วัดพญาดำ ตต.6


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดพญาดำ

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ต.หนองอ้อ อ.ศรีสัชนาลัย

ตำบล : หนองอ้อ

อำเภอ : ศรีสัชนาลัย

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.423002 N, 99.784126 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดพญาดำอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ด้านทิศใต้นอกเมืองศรีสัชนาลัย การเดินทางมายังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยนั้น สามารถเดินทางเข้ามาได้หลายวิธี ดังนี้

            1. รถโดยสารประจำทาง  โดยมีรถประจำทางของบริษัทสุโขทัยวินทัวร์จากกรุงเทพฯ (สถานีขนส่งหมอชิต)ทุกวัน

            2. รถไฟ เส้นทางกรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์ ลงที่สถานีสวรรคโลก จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทาง

            3. เครื่องบิน มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-สุโขทัย วันละ 2 เที่ยว

            4. รถส่วนตัว จากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101  เส้นสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ไปจนถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 17 - 19  เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ไป ประมาณ 1.5  กิโลเมตร เป็นระยะทาง 68  กิโลเมตร หรือ  หรือ จากอำเภอสวรรคโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ อีก 2  กิโลเมตร รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดพญาดำเป็นวัดที่สำคัญของเมืองศรีสัชนาลัย โดยอยู่ภายนอกเขตกำแพงเมือง ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทยอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่มีมณฑปประธานก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน หลังคาคล้ายรูปประทุนเรือเป็นหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น ภายในมณฑปแบ่งเป็นคูหา คูหาด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ด้านหน้ามณฑปก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มณฑปพระอัฏฐารศ ก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ด้านขวาของมณฑปประธาน ภายในคูหามณฑปมีร่องรอยว่าเคยประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะมีความสูงถึง 18 ศอก ที่นิยมเรียกกันว่าพระอัฎฐารศ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2533 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO เมื่อ พ.ศ.2534 ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ในฐานะเมืองบริวารของสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่มาเยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่าง ดังนี้

            - ศูนย์บริการข้อมูลที่เปิดให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและประวัติศาสตร์ของเมืองศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

            - เจ้าหน้าที่นำชมโบราณสถาน/วิทยากร ที่คอยแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ และพร้อมนำชมโบราณสถานในเขตอุทยานฯทุกวัน

            - แผ่นพับประชาสัมพันธ์และป้ายอธิบายโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - เส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯที่สะดวกสบาย เชื่อมโยงโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - ป้ายบอกทางไปโบราณสถานเป็นระยะ

            - จักรยานและรถรางในพื้นที่ภายในกำแพงเมือง

อัตราค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 20 บาท และ 40 บาท (สำหรับบัตรรวม) สามารถเข้าชมภายในอุทยานฯ วัดชมชื่น และแหล่งอนุรักษ์เตาเผาสังคโลกหมายเลข 61 และ 42

ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 100 บาท และ 220 บาท (สำหรับบัตรรวม)

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คอยบริการนักท่องเที่ยวด้วย เช่น ค่าเช่าจักรยานคันละ 20 บาท สำหรับชาวไทย, ค่ารถรางคนละ 20 บาท สำหรับชาวไทย และ 40 บาทสำหรับชาวต่างชาติ หรือเหมาคันละ 300 บาท (ไม่เกิน 15 คน) *จักรยานและรถรางเป็นสัมปทานเอกชน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้*

สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าชมได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โทรศัพท์ 055 679211

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

วัดพญาดำ เป็นโบราณสถานที่อยู่ภายนอกอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ซึ่งมีรายละเอียดของการประกาศขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร รายละเอียดดังต่อไปนี้

            1. ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 74 ตอนที่ 12 วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500

            2. กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง  โดยโบราณสถานวัดพญาดำเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย พร้อมด้วย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับเกียรติให้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ณ กรุงคาร์เทจ สาธารณรัฐตูนิเซีย

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดพญาดำเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อยู่นอกเมืองศรีสัชนาลัยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากคูเมืองประมาณ 350 เมตร ห่างจากแม่น้ำยมประมาณ 1.2 กิโลเมตร อยู่ห่างจากวัดสระปทุมมาทางทิศตะวันออกประมาณ 150 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

79 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณอำเภอศรีสัชนาลัย มีสภาพเป็นหินเชล (Shale) สี Olive หรือสี Grey จนถึงสี Dark Grey พบเป็นผืนใหญ่ตั้งแต่พื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีลักษณะ ของหินปูน (Limestone) สีจาง เนื้อละเอียดแทรกอยู่บริเวณตอนกลางของต้นน้ำห้วยแม่สานอีกด้วย

ลักษณะทางปฐพีวิทยานั้น เป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ (Residual soil) เกือบทั้งสิ้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชัน จึงจัดหน่วยของดินนี้ไว้เป็นที่ลาดเชิงซ้อน (Slope complex) ดินที่เกิดขึ้นจึงเป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ที่มีการพัฒนาดินไปได้ค่อนข้างดี ดินเหล่านี้ มีป่าเบญจพรรณขึ้น ปกคลุมโดยทั่วไป มีความชื้นค่อนข้างสูง

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19-21

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2500

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 96 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2500 (ชื่อที่ใช้ในประกาศฯ คือ วัดพระยาดำ) โดยมีขอบเขตดังนี้ ทิศเหนือ ยาว 3 เส้น, ทิศใต้ ยาว 3 เส้น, ทิศตะวันออก ยาว 3 เส้น, ทิศตะวันตก ยาว 3 เส้น เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะมณฑปวัดพญาดำ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง โดยโบราณสถานวัดพญาดำ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะมณฑปวัดพญาดำ

ชื่อผู้ศึกษา : ทรงยศ วีระทวีมาศ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรดำเนินการสำรวจรูปแบบของมณฑปในเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งมณฑปแบบสุโขทัยได้รับอิทธิพลทางศิลปะและสถาปัตยกรรมจากลักกาและพม่า

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะโบราณสถานวัดพญาดำ

ชื่อผู้ศึกษา : ม.ศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเผยแพร่ รายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ใน พ.ศ.2549

ชื่อผู้ศึกษา : สันติ เล็กสุขุม

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

ผลการศึกษา :

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม จัดทำรูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถาน ของพื้นที่มรดกโลกสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และตีพิมพ์เผยแพร่

ชื่อผู้ศึกษา : นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดทำหนังสือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดี ทั้งการสำรวจ การขุดค้นและการขุดแต่งที่ผ่านมาทั้งหมด ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าใจอดีตของแคว้นสุโขทัยได้มากยิ่งขึ้น โดยในหนังสือนำชมจะมีเนื้อหาของประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณแต่ละแห่ง รวมทั้งรายละเอียดของโบราณสถานแต่ละแห่ง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเมืองศรีสัชนาลัยใน พ.ศ.2450 พระองค์ได้พระราชนิพนธ์หนังสือ “เที่ยงเมืองพระร่วง” มีตอนหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ว่า “ที่นี่มีวิหารรูปร่างคล้ายวัดศรีชุมเมืองสุโขทัยเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 5 วา 3 ศอก ยาว 6 วา 3 ศอกคืบ และผิดกับวัดศรีชุมที่แบ่งออกเป็น 2 ห้อง  ด้านตะวันตก (คือด้านที่หันไปทางถนน) มีรูปพระยืน ด้านตะวันออกมีพระมารวิชัย ประตูยังมีซุ้มติดอยู่ มีใบระกาทางด้านตะวันตก และเจดีย์หลายองค์ มีกำแพงล้อมรอบลาน วัดนี้ถึงเป็นวัดเล็กก็จริง แต่ท่าทางจะเป็นวัดที่อยู่สบาย ส่วนใหญ่ก่อด้วยศิลาแลงมีอยู่ที่เชิงเขาใกล้วัดนี้ จึงเห็นได้ว่าอย่างไรคงไม่กันดารน้ำ บางทีจะเป็นวัดนี้ที่ในพงศาวดารกรุงเก่าเรียกว่า วัดไม้งาม เป็นที่ตั้งทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวร เมื่อเสด็จขึ้นมาปราบขบถพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลกที่ข้าพเจ้านึกเช่นนี้เพราะเห็นว่า เป็นวัดที่อยู่ริมถนนพระร่วงทางมาจากสุโขทัย และดูอยู่ในภูมิที่เหมาะ นอกจากนี้ยังพบพระรัตรตรัยมหายานด้วยคือ มีพระพุทธรูปนาคปรกอยู่ตรงกลางพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่เบื้องขวานางปัญญาบารมีอยู่เบื้องซ้าย”

จากการสำรวจโดยเจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตามลักษณะสภาพโบราณที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพรรณนาไว้นั้น ตามลักษณะสภาพโบราณสถานที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “วัดพญาดำ” สาเหตุที่เรียกวัดพญาดำ เนื่องจากมีคนร้ายลักลอบขุดหาพระพิมพ์ และพบพระพิมพ์นางพญาเนื้อสีดำเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ราษฎรแถบนั้นเรียกชื่อวัดว่าวัดพญาดำ

 

ลักษณะโดยทั่วไปของวัดพญาดำ เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดกลาง ประกอบด้วย

1.มณฑปประธาน ก่อด้วยศิลาแลง สอปูนฉาบปูนทั้งหลัง เป็นมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคารูปคล้ายประทุนเรือก่อโดยวิธีเรียงศิลาแลงเหลื่อมเข้าหากัน ทำเป็นรูปหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น ตัวมณฑปตั้งอยู่บนฐานเขียงหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 12.3 เมตร ยาว 14.1 เมตร ถัดขึ้นมาเป็นฐานเขียงหน้ากระดานอีก 1 ชั้น แล้วจึงถึงชุดของฐานปัทม์ ซึ่งทำส่วนท้องไม้ให้ยืดยาวขึ้นเป็นส่วนเรือนธาตุหรือผนังของมณฑป มีการประดับส่วนบนและส่วนกลางของผนังด้วยเส้นลวดแก้วอกไก่ ส่วนละ 2 เส้น ภายในมณฑปแบ่งออกเป็น 2 คูหา ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ซึ่งถูกทำลายไปเกือบหมดแล้ว คูหาด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูป 2 หรือ 3 องค์ ซึ่งชำรุดมาก ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปยืนหรือลีลา ผนังข้างซ้ายไม่ปรากฏหลังฐานแน่ชัด ประตูทางเข้าคูหาทั้งสองด้านทำเป็นซุ้มรูปกลีบบัว มีวิหารโถงหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องขนาด 1 ห้อง ยกพื้นสูงย่อเก็จที่ส่วนหน้าเชื่อมติดกับด้านหน้ามณฑป

เทคนิคการก่อสร้าง โครงสร้างของมณฑปเป็นผนังรับน้ำหนัก ก่อด้วยศิลาแลงสอดินและปูน โดยทั่วไปก่อด้วยระเบียงอิงลิชบอนด์ (English Bond) แต่ไม่เคร่งครัดนัก หลังคาก่อเป็นสันเหลื่อมกันขึ้นไป แต่ส่วนยอดหลังคากลับใช้ศิลาแลงรูปลิ่มวางในลักษณะเดียวกันกับการก่อโค้ง ขนาดของศิลาแลงตรงส่วนยอดหลังคา มีขนาดยาวกว่าขนาดพิกัดทั่วไป เนื่องจากต้องยื่นยาวออกไปและก่อด้วยดารพันหัวออก ส่วนตกแต่งโดยมากใช้ปั้นปูนติด มีบางส่วนที่เตรียมโกลนศิลาแลงไว้แต่ไม่ประณีต และมีก็ใช้เศษกระเบื้องเสริมในส่วนที่เป็นลวดบัว ไม่พบรูปของแป ซึ่งต่อเนื่องกับวิหาร ดังนั้นจึงอาจยื่นแปเข้ามาชนกับผนังเท่านั้น

2.วิหาร อยู่ด้านหน้าในแนวเดียวกับมณฑปประธานก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง แผนผังวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าย่อมุข 2 ครั้ง ด้านหลัง 1 ครั้ง นอกฐานด้านหน้ายังมีต้นเสาอีก 1 ห้อง คงจะมีหลังคาคลุมมาถึงส่วนนี้ด้วย ฐานวิหารเป็นฐานบัวตั้งอยู่บนฐานเขียงหน้ากระดานกว้าง 14.8 เมตร ยาว 28.8 เมตร ผนังวิหารเป็นแบบเจาะช่องแสง มีแท่นฐานชุกชีอยู่ที่ห้องท้ายสุด และห้องรองสุดท้าย ขนาดประมาณ 4.5x5 เมตร แนวอาสนสงฆ์อยู่ติดผนังด้านขวา กว้างประมาณ 1.5 เมตร ความยาวคงตลอดแนวผนังส่วนที่ยังไม่ย่อ บันไดทางขึ้นวิหารมี 4 ทาง คือ ด้านหน้าตรงส่วนที่จะย่อเป็นมุขครั้งที่ 2 ทั้งสองด้าน และด้านข้างซ้ายตรงห้องท้ายสุดที่ยังไม่ย่อมุขกับด้านขวาตรงห้องที่ย่อมุข

3.มณฑปพระอัฏฐารศ ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ด้านขวาจองมณฑปประธาน ฐานล่างสุดของมณฑปเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาด 6.7x7 เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานสี่เหลี่ยมหน้ากระดานอีกขั้นหนึ่งแล้วจึงถึงชุดของฐานปัทม์ท้องไม้ลูกฟัก จากนั้นจึงเป็นชุดของฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ ซึ่งทำส่วนท้องไม้ให้สูงขึ้นเป็นผนังมณฑปหรือเรือนธาตุ แต่ส่วนบนรวมทั้งหลังคาได้พังทลายลงไปหมดแล้ว ภายในคูหามณฑปมีร่องรอยว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ซึ่งอาจมะมีความสูงถึง 18 ศอก ที่เรียกกันว่าพระอัฏฐารส อันเป็นความนิยมอย่างหนึ่งในพุทธศิลปะสุโขทัย ที่ด้านข้างขวาของมณฑปมีแท่นศิลาแลงก่อติดกับฐานมณฑป อาจเป็นซุ้มพระเล็กๆ ที่ทำเพิ่มเติมขึ้นมาในสมัยหลังรวมทั้งแท่นบูชา ซึ่งทำเป็นแผ่นศิลาแลงวางอยู่บนแท่นเสาเล็กๆ ด้านหน้าซุ้มนี้ด้วย

4.ซุ้มพระสี่ทิศ ตั้งอยู่ทางด้านหลังวัด หน้าแท่นพระนอนเหลือเฉพาะฐานก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ ลักษณะเป็นฐานปัทม์รองรับซุ้มพระมี 4 ซุ้ม ประจำทิศ แต่ละซุ้มมีร่องรอยว่ามาเชื่อมต่อกับซุ้มกลาง ซึ่งก่อด้วยอิฐลักษณะคล้ายจะทำเป็นคูหา แต่สภาพที่เหลืออยู่พังทลายมากจนไม่อาจทราบรูปทรงที่ชัดเจน ขนาดของซุ้มด้านหลัง และด้านข้างทั้งสองใกล้เคียงกัน คือประมาณ 3.7x3.2 เมตร ในขณะที่ซุ้มด้านหน้ามีขนาด 3.7x4.5 เมตร และซุ้มด้านหน้าจะทำเป็นย่อมุม มีบันไดเตี้ยๆ และเปิดช่องทางให้คนเข้าสู่ภายในได้ ฐานบัวขององค์ด้านหลังพิเศษกว่าขององค์อื่นๆ คือ ในขณะที่องค์อื่นๆ ฉาบปูนเป็นกลีบบัวเกลี้ยงๆ ธรรมดา แต่องค์ด้านหลังจะประดับด้วยปูนปั้นเป็นกลีบบัวที่มีความอ่อนช้อยสวยงามมาก ระหว่างซุ้มพระแต่ละทิศยอกเว้นซุ้มทิศเหนือกับทิศตะวันออกมีฐานเจดีย์ทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.7- 2.1 เมตร แต่เดิมคงจะมีครบทั้ง 4 องค์  แต่ถูกทำลายไป โดยรอบซุ้มพระและเจดีย์ มีแนวศิลาแลงเรียงเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า (แต่มีบางส่วนถูกทลาย) แสดงให้เห็นถึงการเน้นความสำคัญหรือมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโบราณสถานกลุ่มนี้

5.แท่นพระนอน ตั้งอยู่ด้านหลังสุดติดกับกำแพงวัด ก่อด้วยศิลาแลงเป็นแท่นปัทม์ ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น ฐานล่างสุดกว้าง 7.5 เมตร ยาว 14.7 เมตร มีร่องรอบของการสร้างซ้อนทับก่อปิดแท่นเดิมเอาไว้ภายใน ที่บริเวณตรงกลางด้านหน้าแท่น มีบันไดขึ้นสู้บนตัวแท่นคู่กัน 2 บันได บันไดละ 3 ขั้น กว้าง 1.2 เมตร บนตัวแท่นปูพื้นด้วยศิลาแลง และก่อศิลาแลงยกพื้นขึ้นเป็นแท่นสี่เหลี่ยมกว้าง 3 เมตา ความยาวไม่สามารถทราบได้แน่ชัด ความสูงของแท่นประมาณ 30 เซนติเมตร จากลักษณะของอาคารหรือวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนอนหรือปางไสยาสน์ เนื่องจากไม่พบหลักฐาน จึงไม่สามารถทราบได้ว่าอาคารนี้มีผนังหรือไม่ แต่แน่นอนว่าคงจะต้องมีหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เพราะได้พบว่ามีการเจาะรูปเพื่อเสียบเสาไม้บนอาคาร และพบกระเบื้องดินเผาในขณะขุดแท่ง โดยรอบแท่นหรือวิหารพระนอนนี้มีศิลาแลงเรียงห่างมาจากฐานประมาณ 1.6 เมตร คงจะถมปรับพื้นเป็นทางเดินรอบอาคาร แต่ที่ด้านซ้ายของแท่น จะก่อยื่นออกไปจากส่วนอื่นประมาณ 1 เมตร

6.เจดีย์ราย ก่อด้วยศิลาแลง มีจำนวนทั้งสิ้น 38 องค์ ตั้งกระจายอยู่บนพื้นที่ภายในกรอบกำแพงด้านหลังวิหาร มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ส่วนมากที่สุดจะมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งบางองค์ก็มีการก่อแท่นบูชาเพิ่มเข้ามาในภายหลัง มีเพียง 2 องค์เท่านั้นที่เป็นฐานแปดเหลี่ยม กับ 3 องค์ที่เป็นฐานกลมในกลุ่มซุ้มจัตุรมุข (ซุ้มพระ 4 ทิศ) เจดีย์รายทั้งหมดถูกทำลายเนื่องจากการขุดหาโบราณวัตถุจนพังทลายเหลือเพียงฐาน มีเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่เหลือหลักฐานอยู่ค่อนข้างมาก คือ องค์ที่อยู่ด้านหลังของมณฑปพระอัฏฐารศ ซึ่งเหลือฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อมลดหลั่นกับ 3 ชั้น ขนาดจองฐานเขียวบ่างสุด 4.05x4.05 เมตร ซึ่งเมื่อดูลักษณะฐานและสิ่งแวดล้อมเทียบกับภาพถ่านเก่าจองวัดพญาดำเมื่อปี พ.ศ. 2450 แล้ว จึงทำให้เข้าในว่าเจดีย์องค์นี้ คือเจดีทางพุ่มข้าวบิณฑ์

7.เขตสังฆาวาส บริเวณซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเขตสังฆาวาสของวัดนี้ คือ พื้นที่นอกกำแพงออกไปทางด้านใต้ของวิหาร ซึ่งได้พบอาคารเล็กๆ 2 หลัง อาคารหลังแรกเป็นอาคารฐานบัว ก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 4.6x5.6 เมตร สภาพพังทลายมาก ที่ด้วยหน้าอาคารละระดับลงไปมีแนวศิลาแลงปูเป็นพื้นหรือกรอบอาคารเหลืออยู่ในเห็นเป็นแห่งๆ มีเสาศิลาแลง 2 ต้น ตั้งอยู่ในแนวเดียวกับขอบอาคารฐานบัวสันนิษฐานว่า อาคารหลังนี้คงจะทำหลังคาด้วยเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีผนังทำด้วยไม้หรือศิลาแลง และทำหลังคาคลุมชานที่ยื่นออกไปเป็นลักษณะเพิงหรืออาคารโถงไม่มีผนัง ความกว้างของฐานเท่าที่ปรากฏอยู่ประมาณ 7x7 เมตร ตรงออกไปข้างหน้ามนแนวเดียวกันมีเสาศิลาแลงปักเรียงขนานกับอาคาร 6 ต้น โดยเว้นช่องว่างในแนวตรงกับอาคาร กว้าง 1.3 เมตร เป็นช่องประตู เสาที่เป็นกรอบประตูจะใหญ่กว่าอีก 2 ต้น ที่อยู่ข้างๆ แผ่นศิลาที่เคยเป็นทับหลังประตูถากเป็นบัว เสาที่เป็นกรอบประตูจะมีรอยถากตลอดแนวเพื่อประกบกับประตูไม้ ลักษณะของแนวเสากรอบประตูเช่นนี้มีอีกแห่งหนึ่งที่บริเวณด้านซ้ายของอาคาร แต่จะมีแนวสาต้นเล็กกว่าเป็นแนวกำแพงเพื่อเข้ามาอีก 5 ต้น ลักษณะของเสาประตูดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอาคารนี้มีกำแพงล้อมรอบ

ยังมีอาคารอีกหลังหนึ่งอยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหลังแรก ลักษณะคล้ายจะอยู่นอกแผนผังของกรอบกำแพงที่ได้ทำไว้แต่เดิม และฐานอาคารก็จะเตี้ยว่าอาคารหลังแรก แต่ก็เป็นอาคารฐานบัวเช่นเดียวกัน แผนผังของอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 4.25 เมตร ยาว 6.85 เมตร คงเป็นอาคารที่ใช้งานในลักษณะเดียวกับเป็น กุฏิสงฆ์

8.สระน้ำด้านหน้าวิหาร ลักษณะเป็นบ่อหรือสระซึ่งเกิดจากการขุดเอาศิลาแลงขึ้นมาใช้งาน

9.กำแพงวัด ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันเป็นแนวกำแพงศิลาแลงที่ใช้แท่งศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมปักเรียงชิดติดกันมีศิลาแลงทับหลังกำแพงปักเป็นแนวยาวล้อมกรอบพื้นที่ตั้งแต่ท้ายวิหารออกมาแล้ว ทางด้วยหลังวัดทั้งหมดเป็นกรอบพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่แนวตั้งแต่ท้ายวิหารไปตรงกำแพงด้านซ้ายขาดหายไป กำแพงทางด้านซ้ายนี้มีต่อยาวออกไปถึงส่วนของวิหารแล้วก็ขาดหายไป ส่วนกำแพงด้านขวาก็มีเพียงส่วนที่หักมุมเข้ามาท้ายวิหาร ถ้าดูจากแนวกำแพงที่เหลือแล้วก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่าคงจะมีแนวกำแพงล้อมกรอบพื้นที่ในส่วนของวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานศรีสัชนาลัย.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535.

กรมศิลปากร. “วัดพญาดำ ตต.6” ใน ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.aspx?id=0004311

กระทรวงวัฒนธรรม. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร. ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก (The World Heritage Information Center) (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา  http://www.thaiwhic.go.th/heritage_culture.aspx

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

ทรงยศ วีระทวีมาศ.“มณฑปแบบสุโขทัยในศรีสัชนาลัย” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.

ธิดา สาระยา. นำเที่ยวศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : สีดา, 2542.

ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.

พันธลักษณ์. มรดกโลกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บ้านหนังสือ 19, 2547.

ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม. รายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนา ลัย จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.

มานพ ถนอมศรี. ศรีสัชนาลัย : โบราณสถานสามสมัย. กรุงเทพฯ : พี พี เวิลด์ มีเดีย, 2546.

สด แดงเอียด. เมืองเชลียง เชียงชื่น ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2536.

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

อุดม เชยกีวงศ์. มรดกไทย มรดกโลก : สิ่งล้ำค้าที่ทุกคนในโลกต้องช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา 2549.

เอนก สีหามาตย์. มรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง