วัดตระกวน


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย

ตำบล : เมืองเก่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.020743 N, 99.703807 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองแม่ลำพัน, คลองเสาหอ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โบราณสถานวัดตระกวนตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย ในพื้นที่ด้านทิศเหนือของเมือง ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยู่ห่างจากประตูศาลหลวง ประตูเมืองทางทิศเหนือ มาทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร ทางทิศตะวันตกของวัดติดกับตระพังตระกวน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของศาลตาผาแดงหรือศาลพระเสื้อเมือง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานวัดตระกวนตั้งอยู่ในกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

อัตราค่าเข้าชม  นักท่องเที่ยวชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 70 บาท ชาวต่างชาติ 350 บาท

ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า

การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที

หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3705 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (วัดตะกวน)

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานวัดตระกวนตั้งอยู่ในกำแพงเมืองสุโขทัย ในบริเวณพื้นที่ด้านทิศเหนือของเมือง ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ห่างจากประตูศาลหลวง ประตูเมืองทางทิศเหนือ มาทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร ทางทิศตะวันตกของวัดติดกับตระพังตระกวน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของศาลตาผาแดงหรือศาลพระเสื้อเมือง

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา

จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน

พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

62 เมตร

ทางน้ำ

คลองเสาหอ, คลองยาง, แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

อายุทางโบราณคดี

ก่อน พ.ศ.1955

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2450

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2520 : 36-37) ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงสำรวจเมืองเก่าสุโขทัย รวมถึงวัดตระกวน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดตะกอนบ้าง วัดตาควนบ้าง ทรงสันนิษฐานว่าชื่อวัดที่ถูกน่าจะเป็น วัดตระกวน ซึ่งเป็นภาษาเขมร แปลว่า ผักบุ้ง ในภาษาไทย ขณะทรงสำรวจบริเวณวัดตระกวนมีเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยว มีโบสถ์ทางทิศตะวันออกหลังหนึ่ง นอกจากนั้นยังพบหัวมังกร (มกร) ตกอยู่ หน้าตาเป็นมังกรไทย ทำด้วยดินเผาเคลือบสีขาว (สังคโลก) มีลายดำเหมือนกับชามสวรรคโลก ทรงเข้าใจว่าน่าจะใช้ครอบปลายราวบันไดเช่นเดียวกับบันไดนาค หรืออาจเป็นเครื่องประดับอื่นๆ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา

ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (2521) ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2540) เผยแพร่หนังสือศิลปะสุโขทัย ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงวัดตระกวน

ชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมทั้งวัดตระกวน

ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2520 : 36-37) ทรงสำรวจวัดตระกวนเมื่อ พ.ศ.2450 พบวัดที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดตะกอน หรือวัดตาควน ทรงสันนิษฐานว่าชื่อวัดที่ถูกน่าจะเป็น วัดตระกวน ซึ่งเป็นภาษาเขมร แปลว่า ผักบุ้ง ในภาษาไทย

ขณะทรงสำรวจบริเวณวัดตระกวนมีเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยว มีโบสถ์ทางทิศตะวันออกหลังหนึ่ง นอกจากนั้นยังพบหัวมังกร (มกร) ตกอยู่ หน้าตาเป็นมังกรไทย ทำด้วยดินเผาเคลือบสีขาว (สังคโลก) มีลายดำเหมือนกับชามสวรรคโลก ทรงเข้าใจว่าน่าจะใช้ครอบปลายราวบันไดเช่นเดียวกับบันไดนาค หรืออาจเป็นเครื่องประดับอื่นๆ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 2520 : 36-37) ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้พบหลักฐานจากการขุดวัดทั่วๆ ไปในสมัยสุโขทัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้เป็นเครื่องประดับหลังคาตามที่พระองค์ทรงสันนิษฐานไว้ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 32)

ชื่อวัดตระกวนปรากฏในจารึกวัดสรศักดิ์ ที่เล่าเรื่องเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20 (ฉ่ำ ทองคำวรรณ 2508 ; 2526) กล่าวถึงมหาเถรธรรมไตรโลก เป็นน้าพระยาของพ่อเจ้าอยู่หัว พ่อเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมารับมหาเถรไปจอดไว้ในวัดตระกวน ก่อนที่จะทำการฉลองวัดสรศักดิ์ที่สร้างใหม่ แสดงให้เห็นว่าน่าจะเป็นวัดที่อยู่ใกล้ๆ กับวัดสรศักดิ์ ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าวัดนี้มีอยู่ก่อนวัดสรศักดิ์ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 32)

โบราณสถานที่ปรากฏภายในวัดมีเจดีย์ระฆังทรงกลม ก่ออิฐ และมีอุโบสถประกอบที่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออก

ข้อมูลจากจารึกวัดสรศักดิ์ทำให้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า เจดีย์ระฆังทรงกลมที่ปรากฏในวัดตระกวน น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่ากลางพุทธศตวรรษที่ 20

ที่วัดตระกวนแห่งนี้ ยังมีการค้นพบพระพุทธรูปสุโขทัยแบบหนึ่งที่ลักษณะทางศิลปกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะเชียงแสนกับศิลปะสุโขทัย เรียกว่า พระพุทธรูปแบบหมวดวัดตระกวน หรือหมวดเบ็ดเตล็ด (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2521 : 45 ; พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 18 ; ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 114)

ลักษณะโดยทั่วไปของพระพุทธรูปหมวดนี้คือ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร มีลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ในศิลปะล้านนา อันได้รับอิทธิพลมาจากสานวิวัฒนาการของพนะพุทธรูปปาละ ผ่านมาทางพุกามของพท่า และเข้ามาในศิลปะหริภุณชัยและล้านนา ลักษณะที่สำคัญคือขัดสมาธิเพชร เห็นฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองข้าง พระพักตร์กลมอมยิ้ม ขทวดพระเกศาใหญ่ รัศมีเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วน ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือพระถัน (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 114)

อายุของพระพุทธรูปหมวดวัดตระกวนมีผู้สันนิษฐานไว้ว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกๆ ของศิลปะสุโขทัย เนื่องจากมีอิทธิพลจากศิลปะเชียงแสนรุ่นแรกๆ (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2521 : 45 ; พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 18)

ในขณะที่ อ.คงเดช ประพัฒน์ทอง และ ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 114-117) ศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางศิลปกรรมและประวัติศาสตร์แล้วเสนอว่า พระพุทธรูปหมวดวัดตระกวนนี้ มีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 20 หรืออาจเป็นช่วงพุทธศตวรรษที่ 21

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.

ฉ่ำ ทองคำวรรณ. “หลักที่ 49 ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์.” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม มอญ, บาลีสันสกฤต. พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508 : 82-88.

ฉ่ำ ทองคำวรรณ. “ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ พุทธศักราช 1960.” ใน จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526 : 128-134.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.

สันติ เล็กสุขุม. งานช่างหลวงแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปสุโขทัย. กรุงเทพฯ :คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม ยูเนสโก, 2521.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง