โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา
ตำบล : ประตูชัย
อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา
จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา
พิกัด DD : 14.354817 N, 100.564801 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง
วัดสังขปัด ตั้งอยู่บริเวณบึงพระราม กลางเกาะเมืองอยุธยา ใกล้กับวัดมหาธาตุ โดยอยู่ระหว่างตึกดิน(พระที่นั่งเย็น) ด้านทิศตะวันตก กับ วัดโพง (ด้านทิศตะวันออก) โดยอยู่ทางตอนกลางของเกาะเมือง อยู่ทางด้านทิศเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยห่างประมาณ 1.10 กิโลเมตร
การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี
วัดสังขปัด อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 20 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 100 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4
กรมศิลปากร
การขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
วัดสังขปัด เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่
การขึ้นทะเบียนของ UNESCO
วัดสังขปัด เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576
วัดสังขปัด ตั้งอยู่บริเวณบึงพระราม กลางเกาะเมืองอยุธยา ใกล้กับวัดมหาธาตุ โดยอยู่ระหว่างตึกดิน (พระที่นั่งเย็น) ด้านทิศตะวันตก กับ วัดโพง (ด้านทิศตะวันออก) ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อปีงบประมาณ 2530
แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย, คลองเมือง
ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต ้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ (Bunopas, 1981) การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ
ลักษณะทางธรณีวิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่ เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้ กล่าวคือ ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง และปิดทับอยู่ด้านบน จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2486
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2486 หน้า 2349 ในขณะนั้น วัดสังขปัดเป็นวัดที่อยู่ภายในบึงพระราม ซึ่งเพียงแต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใดชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยวัดสังขปัด เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาดำเนินการขุดแต่งและบูรณะเจดีย์วัดสังขปัด ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประจำปีงบประมาณ 2530ชื่อผู้ศึกษา : UNESCO
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
วัดสังขปัด เป็นโบราณสถานภายในเขตเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่วัดสังขปัด (ก่องแก้ว วีระประจักษ์ มปป.) เป็นวัดร้างตั้งอยู่ในเขตบึงพระราม ไม่ปรากฏหลักฐานทางด้านเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้าง และในพงศาวดารก็มิได้กล่าวถึงเช่นเดียวกัน ปัจจุบันวัดสังขปัดตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 60 ตอนที่ 39 วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 (ในชื่อบึงพระรามและสิ่งก่อสร้างภายในบึง) ห่างจากวัดหลังคาดำ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 0.1 กิโลเมตร
ปัจจุบันเหลือหลักฐานเพียงเจดีย์ 1 องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐทรงแปดเหลี่ยม เรือนธาตุทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนทั้ง 8 ทิศ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด จากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสันนิษฐานได้ว่าน่าจะได้รับการสร้างขึ้นในราวสมัยอยุธยาตอนต้น
เจดีย์วัดสังขปัดนี้ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาดำเนินการขุดแต่งบูรณะและรายงานไว้แล้วเมื่อ พ.ศ.2530 จากการขุดแต่งทำให้ทราบว่า รูปแบบเป็นเจดีย์อิฐสอปูนทรงแปดเหลี่ยม ฐานล่างทำเป็นฐานเขียง และซ้อนด้วยฐานปัทม์ 4 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุประกอบด้วยซุ้มพระพุทธรูป 8 ทิศ แต่ละซุ้มประดับด้วยเสาแปดเหลี่ยมตกแต่งปั้นปูนเป็นเสาบัว ระหว่างเสาปรากฏพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยจำนวน 8 องค์ เหนือเรือนธาตุขององค์เจดีย์อิฐ ได้พังทลายลงหมดแล้ว ผลจากการขุดแต่งทราบว่าเจดีย์วัดสังขปัดมีห้องกรุเป็นห้องแปดเหลี่ยมตามรูปทรงภายนอกของเจดีย์ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร อยู่ระหว่างฐานปัทม์ชั้นที่ 1 กับชั้นที่ 3 มีทางเข้าอยู่ทางตะวันออกและมีบันไดลงไปสู่ห้องกรุด้วย
รูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์วัดสังขปัด สามารถเปรียบเทียบได้กับเจดีย์รายวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (องค์ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระราม) ลักษณะเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานปัทม์แปดเหลี่ยมและเรือนธาตุ ที่เรือนธาตุมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนทั้ง 8 ทิศ แต่พระพุทธรูปชำรุดหักหายไปคงเหลือแต่เสาแปดเหลี่ยม และยอดซุ้มบางซุ้มประดับเรือนธาตุ เหนือขึ้นไปเป็นชั้นหน้ากระดานแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆังรูปกลีบมะเฟือง ต่อยอดด้วยบัวกลุ่มและปลียอดโดยไม่มีบัลลังก์
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรูปทรงเจดีย์ของวัดสังขปัดกับเจดีย์รายวัดพระรามแล้วจะเห็นได้ว่ามีลักษณะใกล้เคียงกัน อีกทั้งรูปทรงเจดีย์แปดเหลี่ยมทรงระฆังและมีเรือนธาตุแบบเจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้ เท่าที่สำรวจในท้องที่บริเวณเกาะเมืองและนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาแล้ว ไม่ปรากฏเจดีย์ทรงดังกล่าว ยกเว้นที่วัดพระรามและวัดสังขปัด
เจดีย์ทั้ง 2 องค์ จะมีลักษณะต่างกันตรงช่องกรุ คือ เจดีย์ที่วัดสังขปัดมีช่องกรุแต่เจดีย์รายที่วัดพระรามไม่มีช่องกรุ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มช่องกรุที่วัดสังขปัดนี้ก็คงไม่มีอิทธิพลที่จะเปลี่ยนเอาสมัยของเจดีย์วัดสังขปัดได้ ทั้งนี้เพราะการสร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมทรงระฆังกลมซึ่งเป็นเจดีย์ทิศประกอบปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ สร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งจัดเป็นพุทธศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ก็เริ่มปรากฏลักษณะการทำช่องกรุให้เห็นแล้ว ดังนั้นเจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดสังขปัดก็น่าจะมีอายุร่วมสมัยอยุธยาตอนต้นโดยได้รับอิทธิพลทางด้านรูปแบบมาจากวัดพระราม
ศิลปะอยุธยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เจดีย์ที่เป็นองค์ประธานของวัดนิยมสร้างเป็นทรงปรางค์ ซึ่งลักษณะที่เลียนแบบมาจากรูปทรงปราสาทของศิลปะเขมร ต่อมาในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 เจดีย์ประธานของอยุธยานิยมสร้างเจดีย์ทรงระฆัง ซึ่งเป็นลักษณะที่ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ทรงระฆังที่ใช้อยู่ในกลุ่มศิลปะสุโขทัย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22 ศิลปะอยุธยาย้อนกลับไปนิยมสร้างปรางค์ ซึ่งเป็นลักษณะของศิลปะเขมรอีกครั้ง เห็นได้ว่าเจดีย์รูปแบบต่างๆ ที่นิยมสร้างในอยุธยาแต่ละสมัยนั้น มีรูปแบบเจดีย์ประธาน 2 อย่าง คือ เจดีย์ทรงระฆังและทรงปรางค์ แต่เจดีย์ที่วัดสังขปัดเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ซึ่งเหมือนกับเจดีย์รายที่วัดพระราม และพบว่าเจดีย์แปดเหลี่ยมทรงระฆังมีเรือนธาตุ มีพระพุทธรูปยืนประดับซุ้ม รูปแบบเจดีย์อย่างนี้ไม่ใช่เจดีย์ประธานที่ปรากฏตามวัดสมัยต่างๆ ในอยุธยาดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่ลักษณะของเจดีย์ที่วัดสังขปัดนี้น่าจะเป็นเจดีย์รายมากกว่าเป็นเจดีย์ประธานของวัด และถ้าพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งของเจดีย์วัดสังขปัด ก็จะสังเกตเห็นได้ว่า เป็นเจดีย์ตั้งอยู่โดดเดี่ยวเพียงองค์เดียวไม่มีเนินโบราณสถานอื่นประกอบให้เห็นว่าเป็นฐานรากสิ่งปลูกสร้างอื่นอันเป็นองค์ประกอบของเสนาสนะในพระพุทธศาสนาเรื่องนี้ นักโบราณคดีผู้รายงานการขุดแต่ง (ปีงบประมาณ 2530) ได้เสนอไว้ว่า เจดีย์วัดสังขปัดน่าจะเป็นเจดีย์รายของวัดหลังคาดำ
อย่างไรก็ดี ระหว่างการขุดแต่งบูรณะได้พบโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น พระพุทธรูปทำด้วยวัตถุชนิดต่างๆ คือ สำริด หินทราย และดินเผา ชิ้นส่วนรูปบุคคล ตุ๊กตาและเศษภาชนะดินเผา เป็นต้น
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.
กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2516.
กรมศิลปากร. รายงานการขุดแต่งบูรณะเจดีย์วัดสังขปัด ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, 2530 .
ก่องแก้ว วีระประจักษ์. วัดสังขปัด. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.literatureandhistory.go.th/
คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.
ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.
ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2558 แหล่งที่มา https://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b8b0e0b8ade0b8a2e0b8b8e0b898e0b8a2e0b8b2.pdf
สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.