โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ใกล้วัดพระปรางค์ ต.เชิงกลัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี
ตำบล : เชิงกลัด
อำเภอ : บางระจัน
จังหวัด : สิงห์บุรี
พิกัด DD : 14.924035 N, 100.270808 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : น้อย
ไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-บางระจัน-สรรคบุรี เส้นทางหลวงหมายเลข 3251 ไปประมาณ 16 กิโลเมตร ห่างจากตลาด ชัณสูตรประมาณ 1 กิโลเมตร และมีรถประจำทางผ่านสาย 605 เส้นสิงห์บุรี-สรรคบุรี ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) ห่างจากแม่น้ำน้อยประมาณ 200 เมตร มีหลักฐานซากเตาเผาและเศษภาชนะดินเผาเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วไปตามผิวดินในพื้นที่ยาวราว 2 กิโลเมตร กว้าง 150-200 เมตร ขนานไปกับแนวแม่น้ำน้อยฝั่งตะวันตก ตั้งแต่บริเวณโรงพยาบาลบางระจันถึงโรงเรียนศรีศักดิ์สุวรรณวิทยา และอาจรวมไปถึงวัดโพธิ์หอมด้วยก็ได้
ชมเตาเผาจำนวนมากหลายเตาบริเวณแม่น้ำน้อยที่ผ่านกาลเวลามานับร้อยปี ภายในเตายังคงสภาพของเครื่องปั้นดินเผาค้างอยู่ในเตา มีแผนผังของเตาเป็นรูปเส้นง่ายๆ แสดงการทำงานของเตาเผา ผลิตภัณฑ์ที่พบมากคือ ไหสี่หู อ่าง ครก กระปุก ขวด ช่อฟ้า ประติมากรรมลอยตัวรูปสัตว์ต่างๆ กระสุนปืนใหญ่ และตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาต่างๆที่ขุดได้บริเวณเตาเผาแม่น้ำน้อยฯลฯ
เวลาทำการ – เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.
สถานที่ติดต่อ -
-วัดพระปรางค์ หมู่ 7 บ้านโคกหม้อ ถนนสายสิงห์บุรี-บางระจัน-สรรคบุรี ต.เชิงกลัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี
-ติดต่อฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยว สำนักปลัดฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี โทรศัพท์ 036520030
-สำนักงาน ททท. ภาคกลาง โทรศัพท์ : 0 3731 2282, 0 3731 2284
สิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น
- ลานจอดรถ
- ศูนย์บริการข้อมูลที่เปิดให้บริการข้อมูล
- แผ่นพับประชาสัมพันธ์และป้ายอธิบายโบราณสถาน
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี, วัดพระปรางค์, กรมศิลปากร
หน่วยศิลปากรที่ 1 พระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบันที่ทำการอยู่ที่จังหวัดลพบุรี) ได้ดำเนินการสำรวจขอบเขตและกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนซากเตาเผาและเนินดินที่เหลืออยู่ทางซีกตะวันออกของวัดพระปรางค์ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 80 ตอน 84 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2510 โดยกำหนดขอบเขตไว้ 1 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา ครอบคลุมซากเตาเผาจำนวน 4 เตา
ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนริมแม่น้ำเป็นอย่างมาก มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำลพบุรี นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสายอื่น ๆ คือ ลำแม่ลา ลำการ้อง ลำเชียงราก และลำโพธิ์ชัย ไม่มีพื้นที่เป็นภูเขาและป่าไม้และไม่มีแร่ธาตุที่สำคัญ
กรมศิลปากรได้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เตาแม่น้ำน้อยขึ้น เป็นอาคารขนาดใหญ่เชื่อมต่อกันสองหลัก หลังแรกเป็นอาคารโปร่งโล่งคลุมเตาเผาไว้ 2 เตา โดยยกพื้นโดยรอบตัวเตาเผาเพื่อที่ผู้ชมสามารถเดินชมตัวเตาเผาได้โดยรอบ บริเวณทางเดินมีนิทรรศการที่ให้ข้อมูลโดยสังเขปของแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนอาคารหลังที่สองจัดแสดงแบบจำลองเตาเผาแม่น้ำน้อย และตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาจำนวนหนึ่งที่พบในแหล่งนี้
ลักษณะตัวเตาเป็นแบบระบายความร้อนเฉียงขึ้น ก่อด้วยอิฐ ตัวเตาบางส่วนคล้ายเรือประทุนจึงเรียก เตาประทุน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ปล่องไฟ ห้องวางเครื่องปั้นดินเผา และห้องเชื้อเพลิง ตัวเตาเผาที่นับว่ามีขนาดใหญ่ มีความยาวถึง 14 เมตร กว้าง 5.60 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางของปล่องควันไฟยาว 2.15 เมตร เคยใช้เป็นที่ผลิตภาชนะดินเผา เช่น ไห อ่าง ครก กระปุก ช่อฟ้า กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น
ปัจจุบันแหล่งจัดแสดงเตาแม่น้ำน้อยอยู่ติดกับวัดพระปรางค์ โบราณสถานสมัยอยุธยา ห่างจากแม่น้ำน้อยมาทางตะวันตกประมาณ 500 เมตร ห่างจากคลองหนึ่งขวามาทางทิศใต้ประมาณ 360 เมตร
แม่น้ำน้อย, คลองหนึ่งขวา
ชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
จากสำรวจบริเวณคลองชลประทานพบเศษภาชนะดินเผาเคลือบสีน้ำตาล เศษเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ เศษภาชนะดินเผาเนื้ออ่อนไม่เคลือบและเศษเครื่องสังคโลกอื่น รวมทั้งเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง การสำรวจบริเวณฝั่งแม่น้ำน้อยทางตะวันออกเฉียงเหนือ พบเศษภาชนะดินเผาประเภทไหสี่หูเคลือบสีน้ำตาลและชนิดไม่เคลือบ คณฑีเนื้อสีดำกระปุกคอยาวและเศษประติมากรรม การสำรวจบริเวณฝั่งแม่น้ำน้อยด้านหลังโรงพยาบาลบางระจัน พบภาชนะดินเผาประเภทหม้อข้าว หม้อตาลหม้อทะนนและเศษสภาชนะดินเผาจากแหล่งวัดพระปรางค์ การขุดค้นบริเวณเตาหมาย 1/5 พบว่ามีการสร้างซ้อนทับกันขอบปล่องชั้นในเป็นเตาหมายเลข1 แต่ปล่องเตาชั้นนอกเป็นเตาหมายเลข5 แผนผังปล่องเตาหมายเลข 1/5 เป็นรูปไข่ปล่องเตาหมายเลข 5 กว้าง 2.55 เมตร ยาว 3.65 เมตร หมายเลข1 กว้าง 1.65 เมตร ยาว 2.80 เมตร การขุดค้นพบส่วนโครงสร้างของเตายังอยู่ในสภาพดี พบภาชนะชนิดเนื้อแกร่งไม่เคลือบ เศษภาชนะชนิดเนื้ออ่อนไม่เคลือบ เศษภาชนะเนื้อแกร่งเคลือบน้ำตาลประเภทไห กระปุก เศษภาชนะดินเผาประเภทอื่นๆ เช่นท่อน้ำ กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น การขุดค้นบริเวณเตาหมายเลข 2 ผนังเตาก่ออิฐโผล่เหนือดินสูงประมาณ 1 เมตร ความกว้างของปล่องเฉลี่ยประมาณ 2.15 เมตร ผลการขุดค้นพบโครงสร้างของเผาพังทับถมลงมาพบเศษสภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก เป็นภาชนะประเภทไห อ่าง ไหสี่หูเนื้อแกร่งเคลือบน้ำตาล เศษภาชนะชนิดเนื้อแกร่งมาก ตั้งแต่เนื้อละเอียดจนถึงเนื้อหยาบ สีแดง สีเทาสีเทาแกมชมพู โดยเศษสภาชนะที่พบส่วนมากจะเป็น ไห อ่าง โอ่ง ครก กระปุก เต้าปูน ขวด หวด คณฑี หม้อทะนน และฝาชื่อผู้ศึกษา : เกรียงไกร วิทยาอนิวรรตน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ศึกษาภาชนะดินเผาจากเตาแม่น้ำน้อย จากเรือสีชัง ตัวอย่างจากเรือกลางอ่าวและเตาโอ่งอ่าง โดยวิธีการศิลาวรรณา เพื่อให้ทราบองค์ประกอบของดิน เทคนิคในการผลิต ตัวอย่างภาชนะดินเผาทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์ ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนเนื่องจากผิวมีรอยขูดขีดเป็นเส้นเล็กๆรอบภาชนะ การตกแต่งผิวมี 3 วิธี คือ การเคลือบผิวภาชนะ การตกแต่งด้วยลายกดประทับ การตกแต่งด้วยลายขูดขนานรอบภาชนะซึ่งขณะทำการตกแต่งลาดนี้ต้องทำบนแป้นหมุน องค์ประกอบทางกายภาพของเนื้อภาชนะดินเผา ตัวอย่างภาชนะดินเผาจากเตาแม่น้ำน้อย มีแร่ดินและเม็ดแร่ควอร์ตเป็นองค์ประกอบหลักและมีแร่อื่นๆที่สามารถพบในดินทั่วไป ช่างผู้ทำภาชนะดินเผาเตาแม่น้ำน้อยต้องรู้จักการเตรียมดินเป็นอย่างดี มีการแบ่งว่า ภาชนะชนิดใดต้องใช้ส่วนผสมอย่างไรจึงจะเหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับภาชนะดินเผาเช่น อ่างดินเผา ที่พบจากแหล่งอื่น พบว่า ลักษณะภายนอกเช่นรูปทรง ขนาดและสีภาชนะค่อนข้างแตกต่างกับภาชนะดินเผาของเตาแม่น้ำน้อย และเมื่อตรวจสอบองค์ประกอบทางกายภาพของเนื้อดิน พบว่า เศษภาชนะที่นำมาเปรียบเทียบคือ ภาชนะจากเรือสีชังนั้นมีเม็ดแร่ควอร์ตขนาดเม็ดทรายแป้งถึงเม็ดทรายขนาดหยาบซึ่งแตกต่างจากองค์ประกอบของเนื้อดินภาชนะดินเผาเตาแม่น้ำน้อยที่มีเม็ดแร่ ควอร์ตขนาดเม็ดแป้งถึงเม็ดทรายขนาดละเอียดชื่อผู้ศึกษา : จารึก วิไลแก้ว
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ผลการศึกษาเตาแม่น้ำน้อยเปรียบเทียบกับแหล่งเตาบ้านเกาะน้อย -บ้านป่างยาง ศรีสัชนาลัย พบว่า เตาแม่น้ำน้อย นั้นสร้างบนเนินประดิษฐ์เช่นเดียวกับเตาบ้านเกาะน้อย-ป่ายาง แต่มักจะเป็นเตาเดียว ขณะที่บ้านเกาะน้อยและป่ายางเป็นหลายเตาซ้อนกันแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอย่างชัดเจน ส่วนเตาแม่น้ำน้อยนั้นได้พัฒนาถึงขั้นสูงสูดแล้วจึงไม่พบการสร้างเตาซ้อนกันหลายเตา ลักษณะโครงสร้างส่วนใหญ่ เช่น การเรียงอิฐ การปรับพื้นมีลักษณะใกล้เคียงกัน ลักษณะภาชนะดินเผาทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบของเตาแม่น้ำน้อย ผลิตเพื่อต้องการปริมาณมากกว่าคุณภาพหรือความสวยงามมุ่งการใช้ประโยชน์ ส่วนเตาบ้านเกาะน้อยและป่ายางผลิตทั้งคุณภาพและปริมาณซึ่งแสดงถึงเทคโนโลยีและฝีมือช่าง แต่ของเตาแม่น้ำน้อยแสดงถึงความเสื่อมเรื่องฝีมือช่างแต่เทคโนโลยีไม่ต่ำกว่าเตาบ้านเกาะน้อยละป่ายาง รูปแบบเตาเผาและภาชนะดินเผาหลายประเภท เช่นไหสี่หู ไหสองหู แจกัน อ่างน้ำ ครก กาน้ำแบบมีพวยและประติมากรรมรูปต่างๆ สามารถเปรียบเทียบได้กับกลุ่มภาชนะจากเตาบ้านเกาะน้อย ป่ายางได้กล่าวคือมีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเป็นการพิจารณาถึงการแพร่กระจายเทคโนโลยีเตาเผาและการผลิตภาชนะตลอดจนน้ำยาเคลือบว่ามาจากกลุ่มเตาบ้านเกาะน้อย ป่ายางมากกว่าจะเป็นการนำช่างจีนมาในสมัยสมเด็จพระนครินทราชาแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยมีหลักฐานซากเตาเผาและเศษภาชนะดินเผาตามผิวดินในพื้นที่ราว 2 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน้อย เขตตำบลโคกหม้อ หมู่ที่ 7 ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี แหล่งเตาเผาลักษณะเป็นโคกใหญ่เหลืออยู่บ้างในบริเวณวัดพระปรางค์
การค้นพบแหล่งโบราณคดีเตาเผาแม่น้ำ พื้นที่บริเวณแถบนี้ มีเศษภาชนะเช่น หม้อ ชามดินเผา เป็นจำนวนมากและมีเนินดินสูงๆ มีอิฐดินเผาโผล่ขึ้นมา เมื่อขุดดินออกจึงพบก้อนอิฐวางเรียงกันอยู่ด้านล่างจำนวนมาก กรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี 2531 บริเวณวัดพระปรางค์ มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ 3 เนินเชื่อมต่อกัน พบเตาเผาภาชนะดินเผาทับกัน 5 เตาเป็นเตาประทุนก่ออิฐสอดิน แบบกระจายความร้อนในแนวระนาบ โดยโครงสร้างของเตาแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหน้าใช้เป็นที่ใส่เชื้อเพลิงกว้าง 2.50 เมตร มีกำแพงกั้นไฟกว้าง 5 เมตร ส่วนที่วางภาชนะในห้องเผากว้าง 5.60 เมตร ส่วนคอดเข้าคอเตาสู่ปล่องไฟกว้าง 2.15 เมตร มีความยาว โดยตลอดตัวเตาทั้งสิ้น 16 เมตร เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในเตาเผาแม่น้ำน้อยนั้น ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นไหสี่หู ครก โอ่งอ่าง กระปุกปูน ขวดปากแตร เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมเช่น กระเบื้อง งานประติมากรรมลอยตัว กระสุนดินเผาขนาดต่าง ๆ
แหล่งโบราณคดีเตาเผาแม่น้ำน้อยสันนิษฐานว่า น่าจะมีมาตั้งแต่ช่วง สมเด็จพระนครินทราธิราช หรือ สมเด็จพระอินทร์ราชา (เจ้านครอินทร์) ประมาณปี พ.ศ. 1952 พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทรงเคยเสด็จไปเยือนเมืองจีน และในสมัยนั้นมีช่างฝีมือทำเครื่องปั้นดินเผาของจีนเข้ามาทำมาหากินและทำเครื่องปั้นดินเผาถวายราชสำนักของอยุธยาด้วย เมื่อการขุดคนเสร็จแล้วจึงมีการจัดการเตาเผาแม่น้ำน้อยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี และมีการจัดสร้างอาคารโรงเรือนขนาดใหญ่ครอบเตาเผาเอาไว้จำนวน 2 เตา และมีอาคารจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาบางส่วนที่ขุดพบในบริเวณเตาเผานี้ รวมถึงอาคารขายสินค้าที่เป็นของที่ระลึกของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ด้วย ต่อมาองค์การปกครองท้องถิ่นเข้ามาจัดการอาคารพิพิธภัณฑ์และอาคารขายสินค้า และทางวัดพระปรางค์ได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารโรงเรือน โรงรถ ปรับปรุงให้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์และนำโบราณวัตถุต่างๆ เข้ามาจัดแสดง และแบ่งทำเป็นห้องคลังส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เก็บเครื่องปั้นประเภทไหสี่หู เครื่องประกอบสถาปัตยกรรม ลูกกระสุนปืนใหญ่ขนาดต่างๆ โดยรวมแล้วตัวอาคารที่ย้ายมาจัดแสดงแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 คือ พื้นที่สำหรับชาวบ้านเข้ามาทำกิจกรรมเช่น กศน.ก็เข้ามาจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์บ้าง จัดกิจกรรมผลิตตอนไม้จันทน์บ้าง
ส่วนที่ 2 จัดแสดงเรือประเภทต่างๆ เครื่องมือทางการประมง เพราะบริเวณพื้นที่ของตำบลเชิงกลัดนี้ อยู่ใกล้กับแม่น้ำน้อยชาวบ้านจะมีอาชีพทำนาแล้วก็ยังมีอาชีพเกี่ยวกับการประมง จับปลาในแม่น้ำอีกด้วย นอกจากนี้ยังจัดแสดงเครื่องมือการทำนา รหัสวิดน้ำแบบมือ เรียกว่า "รหัสชกมวย" ล้อเกวียน เครื่องสีข้าวแบบคนหมุน ครกตำข้าว เครื่องทำอัดน้ำตาลแบบที่ต้องใช้แรงงานสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการจำลองรูปแบบห้องหับในเรือนไทยสมัยก่อนจัดแสดงไว้ด้วย มีอยู่ 2 ห้องด้วยกัน คือห้องนอน และห้องครัว ส่วนของห้องนอนก็จะแสดงการจัดวางข้างของ ประกอบด้วยโต๊ะเครื่องแป้งกระจกส่องหน้า หีบเก็บเสื้อผ้า ส่วนในห้องครัวนั้นก็ก็เป็นครัวเตาฟืน มีเตาเชิงกราน เตาสามเส้า หม้อแกงหม้อข้าว ทัพพี กระจ่า กระบวย เอาไว้ใช้ในการตักอาหาร
ในส่วนที่ 3 จัดเอาไว้เป็นห้องคลัง มีชั้นวางประดิษฐ์เองอยู่ 5 แถว แต่ละแถวอัดแน่นไปด้วยเครื่องปั้นดินเผาที่พบเจอจากสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกวัด มีไหสีหูอยู่หลายใบ ถ้วยชามขนาดต่างๆ หีบเก็บของทำจากเหล็กหลายขนาด กระปุกปากแตรมีทั้งแบบที่เคลือบแล้วและยังไม่ได้เคลือบ สภาพโดยรวมของพิพิธภัณฑ์นั้น ขาดการดูแลเรื่องความสะอาดเรียบร้อย และค่อนข้างแคบ
เตาแม่น้ำน้อยสร้างบนเนินประดิษฐ์เช่นเดียวกับเตาบ้านเกาะน้อย -ป่ายาง แต่มักจะเป็นเตาเดียว ส่วนเตาบ้านเกาะน้อย-ป่ายางเป็นเตาหลายชั้นซ้อนทับกันในเนินเดียวกัน เตาแม่น้ำน้อยได้พัฒนาถึงขั้นสูงสุดแล้วเนื่องจากไม่มีการสร้างซ้อนทับกันหลายเตา ยกเว้นเตาหมายเลข 1 ของแหล่งเตาแม่น้ำน้อยมีการสร้างซ้อนเข้าไปภายใน 1 เตา แต่โครงสร้างเตาเก่าได้รื้อออกไปเกือบหมดเหลือส่วนปล่องและผนังด้านข้างบางส่วน ลักษณะโครงสร้างเดาแม่น้ำน้อยส่วนใหญ่ เช่น การเรียงอิฐ การปรับพื้นมีลักษณะใกล้เคียงกัน ลักษณะของภาชนะดินเผาทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบของเตาแม่น้ำน้อยน่าจะเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการจำนวนมากทั้งผู้ใช้ในประเทศและต่างประเทศ รูปแบบของเตาเผาและภาชนะดินเผาหลายประเภท เช่น ไหสี่หู ไหสองหู แจกัน ครก กาน้ำแบบมีพวยหรือประติมากรรมต่างๆ มีลักษณะใกล้เคียงกับเตาบ้านเกาะน้อย-ป่ายาง อันแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีการผลิตภาชนะและน้ำยาเคลือบน่าจะได้รับการถ่ายทอดมากจากเตาบ้านเกาะน้อย-ป่ายาง มากกว่าการนำเทคโนโลยีมาจากประเทศจีน
เตาหมายเลข 2 จากการขุดค้นพบว่า เป็นเตาแบบระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้น โครงสร้างด้านบนคล้ายกับส่วนโค้งของหลังเต่าหรือประทุนเรือขนาดยาว 24 เมตร กว้าง 5.60 เมตรสร้างอยู่บนเนินดินถมเหนือซากเต่าเก่า ลักษณะเป็นดินก่อสร้างวัสดุที่เหลือจากการเผาภาชนะที่เสียหาย เศษอิฐ ดินลูกรังและดินผสมขี้เถ้าบดอัดแน่น การก่อสร้างเตาเผาหมายเลข2 เป็นการขุดลงไปในเนินดินตั้งแต่ปล่องไฟ-ห้องเชื้อเพลิงและพื้นที่ด้านหน้าเตา ปรับอัดเป็นพื้นตามแนวลาดเอียงจากปล่องไห-ห้องเชื้อเพลิง ห้องภาชนะปูด้วยอิฐและฉาบด้วยดินด้านบนหนาราว 5 เซนติเมตร ส่วนห้องเชื้อเพลิงขุดต่ำลงไปจากพื้นที่วางภาชนะราว 2 เมตร พื้นทีลักษณะลาดเอียงไปทางช่องไฟการก่ออิฐ ส่วนปล่องไป ก่อด้วยอิฐขนาด10-12 เซนติเมตร หนา4-5 เซนติเมตร
แหล่งเตาแม่น้ำน้อยกับการค้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21 ด้วยสภาพที่ตั้งที่คุมเส้นทางการค้าทางทะเลทำให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับเมืองในปกครองและนำไปสู่การค้ากับต่างประเทศ สินค้าจำนวนมากถูกส่งมาในรูปแบบของส่วยและบรรณาการและในรูปแบบของการค้าขาย สินค้าส่วนใหญ่เป็นของป่า ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองและเครื่องปั้นดินเผา โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย-สุโขทัยที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดนอกจากเครื่องถ้วยจีนและเวียดนาม จากหลักฐานทางโบราณคดี พบเครื่องสังคโลกทั้งภายในและชายฝั่งทะเลของประเทศและกลุ่มเอเชีย แต่ความนิยมสังคโลกก็สิ้นสุดลงในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21-ตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ทำให้เครื่องถ้วยจากจีน เวียดนามและญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในเอเชีย โดยเฉพาะในกรุงศรีอยุธยาแทนที่เครื่องสังคโลก จนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 เครื่องถ้วยจีนจึงมีความสำคัญมากและมีการสั่งทำจากอยุธยาเป็นจำนวนมาก
การผลิตเครื่องสังคโลกยุติลง แต่ก็ยังมีเตาเผาท้องถิ่นผลิตเครื่องปั้นดินเผาอยู่ตอบสนองการใช้ในชีวิตประจำวันและการบรรจุสินค้า แหล่งเตาเผาที่สำคัญคือ เตาเผาแม่น้ำน้อย จากหลักฐานทางเอกสารของญี่ปุ่น จีนและกลุ่มประเทศตะวันตก กล่าวถึงการติดต่อค้าขายในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23 โดยมีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง สินค้าส่วนใหญ่เป็นของป่า แร่ธาตุ และเครื่องปั้นดินเผา เครื่องปั้นดินเผานั้นมีแหล่งเตาเผาที่สำคัญคือ เตาเผาแม่น้ำน้อยที่ผลิตภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ประเภทไห ซึ่งเป็นตัวบรรจุหรือรองรับสินค้าที่สำคัญ จึงถือได้ว่าภาชนะดินเผาเตาแม่น้ำน้อยได้ผลิตภาชนะเพื่อการบรรจุสินค้าขายแก่ต่างประเทศเป็นสำคัญนอกเหนือจากการผลิตเพื่อในประเทศเท่านั้น
การสำรวจและขุดค้นซากเรือจมในทะเลอ่าวไทย และซากเรือเดินทะเลที่จมอยู่ในน่านน้ำต่างประเทศในเส้นทางการเดินเรือค้าขายในสมัยโบราณระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-24 เช่น แหล่งเรือคราม เรือพัทยาเรือกระดาด เรือสีชัง 1, 2และ 3 เรือรางเกวียน แหล่งเรือสมุย และแหล่งเรือดอนไห ปากคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่ามีไหสี่หูขนาดใหญ่ ไหสี่หูขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมถึงภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งที่ผลิตจากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยจมอยู่กับซากเรือนั้นเป็นจำนวนมาก และในแหล่งเรือจมในต่างประเทศก็พบเศษไหสี่หูขนาดกลางที่ผลิตจากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย ได้แก่
1. เรือวิท เลียว (Witt Leeuw) ของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัทช์ จมอยู่นอกฝั่งเกาะเซนต์ เฮเลนา (St. Helena)ในปีพ.ศ. 2156
2. แหล่งเรือที่เกาะซีแชลีส (Seychells Is.) ในมหาสมุทรอินเดียค่อนไปทางใต้ของทะเลอาหรับ อับปางลงในช่วงศตวรรษที่ 22
3. แหล่งเรือโปรตุเกส ชื่อ ซาโอเบนโต (Säo Bento) จมอยู่ที่ชายฝั่งปอนแลนด์ (Pondoland Coast) ของประเทศนาทาล (Natal) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา อับปางเมือพ.ศ. 2099
4. แหล่งเรือสัญชาติดัทช์ ชื่อปัตตาเวีย จมอยู่นอกชายฝั่งออสเตรเลียตะวันตก เมื่อพ.ศ. 2277
5. เรือแวร์กูลด์แดร๊ค (Vergulde Draeck) อับปางเมื่อพ.ศ. 2199 ที่ชายฝั่งออสเตรเลียตะวันตก
6. เรือสัญชาติดัทช์ชื่อ ริสดัม (Risdam) จมอยู่ชายฝั่งมาเลเซียเมื่อ พ.ศ. 2270
7. เรือชื่อ ซาโอ โจอาว (Säo Joao) จมที่บริเวณปอร์ตเอ็ดวาร์ด ชายฝั่งทะเลประเทศนาทาลเมื่อ พ.ศ. 2095
8. เรือซานดิเอโก (Santiago) จมที่ชายฝั่งทะเลโมซัมบิค เมื่อพ.ศ. 2101 นอกจากนี้ยังพบไหที่ผลิตจากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยตามเมองท่าโบราณชายฝั่งคาบมหาสมุทรไทย-มาลายาด้านอ่าวไทย เช่นที่จังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช เป็นต้นรวมถึงเกาะบอร์นิโอ ประเทศบรูไน ไหสี่หูเคลือบน้ำตามแกมเขียวคล้ำที่พบในแหล่งเรือจมที่อ่าวไทย พบว่าบางใบใช้บรรจุอาหารที่ทำจากปลา บรรจุยางสนหรือผงชัน บรรจุไข่เป็ด จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ไหสี่หูและภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเผาแม้น้ำน้อยนี้ที่พบในแหล่งเรือจมทั้งหลายนั้นทำหน้าที่เป็น ภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าที่เป็นผง อาหารหรือสินค้าที่เป็นน้ำ ไม่ได้เป็นสินค้าที่ส่งไปขายโดยตรง แต่ภาชนะประเภทหยาบๆ เป็นทั้งสินค้าโดยตรงและทำหน้าที่เป็นภาชนะบรรจุ
กองโบราณคดี กรมศิลปากร. เตาแม่น้ำน้อย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย, 2531.
กองโบราณคดี กรมศิลปากร. เตาแม่น้ำน้อย 2. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2531.
เกรียงไกร วิทยาอนิวรรตน์. “การศึกษาภาชนะดินเผาจากเตาแม่น้ำน้อย จากเรือสีชัง ตัวอย่างจากเรือกลางอ่าว และเตาโอ่งอ่าง โดยวิธีการศิลาวรรณา เพื่อให้ทราบองค์ประกอบของดิน.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.