โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดตาเถรขึงหนัง
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย
ตำบล : เมืองเก่า
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : สุโขทัย
พิกัด DD : 16.997157 N, 99.71296 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองแม่ลำพัน, คลองเสาหอ, คลองยาง
ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ห่างจากตัวจังหวัดสุโขทัยไปทางทิศตะวันตกตามถนนจรดวิถีถ่อง ทางหลวงหมายเลข 12 สายสุโขทัย-ตาก ประมาณ 12 กิโลเมตร โบราณสถานวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามตั้งอยู่ห่างจากประตูเมืองด้านทิศใต้ คือประตูนะโม ไปทางทิศใต้ประมาณ 1.6 กิโลเมตร
วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามตั้งอยู่นอกเมืองเก่าสุโขทัยไปทางทิศใต้ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม ดูแลรักษาโดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร
ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า
การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที
หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 หน้า 3707 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (วัดตาเถรขึงหนัง)
ขึ้นทะเบียนของ UNESCO
วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574
วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม ตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกเมืองโบราณสุโขทัย ห่างจากประตูเมืองด้านทิศใต้ คือประตูนะโม ไปทางทิศใต้ประมาณ 1.6 กิโลเมตร ห่างจากวัดเจดีย์สี่ห้องไปทางทิศตะวันออกประมาณ 300 เมตร ห่างจากวัดเชตุพนไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร
เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา
จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน
พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ
คลองยาง, คลองแม่ลำพัน, คลองเสาหอ, แม่น้ำยม
เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)
ชื่อผู้ศึกษา : ชิน อยู่ดี
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2499
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
พบศิลาจารึกหลักที่ 8ค หรือหลักที่ 46 หรือจารึกวัดตาเถรขึงหนัง บริเวณวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามหรือวัดตาเถรขึงหนังชื่อผู้ศึกษา : ฉ่ำ ทองคำวรรณ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508, พ.ศ.2527
วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก
ผลการศึกษา :
ศึกษาและเผยแพร่เนื้อหาของจารึกวัดตาเถรขึงหนังชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
ผลการศึกษา :
ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2540) เผยแพร่หนังสือศิลปะสุโขทัย ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมทั้งวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ค้นคว้าวิจัยเพื่อสันนิษฐานรูปแบบโบราณสถานบางแห่งของสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เมื่อครั้งยังสมบูรณ์ รวมถึงวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามวัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม เป็นชื่อที่ปรากฏตามจารึก เดิมเรียก วัดตาเถรขึงหนัง ตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกเมืองโบราณสุโขทัย ห่างจากประตูเมืองด้านทิศใต้ คือประตูนะโม ไปทางทิศใต้ประมาณ 1.6 กิโลเมตร ห่างจากวัดเจดีย์สี่ห้องไปทางทิศตะวันออกประมาณ 300 เมตร ห่างจากวัดเชตุพนไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร
บริเวณวัดได้พบศิลาจารึกหลักที่ 8ค หรือหลักที่ 46 โดยนายชิน อยู่ดี เมื่อ พ.ศ.2499 จารึกด้วยอักษรขอมและสุโขทัย ภาษาบาลีและภาษาไทย ระบุ พ.ศ.1947
เรื่องราวที่จารึกในส่วนภาษาบาลี เป็นคำกล่าวนมัสการพระรัตนตรัย และคำไหว้อาจารย์ ส่วนจารึกภาษาไทย ได้กล่าวถึงสมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดา และสมเด็จมหาธรรมราชาธิบดี ราชโอรส ขึ้นเสวยราชย์ในนครศรีสัชนาลัยสุโขทัย ตลอดถึงการอาราธนาสมเด็จพระมหาศรีกิรติ จากพชรบุรีศรีกำแพงเพชร มาสร้าง “ศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม” และสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา ปลูกพระศรีมหาโพธิ (วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี 2546)
แผนผังและรูปแบบเจดีย์
วัดนี้มีเจดีย์ทรงระฆังเป็นประธาน ด้านหน้ามีวิหาร มีเจดีย์รายขนาดเล็กอยู่ด้านหลังหลายองค์ คงสร้างขึ้นในระยะหลัง บริเวณวัดมีคูน้ำล้อมรอบเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ ในสุโขทัย จากแผนผังที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่าวัดนี้ยังไม่มีแผนผังที่ซับซ้อน ไม่มีสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมยกเว้นเจดีย์รายขนาดเล็ก จึงอาจกล่าวได้อย่างค่อนข้างชัดเจนว่าน่าจะเป็นรูปแบบของวัดตรงกับที่กล่าวถึงในศิลาจารึก (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 62)
รูปแบบเจดีย์ประธานของวัดเป็นทรงระฆังกลม จัดเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีพัฒนาการในระยะหลังของสุโขทัยแล้ว เนื่องจากได้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบทั่วไปของสุโขทัยที่มีฐานเตี้ย แต่เจดีย์วัดศรีพิจิตรฯ ตั้งอยู่บนฐานสูง (ฐานกว้างด้านละประมาณ 15 เมตร) โดยเพิ่มส่วนฐานบัวเหนือฐานเขียงอีก 2 ฐาน มีการเพิ่มมุมและประดับลูกแก้วอกไก่ซึ่งไม่ใช่ระเบียบของเจดีย์ทรงระฆังสมัยสุโขทัยโดยทั่วไป แต่มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างศิลปะสุโขทัย ล้านนา และอยุธยา (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 63 ; สันติ เล็กสุขุม 2540 : 57)
รูปแบบเจดีย์ประธานของวัดเป็นทรงระฆังกลม จัดเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีพัฒนาการในระยะหลังของสุโขทัยแล้ว เนื่องจากได้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบทั่วไปของสุโขทัยที่มีฐานเตี้ย แต่เจดีย์วัดศรีพิจิตรฯ ตั้งอยู่บนฐานสูง (ฐานกว้างด้านละประมาณ 15 เมตร) โดยเพิ่มส่วนฐานบัวเหนือฐานเขียงอีก 2 ฐาน ส่วนท้องไม้ของฐานบัวชั้นล่างขยายสูงอย่างมากจนเกือบเท่าสัดส่วนของเรือนธาตุหรือมณฑป ทำให้ดูคล้ายกับมณฑปยอดเจดีย์อันเป็นรูปแบบของเจติยวิหารของพุกาม มีการเพิ่มมุมและประดับลูกแก้วอกไก่ซึ่งไม่ใช่ระเบียบของเจดีย์ทรงสุโขทัยโดยทั่วไป แต่มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างศิลปะสุโขทัย ล้านนา และอยุธยา นอกจากนี้ด้านหน้าของฐานยังเจาะเป็นช่องเว้าลึกเป็นจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป โดยเลี่ยงไม่ทำคูหา (สันติ เล็กสุขุม 2540 : 56) ส่วนอีก 3 ด้านมีมุขคือคูหาเล็กๆ ยื่นออกมาสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป อาจสอดคล้องกับคติการสร้างเจติยวิหารของพุกาม หรืออาจจะมีที่มาจากที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้านรอบเจดีย์ของลังกาที่เรียกว่า “วาหัลกฑะ” (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 88)
บัลลังก์ประดับลูกแก้วอกไก่ 2 แนว การทำเจดีย์ทรงระฆังสูงและการประดับลูกแก้วอกไก่นี้เป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะล้านนา และปรากฏแล้วในเจดีย์ที่กำแพงเพชร มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างศิลปะสุโขทัย ล้านนา และอยุธยา (สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย : 57) รูปแบบของเจดีย์วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับวัดเจดีย์สูง นอกเมืองสุโขทัยทางด้านทิศตะวันออก คงเป็นงานที่สร้างขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกันหรือวัดเจดีย์สูงอาจสร้างขึ้นภายหลังเล็กน้อย เพราะส่วนที่เป็นคูหาได้หายไปแล้ว (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 89)
ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ได้พบอัฒจันทร์ คือลายบนพื้นเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก (ครึ่งวงกลม) มีลวดลายเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากศิลปะลังกา (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2521 : 63)
นอกเหนือจากรูปแบบเจดีย์ที่จัดเป็นวิวัฒนาการในระยะหลังของสุโขทัยและสัมพันธ์กับจารึกที่กล่าวถึงด้วยแล้ว สถานที่ตั้งก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างงานในระยะหลังของสุโขทัย คืออยู่ในบริเวณนอกกำแพงเมือทางทิศใต้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในระยะหลัง เช่น วัดอโสการาม (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 63) และวัดเจดีย์สูง
ฉ่ำ ทองคำวรรณ. “หลักที่ 46 ศิลาจารึกวัดตาเถรขึงหนัง.” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย ขอม มอญ บาลีสันสกฤต. พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508 : 70-74.
ฉ่ำ ทองคำวรรณ. “ศิลาจารึกวัดตาเถรขึงหนัง พุทธศักราช 1947.” ใน จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2527 : 356-360.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.
วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี. “จารึกวัดตาเถรขึงหนัง.” ใน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2546. เข้าถึงเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2558. แหล่งที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=121
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปสุโขทัย. กรุงเทพฯ :คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม ยูเนสโก, 2521.