วัดตระพังเงิน


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย

ตำบล : เมืองเก่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.016902 N, 99.701288 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองแม่ลำพัน, คลองเสาหอ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โบราณสถานวัดตระพังเงินตั้งอยู่ในกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองเก่า ทิศตะวันออกของวัดอยู่ติดกับวัดมหาธาตุ ส่วนด้านทิศเหนือติดกับวัดสระศรี

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานวัดตระพังเงินตั้งอยู่ในกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

อัตราค่าเข้าชม  นักท่องเที่ยวชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 70 บาท ชาวต่างชาติ 350 บาท

ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า

การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที

หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3704 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (วัดกระพังเงิน)

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานวัดตระพังเงินตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย บริเวณสระน้ำที่เรียกว่า ตระพังเงิน โดยตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง ค่อนไปทางตะวันตกเล็กน้อย ทางทิศตะวันออกของวัดติดกับวัดมหาธาตุ ส่วนทิศเหนือติดกับวัดสระศรี

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา

จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน

พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

65 เมตร

ทางน้ำ

คลองเสาหอ, คลองแม่ลำพัน, แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2520 : 41) ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงกล่าวถึงสระน้ำ “ตระพังเงิน” และพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุที่ “มีกำแพงแต่ไม่มีคู” และ “มีเจดีย์วิหารชิ้นเล็กชิ้นน้อยเรียงรายระเกะระกะไปจนเดินหลีกแทบไม่พ้น”

ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (2521) ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2540) เผยแพร่หนังสือศิลปะสุโขทัย ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงวัดตระพังเงิน

ชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมทั้งวัดตระพังเงิน

ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2551) สร้างแบบสันนิษฐานของวัดตระพังเงิน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

โบราณสถานวัดตระพังเงินตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย บริเวณสระน้ำที่เรียกว่า ตระพังเงิน โดยตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง ค่อนไปทางตะวันตกเล็กน้อย ทางทิศตะวันออกของวัดติดกับวัดมหาธาตุ ส่วนทิศเหนือติดกับวัดสระศรี

โบราณสถานแห่งนี้ไม่มีกำแพงแก้ว ประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร และโบสถ์กลางน้ำ

โบราณสถานของวัดนี้มีเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์เป็นประธาน

ลักษณะเด่นของเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่วัดนี้คือ มีจระนำที่เรือนธาตุหรือส่วนรองรับยอดทรงดอกบัวตูมทั้ง 4 ด้าน สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปยืนและปางลีลา ซึ่งแตกต่างไปจากเจดีย์ทรงดอกบัวตูมในที่อื่นๆ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 16)

วิหารอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน มีหลังคาทรงจั่ว คงเป็นวิหารโถง (สันติ เล็กสุขุม 2551 : 43)

เจดีย์รายตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเจดีย์ประธานและวิหาร มีช่องซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป หลังคาชั้นซ้อนสอบลดหลั่นขึ้นไป เรียกว่ “เจดีย์ทรงวิมาน” พบได้เพียงบางวัดของราชธานีสุโขทัย และบางวัดในเมืองศรีสัชนาลัย (สันติ เล็กสุขุม 2551 : 43)

ด้านตะวันออกของเจดีย์และวิหารมีสระน้ำขนาดใหญ่ ชื่อว่า ตระพังเงิน ตรงกลางสระมีเกาะและมีโบสถ์ตั้งอยู่กลางเกาะ คงเป็นอาคารโถงเช่นเดียวกับวิหาร (สันติ เล็กสุขุม 2551 : 43) มีน้ำล้อมรอบ ตามคตินทีสีมาเช่นเดียวกับวัดสระศรีและวัดตระพังทอง ปัจจุบันมีทางเดินเชื่อมจากฝั่งสู่เกาะทางทิศเหนือ

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.

ปัทมา เอกม่วง. “การเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรมบนรอยพระพุทธบาทที่วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยาและที่วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.

สันติ เล็กสุขุม. งานช่างหลวงแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542.

สันติ เล็กสุขุม. โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐาน มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปสุโขทัย. กรุงเทพฯ :คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม ยูเนสโก, 2521.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง