เนินปราสาท


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย

ตำบล : เมืองเก่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.016895 N, 99.705547 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองแม่ลำพัน, คลองเสาหอ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เนินปราสาทตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย หรือภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นใน ติดกับวัดมหาธาตุ 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานเนินปราสาทตั้งอยู่ในกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

อัตราค่าเข้าชม  นักท่องเที่ยวชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 70 บาท ชาวต่างชาติ 350 บาท

ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า

การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที

หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3704 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (เนินปราสาท)

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เนินปราสาทเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ติดกันกับวัดมหาธาตุ โดยอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ ภายในกำแพงเมืองสุโขทัย บริเวณเกือบกึ่งกลางเมือง (ค่อนมาทางทิศใต้เล็กน้อย)

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา

จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน

พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

65 เมตร

ทางน้ำ

คลองเสาหอ, คลองแม่ลำพัน, แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2520 : 41) ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงสำรวจเมืองเก่าสุโขทัย รวมถึงเนินดินรูปสี่เหลี่ยมรีที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นลานปราสาท

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2524

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดค้นเนินปราสาท

ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน, พระราชวัง/วัง

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เนินปราสาทเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ติดกันกับวัดมหาธาตุ โดยอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ ภายในกำแพงเมืองสุโขทัย บริเวณเกือบกึ่งกลางเมือง (ค่อนมาทางทิศใต้เล็กน้อย)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2520 : 41) ทรงสำรวจเมืองเก่าสุโขทัยเมื่อ พ.ศ.2450 และทรงสันนิษฐานว่า เนินดินรูปสี่เหลี่ยมรีที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ น่าจะเป็นลานปราสาทและปราสาท

อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรได้ขุดแต่งโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.2526 พบฐานอาคารอบฐานบัวคว่ำบัวหงาย ลักษณะเป็นฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ขนาด 27.5x51.5 เมตร มีบันไดที่ด้านหน้าและด้านหลังอย่างละ 1 แห่ง (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 15)

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (2546 : 15) เสนอว่า การขุดค้นทางโบราณคดีไม่พบหลักฐานที่พอจะบ่งชี้ได้ว่าสถานที่นี้เป็นปราสาทราชวัง อีกทั้งแผนที่เก่าทำในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็บ่งบอกว่าเป็นบริเวณเดียวกันกับวัดมหาธาตุ คือเป็นสิ่งก่อสร้างเนื่องในทางศาสนาของวัดมากกว่าเป็นวัง แต่เดิมวังของกษัตริย์สุโขทัยควรเป็นตำหนักไม้ ตำแหน่งที่ตั้งควรอยู่เหนือศาลตาผาแดง ติดกับวัดสรศักดิ์ทางทิศตะวันตก ซึ่งศิลาจารึกวัดสรศักดิ์กล่าวว่าเป็นตำหนักของเจ้านายสุโขทัย เมื่อตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งเช่นนี้จะตรงกันกับตำแหน่งของพระราชวังกษัตริย์แบบเขมรที่เมืองพระนครหลวง หรือนครธม

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 35) เสนอว่าหลักฐานทางโบราณคดีที่กรมศิลปากรขุดค้นพบที่เนินปราสาท เช่น ภาชนะดินเผาประเภทเครื่องเคลือบที่พบตั้งแต่ชั้นดินอยู่อาศัยระยะแรกสุดสมัยก่อนสุโขทัย โดยเฉพาะเครื่องถ้วยราชวงศ์ซ้อง เครื่องถ้วยชิงไป๋ที่มีขนาดเล็กจำพวกกระปุก ตลับ โดยพบร่วมกับเครื่องถ้วยเขมร นอกจากนั้นในชั้นดินอื่นๆ ยังพบเครื่องถ้วยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง เครื่องถ้วยสุโขทัย เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นเขตที่อยู่อาศัย มิใช่ศาสนสถาน เครื่องถ้วยที่พบเป็นเครื่องถ้วยที่มีคุณภาพดี พบจำนวนมาก แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่พบน้อยหรือพบเพียงเครื่องปั้นดินเผาไม่เคลือบที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน ประกอบกับที่ตั้งของบริเวณนี้เป็นที่สูง และอาจเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเนินปราสาทนี้น่าจะเป็นชนชั้นสูงหรืออาจเป็นเขตพระราชวังได้ บริเวณอาคารอาจเปรียบเทียบได้กับท้องพระโรงของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 ในพระราชวังเมืองโปลนนารุวะ หรือถ้าไม่เป็นพระราชวังก็อาจเป็นที่รักษาโรคหรือประกอบพิธีกรรมรักษาโรค เพราะพบพวกตลับยา ตามข้อสันนิษฐานของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ส่วนฐานอาคารที่พบ ยังไม่สามารถใช้สรุปได้แน่ชัดว่าเป็นฐานของอะไร เพราะเป็นเพียงฐานอาคารยกสูง ส่วนบนจึงน่าจะเป็นอาคารไม้ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 35)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี