เปือยหัวดง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : บ้านหัวดง ต.เปือย อ.ลืออำนาจ

ตำบล : เปือย

อำเภอ : ลืออำนาจ

จังหวัด : อำนาจเจริญ

พิกัด DD : 15.682067 N, 104.689754 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ลำเซบก

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำค้อ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวจังหวัดอำนาจเจริญ (บริเวณสี่แยกกลางเมือง) ใช้ถนนอำนาจเจริญ-อุบลราชธานี (ทางหลวงหมายเลข 212) ระยะทางประมาณ 20.1 กิโลเมตร พบสี่แยก ให้เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 2134 มุ่งหน้าบ้านหัวดง ประมาณ 2.7 กิโลเมตร ถึงบ้านหัวดง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระพุทธรูปและเสมาที่พบบนเนินดินนับโบราณปูชนียวัตถุที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก กลุ่มเสมาทั้งสามกลุ่ม คือ กลุ่มใบเสมาในเขตวัดโพธิ์ศิลาราม กลุ่มใบเสมาที่วัดป่าเรไรและภายในโรงเรียนชุมชนเปือยหัวดง เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีป้ายบรรยายให้ข้อมูลโบราณวัตถุเหล่านี้

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, โรงเรียนชุมชนเปือยหัวดง, วัดป่าเรไร, วัดโพธิ์ศิลา

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

-กลุ่มใบเสมาในเขตวัดโพธิ์ศิลาราม ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 131 ง ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2545 เนื้อที่โบราณสถาน 6 ไร่ 1 งาน

-กลุ่มใบเสมาที่วัดป่าเรไรและภายในโรงเรียนชุมชนเปือยหัวดง ยังไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ลูกคลื่นลอนลาด

สภาพทั่วไป

สภาพภูมิประเทศของจังหวัดอำนาจเจริญโดยทั่วไปเป็นที่ลุ่มมีเนินเขาเตี้ยๆ ทอดยาวไปจรดจังหวัดอุบลราชธานีที่อำเภอชานุมาน สภาพดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทรายและดินลูกรังบางส่วน  มีแม่น้ำโขงเป็นแนวเขตกั้นจังหวัดอำนาจเจริญกับประเทศลาวที่อำเภอชานุมาน มีลำน้ำใหญ่ๆ ไหลผ่านหลายสาย

สภาพทั่วไปอำเภอลืออำนาจเป็นแบบลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย ถึงค่อนข้างราบ ทอดตัวตอนเหนือ เขตตำบลดงมะยาง ลงสู่ทางตอนใต้เขตตำบลอำนาจ จดลำเซบก มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 140 เมตรและ 130 เมตร ตามลำดับ แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ห้วยแก ห้วยอีหนั่ง ห้วยดูน ห้วยสิ ห้วยจันลันและห้วยสีโท มีการทำนาในที่ราบ และการเพาะปลูกพืชไร่บนที่ดิน

บ้านหัวดงตั้งอยู่บนเนินดินเนินหนึ่งท่ามกลางเนินดินหลายเนินในพื้นที่ พื้นที่โดยรอบมีระดับต่ำกว่า ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนา เนินดินยาวประมาณ 2.7 กิโลเมตร กว้างประมาณ 800 เมตร วางตัวแนวยาวไปตามทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้

ห่างออกไปด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 350 เมตร และด้านทิศตะวันตกประมาณ 750 เมตร มีลำน้ำเก่าสายหนึ่งซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำค้อและลำเซบกไหลผ่าน โดยลำค้อไหลอยู่ห่างจากเนินดินไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.1 กิโลเมตร ในขณะที่ด้านทิศตะวันออกของเนินดิน ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร มีลำน้ำสาขาของลำเซบกไหลผ่าน ส่วนลำเซบก (เป็นที่แบ่งเขตจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานี) ไหลอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ของเนินดินประมาณ 900 เมตร

ปัจจุบันบนเนินดินเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านหัวดง มีบ้านเรือนราษฎรรวมถึงสถานที่ของราชการและเอกชนตั้งอยู่อย่างหนาแน่น พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นกลุ่มใบเสมาจำนวน 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มใบเสมาในเขตวัดโพธิ์ศิลา 2.กลุ่มใบเสมาบริเวณวัดป่าเรไร 3.กลุ่มใบเสมาหลังโรงเรียนชุมชนเปือยหัวดง

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

140 เมตร

ทางน้ำ

ลำเซบก, ลำค้อ

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะดินในเขตอำเภอลืออำนาจ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 ดินในสภาพพื้นที่ราบเกือบราบ เป็นดินลึก มีการระบายน้ำไม่ดี ดินเนื้อปานกลางหรือค่อนข้างเป็นทราย มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง หรือค่อนข้างต่ำ เหมาะสำหรับการปลูกข้าว ในฤดูฝนสามารถปลูกพืชไร่ต่าง ๆ แต่ต้องมีการปรับปรุงดิน และใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม ตลอดทั้งต้องคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมมาปลูกแต่อาจประสบภาวะแห้งแล้งในช่วงฝนแล้ง ดินประเภทนี้พบในพื้นที่ทางตอนใต้ของอำเภอ

ประเภทที่ 2 ดินบริเวณที่ลาดชันเล็กน้อยถึงชันมาก เป็นดินลึกมีการระบายน้ำได้ปานกลาง เนื้อดินปานกลางหรือค่อนข้างมีเม็ดทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมีความเหมาะสมในการปลูกพืชอย่างถาวร เช่น พืชไร่หรือ ผลไม้ต่าง ๆ แต่ต้องมีการอนุรักษ์ดินที่ดี และปรับปรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม ดินประเภทนี้อยู่ในตอนกลางถึงตอนเหนือของอำเภอ

ส่วนธรณีสัณฐานเป็นหินโคลนในหมวดหินภูทอก กลุ่มหินโคราช

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 12-16

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ชินณวุฒิ วิลยาลัย, กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ชินณวุฒิ วิลยาลัย สำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น สำนักศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี และสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา เผยแพร่หนังสือ “องค์ความรู้เรื่องใบเสมาอิสาน” รวมถึงเสมาที่พบที่เปือยหัวดงด้วย

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีบ้านเปือยหัวดง  อยู่ในตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญมากที่สุด แห่งหนึ่งของจังหวัด มีการสร้างใบเสมาบริเวณใกล้เคียงถึงสามแห่งด้วยกัน คือ

1.กลุ่มใบเสมาในเขตวัดโพธิ์ศิลา บ้านเปือยหัวดง ภายในวัดปัจจุบันมีการลาดและเทพื้นด้วยปูนซีเมนต์ และมีเนินดินขนาดไม่ใหญ่นัก มีกลุ่มใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีในภาคอีสาน ปักอยู่บนเนินดิน โดยปักเรียงกันเป็นแถวอย่างมีระเบียบ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนที่แตกหักชำรุด มีสภาพที่สมบูรณ์อยู่เพียง 2 ใบ สลักลวดลายกลีบบัวที่ฐาน ส่วนใบสลักลายสถูปจำลองหรือหม้อน้ำ (ปูรณฆฏะ) อันเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ พบมากในศิลปะอินเดียแบบอมราวดี และคล้ายคลึงกับลวดลายสลักบนเสากลม ที่ประดับกรอบประตูสมัยก่อนเมืองพระนคร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 ลักษณะเดียวกับที่พบที่วัดดงเฒ่าเก่าบ้านนาหมอม้า ต.นาหมอม้า อ.เมือง จ.อำนาจเจริญและเมืองงิ้ว บ้านชาด ต.เค็งใหญ่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ

อีกใบหนึ่งสลักลายดอกไม้ในวงกลม (ธรรมจักร?) ปัจจุบันเสมาทั้ง 2 ใบจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี นอกจากนี้ ยังมีการขุดพบหม้อดินเผาขนาดใหญ่ลายเชือกทาบ ภายในหม้อบรรจุพระพุทธรูปประทับนั่ง ขนาดเล็กบุเงิน เป็นจำนวนมาก

2.กลุ่มใบเสมาบริเวณวัดป่าเรไร  อยู่ที่บ้านเปือยหัวดง นับเป็นกลุ่มใบเสมาที่มีความหนาแน่น แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นกลุ่มใบเสมามีทั้งแบบที่ทำด้วยศิลาแลงและหินทราย ใบเสมาที่ทำด้วยหินทรายลักษณะเป็นแผ่นหิน มีการสลักฐานเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย นอกจากนี้ยังพบใบที่มีลักษณะพิเศษคือ ส่วนกลางของใบเสมาแกะสลักเป็นรูปหม้อน้ำรองรับปลียอดสถูป ด้านบนแกะสลักเป็นรูปนกแก้ว 2 ตัวเกาะอยู่ ปัจจุบันเสมาใบนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี (ชินณวุฒิ วิลยาลัย และคณะ 2552 : 170)

รูปแบบใบเสมาอีกประเภทหนึ่งที่พบที่บริเวณวัดป่าเรไรแห่งนี้ คือ ใบเสมาที่ทำด้วยศิลาแลง พบทั้งที่ทำเป็นแผ่น ส่วนฐานไม่มีลวดลาย ส่วนกลางใบเสมาสลักเป็นสันนูนในแนวตั้ง และอีกแบบหนึ่งคือ ใบเสมาแบบแท่งหินรูป 8 เหลี่ยม ขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนปลายยอดเรียว พบปักอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าวัด(ชินณวุฒิ วิลยาลัย และคณะ 2552 : 170)

นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของแนวศิลาแลงและอิฐ ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีการก่อสร้างอาคารขึ้นด้วย ในบริเวณใกล้เคียงกัน ยังพบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่หนาแน่น มีลวดลายกดประทับเป็นรูปคลื่นลายก้านขด หรือลายหวี ซึ่งเหมือนกันกับที่เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม

3.กลุ่มใบเสมาหลังโรงเรียนชุมชนเปือยหัวดง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดป่าเรไร ห่างออกไปเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร  

ลักษณะของใบเสมา คือ พบว่าปักและวางเป็นกลุ่ม ลักษณะของใบเสมาเป็นแบบแผ่นหิน ตรงกลางใบแกะสลักเป็นรูปสันนูนแนวตั้ง บางใบมีขนาดสูง บางใบเป็นแผ่นสั้นๆ และบางใบแตกหักชำรุด ไม่ปรากฏลวดลายพิเศษ นอกจากนี้ยังพบแท่นประติมากรรมหินทรายวางอยู่ในบริเวณกลุ่มใบเสมาอีกด้วย (ชินณวุฒิ วิลยาลัย และคณะ 2552 : 170)

นอกจากนี้ ภายในโรงเรียนชุมชนเปือยหัวดง ยังพบพระพุทธรูปหินทรายปางสมาธิ ศิลปะทวารวดี ประดิษฐานอยู่ในศาลา ส่วนพระเศียรหักและต่อเติมขึ้นมาใหม่ พระบาทแกะสลักให้เห็นนิ้วพระบาทที่โผล่ออกมาทางด้านล่างทั้งสองข้าง (ชินณวุฒิ วิลยาลัย และคณะ 2552 : 170)

กลุ่มใบเสมาทั้งสามแหล่งซึ่งเป็นใบเสมาหินนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงการสืบเนื่องของชุมชน ที่น่าจะมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 - 13  และนับว่าเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีการนับถือพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงการสืบเนื่องของชุมชนที่น่าจะมีการรวมกลุ่มกัน เป็นชุมชนขนาดใหญ่ในบริเวณบ้านเปือยหัวดง ตำบลเปือยหัวดง อำเภอลืออำนาจ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. “โรงเรียนชุมชนเปือยหัวดง.” ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอำนาจเจริญ. (ออนไลน์), 2542. เข้าถึงเมื่อ 02 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/northeast/index.html

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดอำนาจเจริญ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

ชินณวุฒิ วิลยาลัย และคณะ. องค์ความรู้เรื่องใบเสมาอิสาน. กรุงเทพฯ : สำนักศิลปากรที่ 9-12 กรมศิลปากร, 2552.

สุจิตต์ วงศ์เทศ. ชื่อบ้านนามเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ.กรุงเทพฯ : สำนักคณะกรรมการวัฒนธรรม   แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม, 2549.

สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี. โบราณคดีจังหวัดอุบลราชธานีสมัยประวัติศาสตร์. (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา             http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/oldcity/amnatcharoen4.htm

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี