วัดป่าสัก


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน

ตำบล : เวียง

อำเภอ : เชียงแสน

จังหวัด : เชียงราย

พิกัด DD : 20.274108 N, 100.076804 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดป่าสักเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่นอกเมืองเชียงแสนด้านทิศตะวันตก โดยอยู่ติดกับคูเมือง กำแพงเมือง ประตูเชียงแสนหรือประตูป่าสัก และป้อมประตูเชียงแสน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เจดีย์หรือพระธาตุวัดป่าสักเป็นโบราณปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงแสนและของไทย นับว่าเป็นเจดีย์ที่มีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งในศิลปะล้านนาและศิลปะไทย มีการประดับลวดลายปูนปั้นทั้งองค์ ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและสักการะได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้า

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

วัดป่าสักได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน 3 ครั้ง คือ

1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3673 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสำหรับชาติ

2. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 96 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2500 เรื่อง การกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ

3. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 41 วันที่ 14 มีนาคม 2523 เรื่อง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดป่าสักตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกนอกเมืองเชียงแสน ติดกับคูเมือง กำแพงเมือง ประตูป่าสักหรือประตูเชียงแสน และป้อมเชียงแสน สภาพพื้นที่เป็นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาและตะกอนตะพักลำ ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำคำมาทางทิศตะวันออกประมาณ 350 เมตร

ปัจจุบันวัดป่าสักเป็นวัดร้าง มีซากและเนินโบราณสถานอยู่ภายในวัดมากมาย ส่วนใหญ่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

372 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20

อายุทางตำนาน

พ.ศ.1838 (หรือ พ.ศ.1871) (ตำนานสิงหนวัติกุมารและประชุมพงศาวดารภาคที่ 61)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2500

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรบูรณะโบราณสถานที่อยู่ด้านหน้าเจดีย์ทรงมณฑปบางส่วน ขุดแต่งและบูรณะองค์เจดีย์

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรบูรณะองค์เจดีย์

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดแต่งอุโบสถ ซึ่งอยู่ห่างจากเจดีย์วัดป่าสักไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 200 เมตร

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดแต่งเนินโบราณสถานที่อยู่ด้านหน้าเจดีย์ทรงมณฑปและฐานอาคารที่มีเจดีย์อยู่บนฐานเดียวกัน รงมทั้งบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณเนินโบราณสถาน 2 เนิน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรขุดแต่งโบราณสถาน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ครั้งใหญ่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดป่าสักปัจจุบันเป็นวัดร้าง ประวัติของวัดมีปรากฏในตำนานสิงหนวัติกุมารและประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวว่ามีพระมหาเถระเจ้าชื่อ พระพุทธโฆษาจารย์ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุโคปผกะเบื้องขวา (กระดูกตาตุ่มขวา) ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวมาจากเมืองปาฏลีบุตรเพื่อถวายพระเจ้าแสนภู กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงแสน พระองค์จึงโปรดให้ก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นบริเวณนอกประตูเมืองเชียงแสน เพื่อบรรจุพระบรมธาตุ จากนั้นจึงโปรดให้สร้างพระอารามที่มีเนื้อที่กว้างด้านละ 50 วา ขึ้นเมื่อ พ.ศ.1838 (หรือ พ.ศ.1871) เสร็จแล้วก็โปรดให้นำต้นสักมาปลูกล้อมรอบพระอารามรวม 300 ต้น จึงมีนามว่า “วัดป่าสัก” นับแต่นั้นเป็นต้นมา พร้อมกันนี้พระเจ้าแสนภูยังทรงแต่งตั้งให้พระพุทธโฆษาจารย์เป็นสังฆราชมหาเถระประจำอยู่พระอารามแห่งนี้

“เมื่อ พ.ศ.1838 มีมหาเถรเจ้าองค์หนึ่งเอาพระบรมธาตุกระดูกตาตีนก้ำขวาแห่งพระพุทธเจ้าใหญ่เท่าเม็ดถั่วกว่าง เอามาแต่เขตเมืองปาฏลีบุตรนั้น เอามาสู่พระยาราชแสนภู แล้วท่านก็พร้อมด้วยมหาเถรเจ้า เอาไปสร้างมหาเจดีย์บรรจุไว้ภายนอกประตูเชียงแสน ด้านเวียงแห่งตนภายตะวันตก ต่อวัดพระหลวงภายนอกที่นั้นแล้ว ก็สร้างให้เป็นความกว้าง 50 วา เอาไม้สักมาปลูกแวดกำแพง 300 ต้น แล้วเรียกว่า วัดป่าสัก ตั้งแต่นั้นมาแล แล้วก็สร้างกุฏิให้เป็นทานแก่มหาเถรเจ้าตนชื่อว่า พุทธโฆษาจารย์นั้นอยู่สถิตที่นั้น ก็อภิเษกขึ้นเป็นสังฆราชมหาเถรอยู่ยังตราบป่าสักที่นั่น”

โบราณสถานสำคัญที่สุดของวัดคือ เจดีย์หรือพระธาตุประธานของวัด เป็นเจดีย์สมัยล้านนาในระยะแรก อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20

จากรายงานการขุดแต่งวัดป่าสัก เมื่อ พ.ศ.2535 นักโบราณคดีพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ชิ้นส่วนประกอบฉัตรที่ฉลุลายดอกไม้ แผ่นโลหะดุนลายดอกบัวปิดทอง แผ่นทองจังโก (ลักษณะเป็นแผ่นทองเหลืองทาด้วยน้ำยาและปิดทอง) รวมถึงพบสถูปจำลองหินทราย เศียรพระพุทธรูป ชิ้นส่วนพระเพลาหรือหน้าตักพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย อิฐเผาแกร่งขูดขีดลายคล้ายรูปมังกร เบี้ยดินเผาลักษณะเป็นเบี้ยกลม ฝนเรียบทุกด้านขอบโค้งมน เนื้อสีส้ม

นอกจากนี้ ยังพบภาชนะดินเผาอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ เศษเครื่องถ้วยเขียนลายสีดำเคลือบจากเตาเวียงกาหลง เศษเครื่องถ้วยประเภทเคลือบสีเขียวจากเตาวังเหนือ (ลำปาง) เศษเครื่องถ้วยประเภทเคลือบสีเขียวจากเตาสันกำแพง (เชียงใหม่) ไหดินเผาไม่เคลือบแบบพื้นเมือง และกระปุกลายครามเขียนลายเป็ดกลางสระบัวสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187)

โบราณวัตถุที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือลวดลายปูนปั้นจำนวนมาก เช่น ลายเกียรติมุขปูนปั้น ชิ้นส่วนเทวดาปูนปั้น ปูนปั้นประดับซุ้มโขง ได้แก่ ลายประจำยาม ลายดอกไม้ ลายเครือเถา ลายครุฑ ลายมังกร และลายรูปนาค 3 เศียร เป็นต้น

สำหรับปูนปั้นชิ้นสำคัญของเจดีย์วัดป่าสักที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน ได้แก่ ปูนปั้นรูปครุฑยุดนาค และปูนปั้นรูปหน้ากาล เป็นที่ยอมรับกันว่างานปูนปั้นประดับวัดป่าสักถูกสร้างสรรค์ด้วยฝีมือประติมากรชั้นครู รูปทรงมีโครงสร้างและปริมาตรชัดเจนมีสัดส่วน มีจังหวะในการจัดลำดับและการจัดวาง นับว่าเป็นงานซึ่งแสดงสุนทรียภาพชั้นสูง

วัดป่าสักตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกนอกเมืองเชียงแสน ติดกับคูเมือง กำแพงเมือง ประตูป่าสักหรือประตูเชียงแสน และป้อมเชียงแสน สภาพพื้นที่เป็นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาและตะกอนตะพักลำ ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำคำมาทางทิศตะวันออกประมาณ 350 เมตร

ปัจจุบันวัดป่าสักเป็นวัดร้าง มีซากและเนินโบราณสถานอยู่ภายในวัดมากมาย ส่วนใหญ่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว รายละเอียดของโบราณสถานสำคัญมีดังนี้

เจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของวิหาร เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด ฐานล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 14.6 เมตร สูง 21 เมตร ฐานล่างสุดดังกล่าวเป็นฐานเขียงรองรับฐานบัวคว่ำ 2 ฐานซ้อนกัน ท้องไม้ของฐานบัวชั้นล่างทำเป็นช่องสี่เหลี่ยม ชั้นบนประดับด้วยช่องแปดเหลี่ยมโดยรอบ (คล้ายศิลปะทวารวดีและพุกาม)

ถัดขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุชั้นล่าง เริ่มต้นจากฐานบัว เหนือขึ้นไปเป็นชั้นที่เจาะเป็นช่องจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 3 ซุ้ม เป็นพระพุทธรูปปางเปิดโลก แต่มีองค์ที่อยู่ในซุ้มด้านทิศเหนือเป็นปางลีลา มีจระนำซุ้มเทวดาประกอบด้านข้างทุกซุ้ม ซุ้มเทวดามี 4 ซุ้ม จระนำซุ้มพระพุทธรูปมีขนาดใหญ่กว่าจระนำซุ้มเทวดา ส่วนฐานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนี้มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดกู่กุด จ.ลำพูน แต่ที่กู่กุดมี 5 ชั้น ในขณะที่วัดป่าสักมีชั้นเดียว และมีการเพิ่มจระนำซุ้มเทวดาประกอบทั้ง 2 ข้างของจระนำซุ้มพระพุทธรูป และที่เสาจระนำยังมีเทวดายืนพนมมือประดับด้วยอีกชั้นหนึ่ง ที่เสาของมุมทั้ง 4 ด้านของเรือนธาตุชั้นล่างนี้ มีการประดับลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม คือปูนปั้นลายเกียรติมุข ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปหน้ากาลมีแต่หัว และริมฝีปากบน ไม่มีขากรรไกรล่าง อันมีที่มาจากคติศาสนาของพราหมณ์

เหนือเรือนธาตุชั้นล่างเป็นส่วนเจดีย์ปราสาทยอด เริ่มต้นจากฐานเขียง 3 ฐานในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับฐานบัวคว่ำ-บัวหงายเตี้ยๆ 1 ฐาน ที่ท้องไม้ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ อยู่ในผังยกเก็จเพื่อรองรับเรือนธาตุ

เรือนธาตุประกอบด้วยจระนำซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนทั้ง 4 ด้าน เป็นซุ้มซ้อน 2 ชั้น ยอดซุ้มทำเป็นซุ้มฝักเพกาหรือซุ้มเคล็ก ตรงปลายของซุ้มทำเป็นพญานาคสามเศียร ที่มุมเรือนธาตุประดับเสาติดผนัง ส่วนกลางเรือนธาตุระหว่างเสาติดผนังกับจระนำซุ้มมีพระพุทธรูปปูนปั้นติดที่ผนังทุกด้าน ปัจจุบันเหลือเฉพาะด้านทิศเหนือที่น่าจะเป็นพระพุทธรูปลีลา

ถัดจากส่วนเรือนธาตุขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่ไม่มีบัลลังก์ ประกอบด้วยส่วนฐานที่คล้ายกับบัวคว่ำ-บัวหงาย ประดับลวดลายคนแคระ ด้านบนของฐานบัวประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็กที่มุมทั้ง 4 หรือเรียกว่า สถูปิกะ เหนือชั้นนี้ขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำ-บัวหงายในผังแปดเหลี่ยม คั่นกลางด้วยเสาแท่งสี่เหลี่ยม เรียงรายอยู่โดยรอบ แล้วมีบัวหงายกลีบซ้อนเกสร แผ่ขยายรองรับส่งองค์ระฆัง ถัดขึ้นไปทำเป็นองค์ระฆังเล็กๆ มีลายปูนปั้นประจำยามรัดอก สลับกับบัวคลุ่ม ต่อด้วยบัวแวงรองรับปล้องไฉนและปลีตามลำดับ

จากศิลปกรรมของเจดีย์วัดป่าสักทั้งสถาปัตยกรรมและประติมากรรม โดยเฉพาะลวดลายและประติมากรรมปูนปั้นประดับเจดีย์ เช่น พระพุทธรูปปูนปั้น (ปางลีลา)  เทวดาปูนปั้น ครุฑและกินรีปูนปั้น ลายกระหนก ลายกาบบน กาบล่าง ลายประจำยาม และลายฝักเพกาเหนือซุ้ม ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ศิลปกรรมของเจดีย์วัดป่าสักน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกามผ่านทางสุโขทัย พร้อมๆ กับการรับพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากสุโขทัย ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20

นอกจากนี้ ยังปรากฏศิลปะอื่นๆ ปะปนอยู่ด้วย เช่น การชักชายผ้าของเทวดาปูนปั้นคล้ายกับศิลปะลังกา พระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำของเรือนธาตุที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสุโขทัย ลายกลีบบัวขนาดใหญ่หรือบัวฟันยักษ์ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะปาละของอินเดีย ปูนปั้นลายเมฆ ลายช่องกระจก ลายบัวมีไส้ และลายดอกโบตั๋น ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะจีนผ่านทางเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยล้านนา    

อย่างไรก็ตาม มีศิลปกรรมบางส่วนที่น่าจะทำขึ้นในสมัยหลัง เช่น พระพุทธรูปปางเปิดโลก (น่าจะทำขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 20 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 21) พระพุทธรูปปางลีลาที่ซุ้มจระนำด้านทิศใต้ที่มีการปั้นปูนทับลงบนเค้าโครงเดิม (ปั้นทับเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22-23)

วิหารหลวง ตั้งอยู่ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 16 เมตร ยาว 32 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยอิฐถือปูนและศิลาแลง บนตัววิหารพบเสาศิลาแลงฉาบปูน จำนวน 8 ต้น ด้านหน้าวิหารมีมุขที่เชื่อมต่อกับทางเดินยาวจากหน้าวัดปูด้วยอิฐรูปแปดเหลี่ยม

อุโบสถ ตั้งอยู่ห่างจากวิหารหลวงโดยมีวิหารรายขนาดเล็กคั่นอยู่ อุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูน เชื่อมต่ออุโบสถด้วยเจดีย์ซึ่งพังทลายลงมา มีการสร้างมณฑปปราสาทภายใน และมีหอขวางทางด้านหน้าอุโบสถ

โบราณสถานหมายเลข 6 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประกอบไปด้วยวิหารและเจดีย์ที่อยู่ท้ายวิหาร หันหน้าไปทางทิศเหนือ ซึ่งแนวทิศทางการวางตัวของอาคารแตกต่างไปจากโบราณสถานหลังอื่นๆ ในวัดป่าสัก

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี