วัดสระปทุม ตต.7


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดสระปทุม

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ต.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย

ตำบล : ศรีสัชนาลัย

อำเภอ : ศรีสัชนาลัย

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.422767 N, 99.781711 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดสระปทุม ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากแนวทางหลวงหมายเลข 1201 (ศรีสัชนาลัย - สวรรคโลก) ประมาณ 100 เมตร

การเดินทางมายังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยนั้น สามารถเดินทางเข้ามาได้หลายวิธี ดังนี้

            1. รถโดยสารประจำทาง  โดยมีรถประจำทางของบริษัทสุโขทัยวินทัวร์จากกรุงเทพฯ (สถานีขนส่งหมอชิต)ทุกวัน

            2. รถไฟ เส้นทางกรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์ ลงที่สถานีสวรรคโลก จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทาง

            3. เครื่องบิน มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-สุโขทัย วันละ 2 เที่ยว

            4. รถส่วนตัว จากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101  เส้นสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ไปจนถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 17 - 19  เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ไป ประมาณ 1.5  กิโลเมตร เป็นระยะทาง 68  กิโลเมตร หรือ  หรือ จากอำเภอสวรรคโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ อีก 2  กิโลเมตร รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดสระปทุมเป็นวัดที่สำคัญของเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่นอกเขตกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2533 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO เมื่อ พ.ศ.2534 ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ในฐานะเมืองบริวารของสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่มาเยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่าง ดังนี้

            - ศูนย์บริการข้อมูลที่เปิดให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและประวัติศาสตร์ของเมืองศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

            - เจ้าหน้าที่นำชมโบราณสถาน/วิทยากร ที่คอยแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ และพร้อมนำชมโบราณสถานในเขตอุทยานฯทุกวัน

            - แผ่นพับประชาสัมพันธ์และป้ายอธิบายโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - เส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯที่สะดวกสบาย เชื่อมโยงโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - ป้ายบอกทางไปโบราณสถานเป็นระยะ

            - จักรยานและรถรางในพื้นที่ภายในกำแพงเมือง

อัตราค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 20 บาท และ 40 บาท(สำหรับบัตรรวม) สามารถเข้าชมภายในอุทยานฯ วัดชมชื่น และแหล่งอนุรักษ์เตาเผาสังคโลกหมายเลข 61 และ 42

ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 100 บาท และ 220 บาท (สำหรับบัตรรวม)

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คอยบริการนักท่องเที่ยวด้วย เช่น ค่าเช่าจักรยานคันละ 20 บาท สำหรับชาวไทย, ค่ารถรางคนละ 20 บาท สำหรับชาวไทย และ 40 บาทสำหรับชาวต่างชาติ หรือเหมาคันละ 300 บาท (ไม่เกิน 15 คน) *จักรยานและรถรางเป็นสัมปทานเอกชน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้*

สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าชมได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โทรศัพท์ 055 679211

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

วัดสระปทุม เป็นโบราณสถานที่อยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ซึ่งมีรายละเอียดของการประกาศขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร รายละเอียดดังต่อไปนี้

            1. กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดเขาพนมเพลิง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า 3702 โดยในขณะนั้น ประกาศขึ้นทะเบียนเพียงแค่ชื่อเท่านั้น (ชื่อที่ใช้ในประกาศฯ คือ  วัดสระประทุม) ไม่ได้กำหนดขอบเขตของโบราณสถานแต่อย่างใด

            2. กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง  โดยโบราณสถานวัดสระปทุมเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดสระปทุมเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ในอำเภอศรีสัชนาลัย ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ห่างจากแนวถนนหลวงหมายเลข 1201 (ศรีสัชนาลัย - สวรรคโลก) ออกมาประมาณ 100 เมตร สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำยม เชิงเขาพระศรีและเขาใหญ่ อยู่นอกเมืองศรีสัชนาลัยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 450 เมตร ห่างจากประตูประตูผีหรือประตูสะพานจันทร์ไปทางทิศใต้ประมาณ 800 เมตร ห่างจากวัดราหูมาทางทิศใต้ประมาณ 500 เมตร ห่างจากแม่น้ำยมมาทางทิศตะวันตกประมาณ 1.5 กิโลเมตร หน้าวัดหันไปทางทิศตะวันออก

พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสุโขทัยจะเป็นที่ราบลุ่ม ทางตอนเหนือและตอนใต้ของจังหวัดมีลักษณะเป็นที่ราบสูง มีเขาหลวงเป็นภูเขาที่มีความสูงที่สุด วัดจากระดับน้ำทะเลมีความสูงประมาณ 1,200 เมตร โดยมีแนวภูเขายาวเป็นพืดทางด้านทิศตะวันตก ส่วนพื้นที่ตอนกลางของจังหวัดจะเป็นที่ราบ มีแม่น้ำยมไหลผ่านจากทิศเหนือจรดทิศใต้ ผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมืองสุโขทัย และอำเภอกงไกรลาศ ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดสุโขทัยยาวประมาณ 170 กิโลเมตร

            อำเภอศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของจังหวัดสุโขทัย มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้

            1. ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอวังชิ้นและอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่)

            2. ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอลับแลและอำเภอตรอน (จังหวัดอุตรดิตถ์)

            3. ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอศรีนคร อำเภอสวรรคโลก และอำเภอทุ่งเสลี่ยม

            4. ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเถิน (จังหวัดลำปาง)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

80 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณอำเภอศรีสัชนาลัย มีสภาพเป็นหินเชล (Shale) สี Olive หรือสี Grey จนถึงสี Dark Grey พบเป็นผืนใหญ่ตั้งแต่พื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีลักษณะ ของหินปูน (Limestone) สีจาง เนื้อละเอียดแทรกอยู่บริเวณตอนกลางของต้นน้ำห้วยแม่สานอีกด้วย

ลักษณะทางปฐพีวิทยานั้น เป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ (Residual soil) เกือบทั้งสิ้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชัน จึงจัดหน่วยของดินนี้ไว้เป็นที่ลาดเชิงซ้อน (Slope complex) ดินที่เกิดขึ้นจึงเป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ที่มีการพัฒนาดินไปได้ค่อนข้างดี ดินเหล่านี้ มีป่าเบญจพรรณขึ้น ปกคลุมโดยทั่วไป มีความชื้นค่อนข้างสูง

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19-21 (กำหนดโดยลักษณะทางสถาปัตยกรรม)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 หน้า 3702 ในขณะนั้นเพียงแต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น (ชื่อที่ใช้ในประกาศฯคือ วัดสระประทุม) แต่ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง โดยโบราณสถานวัดสระปทุม เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดแต่งและบูรณะมณฑป

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดแต่งและบูรณะทั้งวัด

ชื่อผู้ศึกษา : ทรงยศ วีระทวีมาศ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรดำเนินการสำรวจรูปแบบของมณฑปในเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งมณฑปแบบสุโขทัยได้รับอิทธิพลทางศิลปะและสถาปัตยกรรมจากลังกาและพม่า

ชื่อผู้ศึกษา : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเผยแพร่ รายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ใน พ.ศ. 2549

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม จัดทำรูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถาน ของพื้นที่มรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และตีพิมพ์เผยแพร่

ชื่อผู้ศึกษา : นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดทำหนังสือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดี ทั้งการสำรวจ การขุดค้นและการขุดแต่งที่ผ่านมาทั้งหมด ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าใจอดีตของแคว้นสุโขทัยได้มากยิ่งขึ้น โดยในหนังสือนำชมจะมีเนื้อหาของประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณแต่ละแห่ง รวมทั้งรายละเอียดของโบราณสถานแต่ละแห่ง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถีงวัดสระปทุม แต่วัดที่ทรงกล่าวถึงมีลักษณะตรงกับวัดพญาดำ จึงไม่น่าจะใช่วัดสระปทุมในปัจจุบัน

โบราณสถานภายในวัดสระปทุมเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดกลาง ก่อด้วยศิลาแลง ประกอบไปด้วย มณฑป ด้านหน้ามีทางเข้ามณฑปก่อด้วยศิลาแลง เจดีย์ประธานทรงกลมอยู่ด้านหลังมณฑป วิหารอยู่ด้านหน้ามณฑป และมีทางเดินปูศิลาแลงตรงไปยังวัดพญาดำ โบราณสถานทั้งหมดถูกล้อมรอบด้วยคูน้ำ รายละเอียดโดยสังเขปของโบราณสถานแต่ละหลังมีดังนี้

1)    มณฑป เป็นอาคารขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลง ผังพื้นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในแบ่งห้องด้านหน้าและด้านหลัง ห้องด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ด้วยหลังเป็นพระพุทธรูปยืนยกพระหัตถ์ซ้าย มุมห้องยื่นออกมาเป็นมุมฉาก ผนังหนามาก หลังคารูปทรงเป็นทรงจั่วโค้งแอ่นลง เลียนแบบเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ลดระดับหลังคาทั้งหน้าและหลังลงมาเล็กน้อย และลดระนาบหลังคาในทางยาวลงเป็นลักษณะของหลังคาชั้นปีกนก ด้านหน้าของมณฑปติดกับฐานวิหาร ผนังอาคารปิดทึบ 3 ด้าน มีทางเข้าออกด้านหน้าทิศตะวันออก ขนาดมณฑปกว้าง ยาวด้านละ 11.5 เมตร

2)    เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ ประกอบด้วยฐานเขียงกลม 3 ชั้น รองรับชั้นมาลัยเถา ถัดขึ้นไปพังทลายลงมาหมด ติดฐานเขียงชั้นล่างของเจดีย์ในแต่ละด้านมีซุ้มพระประดับอย่างด้านละ 1 ซุ้ม ขนาดฐานล่างสุดของเจดีย์มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 9.5 เมตร ส่วนฐานล่างนี้แปลกกว่าเจดีย์ทรงกลมที่พบในเมืองศรีสัชนาลัย เนื่องจากฐานชั้นแรกก็ทำเป็นฐานวงกลมโดยไม่ขึ้นฐานสี่เหลี่ยมเหมือนเจดีย์ทรงกลมองค์อื่นๆ ที่พบในเมืองศรีสัชนาลัย ในการขุดแต่งได้พบพระพุทธรูปลีลาบุทอง 2 องค์

3)    วิหาร เหลือเพียงฐานอาคาร ก่อด้วยศิลาแลง เป็นฐานบัวคว่ำเตี้ยๆ ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นทางด้านหน้า และเชื่องต่อกับมณฑปทางด้านหลัง มีระเบียงทางด้านข้างของวิหารทั้ง 2 ข้าง ขนาดอาคารกว้างประมาณ 12 เมตร ยาวประมาณ 24 เมตร

4)    เจดีย์ราย มี 2 องค์ อยู่ด้านหลังเกือบชิดมณฑป สภาพพังทลายมาก เหลือเฉพาะส่วนฐาน

5)    คูน้ำล้อมรอบโบราณสถานทั้งหมดเป็นพื้นที่รู้สี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 45 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. “วัดสระปทุม ตต.7.” ใน ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 2 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.aspx?id=0004289

กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานศรีสัชนาลัย.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535.

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

ทรงยศ วีระทวีมาศ.“มณฑปแบบสุโขทัยในศรีสัชนาลัย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.

นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (Guide to Sukhothai Si Satchanalai and Kamphaeng Phet historical parks). กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2553.

ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมโบราณวัตถุสถาน ในอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. พระนคร : กรมศิลปากร, 2513.

ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.

ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม. รายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนา ลัย จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.

“เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร.” ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก (The World Heritage Information Center). (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture.aspx

สด แดงเอียด. เมืองเชลียง เชียงชื่น ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2536.

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

เอนก สีหามาตย์. มรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี