วัดเจดีย์เจ็ดแถว บน.2


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดเจดีย์เจ็ดแถว, พระเจดีย์เจ็ดแถว

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ต.หนองอ้อ อ.ศรีสัชนาลัย

ตำบล : หนองอ้อ

อำเภอ : ศรีสัชนาลัย

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.430698 N, 99.786293 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดเจดีย์เจ็ดแถวตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ภายในกำแพงเมือง การเดินทางมายังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยนั้น สามารถเดินทางเข้ามาได้หลายวิธี ดังนี้

            1. รถโดยสารประจำทาง  โดยมีรถประจำทางของบริษัทสุโขทัยวินทัวร์จากกรุงเทพฯ (สถานีขนส่งหมอชิต)ทุกวัน

            2. รถไฟ เส้นทางกรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์ ลงที่สถานีสวรรคโลก จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทาง

            3. เครื่องบิน มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-สุโขทัย วันละ 2 เที่ยว

            4. รถส่วนตัว จากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101  เส้นสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ไปจนถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 17 - 19  เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ไป ประมาณ 1.5  กิโลเมตร เป็นระยะทาง 68  กิโลเมตร หรือ  หรือ จากอำเภอสวรรคโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ อีก 2  กิโลเมตร รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นวัดที่สำคัญของเมืองศรีสัชนาลัย โดยอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทยอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะสุโขทัยอย่างแท้จริง นั่นคือลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2533 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO เมื่อปี พ.ศ.2534 ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ในฐานะเมืองบริวารของสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่มาเยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่าง ดังนี้

            - ศูนย์บริการข้อมูลที่เปิดให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและประวัติศาสตร์ของเมืองศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

            - เจ้าหน้าที่นำชมโบราณสถาน/วิทยากร ที่คอยแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ และพร้อมนำชมโบราณสถานในเขตอุทยานฯทุกวัน

            - แผ่นพับประชาสัมพันธ์และป้ายอธิบายโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - เส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯที่สะดวกสบาย เชื่อมโยงโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - ป้ายบอกทางไปโบราณสถานเป็นระยะ

            - จักรยานและรถรางในพื้นที่ภายในกำแพงเมือง

อัตราค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 20 บาท และ 40 บาท (สำหรับบัตรรวม) สามารถเข้าชมภายในอุทยานฯ วัดชมชื่น และแหล่งอนุรักษ์เตาเผาสังคโลกหมายเลข 61 และ 42

ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 100 บาท และ 220 บาท (สำหรับบัตรรวม)

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คอยบริการนักท่องเที่ยวด้วย เช่น ค่าเช่าจักรยานคันละ 20 บาท สำหรับชาวไทย, ค่ารถรางคนละ 20 บาท สำหรับชาวไทย และ 40 บาทสำหรับชาวต่างชาติ หรือเหมาคันละ 300 บาท (ไม่เกิน 15 คน) *จักรยานและรถรางเป็นสัมปทานเอกชน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้*

สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าชมได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โทรศัพท์ 055 679211

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

            1. กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดนางพญา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า 3701 โดยในขณะนั้น ประกาศขึ้นทะเบียนเพียงแค่ชื่อเท่านั้น ไม่ได้กำหนดขอบเขตของโบราณสถานแต่อย่างใด

            2. กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง  โดยโบราณสถานวัดเจดีย์เจ็ดแถว  เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

            3. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2533

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย พร้อมด้วย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับเกียรติให้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ณ กรุงคาร์เทจ สาธารณรัฐตูนิเซีย

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เจดีย์วัดเจ็ดแถวเป็นโบราณสถานร้าง ปัจจุบันตั้งอยู่ในอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อยู่ในพื้นที่กลางเมืองศรีสัชนาลัยค่อนมาทางทิศใต้ ด้านหน้าโบราณสถานวัดช้างล้อม ติดกับโบราณสถานวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่และโบราณสถานวัดนางพญา หันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างจากแม่น้ำยมมาทางทิศตะวันตกประมาณ 370 เมตร ภายในวัดมีเจดีย์แบบต่างๆ และเจดีย์ที่เป็นเจดีย์หลักของวัดนี้เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัวตูมขนาดใหญ่ มีเจดีย์ราย 26 องค์

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

76 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณอำเภอศรีสัชนาลัย มีสภาพเป็นหินเชล (Shale) สี Olive หรือสี Grey จนถึงสี Dark Grey พบเป็นผืนใหญ่ตั้งแต่พื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีลักษณะ ของหินปูน (Limestone) สีจาง เนื้อละเอียดแทรกอยู่บริเวณตอนกลางของต้นน้ำห้วยแม่สานอีกด้วย

ลักษณะทางปฐพีวิทยานั้น เป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ (Residual soil) เกือบทั้งสิ้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชัน จึงจัดหน่วยของดินนี้ไว้เป็นที่ลาดเชิงซ้อน (Slope complex) ดินที่เกิดขึ้นจึงเป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ที่มีการพัฒนาดินไปได้ค่อนข้างดี ดินเหล่านี้ มีป่าเบญจพรรณขึ้น ปกคลุมโดยทั่วไป มีความชื้นค่อนข้างสูง

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19-20

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 หน้า 3701 ในขณะนั้นเพียงแต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น (ชื่อที่ใช้ในประกาศฯ คือ พระเจดีย์เจ็ดแถว) ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด โดยวัดเจดีย์เจ็ดแถว เป็นหนึ่งในรายชื่อโบราณสถานที่ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานในครั้งนั้น

ชื่อผู้ศึกษา : พิทยา ดำเด่นงาม, ประโชติ สังขนุกิจ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2508, พ.ศ.2509, พ.ศ.2510, พ.ศ.2511, พ.ศ.2512

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

พิทยา ดำเด่นงาม และ ประโชติ สังขนุกิจ เป็นผู้เรียบเรียงรายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่า กำแพงเพชร เมืองศรีสัชชนาลัย พ.ศ.2508-2512. โดย คณะกรรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร กรมศิลปากร โดยพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2514

ชื่อผู้ศึกษา : พนิตา อุตตะโมต

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

พนิตา อุตตโมต. “พระเจดีย์ที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2519.

ชื่อผู้ศึกษา : สมคิด จิระทัศนกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สมคิด จิระทัศนกุล สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินการสำรวจวัดเจดีย์เจ็ดแถว เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ โดยตีพิมพ์เผยแพร่ ในปี พ.ศ.2529

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน 2531 หน้า 2876 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง โดยวัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สันติ เล็กสุขุม ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตีพิมพ์เผยแพผลการวิจัยเรื่องเจดีย์สมัยสุโขทัยที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สันติ เล็กสุขุม เผยแพร่เอกสารทางวิชาการ เรื่อง เจดีย์สมัยสุโขทัยที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมื่อพ.ศ.2534

ชื่อผู้ศึกษา : ม.ศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรเผยแพร่ รายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ในปี พ.ศ. 2549

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม จัดทำรูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถาน ของพื้นที่มรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และตีพิมพ์เผยแพร่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตั้งอยู่ภายในเมืองศรีสัชนาลัย ในพื้นที่บริเวณกลางเมือง ตั้งอยู่ในแนวเดียวกันกับวัดช้างล้อม วัดนางพญา และวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ (วัดช้างล้อมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุด ถัดมาเป็นวัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ และวัดนางพญาที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สุด)

ประวัติความเป็นมาของวัดเจดีย์เจ็ดแถว ไม่ปรากฏในพงศาวดาร แต่ในหนังสือเรื่อง “พระร่วงเที่ยวเมืองพระร่วง” ได้กล่าวถึงประวัติวัดนี้ไว้เพียงเล็กน้อยว่า “วัดเจ็ดแถวนี้ เดิมเรียกว่า วัดกัลยานิมิต เพราะว่า นางพระยาธิดาแห่งพระมหาธรรมราชา (บาธรรมราช) เป็นผู้สร้างขึ้น” (พนิตา อุตตะโมต 2519 : 11)

พระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในหนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง ว่า "วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้เป็นวัดใหญ่ เพราะฉะนั้นจำจะต้องลองสันนิษฐานดูว่าเป็นของใคร นายเทียนกล่าวว่า วัดนี้เดิมเขาเรียกว่า วัดกัลยานิมิต เพราะว่านางพญาธิดาแห่งพระมหาธรรมราชา (บาธรรมราช) เป็นผู้สร้างขึ้น นายเทียนอ้างหนังสือที่ไฟไหม้นั้นเป็นพยานอีก" ส่วน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวินิจฉัยว่าวัดนี้เป็นวัดที่มีความสวยงามกว่าวัดอื่นๆ อาจเป็นวัดของกษัตริย์ที่ครองเมืองนี้ และเจดีย์รายอื่นๆ คงเป็นที่บรรจุพระอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์สุโขทัย

ส่วนชื่อที่เรียกเจ็ดแถวนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลังโดยราษฎรในท้องถิ่น  สาเหตุที่เรียกชื่อนี้เนื่องจากพบเจดีย์จำนวนมากมายหลายแถวภายในวัด 

ลักษณะโดยทั่วไปของวัดเจดีย์เจ็ดแถว

            วัดนี้มีกำแพงศิลาแลง 2 ชั้น คือ ชั้นนอก ขนาดกว้าง 97.80 เมตร ยาว 145.50 เมตร ชั้นในกว้าง 58.70 เมตร ยาว 94.80 เมตร กำแพงในแต่ละชั้นปรากฏทางเข้าทั้ง 4 ด้าน กำแพงชั้นในทำเป็นซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ, ทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้  ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือนั้น เจาะเป็นช่องกำแพงเอาไว้ไม่ได้ทำเป็นซุ้ม  กำแพงทั้งสองชั้นก่อด้วยศิลาแลง  กำแพงชั้นนอกก่อด้วยศิลาแลงลักษณะเป็นแท่งยาว ผังดินเรียงตั้งต่อเรียงกันไปเป็นแถว แล้วทับด้านบนด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยม  ส่วนกำแพงชั้นในก่อด้วยศิลาแลงในลักษณะคล้ายกับการเรียงอิฐ (พนิตา อุตตะโมต 2519 : 12)

สิ่งสำคัญภายในกำแพง คือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ เจดีย์ทรงดอกบัวตูมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดเจ็ดแถวแห่งนี้  ฐานพระเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 13.50 เมตร มีระเบียงคดล้อมรอบ มีแท่นบูชาอยู่ทั้ง 4 ทิศ โดยเฉพาะทางด้านหน้า คือ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ปรากฏแท่นบูชาขนาดใหญ่กว่าทางด้านอื่นๆ  ทางด้านหน้าของเจดีย์ปรากฏวิหารที่เชื่อมต่ออกไปจากตัวระเบียงที่ฐานเจดีย์ ลักษณะเป็นวิหารขนาด 11 ห้อง กว้าง 16 เมตร ยาว 47.80 เมตร

กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะพระวิหารนี้ใน พ.ศ.2509  ปรากฏว่า ภายในวิหารปรากฏร่องรอยถูกไปไหม้บริเวณแท่นบูชา ตรงบริเวณพระประธาน เพราะพบเศษปูน สำริด และเศษขี้เถ้าอยู่เป็นจำนวนมาก (พิทยา ดำเด่นงาม และ ประโชติ สังขนุกิจ 2514 : 35)

เจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีลักษณะก็คือ ส่วนล่าง ฐานเขียงมีขนาดใหญ่ตั้งซ้อนเป็นชั้น สอบขึ้นเพื่อรองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนนี้มีผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นแบบแผนเฉพาะของเจดีย์ทรงนี้ และปรากฏอยู่ที่เจดีย์ทรงอื่นบางองค์ของวัดนี้ด้วย ส่วนล่างที่ประกอบชุดฐานดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับระเบียบของส่วนล่างที่เจดีย์วัดกู่กุด เมืองลำพูน ขั้นบันได 2 ทางที่ด้านหน้าเริ่มสอบจากฐานเขียงชั้นล่างสุดขึ้นมาเกือบบรรจบกันที่ส่วนบนขอฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีอยู่เฉพาะเจดีย์ประธานของวัด และมีอยู่ที่เจดีย์ประธาน (พระศรีมหาธาตุ) ของวัดมหาธาตุสุโขทัย ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมเช่นกัน ขั้นบันไดคู่อาจดัดแปลงจากบันไดเดี่ยวของสัตมหาปราสาทที่เมืองโปลลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา ซึ่งสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17

ส่วนบนของเจดีย์เป็นรูปกลีบขนุนและรูปกลีบบัวที่ประดับเหนือเรือนธาตุ เป็นองค์ประกอบที่เชื่อมโยงให้เกิดความต่อเนื่องระหว่างเรือนธาตุกับส่วนบนทรงดอกบัวตูม สามารถสังเกตเห็นได้ ส่วนบนทรงดอกบัวตูมมีวงคล้ายวงแหวนรียงซ้อนกันเรียวขึ้นไป “ปลี”

สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรพระยานริศรานุวัตติวงศ์ทรงเห็นว่ามีลักษณะ “คล้ายพระเจดีย์ลังกา” เจดีย์ทรงลังกามีองค์ระฆัง บัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม และทรงกรวยที่ประกอบด้วยปล้องไฉน ต่อขึ้นไปเป็นปลี ด้วยแหตุนี้ปล้องไฉนและปลีเหนือทรงดอกบัวตูม จึงเทียบได้กับลักษณะที่มีอยู่ขององค์เจดีย์ทรงลังกา

เจดีย์ทรงนี้ที่ปรากฏเป็นเจดีย์รายขนาดเล็กบางองค์ เช่น เจดีย์รายหมายเลข 15,22 ได้รับการดัดแปลงเพิ่มขึ้น โดยทำด้านทั้งสองของส่วนล่างให้เป็นช่องลึก (จรนัม) สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งส่วนใหญ่ชำรุด หรือถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว ช่องลึกขอทั้ง 4 ด้านดูคล้ายห้องคูหา ส่วนนี้ของเจดีย์ จึงมีโครงสร้างคล้ายมีเสากลางรองรับน้ำหนักที่กดลงจากส่วนบน

ด้านหลังเจดีย์ประธาน  ปรากฏเจดีย์รายที่มีลักษณะโดดเด่นคือ  เจดีย์รายหมายเลข 33 ลักษณะเป็นเจดีย์ประจำด้าน ทรงปราสาทแบบสุโขทัย คือ มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างอิทธิพลศิลปะเขมร ศิลปะล้านนา และศิลปะสุโขทัย และยังเป็นเจดีย์ทรงมณฑปด้วย คือ มีห้องครรภคฤหะสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป แต่มียอดเป็นทรงเจดีย์ ซึ่งมีทั้งหมด 11ยอด ด้านหน้ามีซุ้มประตูสำหรับเข้าห้องคูหา ด้านข้างมีซุ้มปีกนก 2 ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นองค์เล็ก ด้านในห้องคูหาหรือห้องครรภคฤหะ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัย ภายในคูหายังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สมัยสุโขทัย นับเป็นภาพจิตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุด ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 19 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 แต่ปัจจุบันเลือนลางจนแทบจะมองไม่เห็นร่องรอยแล้ว

ด้านหลังของเจดีย์ปรากฏซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งโดยทั่วไปในสมัยสุโขทัยจะไม่นิยมสร้างพระพุทธรูปนาคปรก เมื่อ พ.ศ.2501 พระพุทธรูปองค์นี้มีสภาพสมบูรณ์ กรมศิลปากรจึงได้ทำการจำลองไว้ และในขณะนั้นยังไม่ได้รับการจัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ฯ เพื่อดูแลรักษาโบราณสถาน-โบราณวัตถุ ต่อมาเพียง 2-3 ปี กลับมีโจรเข้ามาลักลอบตัดเศียรของหลวงพ่อไป กรมศิลปากรจึงทำการบูรณะโดยถอดพิมพ์จากแบบจำลอง และส่วนของนาคที่ชำรุดไป นำมาต่อเติมให้สมบูรณ์ โดยคงหลักการการอนุรักษ์ให้เห็นความแตกต่างระหว่างของดั้งเดิมกับของใหม่

เจดีย์รายหมายเลข 3 ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ทแยงกับเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ประจำมุม ทรงปราสาทยอด อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะพุกาม สังเกตได้จากการประดับซุ้มด้วยลายฝักเพกา การตกแต่งท้องไม้ด้วยลายกากบาท สถูปิกะเป็นทรงสี่เหลี่ยมตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นลายกลีบบัว และองค์ระฆังตกแต่งด้วยรัดอก เจดีย์องค์นี้ทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางเปิดโลก พระพุทธรูปลีลา และพระพุทธรูปปางประทานอภัย แต่ไม่มีองค์ใดที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ มักไม่มีพระเศียร ไม่มีพระกร ไม่มีพระบาท

สาเหตุที่เรียกว่า วัดเจดีย์เจ็ดแถวเนื่องจากได้พบเจดีย์จำนวนมากหลายแถวภายในวัด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า วัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นสถานที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์สุโขทัย เนื่องจากพบเจดีย์รายและวิหารราย รวมทั้งมณฑป เป็นจำนวนมากที่สุดในเขตกำแพงเมือง ถึง ๓๓ องค์ และตำแหน่งที่ตั้งของวัด ยังอยู่ตรงข้ามกับพระราชวังอีกด้วย

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานศรีสัชนาลัย.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535.

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

ธิดา สาระยา. นำเที่ยวศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : สีดา, 2542.

นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (Guide to           Sukhothai Si Satchanalai and Kamphaeng Phet historical parks). กรุงเทพฯ :      สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2553.

ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมโบราณวัตถุสถาน ในอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. พระนคร : กรม  ศิลปากร, 2513.

ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย (A guidebook to Si Satchanalai             historical park). กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.

พนิตา อุตตะโมต.“พระเจดีย์ที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี)   ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2519.

พิทยา ดำเด่นงาม และ ประโชติ สังขนุกิจ. รายงานการสำรวจและขุดแต่งบูรณะโบราณวัตถุสถานเมืองเก่า กำแพงเพชร เมืองศรีสัชชนาลัย พ.ศ.2508-2512. พระนคร : กรมศิลปากร คณะกรรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร, 2514.

มานพ ถนอมศรี. ศรีสัชนาลัย : โบราณสถานสามสมัย. กรุงเทพฯ : พี พี เวิลด์ มีเดีย, 2546.

ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม. รายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนา         ลัย จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัย          ศิลปากร, 2549.

สด แดงเอียด และคณะ. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย : เมืองเชลียง เชียงชื่น ศรีสัชนาลัย สวรรค       โลก. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2536.

สมคิด จิระทัศนกุล, กฤษฎา อินทรสถิตย์ และ ทรงยศ วีระทวีมาศ. วัดเจดีย์เจ็ดแถว การสำรวจเพื่อการ       อนุรักษ์.  กรุงเทพฯ : สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม  คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัย        ศิลปากร, 2529.

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

สันติ เล็กสุขุม. โบราณสถานกับรูปแบบสันนิษฐานมรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร.     กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.

สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์สมัยสุโขทัยที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2534.

สันติ เล็กสุขุม. รายงานผลวิจัยเรื่องเจดีย์สมัยสุโขทัยที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี        มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2532.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง