วัดช้าง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ซ.2 ถ.ราชดำเนิน 2 ต.ในเมือง (เทศบาลเมืองกำแพงเพชร) อ.เมืองกำแพงเพชร

ตำบล : ในเมือง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : กำแพงเพชร

พิกัด DD : 16.494667 N, 99.522893 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ตั้งอยู่ภายในตัวอำเภอเมืองกำแพงเพชร ในเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ทางทิศเหนือของเมืองโบราณกำแพงเพชร ใกล้กับโรงเรียนเทศบาล 3 สามารถเข้าได้จากถนนราชดำเนิน 2 เข้าทางซอย 2 หรือซอยโรงเรียนเทศบาล 3

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เข้าชมได้ทุกวัน ไม่มีเวลาเปิด–ปิด ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480

3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดช้างเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองกำแพงเพชรด้านทิศเหนือ ใกล้กับป้อมประตูวัดช้าง ห่างจากคูเมืองมาทางทิศเหนือประมาณ 360 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

82 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

ดินปนทรายและมีชั้นทรายตะกอนแม่น้ำ เนื่องจากบริเวณนี้แต่เดิมเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำปิง ต่อมาแม่น้ำปิงตื้นเขินขึ้นเนื่องจากการทับถมของตะกอนทรายและดินปนทรายจึงเกิดเป็นที่ราบบริเวณเมืองกำแพงเพชรนี้

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนต้น, สมัยอยุธยาตอนกลาง

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20 – 22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พิทยา ดำเด่นงาม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2512

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการขุดแต่งวิหาร เจดีย์ประธานที่มีช้างล้อม สันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่พบว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย (กรมศิลปากร 2514 : 24 – 25)

ชื่อผู้ศึกษา : บุญล้อม อ่อนน้อม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535, พ.ศ.2536, พ.ศ.2537

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, มูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส.

ผลการศึกษา :

ทำการบูรณะเสริมความมั่นคงเจดีย์ประธาน วิหาร เจดีย์ราย ศาลา แนวกำแพงวัด กำแพงแก้ว บ่อน้ำและอุโบสถ (บุญล้อม อ่อนน้อม 2537 : 11 – 13)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดช้างตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองกำแพงเพชรด้านทิศเหนือใกล้กับป้อมประตูวัดช้าง ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีคูน้ำล้อมรอบวัด ด้านในคูน้ำมีกำแพงก่อด้วยศิลาแลงอีกชั้นหนึ่ง ด้านหน้ามีฐานวิหารยกพื้นเตี้ยๆ เป็นฐานอาคารจัตุรมุข มุขด้านหน้าทำเป็นโถงยาว มุขด้านข้างทั้งสองด้านและด้านหลังเท่ากัน เจดีย์ประธานทรงระฆัง ฐานสี่เหลี่ยมตอนล่างของเจดีย์ประดับช้างปูนปั้นครึ่งตัว จำนวน 18 เชือก ฐานด้านหน้ามีซุ้มพระยื่นออกมา เจดีย์นี้มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยมที่พบแพร่หลายในเขตเมืองกำแพงเพชร ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายสามองค์ น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาหลังเจดีย์ประธาน (กรมศิลปากร 2552 : 73 - 74)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วีระศักดิ์ แสนสะอาด เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์ , 2552.

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองศรีสัชชนาลัย พ.ศ.2508-2512. พระนคร : ม.ป.ท. , 2514.

บุญล้อม อ่อนน้อม. รายงานการบูรณะวัดช้างและป้อมวัดช้าง อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ปีงบประมาณ 2535 - 2537. ม.ป.ท. , 2537.

Google map 2015 [Online]. Accessed 14 February 2015. Available from https://maps.google.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง