หอเทวาลัยเกษตรพิมาน


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เทวาลัยเกษตรพิมาน, เทวาลัยมหาเกษตร

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย

ตำบล : เมืองเก่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.015496 N, 99.686046 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองแม่ลำพัน, คลองเสาหอ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ห่างจากตัวจังหวัดสุโขทัยไปทางทิศตะวันตกตามถนนจรดวิถีถ่อง ทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย-ตาก ประมาณ 12 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เทวาลัยมหาเกษตรตั้งอยู่นอกเมืองเก่าสุโขทัยไปทางทิศตะวันตก ในเขตอรัญญิก ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม ดูแลรักษาโดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร

อัตราค่าเข้าชม  นักท่องเที่ยว ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 70 บาท ชาวต่างชาติ 350 บาท 

บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการรถรางนำชมรอบอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า

การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที

หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 หน้า 3706 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

2. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 79 ตอนที่ 58 วันที่ 26 มิถุนายน 2505 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เทวาลัยมหาเกษตรตั้งอยู่ทางทิศใต้ของโบราณสถานวัดมะม่วง ทางทิศตะวันตกของโบราณสถานวัดตึก นอกเมืองเก่าสุโขทัยทางทิศตะวันตก ห่างจากคูเมืองชั้นนอกบริเวณประตูอ้อมาทางทิศตะวันตกประมาณ 870 เมตร

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา

จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน

พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

70 เมตร

ทางน้ำ

คลองแม่ลำพัน, คลองเสาหอ, แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

อายุทางโบราณคดี

สมัยพระธรรมราชาที่ 1 (พระมหาธรรมราชาลิไท) เป็นอย่างช้า

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : มองซิเออร์ ปาวี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2427

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ศึกษาจารึกวัดป่ามะม่วง หลักที่ 4 แล้วลงพิมพ์ในหนังสือชื่อ Excersion et reconnaissancees) ใน พ.ศ.2427 พร้อมกับจำลองแบบจารึกที่เลอะเลือนตั้งแต่บรรทัดที่ 66 ถึง 109 (ยอร์ช เซเดส์ 2521 : 75)

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, บาทหลวงฉมิธ, เอโมติเอร์

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ศึกษาจารึกวัดป่ามะม่วง หลักที่ 4 (ยอร์ช เซเดส์ 2521 : 75)

ชื่อผู้ศึกษา : ยอร์ช เซเดส์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2460

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ยอร์ช เซเดส์ อ่านแปลจารึกวัดป่ามะม่วง หลักที่ 4 (ยอร์ช เซเดส์ 2521 : 75)

ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมทั้งหอเทวาลัยเกษตรพิมาน

ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2526) สำรวจเขตอรัญญิกของเมืองสุโขทัย พบ “วัดตึก” (ปัจจุบันเรีกว่าหอเทวาลัยเกษตรพิมาน) ทรงกล่าวว่าที่นี่มีเป็นเช่นวิหารตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ด้านละ 5 วา มีเสา 8 เสา คือที่มุมๆ ละเสา ระหว่างเสามุมอีกช่องละเสา เสาเหล่านี้เป็นแลง มีเป็นช่องสี่เหลี่ยมเจาะข้างๆ ซึ่งเข้าใจว่าสำหรับใส่ลูกกรง ด้านหน้ามีทางเข้าสองประตู ดูรูปร่างแปลกไปกับวิหารที่เคยเห็นมาแล้ว พระยาวิเชียรปราการเดาว่าจะเป็นหอเทวาลัย อันเป็นที่ประดิษฐานเทวรูป 5 องค์ ที่กล่าวถึงพญาลิไทโปรดฯ ให้หล่อขึ้น พระองค์ทรงสงสัยว่าวัดนี้อาจเป็นเขตเดียวกับวัดป่ามะม่วง และทรงกล่าวอีกว่าเทวาลัยที่กล่าวถึงในจารึกอาจจะเป็นเครื่องไม้ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 37)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เทวาลัยมหาเกษตรอยู่ถัดจากวัดตึกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 100 เมตร อยู่ทางทิศใต้ของวัดป่ามะม่วง ในเขตอรัญญิก น่าจะสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระวิหาธรรมราชาลิไท คราวเดียวกับวัดป่ามะม่วง เทวาลัยแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ฮินดูในสุโขทัยได้เป็นอย่างดี

ชื่อ “เทวาลัยมหาเกษตร” พบอยู่ในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาเขมร) (หลักที่ 4) ของพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งทำขึ้นเมื่อ พ.ศ.1905 (หรือ พ.ศ.1904 (ยอร์ช เซเดส์ 2526)) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ และทรงผนวชอยู่ ทรงค้นพบจารึกหลังนี้ที่เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2376 ขณะเสด็จจาริกธุดงค์ไปยังหัวเมืองแถบเหนือของประเทศไทย รวมทั้งเมืองสุโขทัย

ส่วนท้ายจารึกด้านที่ 1 กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไททรงประดิษฐานรูปพระอิศวรและพระนารายณ์ไว้ที่เทวาลัยมหาเกษตร ในป่ามะม่วงนี้เพื่อเป็นที่สักการบูชาของพวกดาบสและพราหมณ์ทั้งหลาย ตั้งแต่ พ.ศ.1892

รูปพระอิศวรและพระนารายณ์ตามที่กล่าวนี้ เชื่อกันว่าตรงกับกลุ่มประติมากรรมลอยตัวเทวรูปสำริด นุ่งผ้าและสวมเครื่องประดับสำริดต้นแขนและรัดเกล้า ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครหลายองค์ องค์ที่มีขนาดใหญ่นั้นคือ พระอิศวร สูง 3.08 เมตร และพระนารายณ์สูง 2.67 เมตร (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 17)

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 65) สันนิษฐานว่าจารึกวัดป่ามะม่วง หลักที่ 4 (ภาษาเขมร) อาจจารึกโดยพราหมณ์ในราชสำนัก เพราะมีการกล่าวถึงการประดิษฐานรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ จึงจารึกเป็นภาษาเขมร ส่วนจารึกวัดป่ามะม่วงที่เป็นภาษาไทย (หลักที่ 5 และ 7) คงจารึกขึ้นโดยพระยาลิไทหรือของราชสำนักจารึกขึ้น ในขณะที่จารึกวัดป่ามะม่วงภาษาบาลี (หลักที่ 6) ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นจารึกของพระมหาสามีสังฆราชาที่ประพันธ์ขึ้นยอพระเกียรติพระมหาธรรมราชาลิไท เนื่องจากพระภิกษุในสมัยนี้เชี่ยวชาญภาษาบาลี  

ตัวอาคารเทวาลัยมหาเกษตรเป็นมณฑปขนาดใหญ่ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ตัวมณฑปมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ระบบเสาเป็นหลัก แล้วก่อผนังเข้ามาชนเสา เสาก่อด้วยอิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 8 ต้น ผนังขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดขึ้นทางด้านหน้า (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2542 : 78 ; พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 17 ; ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 39)

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 66) กล่าวว่าหอเทวาลัยหลังนี้มีลักษณะเป็นอาคารมณฑปขนาดใหญ่แตกต่างจากไปมณฑปทั่วไป สิ่งสำคัญคือเป็นอาคารหลังเดียวโดดๆ ไม่มีวิหารด้านหน้า และไม่มีคูน้ำล้อมรอบตามแบบของวัดสมัยสุโขทัย และฐานชุกชีมีลักษณะที่ต่างจากฐานชุกชีที่รองรับพระพุทธรูปโดยทั่วไป ซึ่งจะทำเป็นฐานบัวและมีส่วนที่โค้งเว้ารับกับฐานพระพุทธรูป แต่ที่นี้ทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีการลดระดับ 1 ชั้น อาจทำเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปได้

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2526.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

ยอร์ช เซเดส์. “หลักที่ 4 ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง อักษรขอม ภาษาเขมร จังหวัดสุโขทัย.” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ.2467. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521 : 74-86.

ยอร์ช เซเดส์. “ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร พุทธศักราช 1904.” ใน จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526 : 222-241.

วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี. “จารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาเขมร).” ใน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2546. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2558. แหล่งที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=1329

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม : รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

ยอร์ช เซเดส์. “หลักที่ 4 ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง อักษรขอม ภาษาเขมร จังหวัดสุโขทัย.” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ.2467. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2521 : 74-86.

ยอร์ช เซเดส์. “ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร พุทธศักราช 1904.” ใน จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526 : 222-241.

วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี. “จารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาเขมร).” ใน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2546. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2558. แหล่งที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=1329

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม : รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2542.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี