วัดพระนอน


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ต.หนองปลิง อ.เมืองกำแพงเพชร

ตำบล : หนองปลิง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : กำแพงเพชร

พิกัด DD : 16.499073 N, 99.514856 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยทราย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดพระนอนตั้งอยู่นอกเมืองโบราณกำแพงเพชรไปทางทิศเหนือ ใกล้กับที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยจากตัวเมืองกำแพงเพชร ใช้ถนนราชดำเนิน 2 ต่อเนื่องไปยังถนนที่มุ่งหน้าที่ทำการอุทยาน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 – 16.30 น. ค่าธรรมเนียม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร 

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480

3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511

 

ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดพระนอนเป็นวัดร้างขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในบริเวณอรัญญิกนอกเมืองกำแพงเพชรทางด้านทิศเหนือ ห่างจากคูเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 600 เมตร ห่างจากห้วยทรายไปทางทิศเหนือประมาณ 300 เมตร ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางทิศเหนือประมาณ 1.2 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในเขตตัวอำเภอเมืองกำแพงเพชร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

90 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง, ห้วยทราย

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนทับถมเป็นเนินศิลาแลงอยู่ใต้ดิน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนต้น, สมัยอยุธยาตอนกลาง

อายุทางวิทยาศาสตร์

พุทธศตวรรษที่ 20 – 22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พิทยา ดำเด่นงาม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการขุดแต่งบริเวณโบสถ์ วิหารพระนอน เจดีย์ประธานและมณฑปของวัด แล้วจึงบูรณะแท่นตั้งใบเสมา วิหารพระนอน เจดีย์ประธาน (กรมศิลปากร 2514 : 11 - 13)

ชื่อผู้ศึกษา : ดำรงฤทธิ์ สมบูรณ์ศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ทำผัง, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

จากศิลปกรรมภายในวัดพระนอน สันนิษฐานว่ามีการสร้าง 2 สมัย คือก่อน พ.ศ. 1906 และอีกสมัยคือ พ.ศ. 2053 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลายจนถึงสมัยอยุธยาและเป็นระยะที่เมืองกำแพงเพชรขึ้นกับอยุธยาแล้ว คาดว่าอุโบสถเป็นอาคารที่สร้างขึ้นหลังสุด(ดำรงฤทธิ์ สมบูรณ์ศิริ 2525 : 64 - 65)

ชื่อผู้ศึกษา : ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการบูรณะและเสริมความมั่นคงอาคารต่างๆ ได้แก่ มณฑป กำแพงแก้ว กำแพงวัด กุฏิ ศาลา บ่อน้ำ เว็จกุฏิ (ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร 2545 : 2 - 3)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดพระนอนเป็นวัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณอรัญญิกนอกเมืองกำแพงเพชรทางด้านทิศเหนือ ชื่อวัดพระนอนเป็นชื่อที่เรียกกันภายหลัง โดยมีที่มาคือภายในวิหารประดิษฐานพระนอนเป็นพระประธาน ด้านหน้าวัดมีกลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย ศาลาโถง ห้องน้ำ และบ่อน้ำ ผังบริเวณเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดวางแนวตามแกนตะวันออก-ตะวันตก อุโบสถเป็นอาคารที่ตั้งอยู่ตอนหน้าสุดมีฐานใบเสมาแปดฐานรอบอุโบสถ ถัดจากอุโบสถไปทางด้านหลังเป็นวิหารพระนอน ภายในวิหารยังเหลือแท่นประดิษฐานพระนอน องค์พระพังทลายจนหมดสิ้น เสาวิหารรองรับหลังคาเป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยมแท่งเดียวตลอดที่มีขนาดสูงใหญ่ กว้างด้านละกว่าเมตรสูงประมาณ 4-5 เมตร ผนังเจาะเป็นช่องแสงหรือช่องลูกกรง เจดีย์ประธานอยู่ถัดจากวิหารไปทางด้านตะวันตก เป็นเจดีย์ทรงระฆังรูปแบบเฉพาะของกำแพงเพชร ถัดจากเจดีย์ประธานไปทางด้านหลังมีฐานอาคารและมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส (กรมศิลปากร 2552 : 78 - 81)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วีระศักดิ์ แสนสะอาด เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์ , 2552.

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองศรีสัชชนาลัย พ.ศ.2508-2512. พระนคร : ม.ป.ท. , 2514.

ดำรงฤทธิ์ สมบูรณ์ศิริ. “องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมรูปแบบอาคารภายในวัดพระนอน ภายในเขตอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2525

ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร. รายงานการบูรณะโบราณสถานวัดพระนอน จังหวัดกำแพงเพชร. กรุงเทพ : โรงพิมพ์วิฑูรย์การปก , 2545.

Google map 2015 [Online]. Accessed 14 February 2015. Available from https://maps.google.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง