โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย (เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา) อ.พระนครศรีอยุธยา
ตำบล : ประตูชัย
อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา
จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา
พิกัด DD : 14.358096 N, 100.568726 E
เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา-เจ้ายี่พระยา ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน บริเวณที่ถนนนเรศวรตัดกับซอยชีกุน หรืออยู่ทางด้านหน้ากึ่งกลางระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดราชบูรณะ
การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานีเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี
เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ในส่วนพื้นที่ที่สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
ในส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 20 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 100 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
1. กำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2484 หน้า 584 (เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา–เจ้ายี่พระยา)
2. เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา – เจ้ายี่พระยา เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และใน พ.ศ.2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน พระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่
ขึ้นทะเบียนของ UNESCO
เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา – เจ้ายี่พระยา เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576
เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา-เจ้ายี่พระยา เป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือภายในเกาะเมืองอยุธยา ห่างจากคลองเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ 550 เมตร ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หรือตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางด้านหน้ากึ่งกลางระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดราชบูรณะ ภายในเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา
แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย
ลักษณะทางปฐพีวิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศ ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต ้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ
ลักษณะทางธรณีวิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่ เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ กล่าวคือ ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง และปิดทับอยู่ด้านบน จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2484
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2484 หน้า 584 ในขณะนั้นเพียงแต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด โดยเจดีย์เจ้าอ้ายพระยา-เจ้ายี่พระยา เป็นหนึ่งในรายชื่อโบราณสถานที่ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานในครั้งนั้นชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยการประกาศกำหนดพื้นที่โบราณสถานในครั้งนั้น เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ เป็นโบราณสถานที่อยู่ในนอกอุทยานประวัติศาสตร์ฯ แต่อยู่ภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ เป็นโบราณสถานภายในพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่ โดยการประกาศในครั้งนี้ ได้รวมเจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่เข้าไปในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ฯ ด้วยชื่อผู้ศึกษา : ปรามินทร์ เครือทอง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2554
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศิลปวัฒนธรรม
ผลการศึกษา :
ปรามินทร์ เครือทอง. เผยแพร่บทความเรื่อง “กรุงศรีปฏิวัติ : เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสาม ในปฏิวัติ "ตัดหน้า" หรือ "ส้มหล่น".” ตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 32, ฉบับที่ 11 (ก.ย. 2554) : หน้า 100-113ประวัติความเป็นมาของเจดีย์เจ้าอ้ายพระยา-เจ้ายี่พระยา
เมื่อสมเด็จพระนครินทรธิราช เสด็จเถลิงถวรรค์ราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยาให้ราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ แยกกันไปครองเมืองต่าง ๆ คือ
- เจ้าอ้ายพระยา ราชโอรสองค์ใหญ่ ไปครองเมืองสุพรรณบุรี
- เจ้ายี่พระยา ราชโอรสองค์กลางไปครองเมืองแพรกศรีราชา (ปัจจุบันเป็นอำเภอสรรค์บุรี ชัยนาท)
- เจ้าสามพระยา ราชโอรสองค์น้อยไปครองเมืองน้อย
เมื่อ พ.ศ.1967 สมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคต ราชโอรสองค์ใหญ่ทั้งสองพระองค์ทราบว่าพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ ก็รีบยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยาจะแย่งชิงราชสมบัติกัน เจ้าอ้ายพระยาตั้งทัพอยู่ที่ถนนป่ามะพร้าวใกล้วงัดพลับพลาไชย เจ้ายี่พระยาตั้งทัพวัดชัยภูมิ (วัดป่าถ่าน) ทั้งสองพระองค์ทางช้างเคลื่อนกำลังรี้พลมาปะทะกันที่เชิงสะพานป่าถ่าน ซึ่งตัดกับถนนเจ้าพรหม ทรงพระแสงของ้าวฟันต้องพระศอขาดพร้อมกันทั้งสองพระองค์ สิ้นพระชนม์ทั้งคู่ เจ้าสามพระยาก็เสด็จมาจากเมืองชัยนาท ก็เข้าเสวยราชสมบัติแทนพระบิดา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) แล้วจัดถวายพระเพลิงสร้างปรางค์ศรีมหาธาตุและพระอาราม เรียกว่า วัดราชบูรณะ ที่เชิงสะพานป่าถ่าน แล้วก่อเป็นเจดีย์อนุสรณ์ขึ้นด้วย 2 องค์ ตรงที่สิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์
ตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้ระบุว่า “ศักราช 786 มะโรงศก (พ.ศ.1967) สมเด็จพระอินทราชาทรงประชวรนฤพาน ครั้งนั้นเจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา พระราชกุมาร ท่านชนช้างด้วยกัน ณ สะพานป่าถ่าน ถึงพิราลัยทั้งสองพระองค์ที่นั่น”
ความในพระราชพงศาวดารยังบอกต่อไปว่า “จึงพระราชกุมารเจ้าสามพระยาได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมธิราชเจ้า และท่านจึงได้ก่อพระเจดีย์สองพระองค์สวมที่เจ้าพระยาอ้าย และเจ้าพระยายี่ชนช้างด้วยกันถึงอนิจภาพ ตำบลป่าถ่านนั้น ในศักราชนั้นท่านสถาปนาวัดราชบูรณะ”
เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา-เจ้ายี่พระยา
เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา-เจ้ายี่พระยา ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางด้านหน้ากึ่งกลางระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดราชบูรณะ เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1967 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบรมเชษฐาทั้งสองพระองค์ คือเจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยาที่ได้ทำการสู้รบแย่งชิงราชสมบัติกันหลังจากที่สมเด็จพระนครินทราธิราชพระราชบิดาเสด็จสวรรคตจนสิ้นพระชนม์ลงทั้งสองพระองค์ ณ เชิงสะพานป่าถ่าน
เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา-เจ้ายี่พระยาในปัจจุบันคงเหลือเพียงซากฐานแปดเหลี่ยมของเจดีย์ 2 องค์ ตั้งเคียงคู่กันอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ องค์ด้านทิศใต้ ฐานเจดีย์แปดเหลี่ยมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ซากฐานสูง 3.50 เมตร ส่วนองค์ด้านทิศเหนือ ฐานแปดเหลี่ยมขนาดเล็กกว่าองค์ด้านทิศใต้ และตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 4.50 เมตร เจดีย์องค์นี้เหลือแต่ซากฐานสูง 1.50 เมตร โดยมีแนวอิฐล้อมรอบเจดีย์ทั้งสอง ซึ่งเข้าใจว่าคงจะเป็นแนวกำแพงแก้วล้อมพระเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีซากแท่นใหญ่ และแท่นเล็กอีก 2 แท่น ซึ่งอาจจะเป็นแท่นตั้งเครื่องบูชาก็ได้
การค้าและประวัติศาสตร์ย่าน "สะพานป่าถ่าน"
"สะพานป่าถ่าน" เป็นสะพานโบราณอายุกว่าห้าร้อยปี ที่ยังคงเหลือซากอยู่ตรงเกาะกลางถนน สะพานป่าถ่านสร้างข้ามคลองประตูข้าวเปลือก เชื่อมต่อถนนเจ้าพรหมสองฟากข้าง ถนนที่ว่านี้สมัยอยุธยาเดิมสร้างจากอิฐ ตั้งต้นจากวังหลวงหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ยาวไปทางตะวันออก แบ่งเขตวัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะออกจากกัน แล้วค่อยผ่านสะพานป่าถ่านออกประตูพระนครด้านตะวันออกที่เหนือบางเอียนตรงวังจันทน์
เอกสารโบราณกล่าวว่า สะพานป่าถ่านเป็นสะพานอิฐสร้างไว้สำหรับข้ามคลองประตูข้าวเปลือก
คลองประตูข้าวเปลือกเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในยุคนั้น เพราะผ่านทางด้านหน้าวัดสำคัญสองแห่งคือ วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ ทั้งในเอกสารอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา ของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ยังอ้างว่าที่ปากคลองประตูข้าวเปลือก "มีป้อมก่อรูปพัดสมุดอยู่สองฟากคลอง แปลกกว่าปากคลองอื่นๆ" สะพานป่าถ่านที่สร้างขึ้นสำหรับข้ามคลองประตูข้าวเปลือก จึงยิ่งเป็นสะพานที่สำคัญ และอยู่ในย่านชุมทางคมนาคม
พระยาโบราณราชธานินทร์ให้คำอธิบายไว้ว่า คำว่า "ป่า" ในสมัยอยุธยาไม่ได้หมายถึงที่ว่างร้างเปลี่ยวอย่างป่าดง ตรงกันข้ามกับตำบล (คือ สถานที่) ที่เรียกว่าป่าในพระนครนั้น กลับเป็นตลาดสะพานที่ประชุมคน หมายความว่าย่านใดมีสินค้าใดเป็นหลักก็เรียกว่า ป่าของสิ่งนั้นๆ
ย่านป่าถ่านจึงเป็นย่านร้านตลาดที่มี "ถ่าน" เป็นสินค้าหลัก แต่ก็ไม่ได้ขายแค่ถ่าน เพราะหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด บอกไว้อีกว่า "ถนนย่านป่าถ่านมีร้านตลาดของสรรพผลไม้ส้มกล้วยของสวนในและสวนนอกต่างๆ และมีร้านขายของสดเช้าเย็นชื่อตลาดป่าถ่าน" ตลาดป่าถ่านจึงเป็นตลาดใหญ่มีสินค้าขายสารพัด เป็นชุมทางย่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นการค้า คมนาคมและการต่อสู้ในราชวงศ์ที่ยังหลงเหลืออีกแห่งหนึ่ง
กรมศิลปากร. พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งรูปถ่ายและแผนผัง. พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2511. (รวบรวมและจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายจำรัส เกียรติก้อง ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2511).
กรมศิลปากร. “เจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่” ใน ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.aspx?id=0000361
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.
กระทรวงวัฒนธรรม. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก (The World Heritage Information Center) (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture2.aspx#a6
คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.
ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.
ปรามินทร์ เครือทอง. “กรุงศรีปฏิวัติ : เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสาม ในปฏิวัติ "ตัดหน้า" หรือ "ส้มหล่น".” ศิลปวัฒนธรรม. 32, 11 (ก.ย. 2554) : 100-113.
สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.