วัดสระศรี


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย

ตำบล : เมืองเก่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.01978 N, 99.701347 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองแม่ลำพัน, คลองเสาหอ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โบราณสถานวัดสระศรีตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย กลางตระพังตระกวน ตระพังขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง ภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยู่ห่างจากประตูศาลหลวง ประตูเมืองทางทิศเหนือ มาทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร ห่างจากประตูอ้อ ประตูเมืองด้านทิศตะวันตก มาทางตะวันออกประมาณ 450 เมตร ทางทิศตะวันตกของวัดตระกวน ทางทิศเหนือของวัดชนะสงครามและวัดมหาธาตุ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานวัดสระศรีตั้งอยู่ในกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.) ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

อัตราค่าเข้าชม  นักท่องเที่ยวชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 70 บาท ชาวต่างชาติ 350 บาท

ที่บริเวณลานจอดรถของอุทยานฯ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบริการ รถราง นำชมรอบ ๆ บริเวณอุทยานฯ อัตราค่าบริการ นักท่องเที่ยว ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท นอกจากนั้นที่บริเวณด้านหน้าอุทยานฯ มีบริการรถจักรยานของเอกชนให้เช่า

การเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า (รถสองแถว) มีรถออกทุก 20 นาที จอดรอบบริเวณท่ารถใกล้ป้อมยามตำรวจมาลงที่หน้าอุทยานฯ มีรถออกทุก 20 นาที

หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร.055-697-527 โทรสาร 055-697310

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

1.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3705 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (วัดสระสี)

2.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3706 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ (กระพังโพยศรี)

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574 

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานวัดสระศรีตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย กลางตระพังตระกวน ตระพังขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง ภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยู่ห่างจากประตูศาลหลวง ประตูเมืองทางทิศเหนือ มาทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร ห่างจากประตูอ้อ ประตูเมืองด้านทิศตะวันตก มาทางตะวันออกประมาณ 450 เมตร ทางทิศตะวันตกของวัดตระกวน ทางทิศเหนือของวัดชนะสงคราม และตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา

จากเชิงเขา พื้นที่มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำยมที่อยู่ห่างจากตัวเมืองโบราณไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร มีลำน้ำสำคัญคือ คลองเสาหอ ซึ่งเป็นลำน้ำสายตรงทางด้านทิศใต้ และคลองแม่ลำพันทางด้านทิศเหนือและตะวันออกของเมือง และไหลลงสู่แม่น้ำยมที่ตัวจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน

พื้นที่ระหว่างเมืองโบราณสุโขทัยกับแม่น้ำยมเป็นที่ลุ่ม มักมีน้ำท่วมประจำ และบางแห่งมีน้ำแช่ขังอยู่หลายเดือน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสุโขทัยไม่ได้ตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

62 เมตร

ทางน้ำ

คลองเสาหอ, คลองยาง, แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

เมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบตะพักลำน้ำ (Terrace) เชิงเขาด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาประทักษ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาหินตะกอนในยุคเพอร์เมียนและไทรแอสซิก ประกอบไปด้วยเขาหลายลูก ตะกอนที่ทับถมจึงประกอบไปด้วยดิน กรวด ทราย ที่ถูกน้ำพัดพามาจากภูเขา ดินเป็นชุดดินแม่แตง (Mae Taeng series: Mt)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.1927

ประวัติการศึกษา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2507

ผลการศึกษา :

นางหลิ่น ปรีชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายศิลาจารึกหลักที่ 94 จารึกลานทองคำแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเป็นจารึกที่น่าจะพบจากการลักลอบขุดเจดีย์ ทำให้ผู้มอบระบุแต่เพียงว่าพบบริเวณตระพังสระศรีจากการขุดถนนระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดสระศรี (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 69)

ชื่อผู้ศึกษา : ประสาร บุญประคอง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ประสาร บุญประคอง ศึกษาและเผยแพร่ผลการศึกษาจารึกลานทองคำ

ชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : คณะกรรมการกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (2521) ทรงศึกษา รวบรวม และจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะสุโขทัย (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2540) เผยแพร่หนังสือศิลปะสุโขทัย ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงวัดสระศรี

ชื่อผู้ศึกษา : ประเสริฐ ณ นคร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ประเสริฐ ณ นคร ศึกษาและเผยแพร่ผลการศึกษาจารึกลานทองคำในงานปาฐกถา ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 6 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ชื่อผู้ศึกษา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547) ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม รวมทั้งวัดสระศรี

ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักโบราณคดีกรมศิลปากร รวบรวมและศึกษาข้อมูลโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร แล้วเผยแพร่ในเอกสาร “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร”

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2551) สร้างแบบสันนิษฐานของวัดสระศรี

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

โบราณสถานวัดสระศรีตั้งอยู่ภายในเมืองสุโขทัย กลางตระพังตระกวน สระน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง อยู่ห่างจากประตูศาลหลวง ประตูเมืองทางทิศเหนือ มาทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร ห่างจากประตูอ้อ ประตูเมืองด้านทิศตะวันตก มาทางตะวันออกประมาณ 450 เมตร ทางทิศตะวันตกของวัดตระกวน ทางทิศเหนือของวัดชนะสงคราม และตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ

สิ่งสำคัญของวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธาน วิหาร เจดีย์บริวาร และโบสถ์กลางน้ำ ก่อน พ.ศ.2521 ถนนจรดวิถีถ่องตัดผ่านกลางวัด กรมศิลปากรได้ปรับปรุงทัศนียภาพเพื่อรักษาโบราณสถานโดยขุดรื้อถนนออก แล้วสร้างถนนเลียบสระน้ำขึ้นแทน (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 16)

เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม หรือทรงลังกา มีระเบียงล้อมรอบ ซึ่งเชื่อว่าเคยมีแถวพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ (สันติ เล็กสุขุม 2551 : 45) เจดีย์รูปทรงนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงการรับพุทธศาสนาจากลังกาของสุโขทัย (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 16)

วิหารอยู่ทางด้านหน้าหรือทางตะวันออกของเจดีย์ประธาน ส่วนท้ายวิหารล้ำผ่านระเบียงคดเข้ามาในบริเวณของเจดีย์ประธาน เป็นแบบแผนที่พบทั่วไปในวัดสำคัญของสมัยสุโขทัย (สันติ เล็กสุขุม 2551 : 45)

เจดีย์บริวารตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ห้ายอด คือยอดประธานหนึ่ง และยอดบริวารอีกสี่ ซึ่งประดับเหนือสันหลังคาจตุรมุขององค์เจดีย์ (สันติ เล็กสุขุม 2551 : 45) ส่วนเจดีย์รายองค์อื่นๆ ที่ปรากฏส่วนฐานแต่ไม่สามารถระบุสัณฐานได้แน่ชัด ประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์ประธาน 1 องค์ ทางทิศตะวันตกของเจดีย์บริวาร 3 องค์

อุโบสถตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ แยกออกจากสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เป็นความเชื่อถือแบบพระพุทธศาสนาที่ใช้น้ำในความหมายของความบริสุทธิ์ของขอบเขตที่กันไว้เป็นเขตสำหรับให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกว่า นทีสีมา (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ 2546 : 16) ซึ่งเป็นคตินิยมหนึ่งของลังกา ลักษณะอาคารน่าจะเป็นอาคารโถง (สันติ เล็กสุขุม 2551 : 45)

เมื่อ พ.ศ.2507 นางหลิ่น ปรีชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวาย “ศิลาจารึกหลักที่ 94 จารึกลานทองคำ” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นจารึกที่น่าจะพบจากการลักลอบขุดเจดีย์ ทำให้ผู้มอบระบุแต่เพียงว่าพบบริเวณตระพังสระศรีจากการขุดถนนระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดสระศรี (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 69)

จารึกระบุปีที่สร้างคือ พ.ศ.1927 ใจความสำคัญของจารึกหลักนี้คือ “...พระมหาสังฆราชเจ้าครูแก่มหาธรรมราชา ให้เอาหินผามากระทำเป็นเจดีย์ 4 ด้านพระธาตุแห่งมหาธรรมราชา ด้วยกว้างได้ 14 วา 2 ศอก สูง 17 วาค่าแขน...”

ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร (2545 : 14-15) สันนิษฐานว่าจารึกหลักนี้น่าจะมาจากเจดีย์ราย (เจดีย์ประจำทิศ) วัดมหาธาตุสุโขทัย โดยการคำนวณจากขนาดของเจดีย์ กว้าง 14 วา 2 ศอก คือ 26.97 เมตร สูง 17 วา ค่าแขน คือ 32.55 เมตร ซึ่งกลุ่มเจดีย์ประธานมีฐาน (ไพที) กว้าง 27 เมตร และเจดีย์ประธานสูง 29 เมตร ถ้ารวมความสูงที่ถูกทับถมโดยฐานไพทีอีกประมาณ 2 เมตร ก็จะประมาณ 31 เมตร ใกล้เคียงกับที่กล่าวถึงในศิลาจารึก ดังนั้นเจดีย์ประธานที่วัดมหาธาตุสุโขทัยนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยของพญาลิไทยและพระเจดีย์รายสร้างโดยมหาสังฆราชครูของพญาลิไทยใน พ.ศ.1927 (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 69)

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (2544 : 49) ได้เคยเสนอความเห็นว่าชุดเจดีย์ประธานและเจดีย์ราย (ประจำมุมและประจำทิศ) ทั้ง 8 องค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกัน โดยใช้หลักฐานทางรูปแบบศิลปกรรมเป็นหลักในการศึกษา ซึ่งเชื่อว่าฐานล่างสุดของเจดีย์ทั้งหมดถูกสร้างหุ้มขึ้นใหม่ด้วยฐานไพทีที่มีพระสาวกลีลาล้อมรอบ และยังเชื่อต่อไปอีกว่าเจดีย์ประธานเดิมนั้นถูกสร้างครอบด้วยเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมที่อาจมีมาก่อนสมัยพญาลิไทย (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 70)

นอกจากนี้ หลักฐานสำคัญจากกรุเจดีย์วัดสระศรีที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ได้แก่ สถูปจำลองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในเจดีย์มีวัตถุทรงกรวย เชื่อว่าเป็นที่ครอบภาชนะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเชื่อว่าจารึกลานทองที่นางหลิ่น ปรีชาชาติ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่กล่าวว่าได้มาจากบริเวณใกล้กับวัดสระศรีนั้น แต่เดิมอาจบรรจุอยู่ในนี้ด้วย (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 70)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยา และทรัพยากรธรณี จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2551.

ประสาร บุญประคอง. “จารึกลานทองคำ.” ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 4 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษร และ ภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต. พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513 : 57-59.

ประเสริฐ ณ นคร. จารึกกับประวัติศาสตร์ศิลปะ. ปาฐกถา ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2540.

สันติ เล็กสุขุม. งานช่างหลวงแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542.

สันติ เล็กสุขุม. “เจดีย์บริวารประจำทิศทั้งแปดและพระศรีมหาธาตุ วัดพระศรีมหาธาตุ สุโขทัย.” เมืองโบราณคดี 27, 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2544) : 44-50.

สันติ เล็กสุขุม. โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐาน มรดกโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปสุโขทัย. กรุงเทพฯ :คณะกรรมการฝ่ายวัฒนธรรม ยูเนสโก, 2521.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง