โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : พระธาตุสองพี่น้อง, วัดพระธาตุสองพี่น้อง (ร้าง)
ที่ตั้ง : ม.7 บ้านเชียงแสนน้อย ต.เวียง อ.เชียงแสน
ตำบล : เวียง
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.245468 N, 100.118893 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดพระธาตุสองพี่น้อง ตั้งอยู่นอกเมืองเชียงแสนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือตั้งอยู่บริเวณเมืองเชียงแสนน้อย ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างทางหลวงหมายเลข 1129 (เชียงแสน-เชียงของ) กับแม่น้ำโขง ห่างจากคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองเชียงแสน มาทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข 1129 ประมาณ 4.2 กิโลเมตร จะพบวัดพระธาตุสองพี่น้องทางซ้ายมือ
พระธาตุสองพี่น้องเป็นโบราณสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเชียงแสนและเมืองเชียงแสนน้อย มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการก่อสร้างสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสนและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โบราณสถานเกือบทั้งหมดได้รับการขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว มีต้นไม้ขึ้นอยู่บนตัวโบราณสถานในบางส่วน อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ในอนาคต ป้ายให้ข้อมูลโบราณสถานยังไม่เพียงพอ บางส่วนชำรุด สภาพทั่วไปภายในวัดร่มรื่นเงียบสงบ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
วัดพระธาตุสองพี่น้อง, กรมศิลปากร
โบราณสถานภายในวัดพระธาตุสองพี่น้องได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 97 ตอนที่ 41 วันที่ 14 มีนาคม 2523 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
วัดพระธาตุสองพี่น้อง ปัจจุบันเป็นวัดที่ยังใช้งานอยู่ ตั้งอยู่นอกเมืองเชียงแสนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือตั้งอยู่บริเวณเมืองเชียงแสนน้อย ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างทางหลวงหมายเลข 1129 (เชียงแสน-เชียงของ) กับแม่น้ำโขง ห่างจากคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองเชียงแสน มาทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข 1129 ประมาณ 4.2 กิโลเมตร หรือเลยจากพระธาตุผาเงาไปประมาณ 1 กิโลเมตร โดยโบราณสถานสำคัญภายในวัดได้แก่ พระธาตุ 2 องค์ หรือพระธาตุสองพี่น้อง โบราณสถานเหล่านี้ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว
แม่น้ำโขง
เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี
วัดพระธาตุสองพี่น้องตั้งอยู่ในเมืองเชียงแสนน้อยหรือเวียงปรึกษา ซึ่งตามตำนานกล่าวว่าเป็นเมืองที่พระเจ้าแสนภูได้พักกองทัพภายหลังจากเดินทางมาจากเชียงใหม่ แล้วปรึกษากับเหล่าเสนาอำมาตย์ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงแสน จึงเรียกว่า เวียงเบิกสา หรือ เวียงปรึกษา
โบราณสถานสำคัญของวัดพระธาตุสองพี่น้อง ได้แก่ เจดีย์ 2 องค์ (เป็นที่มาของชื่อพระธาตุสองพี่น้อง) คือองค์ด้านทิศเหนือและองค์ด้านทิศใต้ ไม่มีประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด มีความเชื่อว่าพระธาตุองค์ด้านทิศใต้ถูกสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพญาคำฟู (พ.ศ.1881-1888)
จากรูปแบบเจดีย์ที่เป็นทรงปราสาทห้ายอด (องค์ด้านทิศใต้) น่าจะเป็นเจดีย์ในสมัยต้นของล้านนา ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งอาจสัมพันธ์กับตำนานที่กล่าวถึงพญาแสนภูมาสร้างเมืองแห่งนี้ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงแสน และใช้งานต่อเนื่องมาจนสมัยหลัง ส่วนพระธาตุทรงระฆัง (องค์ด้านทิศเหนือ) กำหนดอายุได้ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21
การขุดค้นขุดแต่งในปี พ.ศ.2548 ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน พบหลักฐานสำคัญมากมาย อาทิ
- ชิ้นส่วนจารึกหินทราย จารึกด้วยอักษรไทยล้านนา แม้ว่าจะมีสภาพชำรุดแต่ก็สามารถอ่านได้เป็นคำ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นยุคสมัยที่นิยมการสร้างวัดและพระพุทธรูปด้วยหินทราย
- ชิ้นส่วนพระพิมพ์แบบหริภุญชัย ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริดล้านนา พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา
- เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเมืองเก่าสุโขทัยและเตาศรีสัชนาลัย (พุทธศตวรรษที่ 19-20)
- เครื่องถ้วยล้านนา จากแหล่งเตาลำพูน เตาสันกำแพง เตาเวียงกาหลง เตาพาน เตาพะเยา (พุทธศตวรรษที่ 20-21)
- เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187)
- เครื่องถ้วยลาว
- เครื่องถ้วยพม่า แสดงถึงอิทธิพลของพม่าในเชียงแสน (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-23) ซึ่งโดยปกติในเมืองเชียงแสนจะพบเครื่องถ้วยประเภทนี้ไม่มาก
นับได้ว่าวัดพระธาตุสองพี่น้องเป็นแหล่งโบราณคดีที่พบเครื่องถ้วยที่หลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงแสน
จากหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าวัดแห่งนี้มี่ความสำคัญมากที่สุดวัดหนึ่งของเมืองเชียงแสนและเมืองเชียงแสนน้อย และยังแสดงให้เห็นถึงการอยู่อาศัยของชุมชนที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยแรกตั้งเมืองไปจนถึงสมัยที่เมืองถูกทิ้งร้าง
วัดพระธาตุสองพี่น้อง ปัจจุบันเป็นวัดที่ยังใช้งานอยู่ ตั้งอยู่นอกเมืองเชียงแสนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือตั้งอยู่บริเวณเมืองเชียงแสนน้อย ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างทางหลวงหมายเลข 1129 (เชียงแสน-เชียงของ) กับแม่น้ำโขง ห่างจากคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองเชียงแสน มาทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข 1129 ประมาณ 4.2 กิโลเมตร หรือเลยจากพระธาตุผาเงาไปประมาณ 1 กิโลเมตร โดยโบราณสถานสำคัญภายในวัดได้แก่ พระธาตุ 2 องค์ หรือพระธาตุสองพี่น้อง โบราณสถานเหล่านี้ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว
วัดพระธาตุสองพี่น้องนับเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ มีสิ่งปลูกสร้างหลายหลัง สิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่
พระธาตุหรือพระธาตุสองพี่น้อง มีจำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ห่างกันตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ประมาณ 200 เมตร
1. พระธาตุทรงระฆังหรือเจดีย์หมายเลข 1 (องค์ด้านทิศเหนือหรือพระธาตุองค์น้อง) เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาในกลุ่มที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะในสมัยหลัง (เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุดของเมืองเชียงแสน) กำหนดอายุได้ราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21
ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง 2 ชั้น รองรับฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ส่วนท้องไม้สูง มาลัยเถารูปแปดเหลี่ยมซ้อมลดหลั่นขึ้นไปรับองค์ระฆังที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก (เหนือขึ้นไปพังทลาย ซึ่งคงประกอบด้วยบัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอด) มีการปูพื้นอิฐโดยรอบฐานเจดีย์ ด้านทิศเหนือมีลักษณะเป็นช่องประตูเข้า-ออกภายในพื้นที่โดยรอบเจดีย์
อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ศิลปะระบุว่าพระธาตุองค์นี้แตกต่างจากเจดีย์ในกลุ่มเดียวกัน 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ฐานล่างสุดซึ่งสวนใหญ่จะมีเฉพาะส่วนฐานบัวซ้อนกัน 2 ฐานนั้น เจดีย์องค์นี้กลับเพิ่มฐานบัวคว่ำ-บัวหงายขึ้นมาอีก 1 ฐาน เพื่อรองรับฐานบัว 2 ฐานซ้อนกันนี้ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ยกเว้นที่วัดธาตุเขียว เมืองเชียงแสนน้อย ส่วนนี้น่าจะเป็นงานที่เพิ่มขึ้นเพื่อต้องการให้เจดีย์มีความสูง เพราะฐานบัวคว่ำ-บัวหงายมักปรากฏในการใช้รองรับวิ่งปลูกสร้างโดยทั่วไปอยู่แล้ว หรืออาจเป็นไปได้ว่าเป็นฐานของเจดีย์ที่มีมาก่อน แต่ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยใช้ฐานเดิม แล้วก่อเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่มีส่วนรองรับองค์ระฆัง 8 เหลี่ยมที่มีความในนิยมในภายหลัง คือกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ดังที่เห็นในปัจจุบัน
ส่วนที่ 2 ที่แตกต่างกันคือ ชุดฐานบัวคว่ำ-บัวหงายรองรับองค์ระฆัง 3 ฐานที่อยู่ในผัง 8 เหลี่ยมนั้น ไม่มีการประดับลูกแก้วอกไก่ 2 แนวเหมือนเจดีย์ในกลุ่มเดียวกัน ยกเว้นเจดีย์ที่วัดธาตุเขียว เมืองเชียงแสนน้อย เพียงแต่เจดีย์ที่วัดธาตุเขียวอยู่ในผังกลม ลักษณะดังกล่าวอาจเกิดจากวิวัฒนาการในช่วงหลังที่ได้กลายไปแล้ว หรืออาจมีการปฏิสังขรณ์ในภายหลังพร้อมๆ กับการสร้างฐานบัวคว่ำ-บัวหงายในส่วนแรก หรืออาจสันพันธ์กับฐานที่มีการเพิ่มฐานบัวคว่ำ-บัวหงายเข้าไปอีก 1 ฐาน ทำให้เจดีย์สูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้นชุกฐานบัวรองรับองค์ระฆังจึงไม่สูงมาก ทำให้ไม่มีการประดับลูกแก้วอกไก่ หรืออาจเป็นไปได้ว่าลักษณะที่แตกต่างไปจากรูปแบบนิยมทั้ง 2 ส่วนนี้ อาจเป็นลักษณะเฉพาะของช่างเมืองนี้นั่นเอง
2. พระธาตุห้ายอดหรือเจดีย์หมายเลข 2 (องค์ด้านทิศใต้หรือพระธาตุองค์พี่) ตั้งอยู่ท้ายวิหาร (ติดกับวิหารด้านทิศตะวันตก) เป็นพระธาตุทรงปราสาทห้ายอด ซึ่งจัดอยู่ในระยะแรกของศิลปะล้านนา ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระเจ้าคำฟู (พ.ศ.1881-1888)
ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง 3 ชั้น เหนือขึ้นมาเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ที่ท้องไม้ไม่ยืดสูงเท่าศิลปะล้านนาสมัยหลัง (รูปแบบศิลปะใกล้เคียงกับศิลปะพุกามมาก) ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุที่ทำเป็นห้องสี่เหลี่ยม ไม่มีการเพิ่ม มุม มีเสาติดผนัง ประดับซุ้มจระนำแบบซุ้มซ้อน ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืน รอบซุ้มประดับลวดลายปูนปั้น เหนือแนวเส้นกรอบซุ้มจะมีแถวฝักเพกาค่อนข้างอวบป้อมเรียงประดับอยู่ ส่วนยอดเป็นเจดีย์ 5 ยอด (เจดีย์ประธานตรงกลาง และเจดีย์ที่มุมทั้ง 4 มุม) ลักษณะทรงระฆังกลมที่คอดล่างผายบน ปัจจุบันมีสภาพหักพัง องค์ระฆังลักษณะนี้เหมือนกับองค์ระฆังของเจดีย์รายองค์หนึ่งในวัดพระพายหลวง จ.สุโขทัย และองค์ระฆังในศิลปะพุกามของพม่า
รอบพระธาตุเป็นลานประทักษิณที่ปูพื้นอิฐเต็มทั้งพื้นที่ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วก่ออิฐ ด้านทิศตะวันออกมีช่องประตู 2 ข้าง (เบื้องซ้าย-ขวา) ในตำแหน่งข้างวิหารทั้ง 2 ข้าง
ส่วนเรือนธาตุและซุ้มจระนำที่มีการประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นนั้น นักประวัติศาสตร์ศิลปะกล่าวว่ามีลวดลายที่ใกล้เคียงกับศิลปะพุกามในระยะแรกเป็นอย่างมาก (รวมมถึงศิลปะหริภุญชัย) โดยเฉพาะรูปแบบกรอบซุ้มจระนำ ลวดลายประดับซุ้มจระนำ ลวดลายกาบบน กาบล่าง และลายประจำยามอกที่เสาติดผนังและเสาจระนำ กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 19
วิหาร มีอย่างน้อย 2 หลัง คือ
1. วิหารด้านทิศเหนือ หรือวิหารด้านหน้าเจดีย์หมายเลข 1 ตั้งอยู่ติดพระธาตุทรงระฆังหรือเจดีย์หมายเลข 1 ทางทิศตะวันออก หรือด้านหน้าของพระธาตุ ปัจจุบันปรากฏเป็นส่วนฐานอาคารก่ออิฐ ยกพื้นสูง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานก่ออิฐนั้นเป็นชุดฐานหน้ากระดาน มีบันไดทางเข้าที่ด้านหน้าและด้านข้าง ด้านหลังวิหารตอนกลางทำเป็นห้องก่อยื่นออกไป ภายในห้องปรากฏส่วนฐานชุกชี (ประดิษฐานพระพุทธรูป?) มีการปูพื้นอิฐบริเวณโดยรอบ จากการขุดแต่งที่ผ่านมาพบทางเดินปูอิฐต่อเนื่องไปจากบันไดวิหารที่ด้านหน้า เชื่อมต่อไปยังอุโบสถ มีฐานเสาสี่เหลี่ยมตลอดแนว
2. วิหารด้านทิศใต้ หรือวิหารด้านหน้าเจดีย์หมายเลข 2 ตั้งอยู่ติดกับพระธาตุห้ายอดหรือเจดีย์หมายเลข 2 ทางทิศตะวันออก หรือด้านหน้าของพระธาตุ ปัจจุบันปรากฏเป็นส่วนฐานอาคารก่ออิฐ ยกพื้นสูง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 14 เมตร ยาว 18 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานก่ออิฐนั้นเป็นชุดฐานหน้ากระดาน มีบันไดทางขึ้นที่ด้านหน้า ด้านท้ายวิหารทำเป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นบนฐานชุกชี ปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่สร้างขึ้นใหม่
อุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหาร ด้านทิศตะวันออกของพระธาตุทรงระฆังหรือเจดีย์หมายเลข 1 สภาพทั่วไปพังทลาย ปรากฏเฉพาะส่วนฐานหน้ากระดานก่ออิฐที่ยกพื้นสูงมาก ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านหน้าตอนกลาง เชื่อมต่อกับอาคารหรือวิหารด้านหน้า (ด้านทิศตะวันออก) ของเจดีย์หมายเลข 1 พบเสมาหินทรายปักอยู่โดยรอบ ด้านทิศตะวันออกของอุโบสถพบบ่อน้ำก่ออิฐและพบทางเดินเชื่อมต่อกับวิหาร
นอกจากนี้ จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร ยังพบซากอาคารโบราณสถานอีกหลายหลังที่ฝั่งทิศเหนือของวัด โดยรอบวิหารด้านทิศเหนือและพระธาตุทรงระฆังหรือเจดีย์หมายเลข 1 เช่น
โบราณสถานหมายเลข 1 ประกอบด้วย
1. ฐานอาคารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก วางตัวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ ส่วนฐานก่ออิฐเป็นชุดฐานหน้ากระดาน ยกเว้นด้านทิศตะวันออกทำเป็นชุดฐานปัทม์
2. อาคารผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก มีทางเข้าออกโดยทำเป็นช่องทางเดิน ยื่นออกไปทางเหนือ ส่วนฐานก่ออิฐเป็นฐานชุดหน้ากระดาน ยกเว้นด้านทิศตะวันตกทำเป็นชุดฐานปัทม์
อาคารทั้งสองถูกเชื่อมต่อกันด้วยช่องทางเดิน พบลักษณะการก่ออิฐเป็นฐานเสารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และยังพบว่ามีการก่ออิฐเป็นพื้นทับบนอาคารทั้งสอง
โบราณสถานหมายเลข 2 ฐานอาคารมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นอาคารที่ทำฐานแผ่และยกพื้น ส่วนฐานก่ออิฐเป็นชุดฐานหน้ากระดาน ยกเว้นด้านทิศเหนือทำเป็นชุดปัทม์ ทางด้านทิศตะวันออกของอาคารมีการก่ออิฐวางตัวยาวยื่นออกไปทางทิศเหนือ
โบราณสถานหมายเลข 3 อาคารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูง อยู่ทางด้านหน้าวิหารค่อนมาทางทิศใต้ หันหน้าไปด้านทิศเหนือทางแม่น้ำโขง ด้านทิศใต้พบแนวผนังล้ม ส่วนฐานก่ออิฐเป็นชุดฐานหน้ากระดาน พบแท่นก่ออิฐที่มีหินปักอยู่โดยรอบตามทิศ
โบราณสถานหมายเลข 4 อาคารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางด้านหน้าวิหารค่อนมาทางทิศใต้ ต่อเนื่องมาจากโบราณสถานหมายเลข 3 เป็นอาคารที่ทำฐานยกพื้น ส่วนฐานก่ออิฐเป็นชุดฐานหน้ากระดาน
โบราณสถานหมายเลข 5 อาคารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอุโบสถ สภาพคงเหลือแต่แนวก่ออิฐ ที่มีลักษณะเป็นกรอบฐานสิ่งก่อสร้าง
โบราณสถานหมายเลข 6 อาคารผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุโบสถ สภาพคงเหลือแต่แนวก่ออิฐ ที่มีลักษณะเป็นกรอบฐานสิ่งก่อสร้าง
โบราณสถานหมายเลข 7 อาคารผังรูปสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน สภาพคงเหลือแต่แนวก่ออิฐ ที่มีลักษณะเป็นกรอบฐานสิ่งก่อสร้าง
แนวกำแพงวัด มี 3 ด้าน คือด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ คงเหลือแนวก่ออิฐที่มีลักษณะเป็นฐานราก