ศาลหลักเมือง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : ศาลหลักเมืองสุโขทัย

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย

ตำบล : เมืองเก่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.018109 N, 99.703829 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเสาหอ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โบราณสถานศาลหลักเมืองตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย หรือภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยชั้นใน ติดกับวัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานศาลหลักเมืองตั้งอยู่ในกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

อัตราค่าเข้าชม  นักท่องเที่ยวชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 70 บาท ชาวต่างชาติ 350 บาท

ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า

การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที

หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574 

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานศาลหลักเมืองตั้งอยู่ติดด้านทิศเหนือของวัดมหาธาตุ โดยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของคูน้ำด้านเหนือของวัดมหาธาตุ ภายในกำแพงเมือง กลางเมืองสุโขทัย 

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา

จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน

พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

63 เมตร

ทางน้ำ

คลองเสาหอ, แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2520 : 39-40) ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงสำรวจเมืองเก่าสุโขทัย รวมถึงโบราณสถานที่อยู่ทางเหนือของวัดมหาธาตุ ชาวบ้านเรียกว่า ศาลกลางเมือง ทรงโปรดให้พระวิเชียรปราการไปขุดตรวจพบว่ามีเสาศิลาแลงตั้งอยู่ทั้งสี่มุมๆละ 2 เสาซ้อน ที่ตรงกลางมีหลุมเข้าใจว่าเป็นหลุมที่ฝังนิมิตในหลุมนี้มีศิลา แผ่นแบน มีลายที่ลางเลือน ทรงสันนิษฐานว่าเป็นหลักเมืองและศาลหลักเมือง

ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

โบราณสถานศาลหลักเมืองตั้งอยู่ติดด้านทิศเหนือของวัดมหาธาตุ โดยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของคูน้ำด้านเหนือของวัดมหาธาตุ ภายในกำแพงเมือง กลางเมืองสุโขทัย 

ลักษณะโบราณสถานเป็นอาคารขนาดเล็ก ก่ออิฐ ยกพื้นสูง ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขและบันไดทางขึ้นที่ด้านหน้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านบนมีเสากลมก่อขึ้นจากศิลาแลง เดิมหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา

ไม่พบหลักฐานในศิลาจารึกกล่าวถึงหลักเมือง อีกทั้งไม่ปรากฏแนวคิดเกี่ยวกับหลักเมืองในสมัยสุโขทัย แต่ชาวบ้านเรียกที่นี่ว่าหลักเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ.2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้พระวิเชียรปราการไปขุดตรวจพบว่า มีเสาศิลาแลงตั้งอยู่ทั้งสี่มุมๆละ 2 เสาซ้อน ที่ตรงกลางมีหลุมเข้าใจว่าเป็นหลุมที่ฝังนิมิตในหลุมนี้มีศิลา แผ่นแบน มีลายที่ลางเลือน บางมีอาจเป็นแผ่นดวงเมือง ข้อที่ทรงสันนิษฐานนี้จึงกลายเป็นความเชื่อว่า ที่นี่เป็นศาลหลักเมืองจริงๆ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 17)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี