โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดช้างเผือก, ช้างถ้ำ
ที่ตั้ง : ถ.ทัพม่าน ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.269881 N, 100.08101 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดช้างค้ำ ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนและตัวอำเภอเชียงแสน ตั้งอยู่ติดกับวัดอโศก หลังบ้านเรือนราษฎร ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากริมถนน แต่สามารถเข้าได้ทางถนนทัพม่าน (มีป้ายบอกทางเข้าที่ริมถนน) โดยจำเป็นต้องเดินผ่านที่ดินรกร้างของเอกชน มีกำแพงและประตูรั้วกั้น
วัดช้างค้ำเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว แต่พื้นดินโดยรอบโบราณสถานมีวัชพืชขึ้นหนาแน่นมาก มีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถานสำหรับผู้เยี่ยมชม
นอกจากนี้ โบราณสถานวัดช้างค้ำและวัดอโศกที่ตั้งอยู่ติดกัน เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่และสำคัญของเมืองเชียงแสน แต่ถูกล้อมรอบด้วยบ้านเรือนราษฎร ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นโบราณสถานได้จากริมถนน แม้ว่าจะมีป้ายบอกทางเข้าอยู่ริมถนน แต่เนื่องจากทางเดินเข้าเป็นพื้นที่รกร้างของเอกชน มีวัชพืชและต้นไม้ขึ้นสูง มีกำแพงและประตูรั้วกั้น จึงไม่สะดวกในการเข้าชม
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน
ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3673 วันที่ 8 มีนาคม 2478
วัดช้างค้ำเป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่ภายในเมืองเชียงแสนทางด้านทิศตะวันตกใกล้กับประตูทัพม่าน ติดกับวัดอโศกด้านทิศเหนือ และอยู่ด้านหลังของบ้านเรือนราษฎร จึงไม่สามารถมองเห็นได้จากถนน (แต่มีป้ายบอกทางเข้าที่ริมถนน) การเข้าสู่โบราณสถานจำเป็นต้องเดินผ่านพื้นที่ของเอกชนซึ่งเป็นพื้นที่รกร้างและมีกำแพงและประตูรั้ว
เดิมวัดช้างค้ำเป็นเนินดินโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเตี้ยๆ หลังจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบฐานเจดีย์ 1 องค์
แม่น้ำโขง
เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี
วัดช้างค้ำเป็นโบราณสถานของเมืองโบราณเชียงแสน โบราณสถานสำคัญภายในวัด ได้แก่ เจดีย์ที่ทำประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบ วัดช้างค้ำหรือวัดช้างเผือกหรือช้างถ้ำ
เดิมวัดช้างค้ำเป็นเนินดินโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเตี้ยๆ หลังจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบฐานเจดีย์ 1 องค์ รูปทรงฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีการก่อสร้างซ้อนทับกันคือ องค์ในมีลักษณะเป็นชุดฐานบัวคว่ำบัวหงาย 3 ชั้น โดยแต่ละชั้นตกแต่งส่วนท้องไม้ด้วยลวดบัวและบัวคว่ำบัวหงายขนาดเล็ก รวม 4 เส้น จึงทำให้ทราบว่าเจดีย์องค์ในน่าจะเป็นทรงกลมแบบล้านนา ส่วนองค์นอกเป็นเจดีย์ทรงกลมเช่นกัน แต่ส่วนฐานประดับช้างล้อม (ครึ่งตัวด้านหน้า) ทุกด้าน ด้านละ 3 เชือก (ปัจจุบันส่วนใหญ่แตกหักออกไป เหลือร่องรอยเพียงส่วนเท้าหน้าทั้ง 2 ข้าง ยกเว้นด้านทิศตะวันออกที่เหลือประติมากรรมช้างให้เห็นมากที่สุด) มีบันไดเป็นทางเดินทอดยาวไปทางองค์เจดีย์ แล้วยกชั้นบันไดขึ้นไปบนทางเดินประทักษิณรอบองค์เจดีย์ ทั้ง 2 ข้างของทางเดินมีแท่นฐานก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และบริเวณนี้พบชิ้นส่วนเศียรสิงห์ขนาดใหญ่ตกหล่นอยู่ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นฐานรองรับราวบันไดที่ตกแต่งสิงห์ ทั้งยังมีกำแพงแก้วและซุ้มประตู (ซุ้มโขง) ทางด้านทิศตะวันออกอีกด้วย
ส่วนด้านทิศตะวันตกขององค์เจดีย์พบฐานก่ออิฐรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาววางตัวตามแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ ด้านบนอาคารพบพื้นปูอิฐและเสา พร้อมทั้งบันไดทางขึ้นด้านทิศใต้ของอาคาร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาคารโถงประเภทศาลาหรือซุ้มสักการะบูชาองค์เจดีย์ ในบริเวณด้านทิศตะวันออกห่างจากองค์เจดีย์ พบแนวกำแพงก่ออิฐต่อเนื่องเข้าไปในพื้นที่ของวัดอโศกทางด้านทิศใต้
ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาโดยเฉพาะที่ผลิตจากแหล่งเตาล้านนาที่พบ ได้แก่ แหล่งเตาเวียงกาหลง (พุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22) แหล่งเตาพาน (ปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21) และแหล่งเตาสันกำแพง (ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึง กลางพุทธศตวรรษที่ 23)
นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปหินทราย สกุลช่างเมืองพะเยา แม้ว่าจะไม่พบเศียรที่มีพระพักตร์ แต่สามารถกำหนดอายุโดยรวมได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22 และยังพบจารึกบนอิฐและกระดิ่ง เป็นอักษรธรรมล้านนาที่นิยมใช้ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21
ดังนั้น วัดช้างค้ำน่าจะถูกสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่ระยะแรกที่เป็นเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา ส่วนเจดีย์ช้างค้ำน่าจะสร้างเพิ่มเติมในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 และใช้งานเรื่อยมาจนเมืองเชียงแสนเสียให้กับทัพพม่าในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 หรือช่วงหลังจากนั้น เนื่องจากพบหลักฐานอิทธิพลศิลปกรรมพม่าที่วัดแห่งนี้ เช่น สิงห์ที่เป็นทวารบาลบริเวณบันได (ไม่เคยพบในล้านนา สุโขทัย หรืออยุธยา แต่พบมากในศิลปะพม่ายุคหลัง) หรือลวดลายปูนปั้นที่ผู้เชี่ยวชาญศึกษาพบว่ามีอายุหลังจากพุทธศตวรรษที่ 21