โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต.หนองปลิง อ.เมืองกำแพงเพชร
ตำบล : หนองปลิง
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : กำแพงเพชร
พิกัด DD : 16.50244 N, 99.51374 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
วัดสิงห์ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกนอกเมืองโบราณกำแพงเพชรไปทางทิศเหนือ ใกล้กับที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยจากตัวเมืองกำแพงเพชร ใช้ถนนราชดำเนิน 2 ต่อเนื่องไปยังถนนที่มุ่งหน้าที่ทำการอุทยาน
สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน เวลาเปิด – ปิด 8.30 – 16.30 น. ค่าธรรมเนียม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478
2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480
3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511
ขึ้นทะเบียนของ UNESCO
วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574
วัดสิงห์เป็นวัดร้างขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองโบราณกำแพงเพชร ถัดจากวัดพระพระสี่อิริยาบถไปทางทิศเหนือประมาณ 150 เมตร ห่างจากคูเมืองด้านทิศเหนือไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากห้วยทรายไปทางทิศเหนือประมาณ 800 เมตร ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางทิศเหนือประมาณ 2.1 กิโลเมตร
แม่น้ำปิง
ตะกอนทับถมเป็นเนินศิลาแลงอยู่ใต้ดิน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร กรมศิลปากร ทำการขุดแต่งบริเวณกำแพงแก้ว อุโบสถ เจดีย์ประธาน ศาลา จากการขุดแต่งส่วนใหญ่พบหลักฐานเป็นเศษภาชนะดินเผา เศษกระเบื้องดินเผามุงหลังคา ตะปูเหล็ก เศษปูนปั้น (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร 2525 : 5 - 22)ชื่อผู้ศึกษา : บุญล้อม อ่อนน้อม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2512, พ.ศ.2526, พ.ศ.2531, พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
การบูรณะและเสริมความมั่นคงวัดสิงห์นั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2512 จนถึงปี 2533มีการบูรณะอาคารต่างๆ ดังนี้ ปี 2526 บูรณะพระประธานบนโบสถ์ เจดีย์ประธาน ศาลา ปี 2531 บูรณะกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตกและทิศเหนือ อุโบสถ ซุ้มประตู (บุญล้อม อ่อนน้อม 2534 : 4)วัดสิงห์ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชรถัดจากวัดพระสี่อิริยาบถไปทางทิศเหนือ แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงศิลาแลงโดยรอบทั้ง 4 ด้าน สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดประกอบด้วย
ทางทิศตะวันออกสุดเป็นฐานอาคารขนาดใหญ่โดยทำฐานซ้อนกันสองชั้น ฐานชั้นล่างหรือฐานทักษิณก่อเป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ผนังด้านข้างก่อด้วยศิลาแลงสูงจากฐานขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ชานชาลาด้านหน้าพบหลักฐานการประดับสิงห์ปูนปั้นและทวารบาลที่มีแกนในเป็นศิลาแลงซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด บนลานประทักษิณมีแท่นใบเสมาโดยรอบจำนวนแปดตำแหน่ง ทำให้ทราบได้ว่าอาคารที่สร้างบนฐานทักษิณเป็นอุโบสถ แต่เมื่อพิจารณาภายในอาคารพบแท่นอาสนสงฆ์ตรงแนวผนังด้านทิศใต้ จึงทำให้ทราบว่าอาคารหลังนี้เดิมใช้เป็นวิหารมาก่อน สำหรับใบเสมาสลักหินชนวนบางใบสลักลายพฤกษาในกรอบรูปสามเหลี่ยมและขอบสลักเป็นแถวลายกระหนกปลายแหลมที่เป็นลวดลายแบบอยุธยา
ถัดจากฐานอุโบสถ เป็นเจดีย์ประธานมีกำแพงแก้วล้อมรอบ เจดีย์ประธานเหลือเฉพาะฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมและฐานบัวสี่เหลี่ยมตอนล่างทำเป็นซุ้มพระยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน หรือ 4 ทิศ องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐซึ่งต่างไปจากเจดีย์ประธานอื่นๆ ที่ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนยอดเจดีย์พังทลายจนหมด จากการศึกษารูปทรงเดิมขององค์เจดีย์จากหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายเก่าเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 และหลักฐานจากการขุดค้นที่พบชิ้นส่วนบัวปากระฆังโดยรอบฐานเจดีย์จึงสันนิษฐานได้ว่า รูปทรงเดิมของเจดีย์ประธานวัดสิงห์เป็นแบบเจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยมที่มีการเพิ่มฐานสี่เหลี่ยมให้ซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้นเจดีย์แบบนี้พบที่วัดกำแพงงามในเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร
นอกจากนี้ บริเวณด้านข้างและด้านหลังของเขตพุทธาวาสหรือนอกกำแพงแก้วพบฐานอาคารขนาดต่างๆ หลายหลัง คงจะเป็นฐานศาลาและฐานกุฏิที่อยู่ในเขตสังฆาวาส (กรมศิลปากร 2552 : 85 – 88)
โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. รายงานการปฏิบัติงานโครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ปีงบประมาณ 2525. ม.ป.ท., 2525.
บุญล้อม อ่อนน้อม รายงานการบูรณะวัดสิงห์ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ปีงบประมาณ 2512 - 2533. ม.ป.ท., 2534.
Google map 2015 [Online]. Accessed 14 February 2015. Available from https://maps.google.com