โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย
ตำบล : เมืองเก่า
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : สุโขทัย
พิกัด DD : 16.997466 N, 99.708472 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม
โบราณสถานวัดเจดีย์สี่ห้องตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกเมืองสุโขทัย โดยห่างจากประตูนะโม ประตูเมืองทางทิศใต้ ไปตามถนน มุ่งหน้าทิศใต้หรือออกนอกเมืองไปตามถนนประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบวัดเจดีย์สี่ห้องทางซ้ายมือ
โบราณสถานวัดเจดีย์สี่ห้องตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกเมืองสุโขทัย ห่างจากประตูนะโม ประตูเมืองทางทิศใต้ ไปทางทิศใต้ตามเส้นทางถนนประมาณ 1.5 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามฝั่ถนนกับวัดเชตุพน
ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม ดูแลรักษาโบราณสถานโดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร
ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า
การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที
หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3706 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (วัดเจดีย์สี่ห้อง)
ขึ้นทะเบียนของ UNESCO
วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574
โบราณสถานวัดเจดีย์สี่ห้องตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกเมืองสุโขทัย โดยห่างจากประตูนะโม ประตูเมืองทางทิศใต้ ไปทางทิศใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ห่างจากวัดเชตุพนไปทางทิศตะวันออกราว 100 เมตร พื้นที่โดยรอบเป็นเขตโบราณสถานและพื้นที่เกษตรกรรม
เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา
จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน
พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ
คลองเสาหอ, คลองยาง, แม่น้ำยม
เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)
ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2520 : 59) ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงสำรวจเมืองเก่าสุโขทัย รวมถึงโบราณสถานที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดเจดีย์สี่ห้อง ที่อยู่ห่างจากวัดเชตุพนไปทางทิศตะวันออก 2 เส้น ระหว่างวัดทั้งสองมีคูน้ำคั่น ซึ่งอาจขุดขึ้นภายหลัง ภายในวัดปรากฏเจดีย์ 1 องค์ ฐานรององค์ระฆังทำเป็นคูหาสี่ทิศ มีอุโบสถ 1 หลัง อยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นวัดเจดีย์สี่ห้องน่าจะเป็นวัดเดียวกับวัดเชตุพน เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กันและวัดเชตุพนไม่ปรากฏซากวิหารหรืออุโบสถ และวัดเจดีย์สี่ห้องอาจเป็นวัดที่สร้างขึ้นภายหลังวัดเชตุพนที่หมดความสำคัญลงแล้วชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
ผลการศึกษา :
ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (2521) ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2540) เผยแพร่หนังสือศิลปะสุโขทัย ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงวัดตระพังทองชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ผลการศึกษา :
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมทั้งวัดเจดีย์สี่ห้องชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชรโบราณสถานวัดเจดีย์สี่ห้องตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกเมืองสุโขทัย ห่างจากประตูนะโม ประตูเมืองทางทิศใต้ ไปทางทิศใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ห่างจากวัดเชตุพนไปทางทิศตะวันออกราว 100 เมตร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2520 : 59) ทรงสันนิษฐานว่า วัดเจดีย์สี่ห้องที่อยู่ห่างจากวัดเชตุพนไปทางทิศตะวันออก 2 เส้นนั้น อาจเป็นวัดเดียวกัน เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กันและวัดเชตุพนไม่ปรากฏซากวิหารหรืออุโบสถ และวัดเจดีย์สี่ห้องอาจเป็นวัดที่สร้างขึ้นภายหลังวัดเชตุพนที่หมดความสำคัญลงแล้ว
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 43-44) ให้ข้อคิดเห็นว่าวัดเจดีย์สี่ห้องเป็นคนละวัดกับวัดเชตุพนที่อยู่ติดกัน เนื่องจากทั้งวัดเชตุพนและวัดเจดีย์สี่ห้องต่างก็มีคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของวัดสมัยสุโขทัยที่จะมีคูน้ำล้อมรอบเป็นขอบเขต ส่วนอุโบสถที่ตั้งยู่ทางทิศตะวันออกนั้นมีคูน้ำล้อมรอบต่างหาก อาจเป็นอุโบสถที่ใช้ร่วมกันระหว่างวัดเชตุพนกับวัดเจดีย์สี่ห้อง หรืออาจเป็นอุโบสถของวัดอื่นอีกวัดหนึ่งก็ได้ เพราะบริเวณรอบอุโบสถหลังนี้ถูกรบกวนโดยการปรับหน้าดินจากการทำเกษตรกรรมแล้ว
รูปแบบของเจดีย์สี่ห้องน่าจะเป็นเจดีย์ที่มีวิวัฒนาการในระยะหลังของสุโขทัย โดยดูจากฐานเขียงที่ยกสูงขึ้น เหนือส่วนฐานขึ้นไปพังทลายและได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมด ไม่สามารถศึกษารูปแบบและกำหนดอายุได้แน่ชัด องค์ระฆังเป็นทรงระฆังกลม ส่วนยอดหักพังลง คงปรากฏส่วนปล้องไฉนตกอยู่ที่ฐานเจดีย์ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 44 ; พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 28)
สิ่งสำคัญของวัดนอกจากจะมีวิหาร เจดีย์ประธาน และเจดีย์รายต่างๆ แล้ว ที่ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ ปั้นเป็นรูปบุคคล รูปบุรุษและสตรี สวมอาภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ กัน ในมือถือภาชนะมีพันธุ์พฤกษางอกโผล่พ้นออกมาแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญงอกงาม ภาชนะนี้เรียกว่า หม้อปูรณฆฏะ นอกจากนั้นก็มีปูนปั้นรูปช้างและสิงห์ประดับ รูปบุคคลที่กล่าวนี้อาจหมายถึงมนุษยนาค ซึ่งถือว่าเป็นเทพอยู่ในโลกบาดาลตามแบบอย่างคติที่นิยมในลังกา (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 28) และมีพบที่สุทัยชัดเจนเพียงแห่งเดียว การประดับมนุษยนาคสลับกับการสิงห์ขี่ช้างแสดงให้เห็นถึงรูปแบบและคติการสร้างที่เป็นแบบพื้นบ้านแล้ว ดังนั้นวัดนี้จึงน่าจะอยู่ในสมัยสุโขทัยตอนปลาย อาจสัมพันธ์กับกลุ่มเจดีย์ที่สร้างอยู่บริเวณเดียวกันคือ วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม สร้างเมื่อ พ.ศ.1947
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.
สันติ เล็กสุขุม. งานช่างหลวงแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542.
สันติ เล็กสุขุม. โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐาน มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปสุโขทัย. กรุงเทพฯ :คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม ยูเนสโก, 2521.