โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต.หนองปลิง อ.เมืองกำแพงเพชร
ตำบล : หนองปลิง
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : กำแพงเพชร
พิกัด DD : 16.500461 N, 99.515985 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยทราย
วัดฆ้องชัยตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกนอกเมืองโบราณกำแพงเพชรไปทางทิศเหนือ ใกล้กับที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยจากตัวเมืองกำแพงเพชร ใช้ถนนราชดำเนิน 2 ต่อเนื่องไปยังถนนที่มุ่งหน้าที่ทำการอุทยาน
สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน เวลาเปิด – ปิด 8.30 – 16.30 น. ค่าธรรมเนียม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478
2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480
3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511
ขึ้นทะเบียนของ UNESCO
วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574
วัดฆ้องชัยเป็นวัดร้างที่ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองโบราณกำแพงเพชร ถัดจากวัดพระนอนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 100 เมตร ห่างจากคูเมืองด้านทิศเหนือไปทางทิศเหนือประมาณ 900 เมตร ห่างจากห้วยทรายไปทางทิศเหนือประมาณ 450 เมตร ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร
แม่น้ำปิง, ห้วยทราย
ตะกอนทับถมเป็นเนินศิลาแลงอยู่ใต้ดิน
ชื่อผู้ศึกษา : อนันต์ ชูโชติ, ดำรงฤทธิ์ สมบูรณ์ศิริ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร กรมศิลปากร ทำการขุดแต่งบริเวณแนวกำแพงแก้ว วิหาร เจดีย์ประธาน เจดีย์ราย ศาลาจากการขุดแต่งส่วนใหญ่พบหลักฐานเป็นเศษภาชนะดินเผา เศษกระเบื้องดินเผามุงหลังคา ตะปูเหล็ก เศษปูนปั้น ประติมากรรมดินเผาประกอบสถาปัตยกรรม เป็นต้น กำหนดอายุจากรูปแบบศิลปกรรมที่พบว่าอยู่ในช่วงสุโขทัยตอนกลางถึงตอนปลายจนถึงสมัยอยุธยา (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร 2525 : 22 – 28 ; อนันต์ ชูโชติ และดำรงฤทธิ์ สมบูรณ์ศิริ 2525 : 74 – 76)วัดฆ้องชัยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพระนอน สิ่งก่อสร้างภายในวัดวางแนวตามแกนตะวันออก-ตะวันตก เช่นเดียวกับวัดอื่นๆ มีกำแพงวัดเฉพาะด้านตะวันตกและด้านใต้เพียงสองด้านเท่านั้น นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันตกปรากฏบ่อตัดศิลาแลงขนาดใหญ่
วิหารตั้งอยู่ด้านหน้าวัดปัจจุบันเหลือเฉพาะฐานอาคาร ลักษณะเด่นของฐานวิหาร คือ การก่อฐานสูง ฐานล่างทำเป็นฐานหน้ากระดานแต่มีการยืดจนดูเหมือนเป็นผนัง บนฐานหน้ากระดานก่อเป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีมุขเด็จทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บันไดสร้างขนาบมุขเด็จ โถงอาคารมีขนาด ๙ ห้อง เสารับเครื่องบนเป็นเสาศิลาแลงแปดเหลี่ยม ภายในอาคารยังปรากฏแท่นอาสนสงฆ์และแท่นประดิษฐานพระประธาน
เจดีย์ประธานตั้งอยู่ถัดจากฐานวิหารไปทางด้านหลัง เหลือเฉพาะส่วนฐานสี่เหลี่ยมและฐานแปดเหลี่ยม รูปทรงเดิมเป็นแบบเจดีย์ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม (กรมศิลปากร 2552 : 84 - 85)
โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. รายงานการปฏิบัติงานโครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ปีงบประมาณ 2525. ม.ป.ท., 2525.
อนันต์ ชูโชติ และดำรงฤทธิ์ สมบูรณ์ศิริ. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานวัดฆ้องชัย. ม.ป.ท., 2525.
Google map 2015 [Online]. Accessed 14 February 2015. Available from https://maps.google.com