โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : ถ้ำฝ่ามือแดง
ที่ตั้ง : ม.1 บ้านหนองห้าง ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์
ตำบล : หนองห้าง
อำเภอ : กุฉินารายณ์
จังหวัด : กาฬสินธุ์
พิกัด DD : 16.549975 N, 104.132448 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ห้วยหลักทอง, ห้วยจุมจัง, ลำพะยัง
จากตัวอำเภอกุฉินารายณ์ ใช้ถนนกาฬสินธุ์-มุกดาหาร (ทางหลวงหมายเลข 2042) มุ่งหน้าจังหวัดมุกดาหาร (มุ่งหน้าทางทิศตะวันออก) ประมาณ 7.1 กิโลเมตร (เข้าสู่ตำบลกุดหว้า) เลี้ยวซ้ายใช้ซอยบูรพา ประมาณ 140 เมตร เลี้ยวขวาเข้าซอย 1 ตรงไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนประมาณ 1.4 กิโลเมตร พบทางขึ้นสู่ภูผาผึ้งทางขวามือ เลี้ยวขวาไปตามทางอีกประมาณ 850 เมตร จะพบทางขึ้นสู่ถ้ำลายมือ
ถ้ำลายมือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติแห่งหนึ่งในอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ดังปรากฏในคำขวัญประจำอำเภอกุฉินารายณ์
“แหล่งวัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าดีลายขิด สิ่งประดิษฐ์จักสาน สถานพิพิธภัณฑ์ล้ำค่า หน้าผาสวยถ้ำฝ่ามือแดง แหล่งตำนานสะพานหิน อ่างเก็บน้ำวังมน บนเขาน้ำตกตาดสูง เคยอุดมด้วยสัตว์โลกล้านปี”
และคำขวัญของตำบลหนองห้าง
“วัฒนธรรมผู้ไท ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าดีลายขิต สิ่งประดิษฐ์จักสาน สถานพิพิธภัณฑ์ล้ำค่า ลือชาถ้ำฝ่ามือแดง แหล่งรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน”
ถ้ำลายมือ (ถ้ำฝ่ามือแดง) ปัจุจบันอยู่ในความดูแลของหน่วยพิทักษ์ป่าภูผาผึ้ง เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อาทิ ลานหินปุ่มภูผาผึ้ง ภูน้อย ป่าหูหลา ป่าไผ่ ป่าหินซ้อน ก้อนหินหมี หินหนามหน่อ ภูผาผึ้ง ถ้ำพระ ถ้ำลายมือหรือถ้ำฝ่ามือแดง หินหนามนอ สะพานหิน ถ้ำน้ำหยาดถ้ำแกลบ ถ้ำบิ้ง ถ้ำดอกบัว กลุ่มครกผี ภูผีปอบ กองหินแห่งความ โชคดี อ่างเก็บน้ำห้วยแก้งหว้า ดอกไข่ดานลานหินปูน และภูหินปูนที่มีกล้วยไม้ธรรมชาติหาชมได้ยาก
ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐานยังมีที่พักและเต็นสำหรับนักท่องเที่ยวพักแรม สามารถติดต่อได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ตู้ ปณ. 2 อ. กุฉินารายณ์ จ. กาฬสินธุ์ 46110 หรือสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เลขที่ 61 อาคารไพโรจน์สุวรรณกร ชั้น 2 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 02-561- 0777
นอกจากนี้ ที่หนองห้างยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัณกลุ่มหนึ่งคือ ชาวผู้ไท โดยมีการประวัติการตั้งถิ่นฐานคือ บ้านหนองห้าง ตั้งเมื่อปี พ.ศ.2386 ชาวบ้านพื้นเพเดิมเป็นชาวผู้ไท ซึ่งเป็นคนไทยสายหนึ่งที่เคยเจริญรุ่งเรืองควบคู่มากับชนชาติจีน คืออาณาจักรน่านเจ้า การล่มสลายของอาณาจักรน่านเจ้า ทำให้ชาวผู้ไทกลุ่มหนึ่งอพยพมาตั้งมั่นที่แคว้นสิบสองจุไท ต่อมามีชาวผู้ไทกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งอพยพจากแคว้นสิบสองจุไทเข้าไปอาศัยอยู่ในลาวสมัยเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเจ้าอนุวงศ์ก่อกบฏในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 กองทัพ ไทย ได้ยกไปปราบแล้วพาอพยพชาวผู้ไทจากเมืองต่างๆ เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ อุดรธานี เป็นต้น มีชาวผู้ไทกลุ่มหนึ่งเป็นชาวเมืองวัง หลังจากอพยพข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย ได้แสวงหาหลักแหล่งมาตามเทือกเขาภูพาน จนกระทั่งมาพบชัยภูมิที่เหมาะสม อยู่ใกล้ภูเขาหลายลูก มีป่าไม้และแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ นายพรานชาวผู้ไททำห้างดักยิงสัตว์เรียงรายอยู่ริมหนองน้ำ ต่อมาจึงพาครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนและตั้งชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า “บ้านหนองห้าง” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
กลุ่มชาวผู้ไทบ้านหนองห้างร่วมกับกรมการท่องเที่ยว โดยสำนักพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชน ได้ก่อตั้งการท่องเที่ยวชุมชน โฮมสเตย์ชุมชนชาวผู้ไท (หนองห้างโฮมสเตย์) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง โดยมีการนำภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้ส่งเสริมให้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวโดยชุมชน ยังเป็นกลไกสนับสนุนชุมชนในกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอดศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมรับประโยชน์จากกิจกรรมการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนแบบยั่งยืน
การท่องเที่ยวชุมชนที่หนองห้างนี้มีหลากหลายลักษณะและหลากหลายโปรแกรม ทั้งการท่องเที่ยวมีทั้งธรรมชาติ เช่น ภูเขา ถ้ำ หน้าผา ป่าชุมชน (ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน) การท่องเที่ยวและกิจกรรมเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของท้องถิ่น หัตถกรรมพื้นบ้าน การละเล่น การแสดง และประเพณีท้องถิ่น โดยเฉพาะของชาวผู้ไท อาทิ การเผาหินปูนแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน ศึกษาดูงานเกษตรอินทรีย์โรงปุ๋ยชีวภาพ ประเพณีเอ็ดบุญป่อนบาตร และประเพณีต้อนรับแขกเมืองของชาวผู้ไทดั้งเดิมของสิบสองจุไท เยี่ยมชมศูนย์เมตตาธรรมของคณะซิสเตอร์ธิดาเมตตาธรรม ชมโบสถ์ วิหารถ้ำแม่พระตามแบบโรมันคาทอลิก พบปะชมรมผู้สูงอายุ
ผู้สนใจท่องเที่ยวเยี่ยมชม โฮมสเตย์ชุมชนชาวผู้ไท (หนองห้างโฮมสเตย์) สามารถติดต่อได้ที่ บ้านหนองห้าง เลขที่ 223 หมู่ 1 ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือ นายสุนทร ภูศรีฐาน เลขที่ 322 หมู่ 1 ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 46110 โทร. 089-574-2613 หรือที่เว็บไซต์ http://www.cbtdatabase.org/โฮมสเตย์ชุมชนชาวผู้ไท-ห.html
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน (สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช), กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลหนองห้าง
ถ้ำลายมือมีลักษณะเป็นหลืบหินในเพิงผาบนภูผาผึ้งซึ่งเป็นภูเขาหินทรายในเขตเทือกเขาภูพาน (เหนือขึ้นไปจากภูผาผึ้งเป็นอุทยานแห่งชาติภูผายลและอุทยานแห่งชาติภูพาน) เพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก พื้นที่โดยรอบเพิงผาค่อนข้างราบ
ถ้ำลายมืออยู่ห่างจากหมู่บ้านห้วยม่วงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1.5 กม. ห่างจากถ้ำเซ่งเม่งมาทางทิศเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร
แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ห่างจากห้วยหลักทองมาทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร และห้วยหลักทองนี้ยังไหลอยู่ทางทิศตะวันตกของแหล่ง ห่างออกไปประมาณ 600 เมตร นอกจากนี้ทางทิศใต้ นอกจากนี้ ห่างออกไปจากแหล่งทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร ยังมีลำห้วยเล็กๆ อีกสายหนึ่งไหลผ่าน ลำห้วยแห่งนี้จะไหลไปรวมกับห้วยจุมจังที่อยู่ป่างออกไปทางทิศตะวันตกของแหล่งประมาณ 1.7 กิโลเมตร
พื้นที่ที่พบภาพเขียนสีเป็นหลืบหินลึกเข้าไปเพิงผาประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 22 เมตร ความสูงจากพื้นถึงเพดานเพิงผาโดยเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร พื้นถ้ำเป็นมันลื่นสีน้ำตาล คล้ายมีคนเข้าไปใช้พื้นที่อยู่เป็นประจำ ชาวบ้านแถบนี้กล่าวว่าเคยมีพระสงฆ์เดินธุดงค์มาพำนักบำเพ็ญฌานอยู่บ่อยครั้ง และยังเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของชาวบ้านแถบนี้ในฤดูหาของป่า เพราะเป็นสถานที่ปลอดภัยร่มเย็นสบายกว่าเพิงผาแห่งอื่นๆ ภาพที่พบนั้นอยู่บริเวณเพดานเพิงผา มีภาพอยู่เต็มเพดาน (พเยาว์ เข็มนาค 2539 : 101)
แบ่งเพดานที่พบภาพเขียนสีแบ่งออกเป็น 3 ช่อง ช่องแรกอยู่ซ้ายมือ โดยภาพในช่องที่ 3 พบหนาแน่นมาก
ภูผาผึ้งเป็นภูเขาหินทรายในหมวดหินเสาขัว และอยู่ใกล้รอยต่อกับหมวดหินภูพาน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สำรวจและศึกษาศิลปะถ้ำที่ถ้ำลายมือ บนภูผาผึ้งชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
รวบรวมและศึกษาศิลปะถ้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือชื่อผู้ศึกษา : พเยาว์ เข็มนาค
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
รวบรวมและศึกษาศิลปะถ้ำก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยชื่อผู้ศึกษา : พัชรี สาริกบุตร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
รวบรวมและศึกษาศิลปะถ้ำก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยศิลปะถ้ำที่พบในถ้ำลายมือใช้เทคนิคการลงสี (pictograph) ด้วยสีแดงคล้ำ บางภาพมีสีจางออกเป็นสีน้ำตาลปนแดงอ่อนๆ
ภาพที่ปรากฏอยู่ 2 แบบ คือ ภาพมือคนและภาพสัญลักษณ์ที่ทำเป็นลวดลายแบบต่าง ๆ (พเยาว์ เข็มนาค 2539 : 102-104)
ภาพมือ เฉพาะที่นับได้มีทั้งหมด 171 ภาพ (ภาพที่นับไม่ได้อีกจำนวนหนึ่งเพราะลบเลือนมากและซ้อนทับกัน) ผู้ศึกษาระบุว่าภาพมือเหล่านี้พอจะจำแนกภาพมือได้ 3 ลักษณะ คือ (1) ภาพมือผู้ใหญ่ ขนาดใหญ่เท่ามือของผู้ชายวัยผู้ใหญ่ กับภาพที่เล็กลงมาเท่ากับมือผู้หญิง หรือคนในวัยหนุ่มสาว (2) ภาพมือเด็ก มีทั้งมือซ้ายและขวา (3) ไม่สามารถจำแนกข้างและขนาดได้ เนื่องจากลบเลือนมาก
ส่วนเทคนิคการทำภาพมือมี 2 วิธี คือ
1. ใช้สีทามือแล้วทาบลงไปบนผนัง เรียกว่า การทาบมือ ภาพมือที่ทำด้วยวิธีนี้มี 165 ภาพ คือ
- ภาพมือเด็ก ซ้าย 3 ภาพ ขวา 4 ภาพ
- ภาพมือผู้ใหญ่ ซ้าย 22 ภาพ ขวา 60 ภาพ
- ไม่สามารถจำแนกขนาดและข้างได้ 76 ภาพ
2. นำเอาสีมาทามือแล้วขูดสีบางส่วนออกจากฝ่ามือแล้วทาบ เรียกว่า มือทาบแบบประดิษฐ์ วิธีนี้มี 6 ภาพ คือ
- ภาพมือผู้ใหญ่ พบเฉพาะข้างขวา 5 ภาพ
- ไม่สามารถจำแนกขนาดและข้างได้ 1 ภาพ
ข้อที่น่าสังเกตคือไม่พบภาพมือเด็กแบบมือทาบประดิษฐ์เลย และภาพมือเด็กพบว่าทำอยู่ที่เชิงผนังที่พอยืนทำภาพเองได้ ภาพที่อยู่สูงหรือภาพบนเพดานไม่พบเลย
ภาพสัญลักษณ์ คือภาพลายเส้นที่เขียนคล้ายเครื่องหมายรูปแบบต่างๆ มีรูปตาราง 1 รูปเขียนอยู่ข้างๆ ภาพมือ ใช้เส้นหนา 1-4 เซนติเมตร กับภาพลายเส้นคล้ายภาพกระโถนปากแตร ใช้เส้นหนา 4-5 เซนติเมตร มีภาพมือบรรจุอยู่ภายใน 3 ภาพ กับภาพลายเส้นทึบ
ภาพทั้ง 2 ประเภทมีทั้งภาพที่คมชัดกับภาพที่ลบเลือนบนผนังเดียวกัน มีการทำทับรอยกัน เป็นตัวบอกถึงช่วงเวลาเขียนภาพที่ต่างกรรมต่างวาระกัน
แหล่งภาพเขียนสีถ้ำเซ่งเม่ง และถ้ำลายมือ ต่างก็ตั้งอยู่ในตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ ตั้งอยู่บนเขาเดียวกัน ห่างกัน 4 กิโลเมตร ผู้วาดภาพเลือกหน้าผาบนหลังเขาด้านทิศตะวันตก ซึ่งมีพื้นที่ราบ และแหล่งโบราณคดีที่โนนบ้านฮ้างปลาฝากับบ้านหนองห้างเหมือนกัน ผู้ศึกษาจึงสันนิษฐานว่าผู้สร้างสรรค์ภาพน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน (พเยาว์ เข็มนาค 2539 : 105)
พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.
พัชรี สาริกบุตร. “ถ้ำลายมือ.” ภาพเขียนสีและภาพสลัก : ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2543. เข้าถึงเมื่อ 23 ธันวาคม 2557. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/south/index.html
พิสิฐ เจริญวงศ์ (บรรณาธิการ). ศิลปะถ้ำในอีสาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.