วัดนาคเจ็ดเศียร


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ต.หนองปลิง อ.เมืองกำแพงเพชร

ตำบล : หนองปลิง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : กำแพงเพชร

พิกัด DD : 16.499068 N, 99.511493 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยทราย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดนาคเจ็ดเศียรตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกนอกเมืองโบราณกำแพงเพชรไปทางทิศเหนือ ใกล้กับที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยจากตัวเมืองกำแพงเพชร ใช้ถนนราชดำเนิน 2 ต่อเนื่องไปยังถนนที่มุ่งหน้าที่ทำการอุทยาน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน เวลาเปิด – ปิด 8.30 – 16.30 น. ค่าธรรมเนียม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480

3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดนาคเจ็ดเศียรเป็นวัดร้างขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองโบราณกำแพงเพชร ถัดจากวัดพระนอนไปทางทิศตะวันตกประมาณ 150 เมตร ห่างจากคูเมืองด้านทิศเหนือไปทางทิศเหนือประมาณ 610 เมตร ห่างจากห้วยทรายไปทางทิศเหนือประมาณ 450 เมตร ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางทิศเหนือประมาณ 1.1 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

95 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง, ห้วยทราย

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนทับถมเป็นเนินศิลาแลงอยู่ใต้ดิน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยาตอนต้น, สมัยอยุธยาตอนกลาง

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20 – 22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : บุญล้อม อ่อนน้อม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532, พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการบูรณะและเสริมความมั่นคงโบราณสถานภายในวัดนาคเจ็ดเศียร ได้แก่ เจดีย์ประธาน กำแพงแก้ว กำแพงวัดและปรับระดับพื้นโดยรอบวัด (บุญล้อม อ่อนน้อม 2534 : 25)

ชื่อผู้ศึกษา : ห้างหุ้นส่วนจำกัด เหมลักษณ์ก่อสร้าง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ห้างหุ้นส่วนจำกัด เหมลักษณ์ก่อสร้าง, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ทำการบูรณะและเสริมความมั่นคงโบราณสถานภายในวัดนาคเจ็ดเศียร ได้แก่ เจดีย์ประธาน และกำหนดอายุโบราณสถานจากเจดีย์ประธานว่าน่าจะอยู่ในสมัยอยุธยา (ห้างหุ้นส่วนจำกัด เหมลักษณ์ก่อสร้าง 2540 : 154)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดนาคเจ็ดเศียรเป็นวัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ถัดจากวัดพระนอนไปทางทิศตะวันตก ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออกโดยมีแนวกำแพงศิลาแลงล้อมรอบวัด สิ่งก่อสร้างที่สำคัญประกอบด้วย

เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆังมีฐานเขียงด้านล่างก่อเป็นฐานหน้ากระดานผังสี่เหลี่ยม โดยตรงกลางของฐานในแต่ละด้านจะมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวในผังแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 2 ชั้น ตั้งแต่ส่วนบนองค์ระฆังขึ้นไปพังทลายหมดแล้ว

วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลงยกพื้นสูง มีบันไดขึ้นลงด้านหน้า 2 แห่ง ด้านหลัง 1 แห่ง ด้านบนพบร่องรอยของอาสนสงฆ์และฐานชุกชี

ซุ้มพระ มีลักษณะคล้ายซุ้มจระนำเจดีย์ประธาน สร้างเป็นฐานบัวมีหน้ากระดานท้องไม้ประดับด้วยลวดบัวลูกแก้วอกไก่ ภายในซุ้มยกพื้นสูง ด้านหลังสร้างเป็นห้องสี่เหลี่ยม ผนังก่อด้วยศิลาแลง ส่วนองค์พระพุทธรูปพังทลายหมดแล้ว

บรรณานุกรม

บุญล้อม อ่อนน้อม. รายงานการบูรณะวัดช้างรอบและวัดนาคเจ็ดเศียร. ม.ป.ท. , 2534.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด เหมลักษณ์ก่อสร้าง. รายงานการบูรณะโบราณสถานเมืองกำแพงเพชร. ม.ป.ท. , 2540.

Google map 2015 [Online]. Accessed 14 February 2015. Available from https://maps.google.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง