วัดเชียงมั่น


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ถ.พหลโยธิน ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน

ตำบล : เวียง

อำเภอ : เชียงแสน

จังหวัด : เชียงราย

พิกัด DD : 20.282929 N, 100.08504 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดเชียงมั่น ตั้งอยู่ปากซอย 1 ริมถนนสาย 2 ฝั่งด้านทิศตะวันตกภายในเมืองเชียงแสนด้านทิศเหนือ ใกล้ประตูยางเทิง (ห่างจากประตูยางเทิงมาทางทิศใต้ประมาณ 150 เมตร) ตรงข้ามกับวัดบุญยืน ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนและตัวอำเภอเชียงแสน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเชียงมั่นเป็นโบราณสถานในเมืองเชียงแสนที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว แต่ปัจจุบันมีวัชพืชขึ้นค่อนข้างสูง ทั้งโดยรอบและบนตัวโบราณสถาน มีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถานสำหรับผู้เยี่ยมชม นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดเขียงมั่นเป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่ริมถนนสาย 2 ฝั่งด้านทิศตะวันตก ภายในเมืองเชียงแสนด้านทิศเหนือ ใกล้ประตูยางเทิง (ห่างจากประตูยางเทองมาทางทิศใต้ประมาณ 150 เมตร) ตรงข้ามกับวัดบุญยืน ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนและตัวอำเภอเชียงแสน

ด้านทิศเหนือและตะวันออกของวัดเป็นชุมชนบ้านเรือนราษฎร ด้านทิศตะวันออกเป็นถนนสาย 2 ส่วนด้านทิศใต้เป็นถนนสาย 2 ซอย 1

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

379 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

ต้นพุทธศตวรรษที่ 21

อายุทางตำนาน

พ.ศ.1183

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ตำนานพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่าครั้งพญาลวะจังกราช สร้างเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนนั้น ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.1183 ชื่อว่า “อารามเชียงมั่นช้างคุง” และบรรจุพระธาตุกระดูกคางด้านซ้าย (วามหานุกัง) ที่พระมหาเถรญาณรังสี นำมาจากเมืองปาตลีบุตร ต่อมาครั้งพญาแสนภูสร้างเมืองเชียงแสนในราว พ.ศ.1870 เสด็จเข้าทางประตูยางเทิงและมาประทับที่นี้ ทรงเห็นซากอารามเก่าจึงทรงให้ปฏิสังขรณ์เป็นวัดขึ้นใหม่ ชื่อว่า “อารามเชียงมั่น” และใน พ.ศ.2347 ครั้งทัพล้านนายกมาตีพม่าที่เมืองเชียงแสน วัดนี้จึงถูกทิ้งร้างไป

มีการพบพระพุทธรูปที่วัดเชียงมั่น โดยเป็นพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน) ลักษณะโดยรวมเป็นแบบสิงห์หนึ่ง อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21

โบราณสถานที่ปรากฏในปัจจุบันมีเพียงฐานวิหารและฐานเจดีย์

วิหาร ก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 27 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดขึ้นทางด้านหน้า บนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น

เจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังหรือทิศตะวันตกของวิหาร ผังส่วนฐานเป็นรูปแปดเหลี่ยม

จากลักษณะสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุทำให้สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี