พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เจดีย์สุริโยทัย, วัดสวนหลวงสบสวรรค์

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา

ตำบล : ประตูชัย

อำเภอ : พระนครศรีอยุธยา

จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา

พิกัด DD : 14.352606 N, 100.547503 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, เจ้าพระยา, ลพบุรี, น้อย

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองเมือง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

พระเจดีย์สุริโยทัยตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาด้านทิศตะวันตก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและริมถนนอู่ทอง ภายในอาณาเขตวัดสวนหลวงสบสวรรค์และสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา

การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขาวเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทบุรี ไปจังหวัดปทุมธานี จากนั้นใช้เส้นทางปทุมธานี - สามโคก - เสนา ทางหลวงหมายเลข 311 เลี้ยวขวาที่อำเภอ เสนา ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เส้นทาง กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานีเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การเดินทางด้วยรถไฟ ใช้ขบวนที่เดินทางสู่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเขตอำเภอบางปะอิน อำเภอ พระนครศรีอยุธยา และอำเภอภาชี 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

พระเจดีย์สุริโยทัยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา สามารถเข้าชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม หากเข้าชมในลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์นั้น เปิด 06.00 - 18.00 น. โดยเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทย เป็นเงิน 20 บาท ชาวต่างชาติเป็นเงิน 100 บาท ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาย 60 ปีขึ้นไป, นักเรียน-นักศึกษา ในเครื่องแบบ, พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และนักบวช เป็นต้น  สามารถโทรศัพท์ติดต่อล่วงหน้าได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์ 035-245123-4 

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

การขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

พระเจดีย์สุริโยทัยอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยาและอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนดังนี้

            1. กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 หน้า 585 วันที่ 18 มีนาคม 2484 โดยในขณะนั้น จะเป็นการประกาศฯขึ้นเพียงชื่อเท่านั้น ไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด

            2. กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พื้นที่ 1,810 ไร่ และในปี พ.ศ. 2540 กรมศิลปากรได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมเกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้านที่ปรากฏหลักฐานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

การขึ้นทะเบียนของ UNESCO

พระเจดีย์สุริโยทัย เป็นโบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 576

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาด้านทิศตะวันตก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและริมถนนอู่ทอง ภายในอาณาเขตวัดสวนหลวงสบสวรรค์และสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขุดแต่งและบูรณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3.5-5 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำน้อย, คลองเมือง

สภาพธรณีวิทยา

ที่ราบลุ่มภาคกลางเกิดจากการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อนใหญ่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ปิง(ต่อเลยไปเกือบเชื่อมกับรอยเลื่อนเมย) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (น้ำปาด) และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ในยุคครีเทเชียสตอนปลายถึงยุคเทอร์เชียรี ซึ่งต่อเนื่องจากการเปิดตัวของอ่าวไทยทางใต ้และการเกิดแอ่งเทอร์เชียรีในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบนและตามด้วยการเกิดรอยเลื่อนในแนวเหนือ-ใต้ (Bunopas, 1981) การสะสมตัวเกิดขึ้นบนบกแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด ที่ราบตะกอนน้ำพา ทางน้ำ ทะเลสาบ และแบบกึ่งทางน้ำกับทะเลสาบ

ลักษณะทางธรณีวิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  ทำให้ลึกลงไปใต้พื้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นแหล่งกรวดทรายขนาดใหญ่  เม็ดกรวด และทรายมีขนาดใหญ่และมีลักษณะกลมมน   น้ำบาดาล สะสมตัวอยู่ระหว่างช่องว่างและเม็ดกรวดและทราย  แทรกสลับอยู่กับชั้นดินเหนียว  ทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น  และเป็นชั้นน้ำที่แผ่ขยายออกไปในแนวราบอย่างกว้างขวาง  มีคุณสมบัติทางอุทกธรณีวิทยาเฉพาะตัว  ซึ่งเป็นลักษณะที่พบอยู่ในชั้นน้ำบาดาลส่วนใหญ่ของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  กล่าวคือ  ชั้นน้ำบาดาลแต่ละชั้น  จะมีชั้นดินเหนียวรองรับอยู่ด้านล่าง  และปิดทับอยู่ด้านบน  จัดเป็นชั้นน้ำบาดาลใต้แรงดัน (Confined aquifer)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนกลาง

อายุทางโบราณคดี

สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2484

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยวัดหลวงชีกรุด เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯ

ชื่อผู้ศึกษา : บรรจบ เทียมทัด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2503

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

รรจบ เทียมทัด เสนอบทความในวารสารศิลปากรเรื่อง “เมืองพระนครศรีอยุธยา” กล่าวถึงที่ตั้ง ประวัติ และสิ่งสำคัญภายในวัด พร้อมทั้งแผนผังระบุตำแหน่งสิ่งก่อสร้างต่างๆ จำนวน 14 แห่ง ทั้งนี้ยังได้รวบรวมและนำเสนอข้อสังเกตคติเรื่องการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์(ปางปรินิพพาน) ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นคติการสร้างที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกา สมัยโปโลนนารุวะที่ส่งต่อมาในงานศิลปะสถาปัตยกรรมสุโขทัย ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2519

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 102 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2519 หน้า 2149 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1,810 ไร่ โดยวัดหลวงชีกรุด เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ฯ

ชื่อผู้ศึกษา : UNESCO

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

วัดหลังคาดำ เป็นโบราณสถานภายในเขตเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดิน อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเติม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง ลงวันที่ 21 มกราคม 2540 หน้า 40 โดยมีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3,000 ไร่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

            เจดีย์ศรีสุริโยทัยเป็นเจดีย์สีทองสูงเด่นองค์เดียวทางด้านทิศตะวันตกของเกาะกรุงศรีอยุธยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ใกล้กับหัวแหลม ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำลพบุรีหรือคูเมืองตอนบนกับแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนฝั่งตรงข้ามของเจดีย์องค์นี้เป็นวัดกษัตราธิราชและวัดธรรมาราม ซึ่งต่างเป็นวัดที่มีมาแต่สมัยอยุธยาเช่นกัน

            องค์เจดีย์ศรีสุริโยทัย เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับเจดีย์ภูเขาทอง สิ่งที่ต่างกันคือ บนยอดซุ้มมณฑปทั้งสี่ทิศของเจดีย์ศรีสุริโยทัย มีเจดีย์องค์เล็กตั้งอยู่

            เจดีย์ศรีสุริโยทัยเป็นเจดีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้จำลองมาสร้างเป็นเจดีย์ประจำรัชกาลของพระองค์ที่วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นเจดีย์องค์หนึ่งในหมู่มหาเจดีย์ 4 รัชกาลแรกของสมัยรัตนโกสินทร์

            ในปี พ.ศ.2533 ได้มีการบูรณะพระเจดีย์โดยกองบัญชาการทหารสูงสุด และค้นพบช่องบรรจุสิ่งของมีค่าที่ฉาบปูนปิดไว้บริเวณเสาหารเหนือบัลลังก์ วัตถุที่ค้นพบ ได้แก่ พระพุทธรูปหินควอทซ์ เจดีย์จำลองทรงระฆังหินควอทซ์ เจดีย์จำลองหกเหลี่ยมบรรจุผอบทองฐานปัทม์หกเหลี่ยมดินเผาบุทองหุ้มไว้ ลูกปัด อัญมณี และแผ่นทอง เป็นต้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องมหาธาตุ ในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา

            ในพระราชพงศาวดารอยุธยาระบุว่า เจดีย์ศรีสุริโยทัยเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของพระสุริโยทัย อัครมเหสีของพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งได้ปลอมพระองค์เป็นชายอย่างมหาอุปราช เข้าทำศึกสงครามกับกองทัพของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แห่งพม่า ณ ทุ่งภูเขาทอง พระสุริโยทัยถูกฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง จึงได้มีการถวายพระเพลิงพระศพของพระองค์ ในบริเวณสวนหลวงของเขตพระราชวังหลัง แล้วจึงสร้างสถูปเจดีย์นี้ขึ้น รวมทั้งได้มีการอุทิศพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นวัด และให้ชื่อว่า วัดสวนหลวงสบสวรรค์

            อย่างไรก็ตาม ในทางประวัติศาสตร์ก็ได้มีการตั้งคำถามต่อกรณีการปลอมพระองค์เป็นชายเพื่อออกศึกสงครามนั้น ว่าเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือหรือเป็นเรื่องที่จริงหรือไม่ ในทางสถาปัตยกรรมก็ได้มีการตั้งข้อสงสัยว่า ลักษณะเจดีย์แบบย่อมุมไม้สิบสองนั้นน่าจะเป็นลักษณะองค์เจดีย์ที่นิยมสร้างกันมากในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือสมัยพระเจ้าบรมโกศ มากกว่าที่จะเป็นยุคสมัยอยุธยาตอนกลางหรือสมัยพระมหาจักรพรรดิ นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การสร้างเจดีย์ประธานของวัดในพุทธศาสนานั้น โดยทั่วไปมักสร้างขึ้นเพื่ออุทิศหรือระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญและไม่ใช่เพื่อบรรจุอัฐิของบุคคลใด แต่เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ถ้าเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของบุคคลก็ย่อมไม่ใช่เจดีย์ประธานของวัดนั้นๆ

            สืบเนื่องจากกองบัญชาการทหารสูงสุด ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโบราณสถานอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกแด่สมเด็จพระสุริโยทัย พระมเหสีซึ่งสิ้นพระชนม์ในการรบกับพม่า เมื่อ พ.ศ. 2091 การบูรณะองค์พระเจดีย์ รวมทั้งปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์แล้วเสร็จใน พ.ศ.2534

            เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์เรียบร้อยแล้ว กองบัญชาการทหารสูงสุดเห็นว่าควรจะสร้างพระพุทธรูปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ประจวบกับในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ใน พ.ศ. 2535 กองบัญชาการทหารสูงสุดจึงกราบทูลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อนำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขอพระราชทานให้ทรงสร้างพระพุทธรูป ทรงพระราชอุทิศถวายแด่สมเด็จพระสุริโยทัย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองบัญชาการทหารสูงสุดดำเนินการสร้างพระพุทธรูป และพระราชทานามว่า “พระพุทธสุริโยทัยสิริกิติ์ทีฆายุมงคล” มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าเป็นมงคลแห่งสมเด็จพระสุริโยทัย และทรงเจริญพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (กรมศิลปากร. พระพุทธรูปสำคัญ)

            จากการศึกษาของ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม พบว่า เจดีย์องค์นี้น่าจะเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมที่เก่าที่สุด สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โดยช่างอยุธยาได้นำการเพิ่มมุมของปรางค์และเจดีย์ทรงปราสาทยอดมาผสมผสานกับเจดีย์ทรงกลม จนเกิดเป็นเจดีย์แบบใหม่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอยุธยา (ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์. คู่มือเรียนรู้กรุงศรีอยุธยา)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด  และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2510.

กรมศิลปากร .  ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ  : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์  กรมศิลปากร, 2522.   (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี  จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี  พุทธศักราช 2539)

กรมศิลปากร.  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม  2. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : ไอเดียสแควร์, 2542.

กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.

กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร,2516.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา,2516.

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 10 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

กรมศิลปากร. อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์. (ชำระครั้งที่ 2). มปท, 2506.  (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายอ๊อด  สันตยานนท์  ณ เมรุวัดจักรวรรดิราชาวาส  7 มีนาคม  2506).

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

น. ณ ปากน้ำ. ศิลปกรรมแห่งอาณาจักรศรีอยุธยา.  กรุงเทพฯ : ธเนศวรการพิมพ์, 2516.

ประทีป เพ็งตะโก. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2539.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2531.

สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา. ข้อมูลออนไลน์ เข้าถึงเมื่อวันที่ 01 มีนาคม 2558 แหล่งที่มา https://welovemuseum.files.wordpress.com/2011/02/e0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b8b0e0b8ade0b8a2e0b8b8e0b898e0b8a2e0b8b2.pdf

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี