วัดอาวาสใหญ่


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดราชบูรณ

ที่ตั้ง : ต.หนองปลิง อ.เมืองกำแพงเพชร

ตำบล : หนองปลิง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : กำแพงเพชร

พิกัด DD : 16.508234 N, 99.518463 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดอาวาสใหญ่ตั้งอยู่นอกเมืองโบราณกำแพงเพชรไปทางทิศเหนือ ใกล้กับที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยจากตัวเมืองกำแพงเพชร ใช้ถนนราชดำเนิน 2 ต่อเนื่องไปยังถนนที่มุ่งหน้าที่ทำการอุทยาน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน เวลาเปิด – ปิด 8.30 – 16.30 น. ค่าธรรมเนียม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร 

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480

3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดอาวาสใหญ่เป็นวัดร้างขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร ห่างจากคูเมืองด้านทิศเหนือไปทางทิศเหนือประมาณ 1,720 เมตร ห่างจากห้วยทรายไปทางทิศเหนือประมาณ 1,350 เมตร ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางทิศเหนือประมาณ 2,780 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

96 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนทับถมเป็นเนินศิลาแลงอยู่ใต้ดิน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยาตอนต้น, สมัยอยุธยาตอนกลาง

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20 – 22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พิทยา ดำเด่นงาม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการขุดแต่งวิหารหลักด้านหน้า ฐานไพทีที่มีเจดีย์รายตั้งอยู่หน้าวิหาร 2 ฐาน เจดีย์ประธาน วิหารด้านหลังเจดีย์ประธานและวิหารน้อย จากนั้นทำการบูรณะเจดีย์ราย 11 องค์ บ่อน้ำ 1 บ่อ วิหารหลัก (กรมศิลปากร 2514 : 19 – 21)

ชื่อผู้ศึกษา : อมรรัตน์ พงศ์พรหม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการขุดแต่งวัดอาวาสใหญ่เพื่อศึกษาการจัดแผนผัง กุฏิ เว็จกุฏิ ศาลา สระน้ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเขตสังฆาวาสที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด (อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร 2536 : 54 – 56)

ชื่อผู้ศึกษา : ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการบูรณะและเสริมความมั่นคงหมู่กุฏิ ศาลา ในเขตสังฆาวาสด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด บูรณะบ่อน้ำในเขตพุทธาวาส (ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร 2543 : 50 - 61)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดอาวาสใหญ่เป็นวัดขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในบริเวณอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก  หน้าวัดมีบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ที่ขุดลงไปในชั้นศิลาแลงชาวบ้านเรียกว่า บ่อสามแสน วัดแห่งนี้มีเฉพาะกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง แสดงขอบเขตพุทธาวาส สิ่งก่อสร้างสำคัญในเขตพุทธาวาส ด้านหน้าสุดก่อเป็นฐานไพทีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหักเป็นมุมจำนวน 2 ฐาน บนฐานไพทีมีฐานเจดีย์รายแบบต่างๆ ฐานละ 8 องค์

ถัดไปเป็นวิหารซึ่งตั้งอยู่บนฐานรองรับขนาดใหญ่ ลักษณะฐานก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้น 3 ทาง คือ ด้านหน้าและบริเวณกึ่งกลางด้านข้างทั้งสองด้าน ผนังด้านข้างก่อศิลาแลงเป็นราวลูกกรงเช่นเดียวกับฐานรองรับวิหารวัดพระสี่อิริยาบถ วิหารที่อยู่บนฐานจะย่อมุมเป็นมุขทั้งด้านหน้าด้านหลังเป็นวิหารขนาด ๙ ห้อง เดิมจะก่อผนังสูงแล้วเจาะผนังเป็นซี่ลูกกรงหรือเป็นช่องที่เรียกกันว่า ผนังช่องลม ซึ่งร่องรอยการก่อผนังสูงยังปรากฏที่เสามุมด้านหลัง

ด้านหลังวิหารเป็นเจดีย์ประธานขนาดใหญ่สร้างติดกับฐานวิหาร เป็นลักษณะเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม ฐานล่างสุดเป็นแบบฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวย่อมุม 5 เหลี่ยม จากนั้นจะเป็นฐานบัวย่อมุม มุมละ ๕ เหลี่ยมเช่นเดียวกัน ฐานบัวชั้นนี้มีการยืดส่วนหน้ากระดานท้องไม้ให้เป็นผนังสูงประดับลูกแก้วอกไก่สองแถว ส่วนยอดเจดีย์ที่ถัดขึ้นไปพังทลายจนหมดจึงไม่ทราบรูปทรงเดิมที่แน่ชัด ฐานเจดีย์ประธานวัดอาวาสใหญ่จะมีส่วนคล้ายกับฐานเจดีย์ประธานวัดเจดีย์สูงที่ตั้งอยู่นอกเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นลักษณะเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังที่ขยายฐานให้สูงมากจึงอาจจะเป็นไปได้ว่าส่วนยอดของเจดีย์ประธานวัดอาวาสใหญ่เป็นแบบเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง

ถัดจากเขตพุทธาวาสไปทางทิศตะวันตก ด้านเหนือถึงด้านใต้มีฐานอาคารขนาดน้อยใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นหมู่กุฏิสงฆ์และศาลาจำนวน 3 แห่ง กับบ่อน้ำ 2 บ่อ วัดอาวาสใหญ่เป็นวัดที่มีการจัดแผนผังสิ่งก่อสร้างได้งดงาม คงเป็นวัดที่พระสงฆ์ผู้ใหญ่ฝ่ายอรัญวาสีของเมืองกำแพงเพชรจำพรรษาอยู่ด้วย มีฐานอาคารที่คาดว่าเป็นกุฏิสงฆ์ขนาดใหญ่น้อยจำนวนมากอยู่ในเขตสังฆาวาส (กรมศิลปากร 2552 : 93 - 96)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองศรีสัชชนาลัย พ.ศ.2508-2512. พระนคร : ม.ป.ท. , 2514.

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานวัดอาวาสใหญ่. ม.ป.ท. , 2536.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร. รายงานการบูรณะโบราณสถานวัดอาวาสใหญ่ จังหวัดกำแพงเพชร. ม.ป.ท., 2545.

Google map 2015 [Online]. Accessed 14 February 2015. Available from https://maps.google.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง