โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : เตาเผาเครื่องสังคโลก, เตาทุเรียงสุโขทัย
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย
ตำบล : เมืองเก่า
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : สุโขทัย
พิกัด DD : 17.032635 N, 99.696505 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองแม่ลำพัน, ลำน้ำแม่โจน
หากเดินทางจากกำแพงเมืองด้านทิศเหนือของเมืองสุโขทัยหรือประตูศาลหลวง ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1113 มุ่งหน้าทิศเหนือหรือมุ่งหน้าออกนอกเมือง ไปตามถนนประมาณ 700 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าซอยทางซ้ายมือ (เป็นถนนเลียบคันดินและคูน้ำด้านทิศเหนือของวัดพระพายหลวง) ประมาณ 450 เมตร จะพบวัดเตาทุเรียงทางขวามือ และประมาณ 700 เมตร จะพบโบราณสถานเตาทุเรียง
กลุ่มโบราณสถานเตาเผาเครื่องเคลือบดินเผา ตั้งอยู่ติดกับวัดพระพายหลวง โดยอยู่นอกคูน้ำและคันดินด้านทิศเหนือของวัดพระพายหลวง นอกเมืองสุโขทัยด้านทิศเหนือ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม ดูแลรักษาโบราณสถานโดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร
ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า
การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที
หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3705 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (เตาทุเรียง)
ขึ้นทะเบียนของ UNESCO
วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574
แหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยชามสังคโลกของสุโขทัยพบอยู่ทางด้านเหนือ ติดกับวัดพระพายหลวง โดยเฉพาะในบริเวณคันดินด้านทิศเหนือของวัดพระพายหลวง หรือบริเวณริมฝั่งคูน้ำแม่โจน ห่างจากคูเมืองด้านทิศเหนือของเมืองสุโขทัยไปประมาณ 800 เมตร บางส่วนริมคันดินด้านทิศตะวันตกของวัดพระพายหลวง
เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา
จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน
พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ
ลำน้ำแม่โจน, คลองแม่ลำพัน, แม่น้ำยม
เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)
ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
ผลการศึกษา :
ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (2521) ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”สังคโลก เป็นชื่อที่มีความหมายถึงเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในสมัยสุโขทัย ทั้งในเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัย เป็นการทำเครื่องถ้วยชามที่เคลือบสีต่างๆ เช่น สีเขียวไข่กา สีน้ำตาล สีใสเคลือบทับลายเขียนรูปต่างๆ เป็นอาทิ สังคโลกเป็นสินค้าที่ส่งไปขายยังนอกอาณาเขตสุโขทัยอย่างกว้างขวาง ทั้งในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน เช่นที่อยุธยา แถบภาคใต้ และยังได้พบในแถบฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่นด้วย (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 22)
แหล่งเตาเมืองสุโขทัยตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือของเมืองสุโขทัย โดยกระจัดกระจายบนริมฝั่งคูน้ำแม่โจน พบทั้งสองฝั่งถนนในปัจจุบัน เป็นเตาก่ออิฐ ก่อบนคันดินหรือเนินสูง สำรวจพบ 52 เตา
เตาเผาที่สุโขทัยส่วนใหญ่เป็นเตาที่ก่อขึ้นจากอิฐหรืออิฐดิบ ไม่ใช่เตาขุดที่ขุดเข้าไปในเนินดินธรรมชาติแบบเตาบางแห่งที่ศรีสัชนาลัย เพราะในการขุดค้นของกรมศิลปากรพบเตาอิฐนี้ก่ออยู่บนชั้นดินดาน ซึ่งเป็นชั้นดินล่างสุดของสุโขทัย (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 22)
เตาเผาภาชนะที่สุโขทัยส่วนใหญ่เป็นเตาเผาขนิดระบายความร้อนขึ้น (Updraft kiln) เป็นเตากลม มีขนาดเล็ก พื้นเจาะรูเพื่อระบายความร้อนจากช่องใส่ไฟที่อยู่ด้านล่างขึ้นมา บางครั้งเรียกว่า “เตาตะกรับ” ความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้จะสูงพอที่จะใช้เผาภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) อย่างไรก็ตาม เตาลักษณะนี้จะใช้ในการผลิตภาชนะที่เผาด้วยอุณหภูมิต่ำแบบเนื้อดิน (Earthenware) หรืออาจเป็นเตาที่ใช้เผาภาชนะครั้งแรก (Biscuit firing) ก่อนที่จะนำไปเผาเคลือบ (ปิยะวดี ลิมปะพันธุ์ 2527 : 36)
นอกจากนั้น ยังมีเตาเผาชนิดทางลมร้อนเดินผ่าน หรือระบายความร้อนในแนวนอน (Crossdraft kiln) ขนาดใหญ่ โดยปล่องระบายความร้อนและช่องไฟอยู่คนละแนวกันเพื่อระบายความร้อนในแนวนอนเรียก “เตาประทุน” พบจำนวน 10 เตา เตาชนิดนี้ใช้ผลิตภาชนะเนื้อแกร่ง (Stoneware) ลักษณะเตาแบบนี้จะมีหลังคาโค้งรี ก่อทึบ ตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดเอียงประมาณ 10-30 องศา จากส่วนที่เป็นปล่องระบายควันลงไปสสู่ส่วนที่เป็นห้องวางภาชนะและห้องเผาไหม้ โครงสร้างของเตาจะมีรูปร่างคล้ายเรือที่มีประทุนหรือหลังเต่า มีการใช้กี๋ท่อเข้ามาใช้ในการศ่อมแซมส่วนของเตาที่ชำรุด เตาเผาชนิดนี้จะเผาไหม้ความร้อนได้สูงถึง 1200 องศาเซลเซียส (ปิยะวดี ลิมปะพันธุ์ 2527 : 36)
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.
ปิยะวดี ลิมปะพันธุ์. “รูปแบบและวิวัฒนาการเตาเผาสังคโลกบ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.