โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : พระธาตุศรีสองรักษ์, วัดพระธาตุศรีสองรัก
ที่ตั้ง : วัดพระธาตุศรีสองรัก ม.14 บ้านนาหัวยูง ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย
ตำบล : ด่านซ้าย
อำเภอ : ด่านซ้าย
จังหวัด : เลย
พิกัด DD : 17.269996 N, 101.140683 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : หมัน
จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 203 เส้นเลย-ภูเรือ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2013 อีก 15 กิโลเมตร ถึงอำเภอด่านซ้ายจากนั้นแยกขวาเข้าเส้นทาง 2113 อีก 1 กิโลเมตร
พระธาตุศรีสองรักเป็นโบราณปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีความผูกพันกับประวัติศาสตร์ระหว่างกรุงศรีอยุธยาและอาณาจักรล้านช้าง รวมถึงศาสนาความเชื่อของทั้ง 2 อาณาจักร ปัจจุบันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยมี “เจ้าพ่อกวน” เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลองค์พระธาตุ และเป็นสื่อกลางในการประกอบพิธีกรรมติดต่อกับวิญญาณบรรพบุรุษที่สถิตอยู่ ณ พระธาตุ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน เอกรินทร์ พึ่งประชา 2548 : 56-69)
ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
คณะกรรมการวัดพระธาตุศรีสองรัก, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, กรมศิลปากร
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระธาตุศรีสองรัก 2 ครั้ง ได้แก่
1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 หน้า 3679 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
2. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม 2525 เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
ลำน้ำหมัน
ธรณีสัณฐานบริเวณวัดพระธาตุศรีสองรักเป็นหินทรายในหมวดหินเขาย่าปุก (KTky) กลุ่มหินโคราช มหายุคมีโซโซอิก
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระธาตุศรีสองรักชื่อผู้ศึกษา : ประสาร บุญประคอง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2512
วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก
ผลการศึกษา :
ประสาร บุญประคอง (2512 : 60-67) อ่านและเผยแพร่คำอ่านจารึกพระธาตุศรีสองรักในวารสารศิลปากร เรื่อง "คำอ่านศิลาจารึกอักษรไทยเหนือ ภาษาไทย ได้มาจากพระธาตุศรีสองรัก จ. เลย"ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระธาตุศรีสองรักชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
ประยูร อุลุชาฏะ หรือ น. ณ ปากน้ำ ศึกษาประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลปะของสถูปเจดีย์ในประเทศไทย รวมทั้งพระธาตุศรีสองรักชื่อผู้ศึกษา : ประสาร บุญประคอง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก
ผลการศึกษา :
ประสาร บุญประคอง (2529 : 278-285) อ่านและเผยแพร่คำอ่านจารึกพระธาตุศรีสองรัก 2ชื่อผู้ศึกษา : เทิม มีเต็ม, ก่องแก้ว วีระประจักษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เทิม มีเต็ม และก่องแก้ว วีระประจักษ์ (2529 : 289-298) ศึกษาจารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1ชื่อผู้ศึกษา : ธวัช ปุณโณทก
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก
ผลการศึกษา :
ธวัช ปุณโณทก (2530 : 434-440) อ่านจารึกพระธาตุศรีสองรัก ทั้งยังศึกษาด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสานชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมและเสริมความมั่นคงให้กับองค์พระธาตุชื่อผู้ศึกษา : องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย, กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยร่วมกับคณะกรรมการที่อำเภอด่านซ้ายได้รับการแต่งตั้งจากกรมศิลปากรให้เป็นผู้ดูแลพระธาตุ ได้ดำเนินการจัดสร้างพระอุโบสถบริเวณด้านหน้าพระธาตุขึ้นใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมชื่อผู้ศึกษา : เชิดเกียรติ กุลบุตร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
เชิดเกียรติ กุลบุตร (2533) ศึกษาสถูปล้านช้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปาศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) ต่อมหาวิทยาลัยศิลปากรชื่อผู้ศึกษา : เอกรินทร์ พึ่งประชา
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ
ผลการศึกษา :
เอกรินทร์ พึ่งประชา (2548 : 56-69) ศึกษาความเชื่อและการเปลี่ยนแปลงของความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าพ่อกวนและพระธาตุศรีสองรักชื่อผู้ศึกษา : นวพรรณ ภัทรมูล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550
วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
นวพรรณ ภัทรมูล (2550) เรียบเรียงข้อมูลจารึกพระธาตุศรีสองรัก 1 และ 2 แล้วเผยแพร่ลงในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย (ออนไลน์) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)พระธาตุศรีสองรักเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานล่างสุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 11 เมตร สูงประมาณ 32 เมตร มีกำแพงแก้วเตี้ยๆ ก่อด้วยอิฐถือปูนล้อมรอบ ลักษณะโดยรวมเป็นพระธาตุทรงดอกบัวเหลี่ยม หรือบัวแวง คือเจดีย์ที่มีส่วนของเรือนธาตุเป็นทรงดอกบัวยาว ซึ่ง สงวน บุญรอด (2526 : 92) และ น. ณ ปากน้ำ (2529 : 135-136) ได้กล่าวถึงลักษณะรูปทรงของพระธาตุศรีสองรักว่าเป็นสถาปัตยกรรมล้านช้างหรือแบบลาวแท้
ประวัติพระธาตุศรีสองรัก (ไพฑูรย์ มีกุศล 2542 : 4231-4235)
ดินแดนที่เป็นจังหวัดเลยในสมัยอยุธยา ก่อนการสร้างพระธาตุศรีสองรัก มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรล้านช้าง หรือกรุงศรีสัตนาคนหุต ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1893-1912 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้มหรือพระยางุ้มแห่งล้านช้าง กษัตริย์ผู้ครองกรุงล้านช้าง (หลวงพระบาง) ระหว่าง พ.ศ.1896-1915 พระองค์เป็นกษัตริยพระองค์แรกที่รวบรวมดินแดนลาวเข้าด้วยกันเป็นอาณาจักรล้านช้าง มีราชธานีอยู่ที่เมืองชวา (หลวงพระบาง) พระองค์ได้ทำไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 และได้มีพระราชสาส์นแบ่งดินแดนกันระหว่างสองอาณาจักร ดังหลักฐานของฝ่ายลาวมีความว่า
“เฮาหากแม่นอ้ายน้องกันมา (ตั้ง) แต่ขุนบุลม (บรม) พู้น เจ้า (หมายถึงพระเจ้าอู่ทอง) อยากได้บ้านเมืองให้เอาเขตแดนภูสามเส้า เมื่อเท้าเถิงภูพระยาฝ่อ แดนเมืองนครไทยพู้น” (อู่คำ 2510 : 90)
จากหลักฐานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ติดต่อกับเทือกเขาเพชรบูรณ์และเทือกเขาดงพญาเย็น ดังนั้นดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบัน ได้ตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าฟ้างุ้ม ซึ่งในหนังสือ Kingdom of Laos (1959) ในบทนำเขียนโดย ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) ระบุว่า ค.ศ.1358 (พ.ศ.1901) อาณาเขตกรุงล้านช้างสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม ทิศเหนือติดต่อจีน ทิศใต้ถึงสมโบร์ (Sombor) ในดินแดนเขมร ทิศตะวันออกถึงลาวเบ๋า (Loa Bao) ในเวียดนาม และทิศตะวันตกถึงโคราช (นครราชสีมา) เมื่อตีความจากข้อความดังกล่าว ดินแดนจังหวัดเลยรวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบัน (ยกเว้นนครราชสีมา) จึงขึ้นตรงต่อพระเจ้าฟ้างุ้ม ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงล้านช้างเป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเขมรด้วย เพราะก่อนหน้าพระเจ้าฟ้างุ้มขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้หนีภัยการเมืองไปอยู่ที่นครธมของเขมร และได้พระราชธิดาของกษัตริย์เขมร ในฐานะราชบุตรเขย พระเจ้าฟ้างุ้มได้รับความช่วยเหลือด้านกำลังทหารจากกษัตริย์เขมร นำทัพยกเข้ามารวบรวมกำลังในดินแดนแถบลุ่มน้ำมูล-ชี แล้วจึงไปยึดเมืองชวา (หลวงพระบาง) ได้สำเร็จ
พระเจ้าฟ้างุ้มเป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถในการรบ จึงได้ปราบปรามหัวเมืองต่างๆ มาอยู่ใต้อำนาจ เช่น เมืองเชียงขวาง เมืองผาน้ำทา เป็นต้น แล้วได้ตั้งนามเมืองหลวงเป็น “กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว” เมื่อ พ.ศ.1904
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและล้านช้างยังมีลักษณะความสัมพันธ์ทางการแต่งงานเช่นเดียวกับล้านช้างกับกรุงนครธมของเขมร กล่าวคือ ราชธิดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 คือพระนางแก้วยอดฟ้า ได้สมรสกับเจ้าสามแสนไทย โอรสของพระเจ้าฟ้างุ้ม และทรงเป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดา
จากหลักฐานการค้นคว้าของ เอ. อาร์. แมททิว (A.R. Mathieu) ในหนังสือ Kingdom of Laos (1959) ระบุว่าพระนางแก้วยอดฟ้าสิ้นพระชนม์ ค.ศ.1368 (พ.ศ.1911) และในปีต่อมา คือ พ.ศ.1912 เป็นปีที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพไปตีนครธม แต่ตามหลักฐานพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกไว้ว่า “ขอมแปรพักตร์” ในปี พ.ศ.1895 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปตีเขมรแตกในเดียวกัน
นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเขมร คือ โอ.ดับบลิว โวลเตอร์ (O.W. Wolters) ได้เขียนบทความในวารสาร Asia Major ออกในสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2509 ว่ากรุงศรีอยุธยาตีนครธมได้ใน พ.ศ.1912 ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลที่มีน้ำหนักมากกว่าพระราชพงศาวดาร เพราะก่อนหน้านี้เพียงปีเดียว พระนางแก้วยอดฟ้าได้สิ้นพระชนม์ที่หลวงพระบาง เหตุการณ์นี้จึงอาจเป็นไปได้ว่า เมื่อพระนางแก้วยอดฟ้าสิ้นพระชนม์ที่ลาวแล้ว เขมรได้ถือโอกาสกระชับไมตรีกับล้านช้างและสุโขทัย จนเป็นเหตุให้กษัตริย์อยุธยาไม่ไว้วางใจเขมร ดังที่พระราชพงศาวดารกล่าวว่า “ขอมแปรพักตร์” จึงโปรดเกล้าฯ ให้นกกองทัพไปตีเขมร และได้เขมรเป็นประเทศราชใน พ.ศ.1912 จึงเป็นสาเหตุให้กษัตริย์องค์ต่อๆมา ยกกองทัพไปตีเขมรเมื่อเขมรแข็งเมือง และถือเป็นเหตุผลอันชอบธรรมในการครอบครองเขมรเรื่อยมาจนเสียเขมรให้กับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เหตุการณ์ทางอยุธยาที่พาดพิงถึงดินแดนทางตะวันออกและลาวไม่มีการกล่าวถึง จนกระทั่งถึงรัชกาลพระเจ้าไชยจักรพรรดิผ่านแผ้ว ผู้ครองหลวงพระบางใน พ.ศ.1983 กองทัพญวนได้ยกทัพมาตีเมืองพวนเชียงขวางและหลวงพระบาง กองทัพลาวต้านทานทัพญวนไม่ไหว จึงยกกำลังข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงคาน และโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสคือท้าวแท่นคำยกกำลังออกไปสู้รบกับญวนจนได้รับชัยชนะ
ส่วนพระเจ้าไชยจักรพรรดิผ่านแผ้วทรงประทับอยู่ที่เมืองเชียงคานจนถึง พ.ศ.2020 และสิ้นพระชนม์ที่นั่น ท้าวแท่นคำได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากรพะราชบิดา ทรงพระนามว่า พระเจ้าสุวรรณบัลลังก์ เมื่อจัดถวายพระบรมศพที่วัดศพเชียงคานแล้ว ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์แห่งชัยชนะ (ญวน) ขึ้นเรียกว่า “ธาตุชนะสงคราม” ปัจจุบันอยู่ที่เมืองสนะคาม (ตรงข้ามฝั่งโขงกับอำเภอเชียงคาน) ประเทศลาว ประชาชนในเมืองด่านซ้ายและเมืองเชียงคานในสมัยอยุธยาตอนต้นจึงมีวัฒนธรรม (เช่นสำเนียงภาษา) ผูกพันกับอาณาจักรล้านช้าง (หลวงพระบาง) มากกว่ากรุงศรีอยุธยา เพราะอยู่ใกล้กว่า การคมนาคมสะดวกกว่า และมีวัฒนธรรมทางภาษาคล้ายคลึงกันมากกว่าทางกรุงศรีอยุธยา
ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ.2091-2111) พม่าได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง พระองค์ได้ทรงขอกองทัพจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ.2091-2114) กษัตริย์ล้านช้าง (หลวงพระยาง) และได้มีการทำสัญญาพันธมิตรกันใน พ.ศ.2103 ระหว่างพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทั้งสองฝ่ายได้สร้างพระธาตุศรีสองรัก (ธาตุสีสองรัก) ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในปัจจุบัน เพื่อเป็นสักขีพยานในการเป็นมิตรไมตรีต่อกัน
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราขได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองชวามาที่เวียงจันทน์ แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองชวาเป็นเมืองหลวงพระบาง ในด้านพระศาสนาได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระแก้ว พระธาตุหลวง พระธาตุศรีสองรัก วัดองค์ตื้อ และบูรณะพระธาตุพนม พระองค์จึงได้นามตามจารึกที่พบที่พระธาตุศรีสองรักว่า “พระยาธรรมิกราช”
ในสมัยพระสุริยวงศา (พ.ศ.2180-2236) กษัตริย์เวียงจันทน์มีหลักฐานกล่าวถึงเจ้าปางคำผู้ครองนครหนองบัวลำภู (อำเภอเมืองหนองบัวลำภู) ได้แต่งวรรณกรรมเรื่องสังศิลป์ไชย (ท้าวศิลป์ไชย) ซึ่เป็เนวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานที่เป็นที่นิยมของประชาชนมากที่สุดเรื่องหนึ่งในปัจจุบัน ในรัชกาลพระสุริยวงศาได้ทำไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2213 ตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) แต่หลักฐานฝ่ายไทยไม่ได้กล่าวถึง ในสมัยพระสุริยวงศา ได้ขยายอาณาเขตกว้างขวางไปจรดแม่น้ำดำในดินแดนเวียดนามเหนือ ส่วนดินแดนที่ติดต่อกับอาณาจักรอยุธยานั้น คงจรดแดนเมืองนครราชสีมาเหมือนสมัยอยุธยาตอนต้น เนื่องจากในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ องค์ทรงตั้งขุนนางจากกรุงศรีอยุธยา คือพระยายมราช มาเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา
อาณาเขตของเวียงจันทน์สมัยพระสุริยวงศาจึงครอบคลุมมาถึงพื้นที่จังหวัดเลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ส่วนดินแดนตอนกลางของอีสานยังเป็นป่าอยู่ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อพระเจ้าสุริยวงศาสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2237 แล้ว ลาวเกิดความวุ่นวายและแก่งแย่งกันระหว่างราชวงศ์และขุนนางลาว ซึ่งมีญวนเป็นผู้ยุยง ในที่สุด พ.ศ.2250 ลาวได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ต่อมา พ.ศ.2256 อาณาเขตของเวียงจันทน์ทางตอนใต้ได้ถูกแบ่งโดยเจ้าหน่อกษัตริย์ (พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร) ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่นครจำปาศักดิ์แยกจากเวียงจันทน์ ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ได้ตั้งให้เจ้าแก้ว (จารย์แก้ว) มาเป็นเจ้าเมืองตั้งอยู่ที่เมืองท่ง (ทุ่ง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) แสดงว่าก่อนหน้านั้นบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล-ชีตอนกลางยังไม่มีเมืองเกิดขึ้น นอกจากเมืองโบราณที่ร้างไปตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 18 เช่น เมืองนครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
ในเวลาต่อมาเมืองบริเวณลลุ่มแม่น้ำมูล-ชีตอนกลางส่วนใหญ่ตั้งโดยลูกหลานจารย์แก้วมากกว่า 15 เมือง เช่น เมืองสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น เกษตรวิสัย มหาสารคาม ชนบท ฯลฯ
ส่วนเมืองในพื้นที่จังหวัดเลยสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการตั้งเมืองขึ้นใหม่แต่อย่างใด คงมีเมืองเดิมเพียง 2 เมืองที่กล่าวมาแล้ว คือ เมืองเชียงคานและเมืองด่านซ้าย โดยเฉพาะเมืองด่านซ้ายเป็นเมืองเขตแดนระหว่างอาณาจักรอยุธยากับอาณาจักรล้านช้าง (ศรีสัตนาคนหุต) ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ได้กระทำสัตยาบันและทำสัญญากัน แล้วสร้างพระธาตุศรีสองรักเป็นหลักด่านกั้นเขตแดนของ 2 อาณาจักรในสมัยนั้น
ความสำคัญของพระราชพิธีกรรม
พระธาตุศรีสองรัก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอด่านซ้ายประมาณ 1 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดเลยประมาณ 83 กิโลเมตร เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 11 เมตร สูง 32 เมตร ตั้งอยู่ริมน้ำหมัน สร้างระหว่าง พ.ศ.2103-2106 ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธญา และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) โดยยึดถือความเชื่อของพุทธศาสนาเป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่าง 2 พระนคร และทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ยึดมั่นในพุทธศาสนา และเชื่อว่าพุทธศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายสามารถควบคุมหรือทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและเวียงจันทน์เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน ซึ่งจะเห็นความสำคัญของพระธาตุศรีสองรักได้จากพระราชพิธีกรรมที่กระทำกันทั้ง 2 ฝ่าย ดังนี้
กรุงศรีอยุธยา
หัวหน้าฝ่ายศาสนจักร คือ พระศีลวิสุทธอุดม เป็นประธานสงฆ์
หัวหน้าฝ่ายอาราจักร คือ หลวงราชามหาอำมาตย์
กรุงศรีสัตนคนหุต
หัวหน้าฝ่ายศาสนจักร คือ พระมหาอุบาลี เป็นประธาน
หังหน้าฝ่ายอาณาจักร คือ องค์จันทประสิทธิราชภักดี
การกระทำพระราชพิธีมีขั้นตอน
ขั้นที่ 1 พระสงฆ์และพระมหาอำมาตย์เอาน้ำสัจจะในกระออมแก้วของพระมหากษัตริย์ทั้งสองเจือปนกับน้ำในกระออมทองแห่งพระมหากษัตริย์ทั้งสองเจือปนกัน น้ำในกระออมแก้วของพระมหาอุปราชทั้งสองเจือปนกัน และน้ำในกระออมเงินแห่งมหาอุปราชเจือปนกันเป็นอันเดียวกัน แล้วอ่านคำสัตยาธิษฐาน
ขั้นที่ 2 อำมาตย์อ่านสัตยาธิษฐานให้เห็นความสำคัฯของพระราชไมตรีที่มีมาแต่โบราณ เพื่อประโยชน์แก่สมณชีพราหมณ์ ชาวประชาราษฎร์ทั้งหลายตราบชั่วนิรันดร ดังนี้
“สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้ากรุงศรีสัตนาค สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้ากรุงศรีอโยธิยามหาดิลกจึงมีพระรวงศาสองพระองค์ จิงจากันทางให้เป็นพระราชไมตรีโดย บุพประเวณีเพื่อจะสืบเชื้อคือสุริยวงศาและญาติวงศา พันธุนิมิตอุษารมณ์ เพื่อจักให้เป็นบรมสุขสุขสวัสดี เป็นประโยชน์แก่สมณพราหมณาจาริย์เจ้า ชาวประชาราษฎร์ทั้งหลายตราบต่อเท่าถ้วนกัปป์อันนี้ เป็นเค้าเป็นประธานสารคดีในมหาปัตถพิคีริต (คีรี) ในห้อมห้วยภูเจ้ารองศีลวรณ์ ขอจงเป็นเอกสีมาปริมณฑลอันเดียกวันเกลี้ยงกลมงามมณฑลเท่าพงษ์พันธุ์ลูกเต้าหลานเหลน อย่าได้ช่วงชิงล่วงแดนแสนหญ้าอย่าได้กระทำโลภเลี้ยวแก่กันจนเท่าเสี้ยงพระอาทิตย์ พระเจ้าเจ้าตกลงมาอยู่เหนือแผ่นดิน อันนี้เทอญ”
ขั้นที่ 3 เมื่ออ่านคำสัตยาธิษฐานแล้ว พระสงฆ์และอำมาตย์ทั้ง 2 ฝ่ายก็หลั่งน้ำสัจจะลงบนพื้นปฐพี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญหลายประการ คือ
1. คำสัตยาธิษฐานนี้แสดงถึงความสำคัญของเขตแดนระหว่างกัน โดยมีพระธาตุเจดีย์ศรีสองรักเป็นหลักกั้นเขตแดนระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีสัตนาคนหุต ซึ่งอยู่ระหว่างกลางแม่น้ำน่านกับแม่น้ำโขง
2. คำสัตยาธิษฐานนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็น “ไมตรีธรรม” ที่แนบแน่นระหว่าง 2 พระนคร “ตลอดไปจนเท่าเสี้ยงพระอาทิตย์พระจันทร์เจ้า ตกลงมาอยู่เหนือแผ่นดิน...นี้...”
3. คำสัตยาธิษฐานนี้ได้ระบุให้ทั้ง 2 ฝ่ายซื่อสัตย์ต่อกันไม่กระทำการเป็นศัตรูต่อกัน “อย่าได้ช่วงชิงล่วงแดนแสนหญ้า อย่าได้กระทำโลภเลี้ยวแก่กัน” ซึ่ฝให้แต่ละฝ่ายได้ยึดถือเขตแดนของกันและกันเป็นสำคัญ เช่น ในการแสวงหาประโยชน์ในการเก็ยส่วนสาอากรไม่เก็บข้ามแดนกัน เป็นต้น
4. คำสัตยาธิษฐานนี้แสดงให้เห็นถึงฐานะของพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ พระเจ้าไชยเชษฐาแห่งเวียงจันทน์ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ที่ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างสูงยิ่ง ดังที่จารึกกล่าวว่าเป็น “พระยาธรรมมิกราช” ส่วนฐานะของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้รับยกย่องว่าเป็น “พระมหากษัตริย์เอก” ที่ “พระมหาจักรวรรดิตถวรราชาธิราช...” ซึ่งได้รับเกียรติอย่างสูงจากทั้ง 2 ฝ่ายโดยเท่าเทียมกัน
5. การทำสัตยาบัน ณ ริมแม่น้ำหมันในครั้งนั้น เป็นการรวมกำลังคนทั้ง 2 ฝ่าย นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระมหาอุปราช พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ประชาราษฎร์ และเจ้าเมืองทั้งหลายเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะเมื่อเสร็จพระราชพิธีกรรมนี้แล้ว กำลังคนส่วนหนึ่งจะต้องทำการถากถางบริเวณที่จะสร้างพระเจดีย์ ตลอดจนที่พักของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปีจึงแล้วเสร็จ
การสร้างเจดีย์เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งนี้เรียกว่า “อุททิศเจดีย์” หรือ “อุเทสิกเจดีย์” ดังข้อความในสัจจาธิษฐานของจารึกพระธาตุศรีสองรัก พระธาตุนี้จึงเป็นทั้งสถานที่ศักดิทธิ์ และเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณบรรพบุรุษของทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีส่วนร่วมในการสร้างพระเจดีย์ ตามคติความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษ (Ancestor worship) และนับถือลัทธิผีวิญญาณ (Animism) ผสมผสานกันตามความเชื่อแบบพุทธศาสนาที่ชาวบ้านนับถือ (Popular Buddhism) มาจนกระทั่งทุกวันนี้ หรืออาจกล่าวอย่างกว้างๆ ได้ว่า ในทุกๆวัฒนธรรมความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนาจะมีประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือพิธีกรรมสำคัญที่ผู้เชื่อถือจะกระทำด้วยความตั้งใจจริงอันที่จะสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับอำนาจลึกลับหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ
พระราชพิธีกรรมที่อำเภอด่านซ้ายในอดีต จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพุทธศาสนาที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ยึดถือเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งถือว่าผู้ปกครองได้รับอำนาจอันชอบธรรมนี้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงภูมิธรรม ที่จะทำให้ไมตรีระหว่างอยุธยากับเวียงจันทน์ยั่งยืนนาน และยังความเจริญรุ่งเรืองของ 2 อาณาจักรสืบไป
ประวัติศาสตร์ชของพระธาตุศรีสองรักนี้ จึงเป็นสักขีพยานแห่งความสัมพันธ์กันอย่างดียิ่งตลอดสมัยอยุธยา ข้อเท็จจริงนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อสิ้นสมัยอยุธยาแล้ว ความบาดหมางได้เกิดขึ้นและสงครามระหว่างไทยกับลาวในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ คือขบถเจ้าอนุวงศ์ ทำให้ประชาชนของดินแดนทั้ง 2 ฝ่าย ล้มตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นพระธาตุศรีสองรักจึงเป็นทั้งปูชนียสถานและโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดเลย
รูปทรงสัณฐานของพระธาตุศรีสองรัก (เชิดเกียรติ กุลบุตร 2533; สุทัศน์พงษ์ กุลบุตร 2542 : 4235-4237)
ชั้นฐานล่างสุด
เป็นฐานเขียงชั้นเดียวอยู่ภายในกรอบผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนฐานเขียงไม่มีลวดลายประดับ ซ้อนด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมและเส้นลวด ในส่วนของการย่อมุมนั้นคือทำมุมทั้งสี่แตกออกเป็นมุมใหญ่ ในแต่ละมุมแตกออกเป็น 3 มุมย่อย เมื่อรวมทั้งหมดเป็นมุมย่อยทั้ง 12 มุม ส่วนเส้นลวดนั้นคือการทำเป้นแนวเส้นนูนเส้นเล็กๆ คั่นล้อมในแต่ละชั้นอยู่โดยรอบ ต่อด้วยบัวคว่ำเส้นลวด คือการทำเป็นโค้งลวดในแนวนอนคว่ำ แล้วซ้อนด้วยชั้นเส้นหวายผ่าซีกขนาดใหญ่ ชั้นเส้นหวายผ่าซีกนี้คือ ส่วนของชั้นหน้ากระดานตัดเป็นวงโค้งนูนออกต่อด้วยเส้นลวด ที่บริเวณหน้ากระดานมีกาบเป็นรูปกลีบบัวเล็กๆ ที่มุม ซึ่งส่วนที่ทำเป็นรูปกลีบบัวประดับมุมนี้ในปัจจุบันทาด้วยสีทอง ถัดจากส่วนนี้ขึ้นไปทำเป็นชุดฐานบัวที่ประกอบด้วยบัวคว่ำซ้อนกัน 2 ชั้น คั่นกลางด้วยเส้นลวด มีพื้นที่ส่งเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมแนวนอนที่เรียกว่า ท้องไม้ คั่นอยู่ระหว่างบัวคว่ำที่กลางท้องไม้ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ซึ่งทำเป็นสันนูนขึ้นไว้ เหนือส่วนที่เป็นท้องไม้ขึ้นไปทำเป็นบัวหงายซ้อนกัน 2 ชั้น เพื่อให้รับกันส่วนล่างที่ทำเป็นบัวคว่ำ ถัดจากชั้นบัวหงายทำเป็นบัวคว่ำลาดเชื่อมกับส่วนบัวหงายซ้อนกัน 2 ชั้น คั่นกลางด้วยเส้นลวดและหน้ากระดานรองรับปากองค์ระฆัง
ส่วนองค์ระฆัง
องค์ระฆังมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสรับกับส่วนฐาน ที่มุมทั้งสองปากองค์ระฆังมีกาบรูปกระหนกขมวดเป็นวงก้นหอย และบากลายสามหยัก ลายกระหนกทั้งหมดนี้ในปัจจุบันทาด้วยสีทอง องค์ระฆังมีลักษณะคล้ายทรงดอกบัวตูม แต่อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส บางครั้งจึงเรียกว่า “ทรงดอกบัวสี่เหลี่ยม” ผายออกตอนล่าง และเรียวรวบเข้าหากันในส่วนบน แล้วตวัดมุมบนงอนขึ้นเล็กน้อย
ส่วนยอด
ส่วนยอดทำเป็นลูกแก้วอกไก่ให้เป็นสันนูนประดับกลางท้องไม้ที่ทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ต่อด้วยส่วนรองรับปลีที่มีลักษณะม้วนหัวเป็นลักษณะตัวเหงาหันหน้าเข้าด้านในทั้งสี่มุม ถัดจากส่วนนี้ขึ้นไปเป็นปลียอดเรียวแหลมในผังกลมเฉพาะส่วนฐานต่อกับผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสและฉัตร แล้วจึงเป็นเม็ดน้ำค้างที่ทำเป็นรูปทรงกลมอยู่ปลายยอดสุด
โบราณวัตถุสำคัญภายในวัด
ภายในสิมของวัดประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก 1 องค์ (นาค 7 เศียร) หน้าตักกว้างประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 1.50 เมตร กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่กับพระธาตุศรีสองรักมาโดยตลอด อายุกว่า 400 กว่าปี หรือสร้างหลังจากสร้างพระธาตุเสร็จไม่นาน
ยุคสมัย (สุทัศน์พงษ์ กุลบุตร 2542 : 4236)
ศิลาจารึกที่กล่าวถึงประวัติการสร้างพระธาตุศรีสองรัก ระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2103-2106 (ธวัช ปุณโณทก 2530ข : 434)
เชิดเกียรติ กุลบุตร (2533 : 39-40, 97) กล่าวถึงพระธาตุศรีสองรักว่า เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะรูปแบบของเจดีย์ล้านช้าง หรือแบบลาวที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งนิยมสร้างในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 22 อันเป็นช่วงเวลาที่ช่างผู้สร้างนิยมใช้ระเบียบการประดับส่วนฐานองค์ระฆังและส่วนยอดให้มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปะล้างช้าง สถูปเจดีย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่มีอายุร่วมสมัยและมีลักษณะรูปแบบที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพระธาตุศรีสองรักยังมีอีกหลายองค์ เช่น พระธาตุวัดสาวสุวรรณ ต.เวียงคุก อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย พระธาตุน้อยโพนบก ต.ธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี พระธาตุขามแก่น ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
จากสภาพขององค์พระธาตุศรีสองรักที่ปรากฏในปัจจุบันมีร่องรอยแสดงให้เห็นว่า เจดีย์องค์นี้คงเคยได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะการบูรณะส่วนยอดบนสุดและส่วนขององค์เจีดย์ที่ได้ใช้ปูนขาวมาทาทับไว้ ส่วนการบูรณะที่ได้กระทำผ่านมาในระยะเวลาอันใกล้นี้คือการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2532 โดยกรมศิลปากรได้มาซ่อมแซมและเสริมความมั่นคงให้กับองค์พระธาตุ และ พ.ศ.2533 องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยร่วมกับคณะกรรมการที่อำเภอด่านซ้ายได้รับการแต่งตั้งจากกรมศิลปากรให้เป็นผู้ดูแลพระธาตุ ได้ดำเนินการจัดสร้างพระอุโบสถบริเวณด้านหน้าพระธาตุขึ้นใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม
ความสำคัญ (สุทัศน์พงษ์ กุลบุตร 2542 : 4236-4237)
พระธาตุศรีสองรักนอกจากจะมีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักฐานทางประวัดติศาสตร์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวหรือล้านช้างในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยากับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างแล้ว พระธาตุศรีสองรักยังมีความสำคัญต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดีอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะรูปแบบของพระธาตุศรีสองรักได้แสดงถึงเอกลักษณ์ อันเป็นลักษณะเฉพาะของสถูปเจดีย์แบบล้านข้างหรือลาว ที่ปรากฏอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
จากลักษณะเฉพาะดังกล่าวนี้เอง ประกอบกับหลักฐานด้านจารึกที่ระบุปีที่สร้าง จึงสามารถใช้พระธาตุศรีสองรักเป็นหลักในการศึกษาเปรียบเทียบและกำหนดอายุสถาปัตยกรรมประเภทสถูปเจดีย์องค์อื่นๆ ที่แสดงถึงอิทธิพลทางศิลปกรรมแบบล้านช้างที่พบในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง
หากนำหลักการตามคตินิยมในพุทธศาสนาเรื่องเจดีย์ 4 ประเภทนั้น พบว่าพระธาตุศรีสองรักเป็นเจดีย์ประเภทอุเทสิกะเจดีย์ ด้วยหมายให้เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นพุทะบูช่ กับยังมีนัยแทนองค์พระพุทธเจ้าที่เป็นสัญลักษณ์ว่าสมมติประธานในการทำสัตยาธิษฐานปักปันเขตแดนระหว่าง 2 อาณาจักร ดังมีรายละเอียดระบุในจารึกที่พระธาตุศรีสองรัก บรรทัดที่ 30 ก็เรียกว่า “อุทิศเจดีย์” ประกอบกับการที่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณพระธาตุก็ให้ความเคารพศรัทธาต่อองค์เจดีย์มาโดยตลอด และเชื่อว่ามีดวงวิญญาณบรรพบุรุษของทั้งฝ่ายไทยและล้านช้างที่ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุสิงสถิตอยู่ ณ พระธาตุศรีสองรัก
จารึกที่เกี่ยวข้อง
จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1, จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 2
กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 อักษรธรรม และอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ 19-24. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529.
กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร เล่ม 1 พ.ศ.2478-2523. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533.
เชิดเกียรติ กุลบุตร. “สถูปล้านช้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปาศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.
เทิม มีเต็ม และก่องแก้ว วีระประจักษ์. “จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 1.” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 : อักษรธรรมและอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ 19 – 24. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 289 - 298.
ธวัช ปุณโณทก. “ความเชื่อพื้นบ้านอันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในสังคมอีสาน.” ใน วัฒนธรรมพื้นบ้านคติความเชื่อ. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530ก.
ธวัช ปุณโณทก. "จารึกพระธาตุศรีสองรัก." ใน ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย - ลาว : ศึกษาทางด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, 2530ข : 434 - 440.
นวพรรณ ภัทรมูล. “จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ๑.” ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย (ออนไลน์), 2550. เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2557. แหล่งที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=2433
นวพรรณ ภัทรมูล. “จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก ๒.” ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย (ออนไลน์), 2550. เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2557. แหล่งที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=2431
น. ณ ปากน้ำ. ความเป็นมาของสถูปเจดีย์ในสยามประเทศ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2529.
ประสาร บุญประคอง. "คำอ่านศิลาจารึกอักษรไทยเหนือ ภาษาไทย ได้มาจากพระธาตุศรีสองรัก จ. เลย." ศิลปากร 13, 1 (พฤษภาคม 2512) : 60 - 67.
ประสาร บุญประคอง. "จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก 2." ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 5 : อักษรธรรมและอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ 19 – 24. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 278 - 285.
ไพฑูรย์ มีกุศล. “ศรีสองรัก, พระธาตุ : ประวัติ” สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 : 4231-4235.
ฝ่ายวิชาการ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. 53 พระมหากษัตริย์ไทย : ธ ทรงครองใจไทยทั้งชาติ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2543.
สิลา วีระวงส์ (เรียบเรียง) และสมหมาย เปรมจิตต์ (แปล). ประวัติศาสตร์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2540 : 84 – 106.
สงวน บุญรอด. พุทธศิลปลาว. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2526.
สุทัศน์พงษ์ กุลบุตร. “ศรีสองรัก, พระธาตุ : ศิลปกรรม” สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 : 4235-4237.
หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดเลย. สภาพแวดล้อมศิลปกรรม จังหวัดเลย. เลย : เลยรุ่งแสงธุรกิจการพิมพ์, 2533.
เอกรินทร์ พึ่งประชา. “เจ้าพ่อกวนและพระธาตุศรีสองรัก การลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ โดยทุนนิยมและรัฐ.” เมืองโบราณ 31, 2 (เมษายน-มิถุนายน 2548) : 56-69.