ถ้ำพระโพธิสัตว์


โพสต์เมื่อ 8 ต.ค. 2021

ชื่ออื่น : ถ้ำเขาน้ำพุ, ถ้ำพระงาม, ถ้ำโพธิสัตว์

ที่ตั้ง : ม.10 เทศบาลเมืองทับกวาง

ตำบล : ทับกวาง

อำเภอ : แก่งคอย

จังหวัด : สระบุรี

พิกัด DD : 14.575366 N, 101.145448 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยมวกเหล็ก

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากแยกมิตรภาพ ตัวเมืองสระบุรี ใช้ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) มุ่งหน้านครราชสีมา ประมาณ 20.1 กิโลเมตร จะพบถนนเข้าสู่วัดถ้ำโพธิสัตว์ทางขวามือ ติดกับสวนมิ่งคล ต้องกลับรถเพื่อเข้ายังถนนเส้นนี้ ไปตามถนนประมาณ 2 กิโลเมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนอีกประมาณ 9.3 กิโลเมตร ถึงวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ แล้วเดินขึ้นบันไดจึงถึงปากทางเข้าถ้ำ (บันไดประมาณ 257 ขั้น)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

บริเวณวัดถ้ำพระโพธิสัตว์มีถ้ำหินที่สวยงามหลายถ้ำ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น ถ้ำพระโพธิสัตว์ ถ้ำพระธรรมทัศน์ ถ้ำลุมพินีสวนหิน และถ้ำสงัดเจดีย์ ทางวัดและท้องถิ่นได้จัดทำบันไดขึ้นสู่ถ้ำต่างๆ นักท่องเที่ยวสามารถเดินเยี่ยมชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามถ้ำต่างๆ ได้อย่างสะดวก

นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในถ้ำพระโพธิสัตว์คือภาพสลักนูนต่ำสมัยทวารวดีที่ยังคงอยู่ในสภาพดีและมีคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี วิชาการ และการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีทัศนียภาพที่สวยงามเนื่องจากบริเวณวัดล้อมรอบไปด้วยภูเขาถึง 3 ด้าน ส่วนหนึ่งของวัดตั้งอยู่บนเนินและไหล่เขา เต็มไปด้วยป่าไม้ สามารถเดินชมชมทัศนียภาพได้โดยการขึ้นไปยืนที่หน้าถ้ำพระโพธิสัตว์ หรือขึ้นไปบนหอระฆัง

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดพระโพธิสัตว์

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 29 วันที่ 6 เมษายน 2508 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน (ถ้ำเขาน้ำพุ (ถ้ำพระโพธิสัตว์))

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา

สภาพทั่วไป

ถ้ำพระโพธิสัตว์เป็นถ้ำบนภูเขาหินปูน เรียกกันว่า “เขาน้ำพุ” หรือ “เขาน้ำตก” วางตัวอยู่ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในเขตวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ (ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2522 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2528)

ถ้ำพระโพธิสัตว์ อยู่สูงจากพื้นดินด้านล่างประมาณ 60 เมตร ปากทางเข้าถ้ำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำป่าสักมาทางทิศตะวันออกประมาณ 14.5 กิโลเมตร ห่างจากห้วยมวกเหล็กมาทางทิศตะวันตกประมาณ 6 กิโลเมตร

ถ้ำพระโพธิสัตว์ประกอบด้วยคูหาใหญ่น้อย 6 คูหา คูหาที่มีภาพสลักบนผนังเป็นคูหาติดปากทางเข้า และเป็นคูหาที่มีแสงสว่างส่องถึงมากที่สุด มีขนาดยาว 22.5 เมตร กว้าง 19 เมตร (คูหาอื่นมีขนาด 13.9x11 เมตร, 8.5x32 เมตร, 12.6x24.5 เมตร, 18.6x11.6 เมตร และ 8x4.7 เมตร ตามลำดับ) (อมรา ศรีสุชาติ 2534 : 32)

คูหาติดปากทางเข้าหรือคูหาแรกซึ่งมีภาพสลักบนผนังที่กลางคูหา มีเจดีย์ขนาดเล็กทาด้วยสีทองและปิดทองตั้งอยู่บนฐานโบกปูน ปูด้วยกระเบื้อง เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยปัจจุบัน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

150 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำป่าสัก, ห้วยมวกเหล็ก

สภาพธรณีวิทยา

ถ้ำพระโพธิสัตว์ตั้งอยู่บนเขาหินปูนในหมวดหินซับบอน กลุ่มหินสระบุรี ยุคเพอร์เมียน เป็นภูเขาที่อยู่ใกล้ชิดหรือต่อเนื่องมาจากเขาใหญ่หรือแนวเทือกเขาดงพญาเย็น

กลุ่มหินสระบุรีพบกระจายตัวเป็นแนวยาวทางด้านตะวันออกของจังหวัดสระบุรี ต่อเนื่องจากเขาใหญ่ เทือกเขาพนมดงรัก ขนานกับแนวขอบที่ราบสูงโคราช และพบกระจายตัวเป็นเขาโดดบริเวณด้านตะวันออกและใต้ของจังหวัดสระบุรี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยหิน?

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 11-14 (ดูรายละเอียดในหัวข้อสาระสำคัญทางโบราณคดี)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ทำผังบริเวณ สำนักสงฆ์ถ้ำพระโพธิสัตว์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ถ้ำพระโพธิสัตว์เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ถ้ำพระงาม” หรือ “ถ้ำเขาน้ำพุ” ประกอบด้วยคูหาใหญ่น้อย 6 คูหา คูหาที่มีภาพสลักบนผนังเป็นคูหาติดปากทางเข้า และเป็นคูหาที่มีแสงสว่างส่องถึงมากที่สุด มีขนาดยาว 22.5 เมตร กว้าง 19 เมตร (คูหาอื่นมีขนาด 13.9x11 เมตร, 8.5x32 เมตร, 12.6x24.5 เมตร, 18.6x11.6 เมตร และ 8x4.7 เมตร ตามลำดับ) (อมรา ศรีสุชาติ 2534 : 32)

คูหาติดปากทางเข้าหรือคูหาแรกซึ่งมีภาพสลักบนผนังที่กลางคูหา มีเจดีย์ปิดทองตั้งอยู่บนฐานโบกปูน ปูด้วยกระเบื้อง เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยปัจจุบัน

จากข้อมูลของกรมศิลปากร (มปป.) ระบุว่าแรกพบถ้ำนี้ มีผู้พบเครื่องมือหินอยู่ภายในถ้ำ แสดงให้เห็นว่ามีคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์และอาจต่อเนื่องไปจนถึงยุคต้นประวัติศาสตร์คือสมัยทวารวดี ดังปรากฏภาพสลักนูนต่ำรูปพระพุทธเจ้าและเทพเจ้าที่ผนังถ้ำ นอกจากนี้ยังปรากฏโบราณวัตถุอื่นๆ อยู่ภายในถ้ำ เช่น พระพุทธรูปรักปิดทอง เศษฐานพระพุทธรูปหินทราย

หลักฐานที่สำคัญที่สุดภายในถ้ำคือภาพสลักนูนต่ำที่ผนังด้านเหนือของคูหาแรก อยู่สูงจากพื้นถ้ำ 3.27-5.35 เมตร ขอบเขตของภาพ 3.3 x 2.08 เมตร (อมรา ศรีสุชาติ 2534)

ภาพประกอบด้วยภาพบุคคล 6 ภาพในท่าทางต่างๆ กัน จากท่าทางต่างๆ ของบุคคลในภาพประกอบกับเครื่องแต่งกายและสิ่งประกอบอื่นๆ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นภาพสลักเล่าเรื่องตอนพระพุทธเจ้าแสดงธรรม เหล่าเทพยดามาเฝ้าแหนสดับพระธรรม มีเทพเจ้าสำคัญของศาสนาฮินดูปรากฏพระองค์ในเหตุการณ์นี้อยู่ด้วย

ภาพบุคคลทั้ง 6 เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา (ของผู้ดู) ประกอบด้วย (อมรา ศรีสุชาติ 2534 : 30-35)

ภาพที่ 1 ขนาดสูง 1.42 เมตร เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งห้อยพระบาทแบบยุโรปเหนือบัลลังก์ภัทรสิงห์ พระบาททั้ง 2 ข้างวางอยู่บนดอกบัว ทรงครองผ้าห่มเฉียงแนบพระองค์ มองเห็นชายสบงจีบเป็นริ้วอยู่ด้านหน้า พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายจับชายผ้าหรือชายจีวร พระหัตถ์ขวาจีบนิ้วแบบท่าที่เรียกว่า วิตรรกะมุทรา ซึ่งเป็นปางแสดงธรรมจักรเทศนา พระพักตร์รูปไข่ พระกรรณยาว พระอุษณีษะนูนเล็กน้อย ประภาวลีเป็นวงกลมรอบพระเศียรชั้นหนึ่งซ้อนอยู่ในประภาวลีใหญ่รอบพระวรกาย ซึ่งเชื่อมต่อกับประภาวลีของเทพอีก 2 องค์ที่อยู่ถัดไป

ภาพที่ 2 ขนาดสูง 1.07 เมตร เป็นภาพเทพเจ้าประทับนั่งอยู่ลอยๆ ในท่าลำลอง (ลลิตาสนะ) ห้อยพระบาทขวา มีผ้าห้อยหน้าเป็นแถบยาว 2 แฉก มีพวงประคำหรือพวงมาลัยห้อยอยู่ที่พระหัตถ์ซ้าย พระกรขวาตั้งฉาก ผายพระหัตถ์ไปยังพระพุทธองค์ในท่าคล้ายเชิญชวนหรือทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม พระพักตร์รูปไข่ ทรงกุณฑลห้อย นักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าคือพระศิวะ เนื่องจากปรากฏสัญลักษณ์ของพระศิวะคือเกล้าผมเป็นมวยอยู่กลางพระเศียรและ ประดับมวยผมด้วยพระจันทร์เสี้ยว (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 215) ในขณะที่บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นพระพรหม (ธนิต อยู่โพธิ์ 2509 : 12)

เกสรา จาติกวนิช (2545 : 57) เสนอว่าเทพเจ้าในภาพที่ 2 นี้อาจเป็นพระศิวะภาคทักษิณามูรติ

ภาพที่ 3 ขนาดสูง 1.82 เมตร เป็นภาพเทพเจ้าในท่ายืนเอียงสะโพก (ตริภังค์) เข้าใจว่าเป็นภาพวิษณุ แสดงกร 4 กร 2 กรบนทรงจักรที่พระหัตถ์ขวาและทรงสังข์ที่พระหัตถ์ซ้าย อีก 2 กรไขว้แนบพระอุระ (สวัสดิกะมุทรา) อันเป็นกิริยาที่แสดงความเคารพ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 215) นุ่งผ้าห้อยชายจีบไว้ข้างๆ เกล้าผมสูงประหนึ่งสวมชฎามกุฏ

ภาพที่ 4 ขนาดสูง 0.55 เมตร เป็นภาพที่อยู่สูงสุด เป็นภาพเทวดาเหาะ โดยขาซ้ายและชายผ้ายกขึ้น แขน 2 ข้างงอเข้ามาด้านในลำตัว เป็นท่าเหาะหรือเตรียมประนมหัตถ์ เกล้าผมแสกกลางเป็น 2 แฉก สวมกุณฑล

ภาพที่ 5 ขนาดสูง 0.24 เมตร เป็นภาพขนาดเล็ก อยู่ใต้ภาพที่ 4 อยู่ระหว่างภาพที่ 3 และ 6 เป็นท่าผู้หญิงหมอบ เกล้าผมเป็นมวยกลางศีรษะ มองเห็นส่วนที่เป็นทรวงอกและเอวคอด แขนทั้ง 2 ข้างเหยียดไปข้างหน้า มือจรดพื้น ผงกศีรษะลงต่ำไปทางที่พระพุทธองค์ประทับนั่ง ประหนึ่งกำลังก้มลงกราบหรือสดับพระธรรมด้วยความเลื่อมใส

ภาพที่ 6 ขนาดสูง 0.96 เมตร เป็นภาพเทวดาเหาะในท่านั่ง ขาซ้ายยกตั้งฉากไปทางด้านหลัง ขาขวาพับงอมาข้างหน้า ชายผ้าห้อยหน้าพลิ้วไปข้างๆ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ระหว่างอก กรขวายื่นไปข้างหน้า พระหัตถ์คล้ายถือสิ่งของหรือพวงมาลัย เข้าใจว่าเป็นสิ่งของนำมาบูชาพระพุทธเจ้า เกล้าผมแสกกลางเป็น 2 แฉก สวมกุณฑล เป็นภาพที่อยู่ริมขวาสุด (ของผู้ดู)

การศึกษารูปแบบศิลปะ คติความเชื่อ และการกำหนดอายุ

ศรีศักร วัลลิโภดม (2532 : 58-62) กล่าวว่าพื้นที่บริเวณนี้มีชุมชนที่มีการติดต่อกับลังกามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 เป็นอย่างช้า โดยพิจารณาจากจารึกถ้ำเขาวง อ.พระพุทธบาท จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษามอญโบราณ กล่าวถึง “อนุราธปุระ” ซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางศาสนาในสมัยนั้น 

ลักษณะภาพสลักที่ลักษณะการนั่งห้อยพระพุทธบาทของพระพุทธรูป และทรงผมของพระอิศวร รวมทั้งมงกุฎ และท่ายืนของพระนารายณ์แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ภาพสลักเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มาทำการสลักภาพเหล่านี้ ไม่ใช่ช่างธรรมดาสามัญในท้องถิ่น คงเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถที่เข้าใจในศิลปะและสุนทรียศาสตร์พอสมควรทีเดียว

ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (2539 : 43) เสนอว่าภาพสลักที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14

นอกจากนี้ยังทรงอธิบายการแสดงภาพเทพเจ้าในศาสนาฮินดู คือ พระศิวะ พระพรหมหรือพระวิษณุ มาเข้าเฝ้าสดับพระธรรมของพระพุทธองค์ ดังเช่นที่ปรากฏเป็นภาพสลัก ณ ถ้ำพระโพธิสัตว์แห่งนี้ว่า เป็นประจักษ์พยานว่าพระพุทธศาสนาในสมัยนั้นแพร่หลายกว้างขวางมีผู้นับถือศรัทธามากกว่าศาสนาฮินดู (อมรา ศรีสุชาติ 2534 : 35)

อมรา ศรีสุชาติ (2534 : 34-35) ระบุว่าภาพสลักบนผนังถ้ำพระโพธิสัตว์เป็นภาพเล่าเรื่องในพระพุทธศาสนา น่าจะเป็นตอนที่บรรดาเทพเจ้ามาเข้าเฝ้าทูลอาราธนาให้ทรงประกาศศาสนา หรือ “หมุนจักรคือธรรม” โปรดสรรพสัตว์ในโลก และเมื่อทรงแสดงธรรมก็มีเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ เทพยดา มนุษย์ อสูร คนธรรพ์ มาเข้าเฝ้าสดับพระธรรม ดังที่ปรากฏรายละเอียดในลลิตวิสตระ อันเป็นคัมภีร์แสดงพุทธประวัติฝ่ายมหายาน ซึ่งเข้าใจว่าความรู้เรื่องคัมภีร์นี้แพร่หลายอยู่ในสมัยนั้น และหากพิจารณาว่าเป็นตอนเทพเจ้าทูลอาราธนาให้ทรงประกาศศาสนา ภาพเทพเจ้าในภาพที่ 2 ที่อยู่ถัดจากภาพพระพุทธเจ้าน่าจะเป็นรูป พระพรหม (หรือมหาพรหมศิขี ตามคัมภีร์ลลิตวิสตระ) ซึ่งเป็นผู้มาเฝ้าทูลอาราธนาพร้อมด้วยเทพชั้นพรหมอื่นๆ แต่ถ้าพิจารณาว่าเป็นตอนที่ทรงแสดงธรรมโปรดสรรพสัตว์ มีเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่มาเข้าเฝ้าสดับพระธรรม ปรากฏว่ามีองค์ศักร (พระอินทร์) พรหม (หรือเทพโลกบาล) และเทวบุตรอื่นๆ รวมทั้งมเหศวร (พระศิวะ) ผู้เป็นใหญ่เหนือเทวบุตรชั้นสุทธาวาส ภาพนี้ (ภาพที่ 2) จึงอาจเป็นรูปแสดงพระพรหมหรือพระศิวะก็ได้ แม้นามพระวิษณุมิได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ แต่ภาพที่ 3 แสดงให้เห็นว่าเป็นรูปพระวิษณุที่อยู่ในท่าเข้าเฝ้าสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอยู่ด้วย

จากลักษณะศิลปกรรมแสดงให้เห็นว่าเป็นศิลปกรรมแบบทวารวดี อาจการสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 ภาพสลักรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ห้อยพระบาทในท่าแสดงธรรมโปรดเทพยดาเช่นนี้ คล้ายกับภาพสลักบนฐานสถูปที่ธาตุพนม ฟูนัน ศิลปะเขมรสมัยต้นๆ เฉพาะรูปพระพุทธเจ้าในปางนี้ ปรากฏเป็นรูปสำริด พบที่แหล่งโบราณคดีในเมืองอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรมทวารวดีสำคัญของภาคกลาง ลักษณะศิลปกรรมอื่นๆ เป็นต้นว่าทรงผมของเทพเจ้าและเทวดาในภาพสลักนี้ เป็นแบบนิยมของศิลปกรรมทวารวดีในพุทธศตวรรษดังกล่าว (อมรา ศรีสุชาติ 2534 : 35)

ผาสุข อินทราวุธ (2542 : 166) ภาพสลักแสดงให้เห็นว่าศาสนาพุทธมีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นคติความเชื่อของชาวพุทธนิกายมหายานตันตระที่เจริญอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์ปาละ (พุทธศตวรรษที่ 14-17)

เกสรา จาติกวนิช (2545 : 57) เสนอว่าจะภาพสลักพระศิวะที่ทรงชฎาและทรงถืออักษมาลาในภาพที่ 2 อาจหมายถึงพระศิวะภาคทักษิณามูรติ (หมายถึงพระศาสดา) ของอินเดีย ดังเช่นประติมากรรมในราชวงศ์ปัลลวะ ซึ่งอาจมีนัยถึงศาสดาของศาสนาพราหมณ์ฮินดูยอมรับคำสอนของศาสดาในศาสนาพุทธ และลักษณะพระศิวะที่แสดงท่าคล้ายอภัยมุทรา พระหัตถ์ซ้ายถืออักษมาลาสัญลักษณ์ของนักบวช ที่บั้นพระองค์ผูกผ้าเป็นโบว์ทิ้งชายผ้ายาว คล้ายคลึงกับรูปสลักพระศิวะภาคทักษิณามูรติ เมือง Conjeevaram ในอินเดียใต้

พระวิษณุหรือพระนารายณ์ในภาพที่ 3 ที่ทรงจักรที่พระหัตถ์ขวาบนและทรงสังข์ที่พระหัตถ์ซ้ายบนนั้น เป็นลักษณะที่พบในอินเดียใต้ ลักษณะท่าสวัสดิกะมุทราพบในศิลปะอินเดียและศรีลังกา เช่น พระพุทธรูปยืนในวิหารคัล และภาพจิตรกรรมที่วิหารติวังกะ รวมถึงศิลปะทวารวดีที่ถ้ำฝาโถ จ.ราชบุรี (เกสรา จาติกวนิช 2545 : 57-58) ส่วนผ้าคาดพระโสณีผูกเป็นปมพบได้ทั่วไปในศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2537)

ภาพสลักดังกล่าวแสดงความเชื่อของชาวทวารวดีส่วนหนึ่งว่า พุทธศาสนามีความยิ่งใหญ่กว่าศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นคติของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่แพร่หลายอยู่ทางอินเดียเหนือ (เกสรา จาติกวนิช 2545 : 59)

ปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งเป็นจุดเชื่อระหว่างศิลปะทวารวดีและศิลปะขอม ที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันระหว่างศาสนาพุทธเถรวาท พุทธมหายาน และพราหมณ์ โดยเฉพาะจากอาณาจักรขอมโบราณช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14

ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 215-219) กล่าวว่าประติมากรรมชิ้นนี้เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมต่อพระอิศวรและพระนารายณ์ โดยมีเหล่าเทวดาและบุคคลมาฟังด้วย ซึ่งอาจปรากฏในคัมภีร์ใดคัมภีร์หนึ่งของพุทธศาสนาแบบเถรวาท หรืออาจเป็นการผสมผสานของมหายานแบะตันตระ (วัชรยาน) โดยเปรียบเทียบได้กับประติมากรรมที่พุกามตอนพระนารายณ์และพระอิศวรมาเผ้าพระพุทธเจ้า เป็นต้น ภาพสลักเหล่านี้สร้างขึ้นในสมัยทวารวดีอย่างแท้จริง และมีวิวัฒนาการมาจากศิลปะคุปตะและหลังคุปตะ โดยจัดเป็นยุคที่เผยแพร่หลายอย่างมากของทวารวดี โดยเฉพาะพระพุทธรูปแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์ ประทับนั่งห้อยพระบาทแบบยุโรป มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ในยุคแรกเริ่มที่ยังมีความใกล้เคียงกับศิลปะของอินเดียอยู่อย่างมาก สามารถเปรียบเทียบได้กับประติมากรรมที่ถ้ำอชันตาหมายเลข 19 ถ้ำเอลโลรา ถ้ำพระโพธิสัตว์หมายเลข 23 ที่นาสิก (Nasik) เทวาลัยเทวคฤหะ ประเทศอินเดีย ประติมากรรมในวิหารคัล ศิลปะโปลนนารุวะของศรีลังกา รวมทั้งประติมากรรมสมัยทวารวดีสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นและสมัยทวารวดีที่อู่ทอง ปราจีนบุรี นครปฐม และภาคใต้ด้วย

พิริยะ ไกรฤกษ์ (2553 : 49) กล่าวว่าภาพสลักพระพุทธรูปนูนต่ำที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ กำหนดอายุได้ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 11 จากพุทธลักษณะและท่าประทับของพระพุทธองค์เลียนแบบมาจากพระพุทธรูปอินเดียที่นาคารชุนโกณฑะ ส่วนพนักบัลลังก์มีลักษณะใกล้เคียงกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำหมายเลข 16 ของอชัญฏา ที่เขียนขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 11 และสร้างขึ้นเนื่องในนิกายมหาสังฆิกะหรือนิกายย่อยของนิกายมหาสังฆิกะ (เช่น นิกายอปรไศละหรือนิกายปูรวไศละ) ส่วนบุคคลในภาพที่ 5 ที่อยู่ในท่าหมอบกราบนั้น อาจเป็นนักพรตเจ้าของถ้ำ

นอกจากนี้ ในศิลปะพุกามก็ปรากฏรูปพุทธประวัติที่แสดงถึงเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์มาแสดงความเคาระพระพุทธเจ้าด้วย รวมถึงภาพพุทธประวัติที่บุโรพุทโธ ศิลปะชวา ก็มีรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์มาแสดงความเคารพพระพุทธเจ้าเช่นกัน (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2537 : 61)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กฤช เหลือลมัย. “ท่องเที่ยวล่องเบื้องบูรพาลุ่มน้ำเจ้าพระยาแต่โบราณ.” เมืองโบราณ 15, 1 (มกราคม-มีนาคม 2532), 115.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2516.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533.

กรมศิลปากร. “ถ้ำเขาน้ำพุ (ถ้ำพระโพธิสัตว์).” ระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.aspx?id=0000759.

เกสรา จาติกวนิช. “พุทธประวัติในประติมากรรมทวารวดี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปาศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.

ฉันท์ สุวรรณะบุณย์. “ถ้ำฝาแฝดที่ทับกวาง.” อ.ส.ท. 15, 6 (มกราคม 2518), 37-54.

ธนิต อยู่โพธิ์. พรหมสี่หน้า. พระนคร : กรมศิลปากร, 2509.

ธิดา สาระยา. “กัลปนากับการขยายตัวของชุมชน.” เมืองโบราณ 7, 1 (ธันวาคม 2523 – มีนาคม 2524), 87.

พิริยะ ไกรฤกษ์. รากเหง้าแห่งศิลปะไทย. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์, 2553.

ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี : การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย, 2542.

ศรีศักร วัลลิโภดม. “จากถ้ำถมอรัตน์ถึงถ้ำโพธิสัตว์.” เมืองโบราณ 15, 1 (มกราคม-มีนาคม 2532), 58-62.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ทวารวดี : ศิลปกรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. “ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับถ้ำพระโพธิสัตว์ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี.” เมืองโบราณ 20, 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2537) : 57-62.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539.

อมรา ศรีสุชาติ. ศิลปะถ้ำสมัยประวัติศาสตร์ : ภาคกลาง ภาคใต้. กรุงเทพ ฯ : กรมศิลปากร, 2534.

Diskul, Subhadaradis. “Dvaravati Style (6th of 7th – 11th century A.D.).” in Art in Thailand : A Brief History. Bangkok : Amarin Press, 1981, 5-15 pp.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี