วัดเจ้าพราหมณ์


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดพราหมณ์

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา

ตำบล : ประตูชัย

อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา

จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา

พิกัด DD : 14.344426 N, 100.555874 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง, คลองท่อ, คลองฉะไกรใหญ่

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดเจ้าพราหมณ์  เป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ภายในเกาะเมืองอยุธยา ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว อยู่ติดกับถนนคลองท่อและคลองท่อหรือคลองฉะไกรใหญ่ (อยู่ด้านทิศตะวันตกของคลองและถนน) ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์

การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเจ้าพราหมณ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์ เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 20 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 100 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น  สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

การขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

วัดเจ้าพราหมณ์ เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

นอกจากนี้ โบราณสถานวัดเจ้าพราหมณ์ ยังปรากฏรายละเอียดของการขึ้นทะเบียนดังนี้

            1. กำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2486 หน้า 2350 (วัดเจ้าพราหมณ์)

การขึ้นทะเบียนของ UNESCO :

วัดเจ้าพราหมณ์ เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดเจ้าพราหมณ์  เป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ภายในเกาะเมืองอยุธยา ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว อยู่ติดกับถนนคลองท่อและคลองท่อหรือคลองฉะไกรใหญ่ (อยู่ด้านทิศตะวันตกของคลองและถนน) ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทางทิศเหนือประมาณ 450 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3.5-5 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย, คลองเมือง, คลองท่อ, คลองฉะไกรใหญ่

สภาพธรณีวิทยา

            ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ (Bunopas, 1981) การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ

            ลักษณะทางธรณีวิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่  เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน   น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย  แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว  ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น  และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง  มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว  ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  กล่าวคือ  ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น  จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง  และปิดทับอยู่ด้านบน  จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนต้น

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2486

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 60 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2486 หน้า 2349 ในขณะนั้น วัดเจ้าพราหมณ์เป็นวัดในประกาศด้วย แต่ประกาศแค่ชื่อเท่านั้น ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยวัดเจ้าพราหมณ์เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯ

ชื่อผู้ศึกษา : UNESCO

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

วัดเจ้าพราหมณ์ เป็นโบราณสถานภายในเขตเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเจ้าพราหมณ์  หรือ วัดพราหมณ์ (ส่งศรี ประพัฒน์ทอง : มปป.) ตั้งอยู่ในบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  ตำบลประตูชัย   อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  บริเวณนี้แต่เดิมเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเกษตรกรรม  ได้เคยถูกปรับที่ปลูกสวนทดลองของนักเรียนมาแล้ว  ต่อมาได้มีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสมเด็จ   ขุดลอกคูคลองเดิมใกล้ๆ บริเวณวัด  ซึ่งติดกับถนนเหล็กหรือถนนตลาดเหล็ก  พบเบ้าโลหะขนาดต่างๆ ตกเกลื่อนกลาด  และมีคลองฉะไกรใหญ่ (ปัจจุบันคนทั่วไปเรียกว่าคลองท่อ) ผ่านด้านหน้าวัด

ในหนังสือประชุมพงศาวดาร เล่ม 37 เรื่องกรุงเก่า กล่าวว่า  “คลองปตูปากท่อ  ตรงมาออกประตูฉะไกรใหญ่  มีตะพานไม้ชื่อตะพานขุนโลก  1  มีตะพานไม้ตรงถนนวัดขวิด (วัดเจ้าพราหมณ์) ข้ามไปวัดกุฎีฉลัก 1  (วัดส้ม)”  ปัจจุบันนี้ยังแลเห็นแนวลำคลองฉะไกรใหญ่ในบางส่วนอยู่

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดสำรวจบริเวณวัดโดยรอบนี้เมื่อประมาณ ต้นปี พ.ศ.2534 ในบริเวณแนววิหารเดิมด้านทิศใต้ ปรากฏโบราณวัตถุที่สำคัญ รายละเอียดดังนี้

            1. ชิ้นส่วนต้นพระพาหาด้านซ้ายของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี  ทำด้วยหิน  เหลืออยู่ยาวประมาณ 21.5 เซนติเมตร  กว้างประมาณ  13.5 เซนติเมตร  บนท่อนพระพาหาสลักรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ  ซ้อนกันเป็นชั้นเห็นอยู่ 4 ชั้น  เป็นศิลปะลพบุรี  อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลักษณะคล้ายกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี  พบที่ปราสาทเมืองสิงห์  จังหวัดกาญจนบุรี  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตเศวรเปล่งรัศมี  พบที่โกสินารายณ์  อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี  จังหวัดราชบุรี 

            2. ประติมากรรมสำริดรูปพระลักษมี ที่บริเวณด้านหน้าองค์ปรางค์ ขนาดสูง 5.9 เซนติเมตร  ฐานกว้าง 2 เซนติเมตร  ศิลปะอินเดียใต้  สมัยราชวงศ์โจฬะ  อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19  ประทับยืนแบบตริภังค์  (เอียงสะโพกซ้าย)  อยู่บนฐานบัวรองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยม  พระกรซ้ายห้อยชิดพระองค์  พระกรขวาถือดอกบัวชูขึ้น  นุ่งพัสตราภรณ์ห้อยหน้าปล่อยชายออก 2 ข้าง  และขมวดที่ชายพกปล่อยทิ้งชายไว้ด้านขวามือ  อาภรณ์ประดับคาดกลางพระอุระ  ต้นพระพาหา  และข้อพระกร  ใส่กุณฑลเป็นตุ้มใหญ่  เกล้าเกศาสูงรัดเกล้าคล้ายบัวสี่กลีบ  ด้านหลังรัดเป็นจุก 

            3. บริเวณใกล้เคียงกันยังได้พบกำไลสำริด 1 คู่  ทำเป็นรูปงูอ้าปากตามลำตัวเป็นเกล็ด  เป็นกำไลขนาดเล็กน่าจะเป็นกำไลสำหรับเด็ก  โบราณวัตถุทั้ง 3 ชิ้นเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา   ต่อมากรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานแห่งนี้อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2541

โบราณสถานที่สำคัญของวัดเจ้าพราหมณ์ที่ยังเหลืออยู่  คือปรางค์ประธาน เป็นปรางค์ที่ก่อด้วยอิฐ ฐานของปรางค์ก่ออิฐเรียงอยู่บนแนวฐานล่างซึ่งก่อด้วยศิลาแลง  ลวดลายปูนปั้นติดอยู่ที่ซุ้มชั้นบนของซุ้มทางเข้าด้านหน้าของปรางค์   ลักษณะโครงสร้างและลวดลายปูนปั้นที่ประดับบนโบราณสถานเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น โดยอาจเทียบรูปแบบได้กับลวดลายปูนปั้นประดับปรางค์ในสมัยนั้นเช่นปรางค์วัดส้ม ต่อมาปรากฏร่องรอยว่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยการก่อฐานเขียงปิดทับฐานปรางค์องค์เดิมเพื่อเชื่อมกับวิหารในสมัยสุดท้าย ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงอยุธยาตอนปลาย

เดิมวัดเจ้าพราหมณ์อาจเป็นศาสนสถานฮินดู  อย่างไรก็ดีภายในคูหาปรางค์ได้พบชิ้นส่วนพระหัตถ์ทำด้วยปูนปั้น ลักษณะของชิ้นส่วนที่พบนี้ควรเป็นพระหัตถ์ของพระพุทธรูป  ดังนั้นจึงเชื่อว่า หากปรางค์แห่งนี้สร้างให้เป็นเทวสถานก็คงแปลงเป็นพุทธสถานในภายหลัง และไม่พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหรืออื่นใดนอกจากนี้เลย อาจเป็นเพราะได้ถูกรื้อพื้นที่เพื่อปรับเป็นที่ทำการเกษตรกรรมเมื่อครั้งวิทยาลัยเกษตรกรรมตั้งอยู่จนไม่มีอะไรเหลือไว้อีก  แต่จากการขุดค้นของสำนักโบราณคดีที่พบโบราณวัตถุทั้ง 3 ชิ้น ทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่า วัดเจ้าพราหมณ์เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น หรืออาจจะมีอายุเก่าขึ้นไปถึงสมัยก่อนพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็เป็นได้

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2516.

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

ประชุมพงศาวดาร เล่ม 37 เรื่องกรุงเก่า. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา,2512.

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา.  กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.

ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. ข้อมูลออนไลน์ เข้าถึงเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2558 แหล่งที่มา https://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b8b0e0b8ade0b8a2e0b8b8e0b898e0b8a2e0b8b2.pdf

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

ส่งศรี ประพัฒน์ทอง. วัดเจ้าพราหมณ์. มปป. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 01 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา  http://www.literatureandhistory.go.th/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี