โพสต์เมื่อ 4 มิ.ย. 2021
ชื่ออื่น : ถ้ำค้างคาว
ที่ตั้ง : ม.8 บ้านหนองมะค่า
อำเภอ : แก่งกระจาน
จังหวัด : เพชรบุรี
พิกัด DD : 12.839222 N, 99.580722 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เพชรบุรี
ถนนทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีถ้ำบ้านหนองมะค่า4 อยู่ห่างจากเขื่อนแก่งกระจานไปทางทิศใต้ ตามถนนหมายเลข 3432 ประมาณ 5 กิโลเมตร โดยถนนทางเข้าจะอยู่ด้านซ้ายมือ หรือด้านทิศตะวันออก บริเวณบ้านหนองมะค่า ต.สองพี่น้อง
กรมศิลปากร
ถ้ำบ้านหนองมะค่า4 หรือถ้ำค้างคาว ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของภูเขาหินปูนขนาดเล็กลูกหนึ่งในเขตที่ราบสลับภูเขาลูกโดด บริเวณบ้านหนองมะค่า ซึ่งเป็นเขตต่อเนื่องกับเทือกเขาตะนาวศรี ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของแหล่งโบราณคดีและจังหวัดเพชรบุรี
สภาพทั่วไปบริเวณนอกถ้ำเป็นป่า มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม ปากถ้ำกว้างประมาณ 1 เมตร หันไปทางทิศใต้ พื้นคูหาถ้ำอยู่ลึกลงไปประมาณ 50 เมตร มีโพรงทะลุขนาดใหญ่ที่เกิดจากการระเบิดเพื่อเปิดโพรงถ้ำส่วนนี้ให้ขยายกว้างขึ้น ทำให้มีก้อนหินขนาดใหญ่จำนวนมากตกลงมาทับถมบนพื้นถ้ำ คูหาแรกแสงสว่างสามารถส่องลอดเข้ามาได้ ด้านทิศใต้ของคูหามีร่องรอยการขุดมูลค้างคาวลึกประมาณ 1.5 เมตร คูหาที่สองอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของคูหาแรกเป็นคูหาขนาดเล็ก วางตัวแนวทิศเหนือ-ใต้ กว้าง 6 เมตร ความยาว 28 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 108 ตารางเมตร ปากคูหาอยู่ด้านทิศเหนือ ภายใน....................................
ห้วยแม่เพรียง, ห้วยผาก, ห้วยกระสัง, ห้วยสำโรง
ถ้ำบ้านหนองมะค่า4 เป็นถ้ำหนึ่งในภูเขาหินปูนที่บ้านหนองมะค่า ซึ่งจัดอยู่ในเขตที่ราบสลับภูเขาลูกโดด ที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตเทือกเขาตะนาวศรี ภูเขาหินปูนดังกล่าวเป็นภูเขาหินปูนที่เกิดในยุคเพอร์เมียน (Permian period อายุประมาณ 286-245 ล้านปีมาแล้ว) ในเขตเทือกเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดเพชรบุรีและของประเทศไทย
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลูกคลื่นลอนลาดสลับกับภูเขาหินปูนขนาดย่อม มีลำห้วยสาขาที่เกิดจากเทือกเขาไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่ เช่น ห้วยแม่เพรียง ห้วยผาก ห้วยกระสัง และห้วยสำโหรง
ชื่อผู้ศึกษา : พยุง วงษ์น้อย, เดชา สุดสวาท
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2545 สำนักงานศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ดำเนินการสำรวจแหล่งโบราณคดีถ้ำบ้านหนองมะค่า4 และขุดตรวจทางโบราณคดี ณ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ระหว่างวันที่ 20-25 มีนาคม พ.ศ.2545 ใน “โครงการศึกษาวิจัยพัฒนาการของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ต้นแม่น้ำเพชรบุรี” หลุมขุดตรวจอยู่ภายในคูหาเล็กของถ้ำ มีจำนวน 2 หลุม ได้แก่ หลุมขุดตรวจสอบ B2 และ C2 ทั้ง 2 หลุม มีขนาด 2x2 เมตร วางตัวต่อเนื่องกัน (โดยหลุม C2 อยู่ทางทิศเหนือของหลุม B2) ทำให้หลุมขุดตรวจมีขนาดรวม 4x2 เมตร อยู่ภายในคูหาที่สองของถ้ำบ้านหนองมะค่า4 บริเวณพื้นที่มุมคูหาด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้การสำรวจบนผิวดินในปี พ.ศ.2545 พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินและชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ในคูหาเล็กที่อยู่ด้านใน ส่วนคูหาใหญ่ที่อยู่ด้านหน้าและมีแสดงสว่างส่องถึงนั้น ไม่พบโบราณวัตถุบนผิวดิน
การขุดตรวจทางโบราณคดีระหว่างวันที่ 20-25 มีนาคม พ.ศ.2545 พบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ระดับผิวดินจนถึงระดับความลึกประมาณ 65 ซ.ม. (ประมาณ -125 cm.dt.)
โบราณวัตถุที่สำคัญที่พบจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา (เนื้อหยาบ มีเม็ดทรายปนอยู่มาก ขึ้นรูปด้วยมือ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ได้รับความร้อนไม่สม่ำเสมอ ทำให้เนื้อภาชนะสุกไม่ทั่วถึง ส่วนใหญ่มีผิวเรียบ บางชิ้นมีการขัดมันและรมควัน นอกจากนี้ยังพบการตกแต่งที่ผิวด้วยลายเชือกทาบ หรือลายเชือกทาบแล้วปาดลูบให้เลือน ลายขูดขีดเป็นเส้นเล็กๆแนวตั้ง และลายกดประทับด้วยไม้ลาย รูปแบบการตกแต่งผิวนี้พบว่าในภาชนะดินเผา 1 ใบ อาจมีเทคนิควิธีการตกแต่งหลายรูปแบบ เช่น บริเวณที่อยู่เหนือไหล่ภาชนะขึ้นไปผิวเรียบ แต่ใต้ส่วนไหล่ลงมามีการตกแต่งด้วยลายกดประทับเป็นรอยขนาดเล็ก หรือบางชิ้นเหนือส่วนไหล่ขึ้นไปผิวเรียบ ใต้ส่วนไหล่ลงมามีการตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ จากการวิเคราะห์ชิ้นส่วนภาชนะที่พบ ประกอบด้วยส่วนลำตัวและก้น ส่วนคอและลำตัว ส่วนคอและลำตัวที่มีไหล่เป็นสันนูน ประเภทหม้อหรือไห) ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ (เป็นกระดูกท่อนยาว กระดูกส่วนข้อ และกระดูกที่เป็นแผ่นแบน ส่วนใหญ่มีสภาพแตกหัก) ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ (ส่วนใหญ่เป็นกระดูกยาวน้ำหนักเบาและกระดูกสันหลัง สันนิษฐานว่ามีทั้งกระดูกค้างคาว กระดูกไก่ และกระดองเต่า) และเปลือกหอย (พบจำนวนไม่มากนัก มีทั้งหอยบกและหอยน้ำจืด หอยบกเป็นแบบหอยฝาเดียว ประเภทหอยทาก ส่วนหอยน้ำจืดเป็นหอยสองฝา คล้ายหอยกาบ)
จากลักษณะของหลักฐานและลักษณะของพื้นที่ที่สำรวจและขุดค้นพบโบราณวัตถุ (คือภายในคูหาเล็กที่อยู่ด้านใน แสงสว่างลอดเข้ามาไม่ถึง และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก) ผู้ขุดค้นจึงสันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีบ้านหนองมะค่า4 น่าจะเป็นพื้นที่ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมการฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในสังคมเกษตรกรรมที่มีการใช้เครื่องมือหินขัด ซึ่งสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีในเขตที่ราบสลับภูเขาลูกโดดในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ถ้ำบ้านหนองมะค่า1, ถ้ำบ้านหนองมะค่า2, ถ้ำบ้านหนองมะค่า3, ถ้ำบ้านห้วยสำโหรง, และบ้านหนองมะค่า คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ทิ้งหลักฐานทางโบราณคดีไว้ในพื้นที่แถบนี้น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน มีพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับการปลงศพ คือนำกระดูกชิ้นสำคัญพร้อมทั้งเครื่องเซ่นใส่ลงในภาชนะดินเผา แล้วนำภาชนะนั้นไปไว้ตามซอกหลืบของถ้ำ
อย่างไรก็ตาม พื้นที่คูหาใหญ่หรือคูหาแรกที่แสงสว่างสามารถลอดเข้ามาได้และมีอากาศถ่ายเทสะดวก อาจมีการใช้พื้นที่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับคูหาเล็ก แต่เนื่องจากมีการรบกวนแหล่งโบราณคดีค่อนข้างสูงจากการขุดมูลค้างคาว จึงทำให้หลักฐานดังกล่าวถูกทำลายไป
(พยุง วงษ์น้อย และเดชา สุดสวาท 2547)
พยุง วงษ์น้อย และเดชา สุดสวาท. พัฒนาการของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ต้นแม่น้ำเพชรบุรี. ราชบุรี: สำนักงานศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2547.