โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดร้างหมายเลข 12 (ในเมือง), โบราณสถานหมายเลข 12
ที่ตั้ง : ถ.สาย 1 ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน
ตำบล : เวียง
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.26971 N, 100.08238 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
โบราณสถานหมายเลข 12 ตั้งอยู่ริมถนนสาย 1 ภายในเมืองโบราณเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนและตัวอำเภอเชียงแสน
โบราณสถานหมายเลข 12 เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว แต่พื้นดินโดยรอบโบราณสถานมีวัชพืชขึ้นหนาแน่นมาก มีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถานสำหรับผู้เยี่ยมชม
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน
โบราณสถานหมายเลข 12 เป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่ภายในเมืองเชียงแสนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ใกล้กับประตูทัพม่าน เดิมเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเตี้ยๆ
แม่น้ำโขง
เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี
โบราณสถานหมายเลข 12 ตั้งอยู่ภายในเมืองเชียงแสน ทางด้านทิศตะวันตกใกล้กับประตูทัพม่าน ประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน โดยเป็นฐานที่ก่อสร้างต่อเติมในครั้งหลัง พบชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลนุ่งผ้าประดับอาคาร จึงสันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้น่าจะเป็นเจดีย์ทรงปราสาท น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 19 และใช้งานเรื่อยมาจนเมืองเชียงแสนเสียแก่พม่าในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 แล้วจึงทิ้งร้างไปในช่วงนี้หรืออาจจะหลังจากนี้ไม่นานนัก
โบราณสถานหมายเลข 12 เป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่ภายในเมืองเชียงแสนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ใกล้กับประตูทัพม่าน เดิมเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเตี้ยๆ จากการขุดแต่งของกรมศิลปากรพบอาคาร 2 หลัง คือ
อาคารหมายเลข 1 สันนิษฐานว่าเป็นวิหาร มีลักษณะเป็นอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยอิฐ หัวหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นวิหารที่มีการก่อสร้างต่อเนื่องไปชนกับฐานของเจดีย์ จนกลายเป็นวิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน มีฐานชุกชีเป็นแท่นฐานก่ออิฐบนอาคารด้านทิศตะวันตก เหลือเพียงส่วนฐานบัวคว่ำ เสาเป็นเสาก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พบจำนวน 8 ต้น ไม่พบการตกแต่งที่เสาหรือฐานเสา ก่อเรียงอิฐเป็นกรอบนูนสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตรงกลางใช้อิฐก่อคู่ตามยาวจนเต็มเป็นรูปเสา
ส่วนด้านทิศตะวันออกของอาคารหมายเลข 1 พบร่องรอยของบันไดที่ส่วนมุขหน้า ทั้งบันไดข้างและบันไดหน้าอาคาร ซึ่งสัมพันธ์กับการก่อสร้างต่อเติมอาคาร
อาคารหมายเลข 2 พบฐานก่ออิฐรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสทางด้านทิศตะวันตกของอาคารหมายเลข 1 ลักษณะเป็นฐานก่ออิฐทึบตัน เหลือเพียงส่วนฐานหน้ากระดาน สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ ส่วนฐานที่พบนี้มีการตกแต่งเป็นชุดฐานเขียง 2 ชั้น ส่วนบนเหนือขึ้นไปพังทลายทั้งหมด แต่จากการขุดแต่งพบชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นจำนวนมาก โดยเฉพาะส่วนล่างของบุคคลนุ่งผ้าประดับอาคารจำนวน 2 ชิ้น และชิ้นส่วนปูนปั้นรูปประจำยามอีก 2 ชิ้น ผู้ศึกษาจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์ทรงปราสาท
นอกจากนี้ยังพบฐานก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทางด้านทิศตะวันตกจองเจดีย์ แต่ฐานก่ออิฐนี้มีความสูงเท่ากับพื้นดินเท่านั้น สันนิษฐานว่าอาจเป็นแท่นบูชา
โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนอิฐและกระเบื้องดินเผา มีชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเล็กน้อย นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นประดับโบราณสถาน 3 ชิ้น สภาพไม่สมบูรณ์
จากหลักฐานที่พบจึงสันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 19-22