โพสต์เมื่อ 8 ส.ค. 2021
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
อำเภอ : ศรีเทพ
จังหวัด : เพชรบูรณ์
พิกัด DD : 15.465584 N, 101.144684 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, ลพบุรี
เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำเหียง
การเดินทางจากเมืองศรีเทพ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ถึงกิโลเมตรที่ 102 สี่แยกศรีเทพ (ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีเทพ) เลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกราว 10 กิโลเมตร ถึงทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังในอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง
โบราณสถานเขาคลังในอยู่ภายในเมืองศรีเทพ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท รถยนต์คันละ 50 บาท สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรบรรยาย ติดต่อโดยตรงได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170 โทร. 0 5679 9466, 0 5655 6555
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2475
โบราณสถานคลังในตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองภายในเมืองในของเมืองศรีเทพ มีถนนลูกรังทางเชื่อมไปปรางค์สองพี่น้องทางด้านทิศเหนือ โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการขุดแต่งและบูรณะให้อยู่ในสภาพดี มีหลังคาคลุมภาพปูนปั้นประดับที่ฐานโบราณสถานแห่ง ส่วนฐานด้านทิศเหนือมีสภาพเสียหายจากการลักลอบขุดทำให้ปูนปั้นประดับฐานด้านนี้หักพังลงมา
แม่น้ำป่าสัก ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร และลำน้ำเหียง เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก อยู่ทางตอนใต้ของเมืองศรีเทพประมาณ 8 กิโลเมตร
โบราณสถานเขาคลังใน ตั้งอยู่ในเมืองในของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งอยู่ในเขตที่สูงภาคกลาง ลักษณะทั่วไปมีเทือกเขาสลับซับซ้อน วางตัวในแนวยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ เริ่มตั้งแต่จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ สระบุรี และทางใต้ของนครราชสีมา มีเนินเขาต่อเนื่องคล้ายลูกคลื่นสลับกับเขาสูง เทือกเขาสำคัญได้แก่ เทือกเขาเพชรบูรณ์ อยู่ทางทิศตะวันออก
ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2477
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงโบราณสถานกลางเมืองศรีเทพว่า “ที่กลางเมืองมีปรางค์ เทวสถาน และมีโคกดินกับแผ่นศิลาแลงซึ่งแสดงว่าเคยเป็นเทวสถาน...” ซึ่งเป็นไปได้ว่าโคกดินกับศิลาแลงอาจหมายถึงโบราณสถานเขาคลังในชื่อผู้ศึกษา : Quaritch Wales
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478, พ.ศ.2479, พ.ศ.2480
วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2478-2480 ดอกเตอร์ ควอริทช์ เวลส์ (Dr.Quaritch Wales) เสนอความเห็นในบทความเรื่อง The Exploration of Sri Deva an ancient city in Indochina 9 หนังสือ Indian art and letter vol.X No.11 โดยกล่าวถึงเขาคลังในว่า โบราณสถานแห่งนี้มีขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารคงมีขนาดประมาณ 270 ตารางฟุต ตัวอาคารสูง 50 ฟุต มีทางขึ้นสู่ชั้นบน และคงสร้างขึ้นเป็นศาสนบรรพต เช่นเดียวกับปราสาทบากองและปราสาทบายนที่เมืองพระนครชื่อผู้ศึกษา : บวรเวท รุ่งรุจี, กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521
วิธีศึกษา : ขุดตรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 3 สุโขทัย ดำเนินการขุดหลุมทดสอบบริเวณเขาคลังใน 1 หลุม และบริเวณสระปรางค์ 1 หลุม นายบวรเวท รุ่งรุจี สรุปว่า เขาคลังในเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก แนวศิลาแลงที่พบในครั้งนี้อาจเป็นขอบฐานชั้นนอกสุด หรือเป็นขอบทางเดินของโบราณสถาน คราวเดียวกันนี้ได้พบโบราณวัตถุเช่น เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น ชิ้นส่วนปูนปั้นลายกนก ลายก้นหอย ชิ้นส่วนมือเทวสตรีทำจากศิลาทรายสีเขียว เป็นต้นชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526
วิธีศึกษา : ขุดตรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรคิดจะจัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และขุดหลุมทดสอบทางโบราณคดีระหว่างสระปรางค์กับเขาคลังใน สรุปผลการดำเนินงานว่า เมืองศรีเทพเริ่มต้นราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 และเขาคลังในมีอายุเก่าแก่กว่าปรางค์ศรีเทพชื่อผู้ศึกษา : สุรพล ดำริห์กุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527
วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ
ผลการศึกษา :
นายสุรพล ดำริห์กุล อ้างถึงหลักฐานที่ชาวบ้านพบที่เขาคลังใน ทำให้เชื่อว่าเขาคลังในเป็นพุทธสถานชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530, พ.ศ.2531, พ.ศ.2532, พ.ศ.2533, พ.ศ.2534, พ.ศ.2535, พ.ศ.2536, พ.ศ.2537, พ.ศ.2538, พ.ศ.2539, พ.ศ.2540, พ.ศ.2541, พ.ศ.2542, พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ขุดตรวจ, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2530-2543 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจัดทำแผนแม่บทเมืองศรีเทพ และดำเนินงานทางโบราณคดีโบราณสถานเขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และโบราณสถานขนาดเล็กในเมืองและนอกเมืองรวม 40 แห่ง สระน้ำ 19 สระ และขุดลอกคูเมืองโดยรอบ บูรณะปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพชื่อผู้ศึกษา : นิติ แสงวัณณ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
นายนิติ แสงวัณณ์ และคณะ ขุดแต่งโบราณสถานเขาคลังในด้านทิศตะวันออก พบว่าด้านนี้ซึ่งเป็นด้านหน้าก่อเป็นมุขขนาดใหญ่ และมีลวดลายปูนปั้นตกแต่งที่ฐานโบราณสถานชื่อผู้ศึกษา : ฌอง บวสเซลีเย่
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซลีเย่ เสนอความเห็นเกี่ยวกับเขาคลังใน ในหนังสือ ชำแหละประวัติศาสตร์และโบราณคดีของกรมศิลปากร สรุปว่าความเห็นที่ว่าเขาคลังในมีลักษณะคล้ายกับวัดโขลงสุวรรณคีรี เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่น่าจะเหมือนกับศาลพระกาฬที่เมืองลพบุรีเพราะมีการสร้างซ้อนชั้นเหมือนกันชื่อผู้ศึกษา : สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ เสนอบทความเรื่อง เขาคลังใน : ภาพปูนปั้นเครื่องตกแต่งศาสนสถาน ตีพิมพ์ในวารสาร เมืองโบราณ. ปีที่ 15, ฉบับที่ 1ชื่อผู้ศึกษา : พงศ์ธันว์ บรรทม, ชูศักดิ์ ศักดิ์ทรัพย์ทวี, จิรยุติ์ ชาญกิจศิลป์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
นายพงศ์ธันว์ บรรทม นายชูศักดิ์ ศักดิ์ทรัพย์ทวี และนายจิรยุติ์ ชาญกิจศิลป์ ทำสารนิพนธ์เสนอคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องศรีเทพ : ความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณใกล้เคียง เสนอว่าโบราณสถานเขาคลังในมีรูปแบบคล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข 18 (วัดโขลงสุวรรณคีรี) เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี ซึ่งเปรียบเทียบรูปแบบกับสถูปขนาดใหญ่ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ศิลปะคุปตะตอนปลาย (พุทธศตวรรษที่ 11)ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรตีพิมพ์หนังสือเรื่อง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ รวบรวมและสรุปข้อมูลทางวิชาการจากผลการศึกษาที่ผ่านมาโบราณสถานเขาคลังในเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองในของเมืองศรีเทพ เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ และมีมาตั้งแต่สมัยแรกสร้างเมืองในราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยผลการขุดแต่งพบว่าระยะแรกโบราณสถานแห่งนี้คงสร้างขึ้นในพุทธศาสนาเถรวาทตามการนับถือในวัฒนธรรมทวารวดีระยะแรก ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 14 จึงได้เปลี่ยนเป็นพุทธศาสนามหายาน เนื่องจากได้พบประติมากรรมพระโพธิสัตว์หลายองค์และพบร่องรอยการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาเดียวกันนี้พร้อมกับการทำลวดลายปูนปั้นประดับที่ฐานอาคารซึ่งยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้
เขาคลังในคงมีบทบาทเป็นโบราณสถานสำคัญของเมืองศรีเทพตั้งแต่แรกสร้างเมืองเรื่อยมาจนในพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วย จึงได้พบพระพุทธรูปอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบาปวน-นครวัดด้วย
ที่มาของชื่อ เขาคลังใน เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก โดยมาจากสภาพพื้นที่ที่เคยมีเนินดินและต้นไม้ปกคลุมโบราณสถานจนมีสัณฐานคล้ายภูเขา ส่วนคลัง มาจากความเชื่อที่ว่าเป็นที่ที่เคยเก็บของมีค่าหรือเป็นคลังอาวุธ ซึ่งอยู่ในเมือง จึงเรียกให้ต่างจากอีกแห่งคือเขาคลังนอก (กรมศิลปากร, 2550, 95)
โบราณสถานเขาคลังในประกอบด้วย สถาปัตยกรรมประธาน ปัจจุบันเหลือแต่ส่วนฐานที่มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 28 x 44 เมตร สูงประมาณ 12 เมตร ก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งด้านหน้านี้มีบันไดขึ้นสู่ลานชั้นบน ซึ่งปัจจุบันยังเหลือร่องรอยปูนฉาบอยู่ที่พื้นด้านทิศตะวันออก ด้านทิศตะวันตกมีร่องรอยฐานรูปสี่เหลี่ยม จึงสันนิษฐานว่าด้านบนส่วนนี้คงเคยมีสถูป มณฑป หรือวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ และด้านตะวันออกคงเป็นลานกว้างที่ประกอบพิธีกรรม ที่ขอบลานด้านขวามีร่องรอยของฐานสิ่งก่อสร้างทำด้วยอิฐ
ส่วนสำคัญที่ช่วยบ่งชี้ถึงอายุสมัย และรูปแบบวัฒนธรรมของสถาปัตยกรรมประธานนี้คือ ส่วนฐานที่ก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งประกอบด้วยฐานเขียงและฐานปัทม์ โดยฐานปัทม์ประกอบด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย บัววลัย ลูกแก้วและบัวหงายซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ลักษณะฐานเช่นนี้สอดคล้องกับโบราณสถานหมายเลข 18 (วัดโขลงสุวรรณคีรี) เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว., 2532, 42; กรมศิลปากร, 2550, 84) ซึ่งฐานเหล่านี้ได้รับการตกแต่งด้วยภาพปูนปั้นเป็นลวดลายเครื่องประดับ โดยลวดลายชั้นล่างสุดเป็นแถวของลายก้านขดที่นิยมกันในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาที่ท้องไม้ที่เจาะช่องสี่เหลี่ยม มีรูปคนแคระและสัตว์ประดับเป็นแถว ถัดขึ้นไปเป็นหน้ากระดานประดับลายก้านขด ต่อไปเป็นลายกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ ส่วนบนขึ้นไปพังทลายไม่เหลือร่องรอย ลวดลายปูนปั้นที่พบที่เขาคลังในอาจจัดจำแนกเป็นกลุ่มได้คือ (1) ภาพบุคคล ได้แก่ เศียรพระพุทธรูป รูปแบบศิลปะทวารวดี รูปคนแคระแบกติดกับฐานโบราณสถาน (2) ภาพรูปสัตว์ ได้แก่ รูปสิงห์ ช้าง และม้า ลายทั้งสองกลุ่มที่พบที่เขาคลังในมีความคล้ายคลึงกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆในสมัยทวารวดี เช่น เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เจดีย์จุลประโทน วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม โบราณสถานที่บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และโบราณสถานวัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี (3) ภาพพันธุ์พฤกษา ส่วนใหญ่ชำรุด เท่าที่ศึกษาได้มีลายดอกไม้กลมแวดล้อมด้วยใบไม้ม้วน ขนาบด้วยลายรูปไข่สองวงซ้อนกันสลับด้วยแนวลายสี่เหลี่ยมสองรูปซ้อนกันสลับด้วยลายสี่เหลี่ยมสองรูปซ้อนกัน โดยมีแนวลายลูกประคำทั้งสองข้าง ซึ่งลายดังกล่าวเป็นลายที่นิยมมากในศิลปะทวารวดี เช่น ธรรมจักรที่พบที่นครปฐม และเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ถ้ำฝาโถ จังหวัดราชบุรี นอกจากนี้ยังมีลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ก็สัมพันธ์กับที่พบในแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีอื่นๆเช่นกัน (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว., 2532, 42-46)
นอกจากสถาปัตยกรรมประธานแล้ว โบราณสถานเขาคลังในยังประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ราย อาคารประกอบพิธีกรรม ซึ่งทั้งหมดมีกำแพงก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบ สำหรับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างที่โบราณสถานเขาคลังใน ได้แก่ ศิลาแลง มีขนาดหลากหลายตามลักษณะอาคาร อิฐมักพบเป็นร่องรอยว่าใช้เป็นส่วนของสิ่งก่อสร้างตอนบน อิฐปูพื้น แนวทางเดิน ส่วนปูนพบว่าใช้ฉาบภายนอกของฐานศิลาแลงและใช้ทำเป็นลวดลายปูนปั้นประดับอาคาร
จากการที่โบราณสถานเขาคลังในตั้งอยู่เกือบกลางเมืองในซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีแผนผังเกือบกลม ตามลักษณะทั่วไปของเมืองโบราณทวารวดีนั้น ประกอบกับรูปแบบแผนผังตัวสถาปัตยกรรมประธานที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแตกต่างจากสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลเขมรดังเช่นปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง จึงสันนิษฐานว่าโบราณสถานเขาคลังในคงมีระยะแรกสร้างในสมัยทวารวดี โดยมีรูปแบบเทียบได้กับโบราณสถานหมายเลข 18 (วัดโขลงสุวรรณคีรี) เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี (อรนุช แสงจารึก, 2527, 8 ; พงศ์ธันว์ และคณะ, 2535) และได้มีการใช้งานต่อเนื่องมาตลอดที่เมืองศรีเทพเจริญรุ่งเรือง
สำหรับโบราณวัตถุที่พบที่โบราณสถานเขาคลังใน ได้แก่ เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธรูปสำริดประทับนั่งปางสมาธิ และประทับยืนปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์ รูปแบบศิลปะทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 พระโพธิสัตว์อาริยเมตไตรยสำริด และเงิน กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 14
กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2550.
พงศ์ธันว์ บรรทม, ชูศักดิ์ ศักดิ์ทรัพย์ทวี, จิรยุติ์ ชาญกิจศิลป์. "เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องศรีเทพ : ความสัมพันธ์กับชุมชนโบราณใกล้เคียง" สารนิพนธ์ (ศศ.บ. (โบราณคดี)) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535.
สุภัทรดิศ ดิศกุล [ผู้แปล]. ชำแหละประวัติศาสตร์และโบราณคดีของกรมศิลปากร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2531.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. “เขาคลังใน : ภาพปูนปั้นเครื่องตกแต่งศาสนสถาน” เมืองโบราณ ปีที่ 15, ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มี.ค. 2532) : หน้า 41-48.
สุรพล ดำริห์กุล. “ความรู้ใหม่เกี่ยวกับเมืองศรีเทพ” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 6, ฉบับที่ 8 (มิ.ย. 2528) : หน้า 56-58.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : เกษมการพิมพ์, 2533.
อรนุช แสงจารึก. “คติการนับถือศาสนาพราหมณ์ลิทธิไศวนิกายที่เมืองศรีเทพ” สารนิพนธ์ (ศศ.บ. (โบราณคดี)) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527.