โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย
ตำบล : เมืองเก่า
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : สุโขทัย
พิกัด DD : 17.016126 N, 99.718839 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองยาง
จากเมืองเก่าสุโขทัยบริเวณประตูเมืองด้านทิศตะวันออกหรือประตูกำแพงหัก ให้ใช้ถนนจรดวิถีถ่อง (ทางหลวงหมายเลข 1272) มุ่งหน้าทิศตะวันออกหรือมุ่งหน้าไปตัวจังหวัดสุโขทัย ประมาณ 600 เมตร จะพบซอยกาญจนาทางขวามือ (มีซุ้มประตูวัดตระพังทองหลาง) เลี้ยวเข้าซอยไปประมาณ 200 เมตรเศษ จะพบโบราณสถานวัดตระพังทองหลาง
โบราณสถานวัดตระพังทองหลางตั้งอยู่นอกเมืองเก่าสุโขทัยไปทางทิศตะวันออก ในพื้นที่ติดกับวัดตระพังทองหลางในปัจจุบัน ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม ดูแลรักษาโดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร
ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า
การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที
หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3706 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (วัดกระพังทองหลาง)
2. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79 ตอนที่ 58 วันที่ 26 มิถุนายน 2505 เรื่องกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (วัดตระพังทองหลาง)
ขึ้นทะเบียนของ UNESCO
วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574
โบราณสถานวัดตระพังทองหลางตั้งอยู่นอกเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันออก ห่างจากประตูกำแพงหักซึ่งเป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 650 เมตร ห่างจากคูเมืองชั้นนอกด้านทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 550 เมตร ห่างจากคลองยางไปทางทิศเหนือประมาณ 1.2 กิโลเมตร ห่างจากวัดช้างล้อมมาทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร ห่างจากวัดเจดีย์สูงมาทางทิศตะวันตกประมาฝร 380 เมตร ปัจจุบันเป็นโบราณสถานร้าง มีวัดตระพังทองหลางที่เป็นวัดปัจจุบันตั้งอยู่ติดกันทางทิศตะวันตก
เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา
จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน
พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ
คลองยาง, แม่น้ำยม
เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)
ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2526 : 84) ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงสำรวจเมืองเก่าสุโขทัย รวมทั้งวัดตระพังทองหลาง ทรงกล่าววัดนี้มีมณฑปและวิหารหลังหนึ่ง มีแผนผังคล้ายกับวัดศรีชุม ที่ผนังมณฑปมีภาพปูนปั้นรูปพระพุทธองค์ทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ด้านทิศใต้เสด็จลงบันไดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลวดลายและภาพดูค่อนข้างจะดีอยู่ ชะรอยจะเป็นวัดโบราณจริง เพราะฝีมือช่างยังไม่โทรม (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 42)ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
ผลการศึกษา :
ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (2521 : 101) ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย) นอกจากรายละเอียดในเบื้องต้นของวัดตระพังทองหลางแล้ว ยังทรงสันนิษฐานจากหลักฐานต่างๆ ในขณะนั้นว่า โบราณสถานแห่งนี้อาจเป็นวัดบูรพารามตามที่ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์กล่าวถึงก็เป็นได้ เพราะตั้งอยู่ตามทิศทางที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2540) เผยแพร่หนังสือศิลปะสุโขทัย ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงวัดตระพังทองหลางชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมทั้งวัดตระพังทองหลางชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ค้นคว้าวิจัยเพื่อสันนิษฐานรูปแบบโบราณสถานบางแห่งของสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เมื่อครั้งยังสมบูรณ์ รวมถึงวัดตระพังทองหลางโบราณสถานวัดตระพังทองหลาง เป็นวัดขนาดกลาง ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารว่าสร้างในสมัยใด (พิเศษ เจียจันทร์พงศ์ 2546 : 32) หรืออาจสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลพญาลิไท พระองค์คงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดวาอารามหลายแห่ง ทั้งในสุโขทัยและตามเมืองในเครือข่าย ในสุโขทัยคงสร้างวัดตระพังทองหลาง (สันติ เล็กสุขุม 2540 : 54)
โบราณสถานหลักมีมณฑปประกอบวิหารที่งดงามแห่งหนึ่งของสุโขทัย เจดีย์ราย มีคูน้ำล้อมรอบ และโบสถ์อยู่ทางตะวันออก ไม่มีเจดีย์ประธาน แต่ใช้มณฑปทำหน้าที่เหมือนเป็นเจดีย์ประธาน อันเป็นลักษณะเฉพาะแบบหนึ่งของการสร้างวัดที่สุโขทัย (พิเศษ เจียจันทร์พงศ์ 2546 : 32)
มณฑปก่อด้วยอิฐเป็นอาคารในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาพังถล่มลงหมดแล้ว แต่ในอดีตหลังคาน่าจะเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2521 : 101) ทรงกรวยเหลี่ยม (สันติ เล็กสุขุม 2551 : 57) ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ แต่ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรม เหลือเพียงหน้าตัก
ด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าของมณฑปมีซุ้มประตู ส่วนอีก 3 ด้านเป็นผนังที่มีจระนำขนาดใหญ่ที่ด้านนอก ประดับผนังจระนำด้วยปูนปั้นนูนสูงเล่าเรื่องพุทธประวัติ ปัจจุบันมีสภาพชำรุดทรุดโทรม แต่จากหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายทำให้ทราบเรื่องราวได้ดังนี้
ผนังด้านทิศเหนือ เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าทรงทรมานช้างนาฬาคีรี โดยปั้นรูปพระพุทธองค์ประทับยืนเคียงข้างด้วยอัครสาวกคือ พระอานนท์ ที่ปลายพระบาทของพระพุทธเจ้ามีร่องรอยให้ทราบว่าเป็นหัวเข่าช้าง ซึ่งคุกเข่ายอมแพ้พระพุทธเจ้า (พิเศษ เจียจันทร์พงศ์ 2546 : 32)
ผนังด้านทิศใต้ เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา ปั้นเป็นรูปพระพุทธองค์ในพระอิริยาบถลีลา เสด็จลงทางบันได มีพระอินทร์กับพระพรหมและเหล่าทวยเทพตามเสด็จมาส่ง (พิเศษ เจียจันทร์พงศ์ 2546 : 32 ; สันติ เล็กสุขุม 2540 : 70-71) ในราว พ.ศ.2511 เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ถอดพิมพ์ภาพปูนปั้นและหล่อไว้ (ในขณะที่ภาพปูนปั้นยังมีสภาพสมบูรณ์มากกว่าปัจจุบัน) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง โดยเศียรของพระพุทธรูปได้หักหายไปแล้วในเวลานั้น พระองค์ทรงครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรเป็นแถบเล็กและยาวลงมาจรดนาภี (สันติ เล็กสุขุม. 2540 : 70-71) ลักษณะมงกุฎของเทวดาปูนปั้นแตกต่างไปจากสมัยก่อนหน้า คือมีขนาดใหญ่ขึ้น แผ่นรูปสามเหลี่ยมประดับกระบังหน้ายังมีอยู่เสมอ ทรงกรวยของรัดเกล้ายืดสูงยิ่งขึ้น วงแหวนจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย (สันติ เล็กสุขุม 2540 : 84)
ผนังด้านทิศตะวันตก เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าโปรดเทศนาสั่งสอนพวกศากยวงศ์ ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ขณะทรงสั่งสอนทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เป็นรูปรัศมี เปลวไฟล้อมรอบพระพุทธองค์ และมีรูปบรรดาพระญาติแวดล้อมอยู่ภายนอกรูปรัศมีนั้น (พิเศษ เจียจันทร์พงศ์ 2546 : 32)
บรรดาภาพปูนปั้นเหล่านี้แสดงถึงลักษณะศิลปะสุโขทัยที่เจริญสูงสุด หรือที่เรียกว่ายุคทองของศิลปะสุโขทัย ซึ่งอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 (พิเศษ เจียจันทร์พงศ์ 2546 : 32)
ด้านทิศตะวันออกต่อจากซุ้มประตูด้านหน้ามณฑป มีวิหารโถงต่อยื่นออกมา ก่อด้วยอิฐ เสาเป็นศิลาแลง
โดยรอบมณฑปและวิหารมีเจดีย์รายตั้งอยู่หลายองค์ (มากกว่า 10 องค์) ส่วนใหญ่เหลือร่องรอยหลักฐานเพียงส่วนฐาน ศึกษารูปแบบไม่ได้แล้ว แต่มีเจดีย์รายอยู่ 1 องค์ที่หลงเหลือส่วนล่างที่เป็นแบบแผนของเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม (สันติ เล็กสุขุม 2551 : 57)
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2526.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.
สันติ เล็กสุขุม. งานช่างหลวงแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542.
สันติ เล็กสุขุม. โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐาน มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปสุโขทัย. กรุงเทพฯ :คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม ยูเนสโก, 2521.