กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่ายาง น.32


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เตาบ้านป่ายาง

ที่ตั้ง : บ้านป่ายาง ต.หนองอ้อ อ.ศรีสัชนาลัย

ตำบล : หนองอ้อ

อำเภอ : ศรีสัชนาลัย

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.445094 N, 99.783 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

กลุ่มเตาบ้านป่ายางอยู่ห่างจากเมืองโบราณศรีสัชนาลัยมาทางทิศเหนือหรือมาทางบ้านป่ายางประมาณ 600-700 เมตร สามารถเดินทางโดยใช้ถนนเลียบแม่น้ำยมได้

การเดินทางมายังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยนั้น สามารถเดินทางเข้ามาได้หลายวิธี ดังนี้

            1. รถโดยสารประจำทาง  โดยมีรถประจำทางของบริษัทสุโขทัยวินทัวร์จากกรุงเทพฯ (สถานีขนส่งหมอชิต)ทุกวัน

            2. รถไฟ เส้นทางกรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์ ลงที่สถานีสวรรคโลก จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทาง

            3. เครื่องบิน มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-สุโขทัย วันละ 2 เที่ยว

            4. รถส่วนตัว จากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101  เส้นสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ไปจนถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 17 - 19  เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ไป ประมาณ 1.5  กิโลเมตร เป็นระยะทาง 68  กิโลเมตร หรือ  หรือ จากอำเภอสวรรคโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ อีก 2  กิโลเมตร รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร  

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เตาบ้านป่ายางเป็นกลุ่มโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2533 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO เมื่อปี พ.ศ.2534 ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ในฐานะเมืองบริวารของสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่มาเยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่าง ดังนี้

            - ศูนย์บริการข้อมูลที่เปิดให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและประวัติศาสตร์ของเมืองศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

            - เจ้าหน้าที่นำชมโบราณสถาน/วิทยากร ที่คอยแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ และพร้อมนำชมโบราณสถานในเขตอุทยานฯทุกวัน

            - แผ่นพับประชาสัมพันธ์และป้ายอธิบายโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - เส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯที่สะดวกสบาย เชื่อมโยงโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - ป้ายบอกทางไปโบราณสถานเป็นระยะ

            - จักรยานและรถรางในพื้นที่ภายในกำแพงเมือง

อัตราค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 20 บาท และ 40 บาท(สำหรับบัตรรวม) สามารถเข้าชมภายในอุทยานฯ วัดชมชื่น และแหล่งอนุรักษ์เตาเผาสังคโลกหมายเลข 61 และ 42

ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 100 บาท และ 220 บาท (สำหรับบัตรรวม)

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คอยบริการนักท่องเที่ยวด้วย เช่น ค่าเช่าจักรยานคันละ 20 บาท สำหรับชาวไทย, ค่ารถรางคนละ 20 บาท สำหรับชาวไทย และ 40 บาทสำหรับชาวต่างชาติ หรือเหมาคันละ 300 บาท (ไม่เกิน 15 คน) *จักรยานและรถรางเป็นสัมปทานเอกชน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้*

สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าชมได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โทรศัพท์ 055 679211

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

กลุ่มเตาบ้านป่ายางเป็นกลุ่มโบราณสถานที่อยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ซึ่งมีรายละเอียดของการประกาศขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร รายละเอียดดังต่อไปนี้

            1. ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ  โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า 3704 การประกาศในครั้งนั้น เป็นเพียงการประกาศชื่อโบราณสถานเท่านั้น ไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด

            2. กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน 2531 หน้า 2876 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ  28,217 ไร่ โดยกลุ่มเตาบ้านป่ายาง เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่บนเนินดินและคันดินสูง อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยไปทางทิศเหนือประมาณ 600-700 เมตร

จากการสำรวจของกรมศิลปากรพบว่ามีอยู่ประมาณ 21 เตา ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเนินดินที่ทับถมกันสูง 2-4 เมตร

ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำยมไหลผ่านทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสันปันน้ำมาจากเทือกเขาผีปันน้ำทางภาคเหนือของประเทศไทย ไหลผ่านมาทางจังหวัดแพร่จนถึงตัวอำเภอศรีสัชนาลัย ในช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัยจะมีแก่งอยู่ 3 แก่ง คือ แก่งหลวง แก่งคันนา และแก่งสัก มีร่องตาเต็มซึ่งเป็นร่องน้ำเก่าและปัจจุบันกลายเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองศรีสัชนาลัย ร่องน้ำนี้จะมีน้ำขังเมื่อฤดูฝนและน้ำจะแห้งในฤดูแล้ง

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

73 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่ค่อนข้างเรียบถึงสภาพพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยและสภาพพื้นที่เนินเขา พื้นที่ส่วนใหญ่ลาดเทจากด้านตะวันตกไปสู่ด้านตะวันออก ลักษณะของดินมีทั้งดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินดินดานและดินที่เกิดจากตะกอนของลำน้ำ

ลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณอำเภอศรีสัชนาลัย มีสภาพเป็นหินเชล (Shale) สี Olive หรือสี Grey จนถึงสี Dark Grey พบเป็นผืนใหญ่ตั้งแต่พื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีลักษณะ ของหินปูน (Limestone) สีจาง เนื้อละเอียดแทรกอยู่บริเวณตอนกลางของต้นน้ำห้วยแม่สานอีกด้วย

ลักษณะทางปฐพีวิทยานั้น เป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ (Residual soil) เกือบทั้งสิ้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชัน จึงจัดหน่วยของดินนี้ไว้เป็นที่ลาดเชิงซ้อน (Slope complex) ดินที่เกิดขึ้นจึงเป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ที่มีการพัฒนาดินไปได้ค่อนข้างดี ดินเหล่านี้ มีป่าเบญจพรรณขึ้น ปกคลุมโดยทั่วไป มีความชื้นค่อนข้างสูง

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

อายุทางโบราณคดี

ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 (กำหนดจากรูปแบบโครงสร้างของเตา)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 หน้า 3704 ในขณะนั้นเพียงแต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น (ชื่อที่ใช้ในประกาศฯคือ เตาทุเรียงป่ายาง) แต่ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด

ชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สายันต์ ไพรชาญจิตร กองโบราณคดี กรมศิลปากร ดำเนินการขุดค้นเตาบ้านป่ายาง ในโครงการร่วมระหว่างรัฐบาลไทย-ออสเตรเลีย โดยนำเสนอรายงานการขุดค้นเตาบ้านป่ายาง เป็นเอกสารเผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2527

ชื่อผู้ศึกษา : สีหวัฒน์ แน่นหนา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สีหวัฒน์ แน่นหนา จัดทำเอกสารทางวิชาการ เรื่อง เครื่องสังคโลกและเตาเผาเมืองศรีสัชนาลัย เพื่อประกอบการจัดทำแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร ปีพ.ศ.2527

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง โดยเตาทุเรียงบ้านป่ายาง เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งผลิต

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เตาในกลุ่มเตาบ้านป่ายางมีลักษณะและรูปร่างเป็นเตาประทุน หรือ เตาเผาชนิดที่ความร้อนไหลผ่านในแนวนอน ทำให้เตาชนิดนี้ให้ความร้อนสูงและสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี ใช้เผาภาชนะประเภทเนื้อแกร่งและเครื่องเคลือบทั่วไป

กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่ายาง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1.       กลุ่มเตายักษ์ เป็นกลุ่มเตาที่เรียงอยู่ใกล้กับตัวเมืองศรีสัชนาลัย มีเตาเรียงรายกันอยู่ประมาณ 15 เตา เป็นเตาที่นอกจากจะเผาภาชนะเครื่องถ้วยชามแล้ว บางแห่งยังใช้เผาประติมากรรมลอยตัวขนาดใหญ่ และเครื่องประดับสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น ยักษ์ เทวดา นาค มกร ช่อฟ้า ใบระกา เป็นต้น ชื่อเตายักษ์เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเนื่องจากพบประติมากรรมรูปยักษ์ภายในเตา

กลุ่มเตาตุ๊กตา อยู่ห่างจากกลุ่มเตายักษ์ประมาณ 600 เมตร เป็นกลุ่มเตาที่ผลิตประติมากรรมลอยตัวขนาดเล็กทั้งรูปคน รูปสัตว์ ชื่อกลุ่มเตาตุ๊กตาเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน เนื่องจากพบประติมากรรมขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก จำพวกตุ๊กตารูปบุคคล รูปสัตว์ โดยเฉพาะตุ๊กตารูปบุคคลที่ศีรษะขาดหายไป หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ตุ๊กตาเสียกบาล

คำว่า "สังคโลก" เป็นคำเรียกเครื่องถ้วย เฉพาะที่ผลิตที่จังหวัดสุโขทัย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 การเริ่มต้นการผลิตนั้น อาจจะมีการพัฒนาภายในชุมชนมาก่อน เพราะได้พบเครื่องปั้นดินเผาพื้นเมือง ทั้งที่เป็นภาชนะใช้สอยชนิดไม่เคลือบ และชนิดเคลือบ เครื่องถ้วยชนิดเคลือบ เนื้อดินปั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับพวกภาชนะที่ไม่เคลือบ คือ มีเนื้อดินปั้นหยาบหนาเป็นสีเทาอมม่วง และเคลือบ เฉพาะด้านใน เป็นต้นว่า จาน ไห และกระเบื้อง มุงหลังคา สีที่นิยมคือ สีเขียวมะกอก เครื่องถ้วยแบบนี้ส่วนใหญ่ไม่มีลาย แต่บางใบ ก็มีลายขูดเป็นเส้นๆ คล้ายลายหวีใต้เคลือบ

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 เข้าใจว่า ทางสุโขทัยได้เริ่มมีการติดต่อกับจีน โดยเฉพาะจีนใต้ และอันนัม หรือเวียดนาม ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างใกล้ชิด จึงน่าที่จะมีช่างจีน และช่างอันนัม ได้เข้ามาค้าขาย และตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณเตาเผา ทั้งที่เมืองสุโขทัยเก่า และที่ศรีสัชนาลัย จึงปรากฏว่า ได้มีการพัฒนาการผลิตเครื่องถ้วยใหม่ โดยพยายามลอกเลียนแบบ และลวดลายจากเครื่องถ้วยจีน ในยุคนั้น พบเครื่องสังคโลก มีทั้งที่ใช้ลายขุดขูดใต้เคลือบเซลาดอน ด้านในภาชนะเป็นลวดลายดอกบัว ลายดอกไม้ก้านขด ขอบริมของภาชนะผายออก มีทั้งขอบริมแบบเรียบ และมีลายคดโค้ง แบบลายกลีบบัว และด้านนอกตกแต่งเป็นลายกลีบบัว แบบนี้เป็นแบบที่จีนนิยมมาก ในสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1823- 1911) ซึ่งผลิตที่เตาหลงฉวน มณฑลเจ้อเจียง แต่หลังจากนั้นแล้ว ช่างก็ได้พัฒนาเครื่องสังคโลก ให้มีความงดงามตามรสนิยมของตน ดังนั้นจึงเห็น ได้ว่าเครื่องสังคโลกที่ผลิตในระยะหลังๆ จะมี ลักษณะที่เด่นเฉพาะตน แม้ว่าจะยังมีรูปแบบของจีนให้เห็นอยู่บ้างก็ตาม

แหล่งผลิตสังคโลกที่จังหวัดสุโขทัยมีกลุ่มแหล่งเตาผลิตขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม นั้นคือ กลุ่มเตาบ้านเกาะน้อยและกลุ่มเตาบ้านป่ายาง ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำยม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากแหล่งเตาริมแม่น้ำยมนี้ มีมากมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่ โอ่ง ไห ตุ่ม หม้อ พาน จาน ชาม คนโท คนที ตุ๊กตา เครื่องประดับอาคาร เช่น กระเบื้องมุง หลังคา กระเบื้องเชิงชาย ครอบอกไก่ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ บราลี เทพนม ตลอดจนทวารบาล นอกนั้นมีพวกตุ๊กตาเสียกบาล ตุ๊กตารูปสัตว์ รูป ปั้นคู่ชายหญิง เป็นต้น ซึ่งเตาเผาที่รู้จักมานานมี เตาป่ายาง และเตายักษ์

ลักษณะเนื้อดินปั้นของเครื่องสังคโลกที่เตาศรีสัชนาลัยนี้ มีคุณภาพดี เนื้อละเอียด ผลิตภัณฑ์มีฝีมือประณีตกว่าที่เตาสุโขทัย มีทั้งเคลือบสีเขียว มะกอก เขียวไข่กา (เซลาดอน) สีขาว สีน้ำตาล พื้นสีขาวเขียนลายบนเคลือบด้วยสีน้ำตาลทอง หรือพื้นขาวเขียนลายใต้เคลือบสีเทาหรือดำ

วิธีการตกแต่งลวดลายประดับ มีทั้งการ เขียนลายใต้เคลือบ เขียนลายบนเคลือบ เขียนลายในเคลือบ ขุดขูดให้เป็นลายปั้นลายติดที่ตัวผลิตภัณฑ์ แล้วเคลือบ และมีการใช้แม่พิมพ์ ลวดลายที่นิยมมีลายดอกไม้ โดยเฉพาะลายดอกบัว ลายดอกไม้ก้านขด ลายปลาคาบสาหร่าย ลายสังข์ แบบลายของจีน และลายแปลกอื่นๆ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. “กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่ายาง น.32.” ใน ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 2 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.aspx?id=0004275

กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535.

สายันต์ ไพรชาญจิตร, รายงานการขุดค้นเตาบ้านป่ายาง. โครงการร่วมระหว่างรัฐบาลไทย-ออสเตรเลีย, กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2527.

สีหวัฒน์ แน่นหนา. เครื่องสังคโลกและเตาเผาเมืองศรีสัชนาลัย, เอกสารทางวิชาการ งานจัดทำแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2527.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี