วัดเจ้าปราบ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา

ตำบล : ประตูชัย

อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา

จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา

พิกัด DD : 14.341771 N, 100.555409 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดเจ้าปราบ เป็นโบราณสถานที่อยู่ภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยอยู่ทางตอนใต้ของเกาะเมือง ในเขตสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ อยู่ทางด้านทิศเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา  โดยห่างประมาณ 500 เมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเจ้าปราบ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ในส่วนพื้นที่ที่สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

ในส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 20 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 100 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น  สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

วัดเจ้าปราบ เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

นอกจากนี้ โบราณสถานวัดเจ้าปราบ ยังปรากฏรายละเอียดของการขึ้นทะเบียนในการกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2486  หน้า 2350

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วัดเจ้าปราบ เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดเจ้าปราบ  เป็นวัดโบราณที่สำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ริมถนนอู่ทอง  ตำบลประตูชัย  อำเภอพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดร้าง อยู่ทางด้านทิศใต้ในเขตสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้ว

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3.5 -5 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย 

สภาพธรณีวิทยา

ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต ้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ

ลักษณะทางธรณีวิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่  เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน   น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย  แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว  ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น  และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง  มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว  ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  กล่าวคือ  ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น  จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง  และปิดทับอยู่ด้านบน  จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา

อายุทางโบราณคดี

สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนต้น, สมัยอยุธยาตอนปลาย

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2486

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2486 หน้า 2349 ในขณะนั้น วัดเจ้าปราบเป็นวัดในประกาศด้วย แต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด

ชื่อผู้ศึกษา : คงเดช ประพัฒน์ทอง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2511

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

คงเดช ประพัฒน์ทอง. เผยแพร่บทความเรื่อง “รายงานการขุดค้นขุดแต่งวัดเจ้าปราบ อยุธยา” ตีพิมพ์ใน โบราณคดี. ปีที่ 2, ฉบับที่ 1 (ก.ค.-ก.ย. 2511) : หน้า 32-50.

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2512, พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ขุดแต่ง, ขุดตรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ศิลปากร ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะวัดเจ้าปราบ โดยทำการเสริมความมั่นคงรอบฐาน บูรณะเจดีย์ประธาน บูรณะเสาอุโบสถ เป็นต้น

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร


ชื่อผู้ศึกษา : UNESCO

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, UNESCO

ผลการศึกษา :

วัดเจ้าปราบ เป็นโบราณสถานภายในเขตเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเจ้าปราบ  (ส่งศรี ประพัฒน์ทอง 2558) เป็นวัดโบราณที่สำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ริมถนนอู่ทอง  ตำบลประตูชัย  อำเภอพระนครศรีอยุธยา    ปัจจุบันเป็นวัดร้างไม่พบหลักฐานว่าสร้างเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง  ในตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนตำราหน้าที่ตำรวจได้กล่าวถึงวัดเจ้าปราบว่า   “ถ้าเสด็จไปทอดพระเนตรการวัดวาอารามในกรุงนอกกรุง  ถ้าในกรุง  ดุจหนึ่งไปวัดเจ้าปราบนั้น (ทรง) พระเสลี่ยงไป”  คำว่า  “เจ้าปราบ”  จึงน่าจะเป็นชื่อสำคัญในสมัยนั้น 

            ในจดหมายเหตุการณ์พระศพสมเด็จพระรูป (สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ  พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  มเหสีฝ่ายซ้ายของสมเด็จพระเพทราชา  ขณะสิ้นพระชนม์ทรงผนวชเป็นชี  ในจดหมายเหตุจึงเรียกพระรูป สิ้นพระชนม์เมื่อจุลศักราช ๑๐๙๗  ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)  กล่าวว่า  “ครั้นถึงฉนวนประทับเรือ  ณ ท่าปราบ  แล้วจึงทรงสั่งให้เชิญสมเด็จพระบรมศพขึ้นจากเรือพระที่นั่ง  แล้วแลเรือพระที่นั่งซึ่งล้นเกล้าฯ ทรงมานั้นถอยหลังลงประทับ ณ ขนานประจำท่าพระราชวังหลวง  แลขุนทิพภัยชนคุมพระราชยานทองลงไปรับเสด็จฯ  จึงเชิญเครื่องสิบแปดอย่างกลางแห่เสด็จไปหน้าจวนทหารใน  ไปเข้าประตูท่าปราบตามเสด็จพระบรมศพถึงพระที่นั่งจักรวรรดิ์ภัยชนมหาปราสาท”

            อาณาบริเวณของวัดเจ้าปราบค่อนข้างกว้างขวาง  มีโบราณสถานสำคัญ คือ พระเจดีย์ พระอุโบสถ  และพระมณฑป  ติดกับกำแพงวัดด้านตะวันออกเฉียงใต้มีแนวรากฐานของคลังดีบุก 

            ดีบุกนั้นเป็นส่วยอย่างหนึ่งของบ้านเมืองที่เป็นของหายาก ในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้จัดเป็นสินค้าควบคุม  ดังในหนังสือสัญญาไทยฝรั่งเศส  ครั้งสมเด็จพระนารายณ์  ความว่า  “ประการหนึ่ง  ถ้าแลกุมบัญชีต้องการซื้อดีบุก ณ เมืองถลางบางคลี  แลงาช้างแลช้างแลดินประสิวขาว ดีบุกดำ  หมากกรอก  ฝาง  ก็ให้ชาวคลังขายให้แต่ตามราคาซื้อขายแก่ลูกค้าทั้งปวง  แลอย่าให้กุมบัญชีซื้อขายสินค้ามีชื่อทั้งนี้แก่ลูกค้าซึ่งมิได้ซื้อแก่ชาวคลังนั้นเลย  ด้วยสินค้าเป็นส่วยสาอากรของหลวงแลห้ามมิให้ผู้ใดขายนอกจากชาวคลังนั้นเลย” ข้อความที่กล่าวมาข้างต้นพอจะเป็นข้ออนุมานได้ว่า  บริเวณวัดเจ้าปราบนั้นตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงกันข้ามกับวัดพุทไธสวรรย์  เป็นพื้นที่สำคัญอยู่ใกล้กับคลังดีบุก  และอยู่ใกล้กับถนนเหล็ก  หรือถนนตลาดเหล็กโบราณซึ่งเป็นถนนปูด้วยอิฐหนาประมาณ 85 เซนติเมตร  ตามประวัติว่ายาวประมาณ 1 กิโลเมตร    มีคูน้ำสองข้างตลอดแนวถนน  คงเป็นคูที่เกิดจากการขุดดินขึ้นมาถมถนน  ผู้สร้างวัดคงเป็นเจ้านายที่มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันบ้านเมือง  อาจมีหน้าที่ควบคุมการสร้างอาวุธด้วย  จึงมีตำแหน่งเป็นเจ้าปราบ

            ทางด้านทิศใต้ของบริเวณวัดมีเจดีย์องค์ใหญ่เป็นเจดีย์ประธานของวัดและรากฐานอุโบสถ  มีกำแพงแก้วล้อมรอบ  ผนังด้านในของกำแพงแก้วทำเป็นช่องสามเหลี่ยมคล้ายๆ กับกำแพงแก้วด้านในรอบพระปรางค์ ที่วัดพระมหาธาตุ  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเป็นช่องที่ใส่ชวาลาในวันงานเทศกาล  มีบันไดทางขึ้นฐานประทักษิณด้านทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ 2 ทาง

            เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์องค์ใหญ่อยู่หลังอุโบสถบนฐานประทักษิณเดียวกันกับอุโบสถ  ลักษณะเป็นเจดีย์กลมทรงระฆัง  ฐานแปดเหลี่ยม  ซึ่งเป็นแบบที่นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยาตอนต้น องค์เดิมชำรุดเหลือเพียงองค์ระฆัง  กรมศิลปากรได้นำชิ้นส่วนที่พังทลายลงมาประกอบกันขึ้นและซ่อมเสริมเป็นองค์เจดีย์สมบูรณ์ที่เห็นกันอยู่ปัจจุบันนี้

            อุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  มีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู  ภายในมีฐานรากของเสากลมสำหรับรองรับหลังคาอุโบสถ   ด้านหลังอุโบสถทำเป็นมุขยื่นออกไป  มีฐานรากของเสารองรับหลังคาเหลืออยู่  หลังคาอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย มีกระเบื้องเชิงชายเป็นลายเทพพนม เช่นเดียวกับที่พบตามวัดเก่าๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีฐานสำหรับตั้งใบเสมารอบอุโบสถ 8 ทิศ  ใบเสมาหินที่พบในวัดนี้มีลวดลายคล้ายลายใบเสมาหินที่พบในวัดไชยวัฒนาราม

            ทางด้านทิศเหนือของวัด  มีมณฑปทรงจัตุรมุขตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมไม้สิบสอง  มีทางขึ้นตรงชาลาทั้ง 4 ทิศ  มุขทางด้านทิศเหนือและทิศใต้สั้น  มุขทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยื่นออกไปรับกับส่วนของฐานประทักษิณ

            มีหลักฐานปรากฏว่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย นายคงเดช  ประพัฒน์ทอง  ได้ให้ความคิดเห็นไว้ในรายงานการขุดแต่งวัดเจ้าปราบซึ่งพิมพ์ลงในหนังสือโบราณคดีว่า  “แต่เดิมมณฑปจัตุรมุขนี้น่าจะเป็นจัตุรมุขแบบสี่ทิศเท่ากัน  ต่อมาได้เกิดความคิดว่า ดูขัดกันกับฐานทักษิณที่ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมไม้  จึงแก้ไขมุขตะวันออกและมุขตะวันตกให้ยื่นยาวออกไปรับกัน  แต่การแก้ไขครั้งนั้นคงทำขึ้นในระยะเวลาที่ไม่ห่างกัน  เพราะเหตุว่าแผ่นอิฐที่ใช้มีขนาดเท่ากัน การเพิ่มเติมคงจะรีบเร่งหรือคนละฝีมือช่าง  ทำให้การเรียงอิฐไม่เรียบร้อยตรงส่วนรอยต่อเพิ่มออกไป  เป็นแนวอิฐที่ชนกันเฉยๆ ทำให้มุขด้านตะวันออกและมุขด้านตะวันตกแนวอิฐแยกจากกันง่าย”  มณฑปนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ  ปัจจุบันเหลือเพียงฐานรองรับ  อาจจะรองรับรอยพระพุทธบาทก็ได้  ถ้าเป็นรอยพระพุทธบาท  มณฑปหลังนี้น่าจะเรียกว่า  มณฑปพระพุทธบาท

            วิหาร  ตั้งอยู่ระหว่างอุโบสถกับมณฑป  เป็นวิหารขนาดเล็ก    เหลือเพียงรากฐานแนวอิฐ  และแนวของชุกชี  เมื่อกรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งวิหาร  พบว่าวิหารมีขนาดกว้าง 7.20 เมตร  ยาว 14.80 เมตร  มีทางขึ้นทางมุมด้านหน้าทั้ง 2 ข้าง  ตรงกลางมีบันไดขึ้นอีก 1 ทาง

            ด้านหลังอุโบสถ  มีรากฐานของเจดีย์รายที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว รวม 6 องค์ นับจากทิศใต้เข้ามา  เจดีย์รายแต่ละองค์หักพังหมดเป็นการยากที่จะดูรูปแบบเดิมได้  รายละเอียดดังนี้

            - องค์ที่ 1 ลักษณะเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง 

            - องค์ที่ 2 เป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมองค์ระฆังหักโค่นมาทางทิศตะวันตก 

            - องค์ที่ 3 - 4 เป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม

            - องค์ที่ 5 – 6 เหลือเพียงรากฐาน  องค์ทางทิศเหนือเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง 

            เสามุมกำแพงวัด  ลักษณะเป็นเสาหัวเม็ด มีประตูทางเข้าเป็นประตูซุ้มอยู่ที่กำแพงด้านทิศเหนือ 2 ประตู  ด้านทิศตะวันออก 1 ประตู

            คลังดีบุก ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านตะวันออก  เหลือเพียงรากฐานที่ก่อด้วยอิฐ กว้าง 10.50 เมตร  ยาว 26.90 เมตร ภายในแบ่งเป็นห้อง 3 ห้อง ห้องทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเกือบเท่ากันแต่ห้องกลางมีขนาดใหญ่กว่าห้องอื่น

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจขุดแต่งและบูรณะโบราณสถาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีงบประมาณ 2513. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท. 2513.

กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2516.

กรมศิลปากร. ตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยากับพระวิจารณ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : จงเจริญการพิมพ์, 2539.

กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร เล่ม 37 เรื่องกรุงเก่า. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา,2512.

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

คงเดช ประพัฒน์ทอง. “รายงานการขุดค้นขุดแต่งวัดเจ้าปราบ อยุธยา”. โบราณคดี. ปีที่ 2, ฉบับที่ 1 (ก.ค.-ก.ย. 2511) : หน้า 32-50.

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา.  กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.

ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. ข้อมูลออนไลน์ เข้าถึงเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2558 แหล่งที่มา https://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b8b0e0b8ade0b8a2e0b8b8e0b898e0b8a2e0b8b2.pdf

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

ส่งศรี ประพัฒน์ทอง. วัดเจ้าปราบ. ข้อมูลออนไลน์ เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา  http://www.literatureandhistory.go.th/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี