วัดสรศักดิ์


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย

ตำบล : เมืองเก่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.022981 N, 99.704558 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองแม่ลำพัน, คลองเสาหอ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โบราณสถานวัดสรศักดิ์ตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย ในพื้นที่ด้านทิศเหนือของเมือง ใกล้กับประตูศาลหลวง ประตูเมืองด้านทิศเหนือ ด้านทิศเหนือของวัดสรศักดิ์ติดกับวัดซ่อนข้าว ทิศตะวันตกติดกับศาลตาผาแดง  

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานวัดสรศักดิ์ตั้งอยู่ในกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

อัตราค่าเข้าชม  นักท่องเที่ยวชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 70 บาท ชาวต่างชาติ 350 บาท

ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า

การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที

หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

1.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 76 ตอนที่ 98 วันที่ 27 ตุลาคม 2502 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณวัตถุสถานสำหรับชาติ (เมืองสุโขทัยเก่าและโบราณสถานที่อยู่ภายในเมือง)

2.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 112 วันที่ 17 มิถุนายน 2518 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน (เมืองสุโขทัยเก่าและโบราณสถานที่อยู่ภายในบริเวณตามผังเมืองเก่าสุโขทัย)

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานวัดสรศักดิ์ตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย ในพื้นที่ด้านทิศเหนือของเมือง ใกล้กับประตูศาลหลวง ประตูเมืองด้านทิศเหนือ (ห่างจากประตูศาลหลวงมาทางทิศใต้ประมาณ 150 เมตร) ด้านทิศเหนือของวัดสรศักดิ์ติดกับวัดซ่อนข้าว ทิศตะวันตกติดกับศาลตาผาแดง  

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา

จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน

พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

63 เมตร

ทางน้ำ

คลองเสาหอ, คลองแม่ลำพัน, แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย, สมัยสุโขทัยตอนปลาย

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.1955, พ.ศ.1960

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2498

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรพบจารึกวัดสรศักดิ์ขณะขุดแต่งและบูรณะบริเวณมุมตระพังสอ ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ

ชื่อผู้ศึกษา : ฉ่ำ ทองคำวรรณ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508, พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ฉ่ำ ทองคำวรรณ ศึกษาและเผยแพร่ผลการศึกษาจารึกวัดสรศักดิ์

ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (2521) ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานวัดสรศักดิ์

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2540) เผยแพร่หนังสือศิลปะสุโขทัย ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงวัดสรศักดิ์

ชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมถึงวัดสรศักดิ์

ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2551) สร้างแบบสันนิษฐานของวัดสรศักดิ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

จารึกวัดสรศักดิ์ เป็นแผ่นหินชนวน รูปทรงเสมา จารึกมี 1 ด้าน 35 บรรทัด จารึกเป็นตัวอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย เนื้อหาของจารึกกล่าวถึงนายอินทรศักดิ์หรืออินทรสรศักดิ์หรืออินทราสรศักดิ์ ขอพระราชทานที่ดินขนาด 15x30 วา จากเจ้าท่าน ออกญาธรรมราชา (พญาไสลือไท) เพื่อสร้างพระอารามถวาย สร้างมหาเจดีย์มีช้างประกอบด้วยพระเจ้าหน่อยตีนและวิหารหอพระ สร้างใน พ.ศ.1955 และสร้างเสร็จใน พ.ศ.1960 ครั้นสร้างสำเร็จแล้วจึงให้นิมนต์พระมหาเถรธรรมไตรโลกฯ จากตำบลดาวขอน ผู้เป็นน้าของออกญาธรรมราชา เจ้าเมืองสุโขทัย ให้มาจำพรรษาที่วัดนี้ด้วย (ฉ่ำ ทองคำวรรณ 2508 : 2526 ; พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 19 ; ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 63)

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.1959 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา ขณะยังทรงพระเยาว์ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศล พร้อมพระราชมารดาและพระมาตุจฉาที่เมืองสุโขทัย การเสด็จคราวนี้พระมาตุจฉาได้เสด็จเข้าพำนักหัวสนามเก่าด้านทิศตะวันตกติดกับวัดสรศักดิ์ ความในจารึกวัดสรศักดิ์นี้เองที่ช่วยชี้ตำแหน่งของพระตำหนักหรือวังเจ้านาย ตลอดถึงกษัตริย์ของสุโขทัยว่าควรจะอยู่ตรงบริเวณทิศตะวันตกของวัดสรศักดิ์ เหนือศาลาตาผาแดง และที่ปัจจุบันเป็นถนนจากวัดมหาธาตุผ่านศาลตาผาแดง ผ่านวัดสรศักดิ์ และพระตำหนัก สู่ประตูศาลหลวงด้านทิศเหนือนี้คือ “สนาม” ที่กล่าวถึงในจารึกวัดสรศักดิ์ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 19)

ลักษณะเด่นของวัดนี้คือ เจดีย์ประธานที่เป็นเจดีย์ทรงลังกาแบบหนึ่งที่นิยมสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้วคือ เจดีย์ทรงกลมที่มีช้างล้อมรอบฐาน ตามความเชื่อที่ว่าช้างเป็นสัตว์พาหนะของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ที่คู่ควรกับการเป็นพาหนะค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนตลอด 5,000 ปี (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 19)

เดิมเจดีย์ได้หักพังลงหมดแล้ว เหลือเฉพาะส่วนฐานที่มีช้างล้อม ซึ่งตรงกับข้อความในจารึก อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบันสร้างต่อเติมขึ้นใหม่เมื่อครั้งกรมศิลปากรบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.2546 (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 64)

ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธานเป็นที่ตั้งของวิหาร จากฐานและตอเสาที่หลงเหลืออยู่ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2551 : 49) สันนิษฐานว่าวิหารหลังนี้คงมีหลังคาทรงจั่วและมีเฉลียงโดยรอบ

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 64) กล่าวว่าข้อมูลจากจารึกชี้ให้เห็นถึงการสร้างวัดในสมัยนั้น น่าจะเป็นเรื่องของกษัตริย์และเจ้านาย ส่วนขุนนางที่จะสร้างวัดต้องขอพระราชานุญาตก่อน และเจดีย์ทรงระฆังที่ประดับด้วยประติมากรรมช้างล้อมรอบ น่าจะได้รับความนิยมมาถึงในช่วงเวลานี้

นอกจากนี้ จารึกได้กล่าวถึงการสร้างพระเจ้าหย่อนตีน โดยที่อีกด้านหนึ่งของจารึกได้ปรากฏพระพุทธรูปสลักเป็นพระลีลาอยู่ด้วย ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้ข้อคิดเห็นว่าพระเจ้าหย่อนตีนในที่นี้อาจหมายถึงพระพุทธรูปลีลาก็ได้ จึงเป็นหลักฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระพุทธรูปลีลาสมัยสุโขทัยนั้น คงมีมาก่อนหรืออย่างน้อยในช่วง พ.ศ.1960 ก็รู้จักกันดีแล้ว (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 64)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.

ฉ่ำ ทองคำวรรณ. “หลักที่ 49 ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์.” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม มอญ, บาลีสันสกฤต. พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508 : 82-88.

ฉ่ำ ทองคำวรรณ. “ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ พุทธศักราช 1960.” ใน จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526 : 128-134.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี. “จารึกวัดสรศักดิ์.” ใน ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (ออนไลน์), 2546. เข้าถึงเมื่อ 15 สิงหาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=128

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.

สันติ เล็กสุขุม. งานช่างหลวงแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542.

สันติ เล็กสุขุม. โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐาน มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปสุโขทัย. กรุงเทพฯ :คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม ยูเนสโก, 2521.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง