วัดช้างรอบ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต.หนองปลิง อ.เมืองกำแพงเพชร

ตำบล : หนองปลิง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : กำแพงเพชร

พิกัด DD : 16.502953 N, 99.50975 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดช้างรอบตั้งอยู่นอกเมืองโบราณกำแพงเพชรไปทางทิศเหนือ ใกล้กับที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยจากตัวเมืองกำแพงเพชร ใช้ถนนราชดำเนิน 2 ต่อเนื่องไปยังถนนที่มุ่งหน้าที่ทำการอุทยาน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน เวลาเปิด – ปิด 8.30 – 16.30 น. ค่าธรรมเนียม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480

3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดช้างรอบเป็นวัดร้างขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของเนินศิลาแลงในเขตอรัญญิกเมืองโบราณกำแพงเพชร ถัดจากวัดสิงห์ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 400 เมตร ห่างจากคูเมืองด้านทิศเหนือไปทางทิศเหนือประมาณ 1,070 เมตร ห่างจากห้วยทรายไปทางทิศเหนือประมาณ 900 เมตร ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางทิศเหนือประมาณ 1.7 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

105 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนทับถมเป็นเนินศิลาแลงอยู่ใต้ดิน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยาตอนต้น, สมัยอยุธยาตอนกลาง

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20 – 22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พิทยา ดำเด่นงาม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการขุดแต่งวิหารหลัก วิหารน้อย เจดีย์ประธาน เจดีย์มุม เจดีย์ราย ศาลา สระน้ำและอุโบสถ จากนั้นได้บูรณะเจดีย์ราย เจดีย์ประธาน (กรมศิลปากร 2514 : 17 – 19)

ชื่อผู้ศึกษา : อนันต์ ชูโชติ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2522

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

จากการศึกษาพบว่าเจดีย์วัดช้างรอบนี้เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบสุโขทัย ใช้วิธีการกำหนดอายุจากการเทียบเคียงรูปแบบศิลปกรรมที่เหมือนกับเจดีย์วัดช้างล้อม ศรีสัชนาลัย จึงสันนิษฐานได้ว่าเจดีย์วัดช้างรอบสร้างขึ้นราวปลายสมัยพ่อขุนรามคำแหงถึงตอนต้นพระมหาธรรมราชาลิไท ต่อมาในสมัยอยุธยาจึงมีการซ่อมแซมเจดีย์อีกครั้งในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ตามหลักฐานจารึกหลักที่ 13 จารึกฐานพระอิศวร (อนันต์ ชูโชติ 2523 : 58 – 60)

ชื่อผู้ศึกษา : บุญล้อม อ่อนน้อม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532, พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการบูรณะและเสริมความมั่นคงโบราณสถานภายในวัดช้างรอบ ได้แก่ เจดีย์ประธาน วิหาร เจดีย์ราย อุโบสถ ศาลา แนวกำแพงวัด ประธาน (บุญล้อม อ่อนน้อม 2534 : 8 – 20)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดช้างรอบตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นจุดสูงสุดของเนินเขาลูกรังที่เป็นเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแนวกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลงเฉพาะด้านตะวันออกและด้านใต้ สิ่งก่อสร้างสำคัญคือ

เจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ซึ่งรูปแบบเจดีย์ช้างล้อมในศิลปะสุโขทัย ด้านหน้าเจดีย์ประธานมีฐานวิหารก่อด้วยศิลาแลง ถัดไปเป็นสระรูปสี่เหลี่ยมที่ขุดตัดลงไปในชั้นศิลาแลงเพื่อนำศิลาแลงมาใช้ในการก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ เจดีย์ประธานทำฐานสี่เหลี่ยมล่างสูงใหญ่มีบันไดอยู่ที่กลางด้านทั้งสี่เพื่อขึ้นไปถึงลานด้านบน ชานบันไดแต่ละด้านประดับสิงห์และทวารบาลปูนปั้นแต่ชำรุดเสียหายไปจนเกือบหมด จากบันไดเข้าสู่ลานด้านบนทำเป็นซุ้มประตูหลังคาซุ้มมีเจดีย์ยอดระฆังขนาดเล็กประดับ นับเป็นรูปแบบที่แปลกที่ไม่ปรากฏตามโบราณสถานอื่นๆ ทั้งที่สุโขทัยและกำแพงเพชร ผนังของฐานสี่เหลี่ยมล่างประดับรูปช้างปูนปั้นครึ่งตัวจำนวนทั้งสิ้น ๖๘ เชือก ตัวช้างปั้นด้วยปูนแกนในโกลนจากศิลาแลง หัวและสองขาหน้าโผล่พ้นจากผนังประดับลวดลายปูนปั้นที่แผงคอ กำไลโคนขา และข้อขา ผนังระหว่างช้างแต่และเชือกตกแต่งลายปูนปั้นนูนสูงรูปต้นไม้ ปัจจุบันงานปูนปั้นดังกล่าวชำรุดหลุดร่วงไปมาก

ด้านข้างของลานก่อเป็นกำแพงเตี้ยๆ ด้วยอิฐ เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูแต่ละทิศ ตรงมุมทั้งสี่มุมมีฐานเจดีย์เล็กๆ พบหลักฐานส่วนยอดที่หักพังทำให้ทราบว่าเจดีย์มุมบนฐานเป็นเจดีย์ทรงกลีบมะเฟือง องค์เจดีย์ประธานเจดีย์บนฐานเหลือเฉพาะชั้นหน้ากระดานแปดเหลี่ยมชั้นหน้ากระดานกลมและส่วนที่ต่อเนื่องขึ้นไปอีกเล็กน้อย ส่วนยอดเจดีย์ที่อยู่เหนือขึ้นไปพังทลายหมดแล้ว เฉพาะชั้นหน้ากระดานกลมเหนือฐานแปดเหลี่ยมเดิมประดับลวดลายปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ โดยแบ่งออกเป็นช่องรอบองค์เจดีย์รวม ๔๔ ช่อง แต่ปัจจุบันชำรุดหลุดร่วงออกหมด ใต้ภาพปูนปั้นประดับหงส์ดินเผา

ด้านหน้าเจดีย์ประธานมีฐานวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในวิหารยังปรากฏแนวแท่นอาสนสงฆ์และฐานประดิษฐานพระประธาน องค์พระประธานชำรุดหักพัง เสารับเครื่องบนและหลังคาเป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยม

อุโบสถอยู่เยื้องวิหารไปทางเหนือเหลือเฉพาะฐานขนาดเล็ก การเป็นอุโบสถทราบได้จากที่ยังมีใบเสมาปักโดยรอบ (กรมศิลปากร 2552 : 90 - 92)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองศรีสัชชนาลัย พ.ศ.2508-2512. พระนคร : ม.ป.ท. , 2514.

อนันต์ ชูโชติ. “เจดีย์วัดช้างรอบ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2523

บุญล้อม อ่อนน้อม. รายงานการบูรณะวัดช้างรอบและวัดนาคเจ็ดเศียร. ม.ป.ท. , 2534.

Google map 2015 [Online]. Accessed 14 February 2015. Available from https://maps.google.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง