โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : ศาลตาผาแดง
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย
ตำบล : เมืองเก่า
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : สุโขทัย
พิกัด DD : 17.021403 N, 99.703312 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองแม่ลำพัน, คลองเสาหอ
ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ห่างจากตัวจังหวัดสุโขทัยไปทางทิศตะวันตกตามถนนจรดวิถีถ่อง ทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย-ตาก ประมาณ 12 กิโลเมตร
เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน
อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 70 บาท ชาวต่างชาติ 350 บาท
บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการรถรางนำชมรอบอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า
กรณีเข้าชมเป็นหมู่เป็นคณะ และต้องการวิทยากรนำชม หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย 64210 โทร. 0-5569-7310, 055-613-241
การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที
หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 หน้า 3705 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
ขึ้นทะเบียนของ UNESCO วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574
ศาลพระเสื้อเมืองหรือศาลตาผาแดงเป็นโบราณสถานร้างตั้งอยู่ภายในคูน้ำคันดินของเมืองเก่าสุโขทัย ในพื้นที่ตอนกลางค่อนไปทางทิศเหนือ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยู่ทางเหนือของวัดสระศรีและตระพังตระกวน ทางทิศตะวันตกของวัดตระพังสอและวัดสรศักดิ์ ห่างจากคูเมืองชั้นในบริเวณประตูศาลหลวงมาทางทิศใต้ประมาณ 350 เมตร
เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา
จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน
พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ
คลองแม่ลำพัน, คลองเสาหอ, แม่น้ำยม
เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)
ชื่อผู้ศึกษา : Jean Boisselier
ปีที่ศึกษา : ค.ศ.1974, พ.ศ.2517
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
Prof.Jean Boisselier (1974) ศึกษาศาลตาผาแดงและประติมากรรมที่พบอยู่ภายใน แล้วสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยนครวัดตอนปลายต่อสมัยบายนชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
ผลการศึกษา :
ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)ชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมทั้งศาลตาผาแดงและประติมากรรมที่พบภายใน พบว่าอยู่ในสมัยบายนชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2555) จัดทำหนังสือศิลปะสุโขทัย และศึกษาศาลตาผาแดงชื่อผู้ศึกษา : ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2555) กล่าวถึงประวัติของศาลตาผาแดงและวัฒนธรรมเขมรในแถบสุโขทัย รวมทั้งศึกษาศิลปกรรมและศึกษาที่มาของชื่อตาผาแดงชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2551) สร้างแบบสันนิษฐานของศาลตาผาแดงศาลพระเสื้อเมืองหรือศาลตาผาแดง เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในเมืองเก่าสุโขทัย ในพื้นที่ตอนกลางค่อนไปทางทิศเหนือ ใกล้กับประตูเมืองด้านเหนือ อยู่ทางเหนือของวัดสระศรีและตระพังตระกวน ทางทิศตะวันตกของวัดตระพังสอและวัดสรศักดิ์ ห่างจากคูเมืองชั้นในบริเวณประตูศาลหลวงมาทางทิศใต้ประมาณ 350 เมตร
ปรากฏในแผนที่สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า ศาลเทพารักษ์ใหญ่และศาลตาผ้าแดง (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 18)
ลักษณะเป็นอาคารก่อด้วยศิลาแลง เป็นปราสาทแบบเขมรก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ที่นิยมใช้ในงานก่อสร้างในวัฒนธรรมเขมร ส่วนยอดพังทลายไปแล้ว เหลือแต่ส่วนห้องที่เคยประดิษฐานรูปเคารพกับมุขทางเข้าที่เชื่อมต่อ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ส่วนล่างของอาคารเริ่มจากชั้นเขียงรองรับ ฐานบัวลูกฟัก เหนือจากฐานขึ้นไปคือ เรือนธาตุ ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมของศาลตาผาแดง ต่อมุขออกไปทางตะวันออก โดยมีบันไดทางขึ้นอยู่หน้ามุข อันเป็นแบบอย่างของปราสาทเขมรเช่นกัน ดังกล่าวนี้ช่างสุโขทัยจะเลือกนำไปปรับปรุงอยู่ในเจดีย์รูปทรงใหม่ของตน คงสร้างขึ้นในศาสนาฮินดู หรือศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน (สันติ เล็กสุขุม 2555 : 36) ต่อขึ้นไปคือส่วนบนซึ่งพังทลายลงหมดแล้ว เชื่อว่าส่วนบนของปราสาทเป็นทรงแท่ง มีชั้นซ้อนเช่นเดียวกับปราสาทเขมรโดยทั่วไป (สันติ เล็กสุขุม 2551ก : 47)
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 13-14) ศึกษาพบว่ารูปแบบปราสาทแสดงเอกลักษณ์ของปราสาทเขมรสมัยบายน ที่เด่นชัดเจนที่สุด คือ การทำฐานล่างเป็นบัวลูกฟักเพียง 1 ฐาน มีการประดับลูกฟักขนาดใหญ่เต็มท้องไม้ ซึ่งก่อนหน้าศิลปะบายนยังไม่รู้จักฐานบัวประเภทนี้ และรูปแบบนี้ได้ให้อิทธิพลมายังเจดีย์ทรงปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่นิยมการเพิ่มชั้นมากขึ้น ประการที่ 2 คือ การเพิ่มมุมที่ทำมุมประธานให้มีขนาดใหญ่กว่ามุมประกอบ และประการที่ 3 คือการก่อด้วยศิลาแลงที่มีขนาดใหญ่ซึ่งนิยมในวัฒนธรรมเขมรแบบบายนที่พบในประเทศไทยโดยทั่วไป ในขณะที่ศิลาแลงที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัยจะมีขนาดของความกว้างเล็กกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง
กรมศิลปากรขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานแห่งนี้พบประติมากรรมรูปเทวดาและเทวสตรีจำนวน 6 องค์ ทำจากหินทราย สภาพชำรุด ส่วนหัวและมือหักหาย แต่ยังสามารถศึกษาเครื่องประดับที่เป็นสังวาลไขว้รูปกากบาทและการนุ่งผ้าที่ชักชายยาวออกมาด้านข้างได้ ปัจจุบันประติมากรรมส่วนหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จ.สุโขทัย
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 14) ระบุว่าตามความเห็นเดิมของ ศ.ฌอง บวสเซอริเยร์ ได้จัดรูปแบบประติมากรรมเหล่านี้อยู่ในศิลปะเขมรแบบนครวัดตอนปลายต่อบายน ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 (Jean Boisselier 1974 : 127 ; สุภัทรดิศ ดิศกุล 2542 : 29) อย่างไรก็ตาม ศ.ฌอง บวสเซอริเยร์ ได้ขอให้ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ช่วยตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับประติมากรรมลักษณะเดียวกันนี้ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ พบว่ามีที่มาจากปราสาทบายน ศ.ฌอง บวสเซอริเยร์ จึงเสนอแนวคิดใหม่ว่าประติมากรรมที่พบที่ศาลตาผาแดงน่าจะจัดอยู่ในสมัยบายนด้วย (กลางพุทธศตวรรษที่ 18)
ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2555) กล่าวว่า โบราณสถานแห่งนี้น่าจะเคยมีชื่อเรียกมาก่อนที่รู้จักกัน เช่น พระมหาสมณเจ้า สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเรียกว่า โคกปราสาท ซึ่งชาวบ้านเมืองเก่าสมัยนั้นเชื่อถือความศักดิ์สิทธิ์กันมาก และในเอกสารเก่าที่บันทึกรุ่นรัชกาลที่ 5-6 มักเรียกกันว่า ศาลตาผ้าแดงบ้าง ศาลพระประแดงบ้าง จนกลายมาเป็นศาลตาผาแดงในปัจจุบัน
คำคำนี้น่าจะเป็นคำที่เลือนมาจากชื่อ กมรเตง ที่หมายถึง “เจ้า” ในภาษาเขมร และพบในจารึกเขมรโบราณจำนวนมากที่กล่าวถึง กมรเตง ในฐานะชื่อสถาปนาของรูปเคารพในศาสนาฮินดู (ซึ่งก็เป็นตัวแทนของกษัตริย์เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว) และตำแหน่งของขุนนางชั้นสูงอีกด้วย ยังมีคำว่า ประแดง ที่หมายถึงข้าราชการบางตำแหน่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งสืบมาจากคำเขมรเช่นเดียวกัน และชื่อดังกล่าวยังพบอยู่ในชื่อเมืองโบราณบางแห่งที่เคยมีร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรอยู่ เช่น เมืองพระประแดง ที่สมุทรปราการ ซึ่งในสมัยอยุธยาได้เคยขุดพบเทวรูปเมื่อได้ชำระคลองสำโรง เป็นต้น (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2555)
ดังนั้น ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2555) จึงสันนิษฐานว่าชื่อของศาลตาผาแดงจึงสื่อถึงความเป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่ เกี่ยวข้องกับความเชื่อแบบพราหมณ์-ฮินดูของเขมร เช่นเดียวกับหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (2542 : 19) ในขณะที่ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2555 : 36) กล่าวว่าศาลตาผาแดงคงสร้างขึ้นในศาสนาฮินดู หรือศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน
ด้วยเหตุนี้ ศาลพระเสื้อเมืองหรือศาลตาผาแดงจึงใช้เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมเขมรที่มีอิทธิพลอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำยม ก่อนหน้าสถาปนาเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “ศาลตาผาแดง เก่าแก่ก่อนตั้งเมืองสุโขทัย.” (ออนไลน์), 23 พฤศจิกายน 2555. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2558. แหล่งที่มา http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/2012/11/23112555/
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม : รายงานการวิจัย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
สันติ เล็กสุขุม. โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐาน มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร เล่ม 1. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551ก.
สันติ เล็กสุขุม. โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐาน มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร เล่ม 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551ข.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ.. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2542.
เอนก สีหามาตย์ และปฐมาภรณ์ เชาวน์ปรีชา. ระบบชลประทานสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 253-?
Jean Boisselier. La Sculpture en Thaïlande. Fribourg : Office du Livre, 1974.