โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดพระยืน, วัดเชตุพน
ที่ตั้ง : ต.หนองปลิง อ.เมืองกำแพงเพชร
ตำบล : หนองปลิง
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : กำแพงเพชร
พิกัด DD : 16.501357 N, 99.514672 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
วัดพระสี่อิริยาบถตั้งอยู่นอกเมืองโบราณกำแพงเพชรไปทางทิศเหนือ ใกล้กับที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยจากตัวเมืองกำแพงเพชร ใช้ถนนราชดำเนิน 2 ต่อเนื่องไปยังถนนที่มุ่งหน้าที่ทำการอุทยาน
สามารถเข้าเยี่ยม- เวลาเปิด – ปิด 8.30 – 16.30 น. ค่าธรรมเนียม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478
2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480
3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511
ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534
วัดพระสี่อิริยาบถเป็นวัดร้างขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองโบราณกำแพงเพชร ถัดจากวัดพระนอนไปทางทิศเหนือประมาณ 200 เมตร ห่างจากคูเมืองด้านทิศเหนือไปทางทิศเหนือประมาณ 850 เมตร ห่างจากห้วยทรายไปทางทิศเหนือประมาณ 630 เมตร ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางทิศเหนือประมาณ 1.5 กิโลเมตร
แม่น้ำปิง
ตะกอนทับถมเป็นเนินศิลาแลงอยู่ใต้ดิน
ชื่อผู้ศึกษา : พิทยา ดำเด่นงาม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ทำผัง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ทำการขุดแต่งฐานวิหารหลัก วิหารรองที่อยู่รอบวัด อุโบสถ วิหารพระสี่อิริยาบถและกำแพงแก้วที่ล้อมรอบ แล้วทำการบูรณะฐานวิหารหลัก วิหารพระสี่อิริยาบถโดยการก่ออุดรอยลักลอบขุดของพระพุทธรูปทั้งสี่องค์ (กรมศิลปากร 2514 : 13 – 16)ชื่อผู้ศึกษา : ภัคพดี อยู่คงดี
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2522
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ทำผัง, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
จากการศึกษาพบว่า การสร้างมณฑปพระสี่อิริยาบถคงได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบปาละของอินเดีย ผ่านทางวัฒนธรรมมอญและลังกาก่อนที่จะส่งอิทธิพลให้วัฒนธรรมสุโขทัยที่ปรากฏการสร้างพระสี่อิริยาบถที่วัดเชตุพน เมืองสุโขทัยและวัดพระสี่อิริยาบถ เมืองกำแพงเพชร และพระทั้งสี่อิริยาบถจากจะสื่อความหมายตามพุทธประวัติทั้งสี่ตอน ได้แก่ 1 พระพุทธรูปลีลาแทนตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 2 พระพุทธรูปประทับนั่งแทนตอนตรัสรู้ 3 พระพุทธรูปยืนแทนตอนประทานเทศนา 4 พระพุทธรูปนอนแทนตอนปรินิพพาน จากรูปแบบสามารถกำหนดอายุได้ว่า พระสี่อิริยาบถเริ่มสร้างราวสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท (ภัคพดี อยู่คงดี 2523 : 23 – 24)วัดพระสี่อิริยาบถเป็นวัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ถัดจากวัดพระนอนไปทางทิศเหนือ ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำ และศาลา สิ่งก่อสร้างสำคัญที่ประกอบด้วย วิหารตั้งอยู่ด้านหน้า ด้านหลังวิหารเป็นมณฑปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะมณฑปเป็นแบบจัตุรมุข กึ่งกลางเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเพื่อรับส่วนยอดหลังคา จากนั้นทำเป็นมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ทิศประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นผนังด้านตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปลีลา ด้านทิศเหนือพระพุทธรูปในอิริยาบถนอน ด้านทิศใต้เป็นพระพุทธรูปนั่ง และด้านทิศตะวันตกเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืนซึ่งเหลือสภาพมากกว่าด้านอื่นๆ มณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถแบบนี้สร้างกันมาก่อนที่กรุงสุโขทัยดังปรากฏที่วัดเชตุพนที่ตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศใต้ เจดีย์รายที่อยู่บริเวณมุมกำแพงแก้วทำเป็นรูปแบบ เจดีย์ทรงปราสาทยอด สำหรับอุโบสถสร้างเป็นอาคารขนาดเล็กฐานเตี้ยอยู่ติดกับแนวกำแพงวัดทางด้านทิศใต้ มีใบเสมาปักบนพื้นดินโดยรอบ เขตสังฆาวาสเป็นบริเวณทางด้านหลังของเขตพุทธาวาส พบฐานอาคารขนาดต่างๆ ที่เป็นฐานศาลา กุฏิ และบ่อน้ำ (กรมศิลปากร 2552 : 82 - 84)
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์ , 2552.
กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองศรีสัชชนาลัย พ.ศ.2508-2512. พระนคร : ม.ป.ท. , 2514.
ภัคพดี อยู่คงดี. “พระสี่อิริยาบถ เมืองกำแพงเพชร” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2523
Google map 2015 [Online]. Accessed 14 February 2015. Available from https://maps.google.com