได้อย่าง preauricular surface กับ parturition pit ซึ่งสัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ยังปรากฏเฉพาะในเพศหญิงเท่านั้น ไม่พบจากตัวอย่างเพศชายในการศึกษานี้อย่างใด
เมื่อเปรียบเทียบลักษณะที่วัดไม่ได้ในกลุ่มตัวอย่างเพศชายและหญิงในสมัยวัฒนธรรมต่างกัน ไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงใด ลักษณะทางกายภาพโดยเฉพาะของส่วนกระดูกใต้กะโหลกศีรษะยังคงเดิม เป็นลักษณะต่อเนื่องจากสมัยต้นสู่สมัยปลายเหมือนกับผลการเปรียบเทียบลักษณะที่วัดได้เช่นเดียวกัน
พยาธิสภาพและร่องรอยผิดปกติ
ผลจากการศึกษาในเบื้องต้นเกี่ยวกับพยาธิสภาพสมัยโบราณ (Palaeopathology) และร่องรอยผิดปกติ ซึ่งได้แก่ บาดแผลและอาการบาดเจ็บ (Trauma and Injury) ของกลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่พบจากการขุดค้นบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน ใน พ.ศ.2546 (BC 2003_PSN) นั้น พบว่าทั้งในกะโหลกศีรษะ และฟัน ตลอดจน กระดูกโครงสร้างร่างกายส่วนล่าง ไม่ปรากฏร่องรอยของโรคที่สาหัสแต่อย่างใด โรคที่พบส่วนมากได้แก่กลุ่มอาการของโรคเหงือกและฟัน (ฟันผุและเหงือกอักเสบ) ซึ่งเป็นอาการของโรคปริทันต์ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มอาการของโรคบางชนิด โดยเฉพาะลักษณะอาการของโรคเกี่ยวกับระบบเลือดผิดปกติ ทีส่งผลกระทบต่อกระดูก ซึ่งเคยมีรายงานการปรากฏของโรคดังกล่าวในกลุ่มตัวอย่างกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง ในชุดที่พบจากการขุดค้น พ.ศ.2517-2518 รวมทั้งจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์กลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงอื่นๆ เช่น ร่องรอยของกระดูกที่เป็นรูพรุนเนื้อหยาบในส่วนกะโหลกศีรษะ หรือ ลักษณะการขยายตัวใหญ่ผิดปกติของ nutrient foramen ในกระดูกฝ่าเท้าและนิ้ว นั้น กลับไม่ปรากฏพบในกลุ่มตัวอย่างชุด BC 2003_PSN ที่นำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้แต่อย่างใด
ส่วนร่องรอยอาการบาดเจ็บและบาดแผลนั้น ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏลักษณะบาดแผลฉกรรจ์แต่อย่างใด คงมีเพียงบางตัวอย่าง เช่น กะโหลกศีรษะ เท่านั้น มีมีรู คล้ายการเจาะ ด้วยวัตถุบางอย่างที่มีความคม ซึ่งในขณะนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด ว่าร่องรอยบาดแผลที่เป็นรูในกะโหลกศีรษะที่พบนั้นเกิดจากอะไร ทั้งนี้ มีรายงานการศึกษาตัวอย่างกะโหลกศีรษะจากแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงในกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง ซึ่งได้แก่แหล่งโบราณคดีบ้านธาตุ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ว่ามีกะโหลกศีรษะที่มีรูเจาะลักษณะคล้ายกัน (แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว) โดย ศาสตรจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ผู้วิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านธาตุให้ความเห็นว่าเป็นลักษณะคล้ายการเจาะกะโหลกศีรษะเพื่อการรักษาอาการของโรคทางสมองบางอย่าง ซึ่งเทคนิคการเจาะเปิดกะโหลกศีรษะเช่นนี้ เรียกว่า การ trephining หรือ trephination ซึ่งถือเป็นการรักษาในลักษณะการผ่าตัดอย่างหนึ่ง (สุด แสงวิเชียร และ วัฒนา สุภวัน 2520) อนึ่ง กรณีกะโหลกศีรษะที่มีรูจากชุด BC_2003_PSN นี้ ประพิศ พงศ์มาส ให้ความเห็นว่าคล้ายการถูกเจาะโดยเขี้ยวสัตว์ที่มีความยาว แหลมคม
ส่วนบาดแผลอื่นๆ นั้น เท่าที่ประเมินในเบื้องต้น คงเป็นเพียงบาดแผลในช่องปากซึ่งปรากฏในลักษณะร่องรอยการยุบตัวของเนื้อกระดูกขากรรไกร ทั้งบนและล่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการหลุดร่วงของฟันก่อนที่จะเสียชีวิต (premortem tooth lost) และเนื้อกระดูกส่วนเบ้าฟันที่ฟันหลุดร่วงออกไปนั้นได้เกิดการสมานแผลเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
อย่างไรก็ดี การศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องพยาธิสภาพสมัยโบราณในคร้งนี้ เป็นการศึกษาในเบื้องต้นด้วยตาเปล่าเท่านั้น ในอนาคตอาจสามารถนำตัวอย่างกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ชุดนี้มาศึกษาเพิ่มเติมด้วยเทคนิคอื่นๆ เช่น วิธีรังสีวินิจฉัย ก็อาจช่วยให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะพยาธิสภาพ ตลอดจนร่องรอยบาดแผลและอาการบาดเจ็บ ทั้งในกะโหลกศีรษะ ฟัน และกระดูกโครงสร้างร่างกายส่วนล่างชัดเจนยิ่งขึ้น
กรกฎ บุญลพ และนฤพล หวังธงชัยเจริญ. ผลการวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี กลุ่มตัวอย่างที่พบจากการขุดค้นบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน พ.ศ. 2546 (BC 2003_PSN). กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2553.
กรมศิลปากร. รายงานเรื่องหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัดโพธิ์ศรีใน บ้านเชียง ปี พ.ศ.2535. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี, 2535.
กระทรวงวัฒนธรรม. “แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง.” ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2557. แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture3.aspx
เกสรบัว เอกศักดิ์. “การศึกษารูปแบบการฝังศพสมัยต้น จากการขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2546.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.
จุรีกมล อ่อนสุวรรณ. “บทสรุปความสำคัญของอายุลำดับชั้นวัฒนธรรมในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง.” ศิลปากร 43, 3 (2543) : 54-73.
พิสิฐ เจริญวงศ์. บ้านเชียง. กรุงเทพฯ : พิฆเนศ, 2516.
พิสิฐ เจริญวงศ์. มรดกบ้านเชียง. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป, 2530.
พิสิฐ เจริญวงศ์. “ความหมายและความสำคัญของมรดกโลก.” เอกสารประกอบการสัมมนาความรู้ความเข้าใจเรื่องมรดกโลกและบ้านเชียง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง และสถาบันราชภัฏอุดรธานี, 2549.
นฤพล หวังธงชัยเจริญ. “การศึกษาลักษณะที่วัดได้ของกระดูกใต้กะโหลกศีรษะของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.
สยาม แก้วสุวรรณ. “การศึกษาอายุของโครงกระดูกเด็กจากฟัน : กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2546.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.
สุรพล นาถะพินธุ. มรดกโลกบ้านเชียง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2550ก.
สุรพล นาถะพินธุ. รากเหง้า บรรพชนคนไทย : พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550ข.
อัตถสิทธิ์ สุขขำ. “การศึกษาและลำดับอายุจากลวดลายบนผิวภาชนะดินเผาในหลุมฝังศพกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยปลาย : กรณีศึกษาจากการขุดค้นหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
อัตถสิทธิ์ สุขขำ. “ข้อคิดเห็นใหม่ : ลำดับอายุสมัยของลวดลายเขียนสีแดงบนภาชนะในหลุมฝังศพสมัยปลาย ที่วัดโพธิ์ใน แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี.” ใน ดำรงวิชาการ : รวมบทความทางวิชาการคณะโบราณคดีปี 2549. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.
Kijngam, Amphan. The Faunal Spectrum of Ban Chiang and Its Implications for Thai Culture History. Denedin : University of Otago , 1979.
White, Joyce C. Ban Chiang : Discovery of a Lost Bronze Age. Philadelphia : University of Pennsylvania Press, 1982.
White, Joyce C. “A Revision of the Chronology of Ban Chiang and its Implications for the Prehistory of Northeast Thailand.” Ph.D. Dissertation, University of Pennsylvania, 1986.