วัดโพง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา

ตำบล : ประตูชัย

อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา

จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา

พิกัด DD : 14.355181 N, 100.566405 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดโพง อยู่ระหว่างวัดสังขปัดกับวัดจันทร์  ตั้งอยู่บริเวณบึงพระราม  กลางเกาะเมือง

การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานีเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดโพง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 10 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 40 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น  สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

การขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

วัดโพง เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

การขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วัดโพง เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดโพง ตั้งอยู่บริเวณบึงพระราม กลางเกาะเมืองอยุธยา อยู่ระหว่างวัดสังขปัด (ด้านทิศตะวันตก) กับวัดจันทร์ (ด้านทิศตะวันออก) ปัจจุบันเป็นโบราณสถานภายในเกาะเมืองอยุธยา อยู่ในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศเหนือประมาณ 1.30 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3.5 -5 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย, คลองเมือง

สภาพธรณีวิทยา

ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต ้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ (Bunopas, 1981) การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ

ลักษณะทางธรณีวิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่  เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน   น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย  แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว  ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น  และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง  มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว  ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  กล่าวคือ  ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น  จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง  และปิดทับอยู่ด้านบน  จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยวัดโพง เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯ

ชื่อผู้ศึกษา : UNESCO

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

วัดโพง เป็นโบราณสถานภายในเขตเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

ชื่อผู้ศึกษา : ไพฑูรย์ บรรลือทรัพย์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

ไพฑูรย์ บรรลือทรัพย์. “โบราณสถานร้างที่ (เกือบ) ถูกลืม : วัดโพง”. ตีพิมพ์เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 18, ฉบับที่ 10 (ส.ค. 2540) : หน้า 72-74

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

            วัดโพง (ก่องแก้ว วีระประจักษ์ มปป.) เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา  ตั้งอยู่ในบริเวณส่วนกลางของเกาะเมืองริมบึงพระรามด้านทิศใต้  ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ปัจจุบันเป็นวัดร้าง  ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  สิ่งก่อสร้างที่เป็นหลักฐานสำคัญคือ เจดีย์ 1 องค์

            ในประชุมประชุมพงศาวดาร เล่ม 37 เรื่องกรุงเก่า ซึ่งเรียบเรียงโดย พระยาโบราณบุรานุรักษ์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา เมื่อ ร.ศ.126 ได้บรรยายไว้ว่า ในบริเวณหน้าวัดโพงนั้นมีร้านชำไทยมอญ และเป็นตลาดขายเครื่องทองเหลืองขนาดใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับวัดกระจี

            1. เจดีย์ประธาน  วัดโพงอยู่ในสภาพชำรุดปรักหักพังเป็นส่วนใหญ่  การพิจารณาศึกษารูปทรงเจดีย์จึงสามารถทำได้จากร่องรอยโครงสร้างที่หลงเหลือให้เห็นอยู่บางส่วน  ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม  ก่อด้วยอิฐ  มีฐานสูง ผิวนอกของเจดีย์มีร่องรอยการฉาบปูน  และปั้นปูนประดับตกแต่งเป็นรูปและลวดลายต่างๆ เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะผสมระหว่างทรงปรางค์กับทรงระฆัง  กล่าวคือ  เป็นรูปทรงเจดีย์แบบหนึ่งซึ่งนักวิชาการในปัจจุบันเรียกว่า  เจดีย์ทรงปราสาทยอด  ลักษณะโดยทั่วไปของเจดีย์แบบนี้มีส่วนที่เป็นเรือนธาตุอยู่เหนือฐาน  ซึ่งทำเป็นเรือนธาตุอย่างปรางค์  แต่มีมุขยื่นออกทั้งสี่ด้าน

            ภายในมุขแต่ละด้าน  มีร่องรอยประดับปูนปั้นเป็นรูปพระพุทธรูปยืนเฉพาะซุ้มด้านทิศตะวันตกยังปรากฏพระพุทธรูปยืนพระหัตถ์แสดงปางประทานอภัยแต่เศียรหักหายไปหมดแล้ว  ส่วนด้านอื่นๆ ปรากฏหลักฐานเฉพาะร่องรอยซึ่งเหลือให้เห็นเพียงแนวของแผ่นอิฐเท่านั้น  ที่ผนังด้านข้างซุ้มด้านทิศตะวันตก  มีลายปูนปั้นประดับ  ยังคงเหลือให้เห็นบางส่วน ทำเป็นแนวยาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  คล้ายซี่ลูกกรงขนาดเล็ก  ปั้นปูนเป็นลานหน้ากระดานอยู่ตามแนวนั้น  รูปแบบของแนวปูนอย่างนี้อาจใช้เป็นสัญลักษณ์หรือเลียนแบบเจาะช่องโปร่งอาคาร

            เหนือเรือนธาตุขึ้นไปทำเป็นชั้นเตี้ยๆ เหนือชั้นทำเป็นทรงกระบอกผายขึ้นเรียงซ้อนลดหลั่นจำนวน 3 ชั้น  ที่มุมของชั้นล่างยังปรากฏภาพปูนปั้นรูปครุฑ  ซึ่งชำรุดเหลือให้เห็นเพียงส่วนขาและส่วนตัว  ยืนอยู่บนนาคเห็นเพียง 3 เศียร  ส่วนที่มุมของชั้นบนยังปรากฏลายปูนปั้นเป็นบัวปากฐานให้เห็นอยู่บางส่วน  รองรับองค์ระฆังกลม

            บริเวณองค์ระฆังด้านทิศตะวันออก แผ่นอิฐส่วนที่ก่อขึ้นเป็นองค์ระฆังหลุดหายไปบางส่วน ทำให้เห็นบริเวณห้องกรุภายใน  ซึ่งมีแผ่นหินวางคั่นห้องกรุเป็นชั้นๆ อยู่ระหว่างแนวอิฐ  เหนือองค์ระฆังทำเป็นชุดของทรงดอกบัวบานแต่น้อยซึ่งชำรุดหักหายไป  คงเหลือให้เห็นเพียงชั้นเดียว ตามรูปเดิมน่าจะเป็นทรงดอกบัวบานซึ่งเรียงซ้อนกันขึ้นไป  มีชื่อเรียกว่า  บัวคลุ่มเถา

            เข้าใจว่าเจดีย์วัดโพงคงได้รับอิทธิพลจากศิลปะทางเหนือดังมีเจดีย์ลักษณะคล้ายคลึงกันเช่น  เจดีย์มุมของเจดีย์ประธานวัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย  และเจดีย์รายบางองค์ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว  อำเภอศรีสัชนาลัย  จังหวัดสุโขทัย  เป็นต้น

            สรุปได้ว่า  รูปแบบของทรงเจดีย์วัดโพงนี้  น่าจะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ช่างอยุธยาพยายามจะนำมาผสมผสานรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากสุโขทัยกับศิลปกรรมที่ใช้อยู่เดิมในอยุธยา  การรวบรวมรูปแบบศิลปกรรมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถของช่างที่ผสมผสานรูปแบบได้อย่างเหมาะสม

            นอกจากเจดีย์ดังกล่าวแล้ว เมื่อกรมศิลปากรขุดแต่งบูรณะวัดโพงใน พ.ศ.2540 ยังพบสิ่งก่อสร้างอื่นในบริเวณวัดอีก คือ

            2. วิหาร  เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  อยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน  ผนังด้านหลังอยู่ติดกับฐานเขียงของเจดีย์ประธาน  ภายในประกอบด้วยเสาสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ด้านทิศเหนือปรากฏร่องรอยอาสนสงฆ์ ด้านทิศตะวันตกเป็นฐานชุกชี พื้นปูด้วยอิฐ

            3. เจดีย์ราย ประกอบด้วย

                - เจดีย์หมายเลข 2  อยู่ทางมุมตะวันตกเฉียงใต้ของเจดีย์ประธาน  เหลือเพียงฐานเขียงสี่เหลี่ยม

                - เจดีย์หมายเลข 3  อยู่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์ประธาน พบเพียงฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัส  และส่วนที่ต่อขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่เพิ่มมุม

                - เจดีย์หมายเลข 4  เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ขนาดเล็ก  อยู่ทางมุมตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์ประธาน  ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ขนาด 2 x 2 เมตร เหนือขึ้นไปเป็นฐานย่อมุมไม้สิบสอง ต่อด้วยฐานสิงห์ 2 ชั้น  เรือนธาตุมีซุ้มจรนำ 4 ทิศ

                - เจดีย์หมายเลข 5  เป็นเจดีย์ขนาด 1 x 1 เมตร  เหลือเพียงฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง อยู่ทางด้านตะวันตกของเจดีย์ประธาน

            3. กำแพงแก้ว  เป็นกำแพงอิฐก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หนาประมาณ 80 เซนติเมตร  ล้อมรอบโบราณสถาน  มีมุขยื่นทางด้านตะวันออก

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2516.

กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 63 เรื่องกรุงเก่า. พระนคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2511.

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

ก่องแก้ว วีระประจักษ์. วัดโพง. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา  http://www.literatureandhistory.go.th/

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา.  กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.

ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.

ไพฑูรย์ บรรลือทรัพย์. “โบราณสถานร้างที่ (เกือบ) ถูกลืม : วัดโพง”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 18, ฉบับที่ 10 (ส.ค. 2540) : หน้า 72-74

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2558 แหล่งที่มา https://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b8b0e0b8ade0b8a2e0b8b8e0b898e0b8a2e0b8b2.pdf

สันติ  เล็กสุขุม. เจดีย์เพิ่มมุม เจดีย์ย่อมุมสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2529.

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี