โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา
ตำบล : ประตูชัย
อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา
จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา
พิกัด DD : 14.341215 N, 100.55054 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง
วัดหลวงชีกรุด เป็นโบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ภายในเกาะเมืองอยุธยา ตั้งอยู่ตรงข้ามกับโบสถ์ยอเซฟ ถนนอู่ทอง และอยู่ระหว่างกับวัดวังไชย ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์โปรดฯให้สร้างขึ้น กับวัดนกได้รับการขุดแต่งและบูรณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานีเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี
วัดหลวงชีกรุด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 10 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 40 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4
กรมศิลปากร
การขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร :
วัดหลวงชีกรุด เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่
การขึ้นทะเบียนของ UNESCO :
วัดหลวงชีกรุด เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576
วัดหลวงชีกรุด เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ภายในเกาะเมืองอยุธยา ตั้งอยู่ตรงข้ามกับโบสถ์ยอเซฟ และอยู่ใกล้กับวัดวังไชย ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์โปรดฯให้สร้างขึ้น ได้รับการขุดแต่งและบูรณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย, คลองเมือง
ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ (Bunopas, 1981) การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ
ลักษณะทางธรณีวิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่ เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ กล่าวคือ ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง และปิดทับอยู่ด้านบน จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยวัดหลวงชีกรุด เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯชื่อผู้ศึกษา : UNESCO
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
วัดหลวงชีกรุด เป็นโบราณสถานภายในเขตเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาภาชนะดินเผา, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ว่าจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรพคดี. ดำเนินการขุดค้น-ขุดแต่ง โบราณสถานวัดหลวงชีกรุด โดยได้นำเสนอเป็นรายงานการขุดแต่งและออกแบบเพื่อการบูรณะวัดหลวงชีกรุด ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีงบประมาณ 2540วัดหลวงชีกรุด เป็นวัดโบราณตั้งอยู่ริมถนนอู่ทองด้านทิศใต้ของเกาะเมืองในเขตสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานทางด้านเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้าง ปรากฏชื่อและตำแหน่งในหนังสือ “อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ เรื่อง ศิลปและภูมิสถานอยุธยาและจังหวัดพิจิตร์” (ห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรพคดี 2540 : 3)
จากตำแหน่งที่ตั้งของวัดสันนิษฐานได้ว่า วัดหลวงชีกรุดแห่งนี้น่าจะเป็นวัดสำคัญในสมัยนั้น เพราะทางด้านตะวันตกของวัดหลวงชีกรุดนั้นติดกับวัดวังไชยที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดฯ ให้สร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นนิวาสถานของพระองค์ก่อนครองราชย์ (กรมศิลปากร 2516 : 140) อันเป็นบริเวณที่มีชุมชนหนาแน่นมาแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ หรือขุนนางในสมัยนั้น อาจจะมีความเป็นไปได้ว่า วัดหลวงชีกรุดเป็นวัดขนาดปานกลางที่สร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของกลุ่มเครือญาติ หรือ หมู่เครือญาติโดยเฉพาะ และอาจจะสร้างบ้านเรือนในที่ดินของตนเองเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมหมู่ญาติเพื่อทำบุญประจำตระกูล (ห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรพคดี 2540 : 3-5)
ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธาน อุโบสถ และเจดีย์ราย กลุ่มหนึ่งที่ได้รับการดำเนินงานขุดแต่งและบูรณะแล้ว มีรายละเอียดโดยสังเขปดังต่อไปนี้
1. เจดีย์ประธาน จากการขุดแต่งโบราณสถานพบว่า วัดนี้เป็นเจดีย์ทรงกลมระฆัง ตั้งเรียงกัน 3 องค์ เหนือ - ใต้ สันนิษฐานว่าน่าจะมีคติการสร้างพระสถูป 3 องค์แบบวัดพระศรีสรรเพชญ์
2. อุโบสถ (ห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรพคดี 2540 : 15-17) เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างประมาณ 14.50 เมตร ยาวประมาณ 31 เมตร ยกฐานสูงเป็นฐานเขียง มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า 2 ที่ และ ด้านหลังอีก 2 ที่ โดยรอบฐานมีพื้นปูอิฐและมีกำแพงแก้วล้อมรอบ แนวพื้นปูอิฐลานประทักษิณปรากฏร่องรอยฐานเสมาเหลืออยู่ 6 แห่ง ฐานเสมาเป็นฐานเหลี่ยมย่อมุม ขนาดประมาณ 1x1 เมตร พื้นของอุโบสถแบ่งเป็น 2 ระดับคือ 1.ระเบียงรอบนอกกับพื้นภายใน และ 2.ระเบียงรอบนอกที่ไม่มีผนัง แต่ปรากฏเสากลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40 เซนติเมตร และมีเสาในอุโบสถเป็นเสาแปดเหลี่ยมเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 80 เซนติเมตรอีกจำนวน 14 ต้น อีก 2 แถว รองรับชั้นหลังคาพื้นของอุโบสถปูด้วยกระเบื้องเนื้อแกร่งรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานชุกชีภายในอุโบสถปรากฏร่องรอยของการประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนหลายองค์
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.
กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2516.
กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2516.
กรมศิลปากร. อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์. (ชำระครั้งที่ 2). มปท, 2506. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายอ๊อด สันตยานนท์ ณ เมรุวัดจักรวรรดิราชาวาส 7 มีนาคม 2506).
กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.
ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2558 แหล่งที่มา https://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b8b0e0b8ade0b8a2e0b8b8e0b898e0b8a2e0b8b2.pdf
สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.
ห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรพคดี. รายงานการขุดแต่งและออกแบบเพื่อการบูรณะวัดหลวงชีกรุด ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีงบประมาณ 2540. จัดทำโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรพคดี เสนอ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 พระนครศรีอยุธยา, กรุงเทพฯ : บูรพคดี, 2540.